ครูดีสร้างได้


ความเข้าใจผิด หรือมิจฉาทิฐิ ในวงการ “ฝึกหัดครู” ก็คือการเน้นที่ความรู้เชิงทฤษฎี เป็นรายวิชา ไม่เน้นการฝึกปฏิบัติ ที่จะต้องประยุกต์ความรู้อย่างบูรณาการในสถานการณ์จริง หลักสูตรผลิตครูควรเปลี่ยนจากเน้นเรียนทฤษฎี ณ ที่ตั้งของสถาบัน ไปเป็นเน้นฝึกปฏิบัติในโรงเรียน ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง

ครูดีสร้างได้

นิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ ฉบับวันที่ ๑๑ - ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๙ ขึ้นปกว่า How to make a good teacher และในเล่มมีบทนำชื่อเดียวกัน อ่านได้ ที่นี่ ตามด้วยเรื่อง Education Reform : Teaching the teachers

สาระสำคัญที่สุดคือ ครูดีสร้างได้ มาจากการสร้าง ไม่ใช่เป็นคุณสมบัติที่มีแต่กำเนิด

ผลการวิจัยในอเมริกาบอกว่า ครูดี ๑๐ % บน สร้างผลการเรียนรู้แก่ศิษย์ ๓ เท่าของครู ๑๐ % ล่าง ผมเคยเล่าข่าวในอเมริกาว่า มีชุมชนที่าวบ้านลงขันกันจ้างให้ครูที่ไม่ได้เรื่องออกจากโรงเรียนไปเสีย แล้วชุมชนเข้าไปจัดการโรงเรียนเอง ทำให้ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนฟื้นขึ้นมา

ในวงการศึกษา มีแนวคิดสองขั้วเกี่ยวกับครู แนวคิดขั้วหนึ่งบอกว่าต้องเอาคนเก่งมาเป็นครู จึงจะได้ครูดี ข้อจำกัดของความเป็นจริงคือ สังคมต้องการครูจำนวนมาก จะดึงดูดอย่างไรจึงจะได้คนดีมาเป็นครูทั้งกระบิ

แนวคิดขั้วตรงกันข้าม บอกว่าเอาคนความเก่งปานกลางนี่แหละ มาฝึกให้ถูกต้อง ก็จะได้ครูดีเต็มแผ่นดินได้ ดิ อีโคโนมิสต์ ฉบับนี้บอกว่ามีทางทำให้การปฏิบัติตามแนวคิดนี้ สร้างการปฏิรูปการศึกษาได้

ในช่วงเวลาสองสามเดือนนี้ ผมพบผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ไทย ผมก็จะเรียนถามท่านว่า มีการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินการหลักสูตรสร้างครูในสถาบันของท่านอย่างไรบ้าง

คำตอบที่ได้ทำให้ผมได้คำตอบว่าทำไมการศึกษาไทยจึงตกต่ำ เพราะท่านจะไม่ตอบเรื่องสถาบันของท่าน แต่จะเสนอข้อคิดเห็นให้คนอื่น หน่วยงานอื่นทำ

ผมพยายามเสนอในที่ต่างๆ ว่าประเทศไทยเราต้องเปลี่ยนวิธีการสร้างครู และวิธีพัฒนาครูประจำการโดยด่วน แต่คนที่เกี่ยวข้องมักชี้ไปที่คนอื่น หน่วยงานอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชี้ไปที่คุรุสภา ทำให้ผมคิดว่าปัญหาในวงการศึกษาไทยคือ ติดลัทธิชี้คนอื่น/หน่วยงานอื่น

กลับมาที่นิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ เขาบอกว่าระบบการศึกษาล้มเหลวเพราะลืมคิดถึงนักเรียนที่ดีที่สุด ที่จะทำให้ระบบ การศึกษามีคุณภาพดี ... คือครู

กล่าวให้เข้าใจง่าย ระบบการศึกษาล้มเหลว เพราะไม่ได้ทำให้ “ครูเป็นนักเรียน” เรียนรู้จากการทำหน้าที่ครูของตนเอง เขาเอาผลการวิจัยในกลุ่มประเทศ OECD ที่สองในห้าของครู บอกว่าตนไม่เคยเข้าไปนั่งสังเกตการณ์ในห้องเรียนที่ครูท่านอื่นสอน และไม่เคยได้รับโอกาสให้ตนให้ feedback แก่เพื่อนครู

ความเข้าใจผิด หรือมิจฉาทิฐิ ในวงการ “ฝึกหัดครู” ก็คือการเน้นที่ความรู้เชิงทฤษฎี เป็นรายวิชา ไม่เน้นการฝึกปฏิบัติ ที่จะต้องประยุกต์ความรู้อย่างบูรณาการในสถานการณ์จริง หลักสูตรผลิตครูควรเปลี่ยนจากเน้นเรียนทฤษฎี ณ ที่ตั้งของสถาบัน ไปเป็นเน้นฝึกปฏิบัติในโรงเรียน ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง

เขาเปรียบเทียบการผลิตครูกับการผลิตหมอ ที่การผลิตครูจะต้องเน้นประสบการณ์ในห้องเรียน ในทำนองเดียวกัน กับนักศึกษาแพทย์เรียนจากประสบการร์ในการดูแลผู้ป่วย (clinical experience)

ขอขอบคุณ คุณวิริยะ ผลโภค ที่กรุณามอบสำเนาบทความในดิ อีโคโนมิสต์ แก่ผม

วิจารณ์ พานิช

๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๙

หมายเลขบันทึก: 609145เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2016 22:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มิถุนายน 2016 22:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อาจารย์ค่ะ มีงานวิจัยอะไรที่เคยสอบถามครูไหมค่ะว่า ครูต้องการอะไรบ้างเพื่อจะช่วยให้ครูพร้อมเต็มที่สำหรับการปฏิรูปการศึกษาค่ะ

บทความ “ครูดีสร้างได้” นี้จะช่วยชี้นำให้ผู้สอนประสบความสำเร็จและมีความสุขในการสอน

ข้อความดังภาพที่แนบมานี้ เป็นโน๊ตที่อาจารย์กรุณามากล่าวเปิดในการฝึกอบรมหลักสูตรการเป็นวิทยากรคุณภาพงาน ที่คณะแพทย์ มอ. ประมาณปี 2532 เป็นข้อความที่ทำช่วยให้ผู้สอนประสบความสำเร็จจากการมุ่งมั่นพัฒนาการสอน จึงขอนำมาไว้ที่นี่เพื่อประโยชน์ต่อไป... ด้วยความเคารพอย่างสูงค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท