4. เรื่องเล่า เด็กน่อยบ้านผม


“พี่ๆหนูก็อยากไปโรงเรียนนะหนูขอไปโรงเรียนด้วยนะ”

เสียงพูดของเด็กหญิงที่สำเนียงบอกได้ว่าเด็กคนนี้ไม่ใช่คนไทย เธอพูดภาษาไทยที่ปนกับภาษากัมพูชาซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดที่เธอจากมา เด็กหญิงอายุ 8 ขวบอุ้มน้องตัวเล็กอายุราวๆ ขวบเศษ คาบอยู่ที่เอว มายืนดูเด็กๆ กลุ่มหนึ่งที่ใส่ชุดนักเรียนชุดใหม่ซึ่งเรานำมาให้เด็กหญิงคนนี้ทำให้เราได้เห็นว่ายังมีเด็กอีกหลายคนที่อยากไปโรงเรียนเหมือนกันเพราะนอกจากเด็กหญิงคนนี้แล้วยังมีเด็กๆ อีกหลายคนมายืนดูอยู่และดูเหมือนว่าเขาอยากพูดคำเดียวกัน

เด็กน้อยชาวกัมพูชา10 คน ที่ได้รับโอกาสให้เข้าโรงเรียน ที่โรงเรียนวัดมหาวงษ์จังหวัดสมุทรปราการ นับว่าเป็นโชคดีของเด็กกลุ่มนี้มากเพราะส่วนใหญ่โรงเรียนไทยไม่กล้ารับเด็กต่างชาติเข้าเรียนเพราะเด็กๆขาดหลักฐานหลายอย่างที่จำเป็นต่อการศึกษา ไม่มีเลข 13หลัก เหมือนเด็กทั่วไปที่จะทำให้ทางโรงเรียนได้รับเงินสนับสนุนรายหัวในเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมทั้งอาหารกลางวันของเด็กๆ ด้วย

“เขา”ผู้มาจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาพึ่งพิงอยู่ในประเทศไทย

ลูกหลานของแรงงานข้ามชาติมาอยู่ในประเทศไทยทั้งแบบที่ถูกและไม่ถูกกฎหมาย พวกเขามาอยู่ในที่ซึ่งไม่ใช่บ้านทำให้เขาขาดแคลนสิทธิพื้นฐานที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในสังคม เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล หรือการสงเคราะห์อื่นๆเด็กบางคนต้องอยู่แต่ในบ้าน ในห้องเช่าแคบๆ ที่พ่อแม่เช่าอยู่เพราะพ่อแม่ต้องออกไปทำงาน กลัวว่าลูกจะได้รับอันตรายเลยจำเป็นต้องขังลูกไว้ในห้อง ในแต่ละวันเด็กต้องอยู่ในห้อง อยู่กับสื่ออย่างโทรทัศน์ ถึงเวลาหิวก็ทานข้าวกล่องที่พ่อแม่เตรียมไว้ให้เขาจะไม่มีโอกาสออกมาเล่นกับเพื่อนๆ ไม่ได้พบเจอผู้คนจนกว่าพ่อแม่จะกลับจากทำงาน

“นีน่า”เด็กหญิงอายุ 5 ขวบเป็นหนึ่งคนที่ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดมหาวงษ์ และเป็นตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นถึงสถานการณ์ในลักษณะนี้เด็กคนอื่นๆ เล่าว่า นีน่ามักจะถูกให้อยู่ในห้องตลอดทั้งวันจนกว่าแม่หรือพ่อจะกลับมาบ้านในตอนเย็น

ก่อนเข้าโรงเรียน นีน่าเป็นเด็กขี้อายเงียบ ไม่กล้าพูดกับใคร แต่หลังจากที่เธอได้ไปโรงเรียน ชีวิตเธอก็เริ่มเปลี่ยนแปลง คุณครูที่โรงเรียนเล่าให้ฟังว่า นีน่าเป็นเด็กหัวดีอีกทั้งยังตั้งใจเรียน ร่าเริง และกล้า-แสดงออกกว่าตอนเริ่มเข้ามาเรียน ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่าการได้ไปโรงเรียนทำให้เด็กหญิงมีโอกาสได้เรียนรู้โลกภายนอกบ้านได้แสดงออก ได้เล่นกับเพื่อนๆ มีโอกาสได้พัฒนาตนเอง

เมื่อลงไปติดตามเด็กๆที่ชุมชน ผมเห็นเด็กกัมพูชา10 คนใส่ชุดนักเรียนชุดใหม่ที่เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ไปซื้อให้ โดยการดำเนินงานภายใต้โครงการส่งเสริมการศึกษาการ-คุ้มครองทางสังคมและการทำงานที่ปลอดภัยของแรงงานเด็กและครอบครัวในอุตสาหกรรมประมงเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นการเริ่มต้นที่ดีที่ในการมอบการศึกษาให้พวกเขาเหล่านั้นผู้ซึ่งด้อยโอกาสทางการศึกษา และเป็นเสมือนใบเบิกทางในการมอบโอกาสให้เด็กอีกหลายคนให้ได้รับโอกาสนี้ด้วย

การให้โอกาสกับผู้ที่มีโอกาสน้อยเป็นเหมือนการทำถนนที่ให้ผู้คนได้เลือกเดินและไม่ใช่แค่หนึ่งคนที่ได้เดิน เพราะจะมีอีกหลากหลายคนที่ได้เดินและเด็กน้อย 10 คนทำให้เห็นว่ามีเด็กต่างชาติอีกหลายคนที่อยากไปโรงเรียนอยากมีโอกาสได้เรียนหนังสือเหมือนกัน เพียงแค่รอการมองเห็นจากสังคมอยู่เท่านั้นเอง


คำสำคัญ (Tags): #ขวบเศษ
หมายเลขบันทึก: 610677เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2016 20:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กรกฎาคม 2016 20:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แรงงานข้ามชาติมาอยู่ในประเทศไทยทั้งแบบที่ถูกและไม่ถูกกฎหมาย พวกเขามาอยู่ในที่ซึ่งไม่ใช่บ้านทำให้เขาขาดแคลนสิทธิพื้นฐานที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในสังคม

....

แต่ทั้งปวงนั้น ก็ล้วนบ่งชี้ว่า มนุษยชาติล้วนโอบกอดกันและกันตามสภาวะความพร้อมแห่งการและใจ หรือบริบทนั้นๆ

ชื่นชมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท