ขับเคลื่อน PLC เทศบาลเมืองมหาสารคาม _๔๖ : ผลการประเมินโครงงานบ้านวิทย์น้อย เรื่อง "ใข่อะไรทำไข่เค็มได้เจ๋งสุด" โรงเรียนเทศบาลบูรพาพิทยาคาร


โครงงานที่โรงเรียนเทศบาลบูรพาพิทยาคารส่งมาชื่อ "ไข่อะไรทำไข่เค็มได้เจ๋งสุด" เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนของนักเรียนชั้น อนุบาล ๓/๑ ครูประชั้นคือ ครูภัคควลัณชญ์ สาระลัย เป็นโครงงานที่ผมขอเรียกว่า "โครงงานผลิตและทดลอง" เพื่อให้ต่างจาก "โครงงานประดิษฐ์" ซึ่งแตกต่างกันที่จุดเน้น ที่แบบแรกเน้นเรื่อง "การผลิตและคิดวิเคราะห์" ส่วนอันหลังเน้น "การออกแบบประดิษฐ์และการคิดสร้างสรรค์"

อะไร อย่างไร นานแค่ไหน เด็กได้อะไร

ครูพาเด็ก ๆ ทำไข่เค็มด้วยไข่ ๓ ชนิด (ตัวแปรต้น) ได้แก่ ไข่เป็ด ไข่ไก่ และไข่นกกระทา แล้วให้เด็กทดลองชิม แล้วลงความเห็นว่า ไข่ชนิดใดรสชาติดีที่สุด (คำว่า "เจ๋ง" ในชื่อโครงงานคือ "รสชาติดี" เด็กชอบที่สุด) ความเค็มของไข่คือตัวแปรตาม

ผมตีความว่า ครูต้องการจะสอนวิธีการทางวิทยาศาสตร์ให้นักเรียนเป็นหลัก เพราะนอกจากจะกำหนดชนิดของไข่เป็นตัวแปรต้นแล้ว ครูยังออกแบบให้เด็ก ๆ นำไข่ดองออกมาต้มและชิมทุกสัปดาห์ ติดต่อกันถึง ๓ สัปดาห์ และให้เด็กๆ ได้วาดภาพลงในใบงาน (แบบบันทึกข้อมูล) ทุกขั้นตอนของการทดลอง ซึ่งมี ๖ ขั้นตอน ได้แก่ ให้วาดภาพบอกวิธีการเก็บไข่ไว้กินนาน -> วาดไข่ชนิดต่างๆที่สามารถนำทำไข่เค็มได้บ้าง -> ให้วาดภาพอุปกรณ์การทำไข่เค็ม -> วาดภาพขั้นตอนการทำไข่เค็ม -> วาดภาพไข่เค็มในขวดโหลทั้ง ๓ ชนิด -> ให้ทำรูปหัวใจไว้ที่ไข่ชนิดที่ชื่นชอบรสชาติที่สุด

นอกจากจะได้เรียนรู้จากการทดลองแล้ว นักเรียนคงจะชอบมาก เพราะได้กิน ชิมไข่ และได้ตัดสินใจด้วยตนเองว่า ไข่ใบไหนอร่อยที่สุด

ผลการประเมินตามเกณฑ์วัฏจักรนักวิทย์น้อย (ดาวน์โหลดเกณฑ์ได้ที่นี่)

ผมจะเขียนผลการประเมินเป็นข้อ ๆ เพื่อให้เห็นเหตุและผลของการให้คะแนนในแต่ละข้อของเกณฑ์ประเมินตามความเห็นเมื่อพิจารณาจากหลักฐานทั้งที่ได้อ่านจากเล่มและทั้งจากที่ได้ฟังการนำเสนอเมื่อครั้งไปลงพื้นที่โรงเรียน

๑) เป็นโครงงานหรือไม่

วิธีให้คะแนนข้อนี้ เกณฑ์กำหนดให้ดูว่ามีวัฏจักรวิจัย ๖ ขั้นตอนและต่อเนื่องเพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่ให้หยุดตรวจ ถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์ ถ้าใช่... ให้ ๑ คะแนน และหากครบกระบวนต่อเนื่องมากกว่า ๒ วงรอบ ให้ ๓ คะแนน

โครงงานนี้ผมให้คะแนน ๑ คะแนน ผ่านเกณฑ์การประเมิน ถือเป็นโครงงานทดลอง มีการฝึกทักษะตามวัฏจักรนักวิทย์น้อยครบถ้วนทั้ง ๖ ขั้นตอน ๑ วงรอบ ดังนี้

  • ชี้ชวนให้สงสัย (ตั้งคำถาม) : ครูตั้งคำถามให้เด็ก ๆ วาดภาพคำตอบของตน ลงบนใบงาน
  • พาให้คาดเดาคำตอบ (รวบรวมความรู้และตั้งสมมติฐาน) : คาดเดาว่าไข่ชนิดใดจะรสชาติดีที่สุด
  • พิสูจน์ตรวจสอบคำตอบนั้น (สำรวจตรวจสอบ พิสูจน์สมมติฐาน) : พาเด็ก ๆ ทำไข่เข็มจากไข่ ๓ ชนิด และให้เด็ก ๆ ชิมทดลองพิสูจน์คำตอบของตน
  • แบ่งปัน อธิบาย (อธิบายอภิปรายผลการทดลอง) : เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้อธิบายให้ฟังในชั้นเรียน
  • ระบาย บันทึก (จดบันทึกผลการทดลอง) :ให้เด็ก ๆ บันทึกข้อมูลด้วยใบงาน/ใบบันทึก เป็นภาพวาด
  • สรุปผลและนำเสนอ (สรุปการทดลองและนำเสนอ) :ครูและเด็กช่วยกันสรุปว่า ไข่เค็มจากไข่ชนิดใดมีรสชาติดีที่สุด

สาเหตุที่ผมไม่ได้ ๓ คะแนน เนื่องจาก แม้ขั้นตอนพิสูจน์ฯ อธิบาย และบันทึก จะวนซ้ำอย่างน้อย ๓ รอบ แต่สองขั้นตอนแรกนั้นทำเพียงครั้งเดียว ครับ

๒) ที่มาของคำถามในการทำโครงงาน

เกณฑ์กำหนดว่า ถ้าเกิดจาครู ๑ คะแนน ถ้าเป็นเด็กและครูช่วยกันตั้งคำถาม ได้ ๒ คะแนน และถ้าเป็นเด็กตั้งคำถามเอง จะได้ ๓ คะแนน

ผมให้ ๑ คะแนนครับ ครูเป็นคนคิดและนำเอากิจกรรมการเรียนการสอนมาจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยโครงงานสำรวจ ถือเป็นโครงใหญ่ (เด็กทั้งห้อง) ที่ครูต้องการปลูกฝังทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้เด็ก ๆ

๓) การะบวนการในการสำรวจตรวจสอ

เกณฑข้อนี้มี ๒ ข้อย่อย ๑) ดูที่ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบกระบวนการสำรวจตรวจสอบ ถ้าครูคิดให้ ๑ คะแนน เด็กและครูร่วมกันให้ ๒ คะแนน และถ้าเป็นเด็กคิดให้ ๓ คะแนน

ข้อนี้ผมให้ ๑ คะแนน เช่นกันครับ ครูเป็นคนพาคิด พาทำ ....ผมคิดว่าเป็นเพราะเจตนาของครูที่ต้องการฝึกเชิงสาธิตมากกว่า เพื่อสร้างพื้นฐานของการทำโครงงานด้วยตนเองต่อไป

เกณฑ์ข้อย่อย ๒) เด็กทำเองหรือไม่ ถ้าใช่!! ให้ ๓ คะแนน ถ้าเด็กมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมได้ ๒ คะแนน และถ้าครูพานำทำตลอด จะได้ ๑ คะแนน

<p “=”“>ข้อนี้ผมให้ ๒ คะแนนครับ จากที่คุณครูได้ตั้งคำถามให้เด็ก ๆ ได้มีส่วนร่วมในการเลือกชนิดของไข่ที่จะมาทำไข่เค็ม </p>

๔) การรายงานผลและการบันทึกการสำราวจตรวจสอบ

เกณฑ์บอกว่า มีการบันทึกหรือไม่? ถ้ามี ให้ดูต่อว่าสอดคล้องกับสมมติฐานหรือไม่ ถ้าใช่ ให้ ๒ คะแนน ถ้าไมสอดคล้องให้ ๑ คะแนน ถ้าไม่มีการบันทึกให้ไม่ให้คะแนน

ข้อนี้ ๒ คะแนนแน่นอนครับ

๕) การสรุปและอภิปรายผลการตรวจสอบ

ข้อย่อย ๕.๑) เกณฑ์กำหนดว่า ถ้าสิ่งที่สรุปสอดคล้องกับคำถามและผลการสำรวจให้ ๑ คะแนน ถ้าไม่ให้ ๐ คะแนน ส่วนข้อย่อย ๕.๒) ถามว่าใครเป็นนสรุป ถ้าเป็นครูให้ ๐ คะแนน เด็กต้องมีส่วนร่วมในการสรุป ถึงจะได้ ๑ คะแนน

ข้อ ๕.๑) ให้ ๑ คะแนน และ ๕.๒) ให้ ๑ คะแนนครับ เด็กได้มีส่วร่วมตลอดทุกกิจกรรม

๖) การส่งเสริมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

เกณฑ์กำหนดว่า ถ้าเด็กได้ฝึกการสังเกต การวัด การจำแนก การเปรียบเทียบการหาความสัมพันธ์ระหว่างสเปสกับสเปส และสเปสกับเวลา การคำนวณ การจัดกระทำกับข้อมูลและสื่อความหมายข้อมูล การลงความเห็นจากข้อมูลการพยากรณ์ ฯลฯ เหล่านี้ อย่างน้อย ๔ ทักษะขึ้นไป ให้ ๓ คะแนน ถ้า ๓ ทักษะให้ ๒ คะแนน และถ้า ๒ ทักษะให้ ๑ คะแนน

ข้อนี้ได้ไป ๓ คะแนนครับ ได้แก่ สังเกต เปรียบเทียบ การหาความสัมพันธ์ระหว่างสเปสกับสเปส และสเปสกับเวลา (จากการสังเกตและวาดรูปไข่ต่างขนาด และการเปลี่ยนแปลงในแต่ละสัปดาห์) และการลงความเห็นจากข้อมูล

๗ การส่งเสริมพัฒนาการหรือทักษะด้านอื่นๆ

เกณฑ์ข้อนี้ส่งเสริมการบูรณาการวัฏจักรนักวิทย์น้อยกับการฝึกทักษะด้านอื่นๆ เช่น ด้านภาษาและการสื่อสาร ทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง ด้านสังคมเช่นการทำงานร่วมกัน ด้านการเคลื่อนไหวหรือฝึกร่างกายให้กล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ให้แข็งแรง หรือ ด้านอารมณ์และจิตใจให้เด็ก ๆ มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ทักษะชีวิต ฯลฯ โดยกำหนดว่า ถ้ามี ๔ ด้าน ขึ้นไปให้ ๓ คะแนน ถ้ามี ๓ ด้านให้ ๒ คะแนน ถ้ามี ๒ ด้านให้ ๑ คะแนน

ข้อนี้ให้ ๓ คะแนนครับ ได้แก่ ด้านการสื่อสาร ด้านการเรียนรู้ เช่น การคิดวิเคราะห์ เปรียบเทียบด้านการเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อมัดเล็กจากการปกไข่ ฯลฯ ได้ทักษะชีวิต และด้านอารมณ์จิตใจ

๘) ความริเริ่มสร้างสรรค์ของโครงงาน

โครงงานมีความแปลใหม่หรือไม่ ถ้าคัดลอกหรือปรับเปลี่ยนโครงงานจากผู้อื่นโดยไม่ได้ทำจริง ให้ปรับตก แต่ถ้านำหัวเรื่องคนอื่นมาทำเองให้ ๑ คะแนน ถ้าครูและเด็กริเริ่มขึ้น ให้ ๒ คะแนน แต่ถ้าเป็นโครงงานที่แปลกใหม่จริงๆ ให้ ๓ คะแนน

ข้อนี้ผมให้ ๑ คะแนน ครับ

สรุปผลการประเมิน

สรุปทั้ง ๘ ข้อ โครงงานนี้ได้คะแนนรวม ๑๕ คะแนน ผ่านเกณฑ์ประเมิน เหมาะสมที่ได้รับตราพระราชทานครับ

จบเท่านี้ครับ ... สู้ครับ

หมายเลขบันทึก: 609356เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2016 23:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มิถุนายน 2016 21:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท