KM คณะแพทย์ มอ.


เรียนรู้จากงาน เจือจานแบ่งปัน เรียนรู้ด้วยกัน สร้างสรรค์คณะเรา
“เรียนรู้จากงาน เจือจานแบ่งปัน เรียนรู้ด้วยกัน สร้างสรรค์คณะเรา” นี่คือคำขวัญในการทำ KM ของคณะแพทย์ มอ. คณะแพทย์ มอ.เป็นคณะที่มีความมุ่งมั่นและส่งเสริมให้ทุกหน่วยงานภายในคณะมีการทำ KM ขึ้น ซึ่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รองศาสตราจารย์นายแพทย์กิตติ ลิ่มอภิชาต ได้กล่าวไว้ว่า "การทำงานพิเศษเฉพาะจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือเฉพาะจึงจะช่วยให้ทำงานได้สะดวก รวดเร็วและได้ผลงานตามที่ต้องการได้ดีที่สุด การทำความรู้จัก เข้าใจถึงความเหมาะสม ประสิทธิภาพ ข้อบ่งชี้ ข้อจำกัดและวิธีการของเครื่องมือเหล่านั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง อาทิเช่น การทำวิจัยให้ได้ผลที่ดี ก็ต้องรู้จักกระบวนการวิจัยทั้งหมด ตั้งแต่วิธีการตั้งคำถาม การออกแบบวิจัย การค้นคว้าทบทวนเอกสาร การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ การใช้สถิติที่เหมาะสม การสรุปผลงานวิจัย เป็นต้น การจัดการความรู้ก็เช่นเดียวกัน เราต้องศึกษาและทำความรู้จัก เข้าใจข้อจำกัดและประโยชน์ต่าง ๆ ของเครื่องมือแต่ละชนิด สามารถเลือกใช้เครื่องมือให้เหมาะสมกับความรู้แต่ละชนิดที่ต้องการบริหารจัดการให้เกิดขึ้น เครื่องมือในการบริหารจัดการความรู้มีมากมาย เช่น การประชุม(สัมมนา ปฏิบัติการ)แลกเปลี่ยนเรียนรู้ (knowledge sharing) เรื่องเล่าเร้าพลัง (storytelling) เรียนรู้ก่อนทำหรือเพื่อนช่วยเพื่อน (peer assists) เรียนรู้ระหว่างทำและหลังทำ (after action review) การจัดเก็บความรู้ไว้เป็นหมวดหมู่เพื่อให้สะดวกสำหรับการค้นหา การสกัดความรู้ขององค์กร (knowledge asset) การทำดัชนีผู้รู้ (knowledge-expert dictionary) ชุมชนนักปฏิบัติ (community of practice, CoP) การค้นหาและเผยแพร่วิธีการที่เป็นเลิศ (best practice) ธารปัญญาและแผนภูมิขั้นบันใด (river diagram, stair diagram) สุนทรียสนทนา(dialogue) ความรู้ทันใจทันเวลา (just-in-time knowledge management) การทบทวนตรวจสอบความรู้ในองค์กร (knowledge audit) การเก็บความรู้จากผู้ที่ออกจากองค์กร(exit interview) เป็นต้น คณะแพทยศาสตร์ ได้ดำเนินการการบริหารจัดการความรู้อย่างเป็นทางการมาเป็นเวลาหนึ่งปี และใช้เครื่องมือต่าง ๆ อย่างหลากหลาย ขอเชิญชวนให้พวกเราทุกคน ทุกหน่วยงาน ร่วมกันเรียนรู้เครื่องมือในการจัดการความรู้ นำไปใช้เพื่อให้เกิดความเข้าใจ คุ้นเคยและเกิดทักษะ เพื่อให้มีการบริหารจัดการความรู้ของหน่วยงานและคณะแพทยศาสตร์ เพื่อบรรลุเป้าหมายและประโยชน์ร่วมกัน" (ที่มา : สารจากคณบดี คณะแพทยศาสตร์ (1/09/48), http://medinfo.psu.ac.th/KM/km.html ) สำหรับ IT ในการจัดการความรู้ในคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งก็ใช้ระบบระบบบล็อก GotoKnow เช่นกัน ซึ่งระบบบล็อก GotoKnow สามารถใช้เพื่อการจัดการความรู้ในคณะแพทย์ของเราได้อย่างไร ระบบบล็อกที่เป็นพื้นฐานของเว็บไซต์ดัง คลังความรู้แห่งประเทศไทย GotoKnow.org ที่หลายๆท่านเคยได้ยินมาแล้วนั้น เป็นระบบที่ดร.จันทวรรณ น้อยวันและดร.ธวัชชัย ปิยะวัฒน์ ได้พัฒนาขึ้นภายใต้ชื่อว่า KnowledgeVolution เป็นระบบที่พัฒนาให้มีลิขสิทธิ์แบบที่เรียกว่า Open-source software โดยมี สกว.และสคส. ซึ่งเป็นผู้ให้ทุนพัฒนาระบบเป็นเจ้าของ ซอฟต์แวร์ลักษณะนี้สามารถนำมาลงและปรับใช้ได้ภายในองค์กร แต่หากมีการแก้ไขปรับปรุงพัฒนาก็ต้องเผยแพร่กลับมาให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอีกต่อไปเช่นกัน ความสามารถของระบบบล็อกโดย KnowledgeVolution นั้นเอื้อต่อการจัดการความรู้ภายในองค์กรได้หลายประการ บุคลากรสามารถใช้เป็นที่บันทึกเรื่องราว ความรู้ ประสบการณ์ผ่านทางบล็อกของตนเอง หน่วยงานสามารถสร้างบล็อกเพื่อสื่อสารเรื่องราวต่างๆภายในองค์กร โดยระบบมีฟังชั่นต่างๆ ที่เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีพื้นที่ในแต่ละบันทึกให้สื่อสารความคิดเห็นของผู้อ่าน โดยสามารถ link ไปหาสิ่งที่เขียนไว้แล้วหรือถึงผู้เขียนได้โดยง่าย มีการตั้งคำหลักสำหรับสิ่งต่างๆในบันทึก ในบล็อก รวมทั้งในรายละเอียดของเจ้าของบล็อก ซึ่งทำให้สามารถจัดหมวดหมู่ความรู้ เพื่อการค้นหาและการสร้างแผนที่ความรู้ภายในองค์กรได้ มีลักษณะที่ต่างจากเว็บบอร์ดคือทุกคนมีพื้นที่ของตนเองที่ใช้ได้อย่างต่อเนื่อง และบริหารจัดการพื้นที่เอง โดยขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อน มีอิสระที่จะลบ เพิ่ม แก้ไขทุกบันทึกด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งเว็บมาสเตอร์ องค์กรสามารถตั้งคำหลัก ซึ่งเรียกว่า tag หรือ ป้าย เพื่อให้บุคลากรใช้ร่วมกันเป็นแนวทางในการรวบรวมความรู้ ซึ่งสามารถทำได้โดยง่ายภายในองค์กรโดยคำนึงถึง Knowledge Vision ที่มีอยู่ การตั้งคำหลักให้ใช้ร่วมกันทั้งองค์กร โดยแยกย่อยไปตามแต่ละงาน จะสามารถช่วยให้เก็บเป็น คลังความรู้ขององค์กร (Knowledge Asset) ได้โดยง่ายผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ โปรแกรมมีระบบแสดงสถิติต่างๆที่ทำให้สามารถประเมินตัวชี้วัดต่างๆได้โดยง่าย เอื้อต่อการสร้างระบบควบคุม ประเมินผลงานของบุคลากรจากการเขียนบันทึกได้ จากการประชุมล่าสุดของคณะกรรมการพัฒนาระบบบริหารความรู้ในองค์กร เราจะมีระบบนี้ใช้เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของม.อ.ในเวลาไม่นานนับจากนี้ไป ในคณะแพทย์ของเรามีบล็อกเกอร์ที่เป็นที่รู้จักใน GotoKnow.org อยู่แล้วพอสมควร ซึ่งเชื่อว่าทุกท่านยินดีรับเป็นวิทยากรอบรมคนกันเองให้สามารถใช้งานได้ทันที โดยไม่ต้องไปรอพึ่งพาวิทยากรจากภายนอก ผลงานดีๆที่เรามีอยู่มากมายตามหน่วยงานต่างๆ จะได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางได้โดยง่ายผ่านทางระบบนี้ แถมเรายังสามารถรักษาความรู้นี้ไว้เป็นลิขสิทธิ์ของเราโดยทางกฎหมายจากการประกาศผ่านทาง GotoKnow ด้วย องค์กรก็สามารถรวบรวมเป็นคลังความรู้ได้โดยง่ายอีกชั้นหนึ่ง ด้วยเหตุผลทั้งหลายทั้งปวงนี้ ท่านคิดว่า ระบบบล็อก GotoKnow.org ควรจะเกิดหรือยังในคณะแพทย์ของเรา (ที่มา ดร.อโณทัย โภคาธิกรณ์ หน่วยเคมีคลินิค ภาควิชาพยาธิวิทยา ตุลาคม 2549, http://medinfo.psu.ac.th/KM/news/KM%20NEWS%2008.html )
คำสำคัญ (Tags): #km#class
หมายเลขบันทึก: 60960เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2006 00:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 14:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชื่นชมกับคณะแพทย์มอ.อีกครั้ง  ทุกครั้งและเสมอมาค่ะ

         จากวิสัญญี คณะแพทย์ มข.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท