เข้าร่วมโครงการ Sustainable Development Goals (SDGs) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน


เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2559 ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้าร่วมพิธีเปิดโครงการ Sustainable Development Goals (SDGs) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นโครงการที่น่าสนใจมาก โดยโครงการนี้จัดขึ้นเพื่อพัฒนาชาติโดยยึดหลักเป้าหมายทั้ง 8 ประการ คือ
1. ขจัดความยากจนและความหิวโหย
2. ให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษา
3. ส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศและบทบาทสตรี
4. ลดอัตราการตายของเด็ก
5. พัฒนาสุขภาพของสตรีมีครรภ์
6. ต่อสู้กับโรคเอดส์ มาลาเรีย และโรคสำคัญอื่นๆ
7. รักษาและจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
8. ส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในประชาคมโลก

ระยะเวลา 15 ปีผ่านมา เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษทั้ง 8 ข้อ กำลังจะสิ้นสุดลง โดยประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในหลายประเทศ ซึ่งเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการพัฒนา องค์การสหประชาชาติจึงได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาขึ้นใหม่โดยอาศัยกรอบความคิดที่มองการพัฒนาเป็นมิติ (Dimensions) ของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้มีความเชื่อมโยงกัน เรียกว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ซึ่งจะใช้เป็นทิศทางการพัฒนาตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2558 ถึงเดือนสิงหาคม 2573 ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี โดยประกอบไปด้วย 17 เป้าหมายคือ

เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจนในทุกรูปแบบ ทุกที่

เป้าหมายที่ 2 ขจัดความหิวโหย บรรลุเป้าความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการที่ดีขึ้น และส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน

เป้าหมายที่ 3 ทำให้แน่ใจถึงการมีสุขภาวะในการดำรงชีวิต และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในทุกช่วงอายุ

เป้าหมายที่ 4 ทำให้แน่ใจถึงการได้รับการศึกษาที่ได้คุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง และส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน

เป้าหมายที่ 5 บรรลุถึงความเท่าเทียมทางเพศ และเสริมสร้างพลังให้แก่สตรีและเด็กหญิงทุกคน

เป้าหมายที่ 6 ทำให้แน่ใจว่าเรื่องน้ำและการสุขาภิบาลได้รับการจัดการอย่างยั่งยืน และมีสภาพพร้อมใช้สำหรับทุกคน

เป้าหมายที่ 7 ทำให้แน่ใจว่าทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานที่ทันสมัย ยั่งยืน เชื่อถือได้ ตามกำลังซื้อของตน

เป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและทั่วถึงให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ส่งเสริมศักยภาพการมีงานทำและการจ้างงานเต็มที่ และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน

เป้าหมายที่ 9 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการปรับตัวให้เป็นอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและทั่วถึง และสนับสนุนนวัตกรรม

เป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ

เป้าหมายที่ 11 ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย ทั่วถึง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน

เป้าหมายที่ 12 ทำให้แน่ใจถึงการมีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
เป้าหมายที่ 13 ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น

เป้าหมายที่ 14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เป็นไปอย่างยั่งยืน

เป้าหมายที่ 15 พิทักษ์ บูรณะ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศบนบก จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้กับการแปรสภาพเป็นทะเลทราย หยุดยั้งและฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของที่ดิน และหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

เป้าหมายที่ 16 ส่งเสริมให้สังคมมีความเป็นปกติสุข ไม่แบ่งแยก เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีการเข้าถึงความยุติธรรมโดยถ้วนหน้า และสร้างให้เกิดสถาบันอันเป็นที่พึ่งของส่วนรวม มีประสิทธิผล และเป็นที่ยอมรับในทุกระดับ

เป้าหมายที่ 17 เสริมสร้างความเข้มแข็งในวิธีการปฏิบัติให้เกิดผล และสร้างพลังแห่งการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เรื่องที่ข้าพเจ้าสนใจมากที่สุดคือเรื่องเกี่ยวกับการรักษาและจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพราะโลกของเราในตอนนี้สภาพแวดล้อมต่างๆก็ทรุดโทรมลงไปทุกวัน ต้นไม้ก็เหลือน้อยลงจากเมื่อก่อนมาก อากาศที่เราทุกคนหายใจอยู่ก็มีมลพิษเจือปนมากมายพร้อมทั้งก่อให้เกิดโรคอีกด้วย แล้วทำไมโลกของเราจึงเป็นอย่างนี้ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากมนุษย์ ที่โลกของเราเกิดสภาวะโลกร้อนก็มาจากการที่โรงงานอุตสาหกรรมทั้งหลายที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลปล่อยแก็สเรือนกระจกที่ทำลายชั้นบรรยากาศของโลก แต่โครงการนี้เข้ามาเปลี่ยนแปลงโดยการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ เป็นต้น หากเราใช้พลังงานสะอาดพวกนี้เราก็จะสามารถช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมไม่ให้ทรุดโทรมลงไปกว่านี้ได้


(ขอบคุณข้อมูลเรื่องเป้าหมายทั้ง 8 ประการและพลังงานสะอาด จากบอร์ดนิทรรศการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)

หมายเลขบันทึก: 610442เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2016 21:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กรกฎาคม 2016 15:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชื่นชมครับ เพราะนิสิตเล่าต่างจากคนอื่น โดยเฉพาะการเล่าถึงมุมมองของตนเองว่าชอบประเด็นอะไร หรือสนใจประเด็นอะไรเป็นพิเศษ

และสิ่งแวดล้อม ก็เป็นกระแสหลักของโลกใบนี้มาหลายชั่วยุคสมัย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท