ระบบความเชื่อ 10


5.ประเภทของความเชื่อ

ด้วยคนมีความเชื่อมาตั้งแต่เกิดจำความได้เมื่อมีความสงสัยใคร่อยากรู้อยากเข้าใจในสิ่งที่ตนเองพบอยู่ก็ค้นหาความหมายของสิ่งเหล่านั้นจนก่อเกิดเป็นความเชื่อต่อสิ่งที่ตนเองพบตนเองเข้าใจ และความเชื่อของคนเรานี้ก็มีแตกต่างกันไป โดยสามารถแบ่งความเชื่อออกเป็น 2 ประเภทดังนี้

1.ความเชื่อสากล โดยปกติแล้วคนทั่วไปมักจะมีความเชื่ออย่างนี้

1.1ความเชื่อที่เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ หมายถึงความเชื่อที่เกิดขึ้นมาจากธรรมชาติล้วน ๆ ไม่ว่าจะเป็นพายุฝน ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นบ่อเกิดของความกลัวเกรง เพราะคนคิดว่าเป็นอำนาจของสิ่งที่มองไม่เห็นเป็นผู้อยู่เบื้องหลังของการกระทำนั้น ด้วยเหตุดังกล่าวนั้นคนจึงได้พัฒนาความเชื่ออย่างนี้มาเป็นความเคารพนับถือในลัทธิศาสนาโดยเฉพาะศาสนาที่นับถือเทพเจ้าดลบันดาลให้บังเกิดสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น

1.2ความเชื่อเกี่ยวกับยาสมุนไพร หมายถึงความเชื่อของคนที่อาศัยสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติเอามาเป็นยารักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ เมื่อคนอยู่ในสังคมท้องถิ่นห่างไกลสังคมเมืองห่างไกลโรงพยาบาลแล้วเกิดอาการเจ็บป่วยขึ้นมาเขามักจะไปหาหมอยาประจำบ้านโดยใช้ยาสมุนไพรตามความเชื่อเอามาต้มดื่มน้ำกินหรือไม่ก็นำรากไม้ที่เป็นยานั้นมาฝนเป็นน้ำผสมน้ำมนต์กระทำพิธีกรรมแล้วดื่มกินเพื่อรักษาโรคที่เป็นนั้นตามความเชื่อของวัฒนธรรมท้องถิ่นของตน

1.3ความเชื่อเกี่ยวกับการถือฤกษ์ถือยาม หมายถึงคติความเชื่อเรื่องฤกษ์ยามเพื่อก่อให้เกิดความสุขใจของคนเราในสังคมไทยส่วนมากและยังคงยึดถือนำมาปฏิบัติกันอยู่ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ การกระทำพิธีกรรมต่าง ๆ การบวชในทางพระพุทธศาสนาและแม้เมื่อบวชแล้วจะลาสิกขาก็ยังคงหาฤกษ์หายามว่าจะลาสิกขาได้ในวันใดจึงจะเป็นวันฤกษ์ดียามดีนั้นเอง

1.4ความเชื่อเกี่ยวกับการทำนายทายทัก หมายถึงการทำนายที่เกี่ยวข้องกับคนสัตว์หรือสิ่งของอย่างในตำราจีนก็มีการดูโหงเฮ้งดูลักษณะฮวงจุ๊ยว่าเข้าลักษณะตามตำราหรือไม่อย่างไร แม้แต่สัตว์เลี้ยงที่จะซื้อจะขายกันก็ต้องดูกันให้ถ้วนทั่วว่าถูกต้องตามลักษณะดีหรือไม่อย่างไร และเรื่องการทำนายฝันจะเป็นฝันดีหรือฝันร้ายก็ต้องมีตำรามาอ้างอิงได้อย่างนี้เป็นต้น

1.5ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับหลักศาสนา หมายถึงในแต่ละศาสนาก็ล้วนมีความเชื่อในหลักศาสนาที่แตกต่างกันออกไป แต่ในท้ายที่สุดก็วกมาสู่จุดหมายของชีวิตก็คืออะไรที่จะเป็นแนวทางก็ให้เกิดความสุขกายสบายใจในการดำเนินชีวิต เช่น ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มุ่งสอนให้ศาสนิกมีความเชื่อในพรหมลิขิต ศาสนาพุทธ มุ่งสอนให้ศาสนิกมีความรู้ความเข้าใจในกฎแห่งกรรม เพื่อต้องการให้คนกระทำดี ละเว้นการทำชั่ว และหมั่นทำจิตใจตนให้ผ่องใสอยู่เสมอ ศาสนาคริสต์ มุ่งสอนให้ศาสนิกมีความเชื่อในพระเป็นเจ้าเพื่อให้คนรักกันแม้ผู้กระทำผิดเป็นบาปก็มีการสารภาพบาปในนามพระเจ้าได้ ศาสนาอิสลาม มุ่งสอนให้ศาสนิกมีความเชื่อในเอกองค์อัลลอฮ์ และดำเนินตามแนวทางของอัลลอฮ์ผ่านการปฏิบัติให้ดูเป็นอยู่ให้เห็นของท่านนบีมูฮัมมัดนั้นเอง

1.6ความเชื่อเกี่ยวกับการประกอบอาชีพของคน หมายถึงผู้ใดจะเริ่มต้นชีวิตในการงานอะไรก็จะมีพิธีกรรมในการกระทำตามความเชื่อในวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นของตน เช่น ชาวประมงจะออกเรือหาปลาก็จะมีการบนเจ้า ไหว้เจ้า จุดประทัด เพื่อบอกกล่าวสิ่งที่ตนเคารพนับถือแห่งท้องน้ำท้องทะเลทั้งนี้ก็เพื่อความเป็นสิริมงคลและประสบผลสำเร็จดังใจมุ่งหมายไว้

1.7ความเชื่อที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณี หมายถึงความเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาคล้วนมีวัฒนธรรมเฉพาะเป็นของตนเอง เช่น วัฒนธรรมประเพณีทำบุญในเทศกาลวันสำคัญต่าง ๆ ในทางพระพุทธศาสนา ประเพณีแห่งนางแมว ประเพณีแห่ผีตาโขน ประเพณีบวชเณรแก้ว ประเพณีทำบุญขวัญข้าว ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีลากเรือพระ ประเพณีชิงเปรต เป็นต้น

1.8ความเชื่อเกี่ยวกับเคล็ดและการแก้เคล็ด หมายถึงการมีความเชื่อของคนว่าเมื่อถึงวัยเบ็ญจเพศมักจะมีอันตรายจึงต้องมีการทำบุญต่อชะตาหรือทำบุญสืบชะตาต่ออายุจะส่งผลให้มีความสุขความเจริญสืบต่อไปอย่างนี้เป็นต้น

1.9ความเชื่อเกี่ยวกับวันและตัวเลข หมายถึง การจะทำอะไรให้ดีนั้นต้องดูวันเวลาและตัวเลขด้วยนับวันแบบจันทรคติบ้างหรือนับแบบสุริยะคติบ้าง โดยถือว่าตัวเลขสามารถให้คุณหรือให้โทษก็ได้ ดังนั้นตนเองต้องเลือกเองตัวเลขที่ดีที่ถูกโฉลกกับตน ไม่ว่าจะเป็นเลขทะเบียนรถยนต์หรือเลขทะเบียนบ้าน อย่างในภาพรวมของสังคมไทยนิยมเลขเก้าถือว่าเป็นเลขดีเป็นเลขนำโชคนำลาภมาสู่ตน แต่ในสังคมตะวันตกก็เมื่อเชื่อกันว่าเลขสิบสามเป็นเลขไม่ดีจึงควรหลีกเลี่ยงเลขดังกล่าวนี้

1.10ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องชาติหน้า หมายถึง ในอนาคตเป็นความเชื่อที่มีมานานคู่กับคนมาตลอด โดยมีความเชื่อกันว่า ถ้าคนใดกระทำกรรมชั่วไว้เขาคนนั้นก็จะตกนรก แต่หากคนใดได้สั่งสมบุญกุศลไว้มีการให้ทานรักษาศีลและเจริญภาวนาก็เชื่อได้ว่าเมื่อตายไปได้ขึ้นไปอยู่บนสวรรค์แน่ นับเป็นความเชื่อทางศาสนาที่มีกุศโลบายให้คนกระทำแต่กรรมดีแล้วจะมีความสุขใจนั้นเอง

2.ความเชื่อเฉพาะ เป็นความเชื่อที่มีความกลัวอยู่เบื้องหลังคนเรา โดยสามารถแยกย่อยออกได้เป็นดังนี้

2.1ความเชื่อเกี่ยวกับไสยศาสตร์ มนต์ดำ มีการใช้คาถาอาคม มีเรื่องอาถรรพ์ ลงเลข ลงยันต์ เพื่อป้องกันอันตราย หรือการทำเสน่ห์ มีการปลุกเสก เป่าปัดไป ซึ่งสิ่งเลวร้ายทั้งปวง แม้การกลัวผีก็ยังมีคาถาป้องกันผีร้ายด้วยการท่องบ่นมนต์ไว้เพื่อไม่ให้ผีมาหลอกหลอนได้นั้นเอง

2.2ความเชื่อเกี่ยวกับโชคลาภและลางสังหรณ์ ซึ่งเป็นความเชื่อของคนเราที่ต้องการแสวงหาโชคลาภด้วยการเสี่ยงโชคตามโอกาส อันควรทั้งการซื้อหวยด้วยหวังรางวัลใหญ่ ๆ บ้างต้องทำพิธีกรรมมากมาย สำหรับการหลับฝันก็กลายมาเป็นลางสังหรณ์ไม่ว่าจะเป็นจิ้งจกร้องทักหรือตาเขม่นก็ต้องทำนายทายทักไปตามตำราที่กล่าวเอาไว้

2.3ความเชื่อเกี่ยวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ด้วยคนมีความเชื่อว่าเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้นมาได้เพราะมีอำนาจสิ่งเร้นลับมาทำให้เปลี่ยนแปลงไปอย่างนั้น

สรุป ความเชื่อของคนมีทั้งในส่วนที่เป็นสากลและในส่วนที่เป็นเฉพาะ ซึ่งล้วนเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ความเชื่อเกิดมาจากการคิดคำนึงจากสิ่งที่ประสบ โดยเฉพาะเหตุการณ์ตามธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นฝน ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า พายุหมุน และกระแสคลื่นของซึนามิ ก็ถือว่าเป็นผลดลบันดาลมาจากเทพเจ้าจึงทำให้เกิดมีขึ้น

ถึงแม้ในปัจจุบันนี้ความเชื่อได้มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุค ตามผลการให้พิสูจน์อย่างมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ก็ตามแต่ระบบความเชื่อของคนทั่วโลกก็เหมือนยังมีชีวิตชีวาร่าเริงบันเทิงใจอยู่เช่นนั้น.

หมายเลขบันทึก: 610088เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2016 22:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2016 22:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

มีความเชื่อว่าเร็วๆนี้จะได้พบอาจารย์ครับ

555555

ยินดีครับ ท่าน ดร. ขจิต ฝอยทอง

ล่องใต้วันไหนครับนี่

ขอบคุณครับ ท่าน ดร. ขจิต ฝอยทอง

ว่าง ๆ ค่อยไปทานข้าวด้วยกันอีกนะครับ 55

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท