เศรษฐกิจพอเพียงยากตรงไหน


หลักปรัชญาของท่านในหลางก็ทรงให้เริ่มที่การรู้จักพอประมาณและมีเหตุผล และผนวกด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันผลกระทบด้านต่างๆที่อาจมี และสุดท้ายก็รู้จักแบ่งปันให้ผู้อื่น เพื่อจะได้สร้างฐานทางสังคมของคนเองให้เข้มแข็ง เป็นชีวิตที่มีความสุข ครอบครัวมีความสุข และสังคมที่มีความสุข

เมื่อวันก่อนมีการประชุมร่วมของอาจารย์และนักศึกษาของมหาชีวาลัย ที่ศูนย์เรียนรู้ของครูบาสุทธินันท์ มีคำที่เราพูดถึงว่าเป็นแกนในการทำงานของเราก็คือ "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่ในปัจจุบันใช้กันเกร่อในทุกระบบจนแทบไม่มีใครเลยจะไม่ได้ยินคำนี้  แต่คนที่เข้าใจความหมายที่แท้จริงนั้น จะมีสักกี่คน

คนส่วนใหญ่อาจมองว่ามีเงินพอใช้ทั้งวันนี้ และวันหน้าเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้แต่ละคนวิ่งหาเงินกันจ้าละหวั่น ทำทุกอย่างให้ได้เงินมา โดยไม่สนใจว่าจะได้มาโดยวิธีใด สุดท้ายก็มีไม่กี่คนจากหลายล้านคน ที่ดูเหมือนว่าจะทำได้ แต่คนส่วนใหญ่กลับล้มเหลว ยิ่งเป็นหนี้มากขึ้นกว่าเดิม  ชีวิตเสี่ยงและล่อแหลมต่อความล้มเหลวมากกว่าเดิม เพราะไปผูกตัวเองเข้ากับระบบทุน และการจัดการที่เสี่ยงและควบคุมไม่ได้

เมื่อกลับมามองคนที่ยังมีปัญหาในปัจจุบัน ก็พบว่า ชีวิตคนส่วนใหญ่เหลือแต่เปลือกนอกไว้อวดคนอื่นเท่านั้น แบบหน้าชื่นอกตรมนะครับ ข้างในกลวงโบ๋ในแทบทุกเรื่อง แม้กระทั่งความสุขก็ยังกลวง หรือปลอมๆ

ผมลองมานั่งไล่ดูในระบบคนทั่วไปนั้น พอจะแยกระบบเศรษฐกิจระดับครัวเรือน ในประเด็นใหญ่ๆ อยู่ ๕ เรื่อง ได้แก่ ของกินของใช้ เงินใช้จ่าย เงินทุน บัญชีธนาคาร และทรัพย์สินแบบต่างๆ

คนที่ไม่พอเพียงนั้นจะกลวงโบ๋อย่างน้อยก็ ๑ เรื่อง เช่น ของใช้ก็ยังซื้อเงินผ่อน เงินที่ใช้ก็ยืมมาหรือใช้บัตรเครดิต  ทุนก็กู้ยืมมา มีบัญชีธนาคารก็มีไว้เพื่อสร้างเครดิตในการกู้ยืมหมุนเงินให้บัญชีดูสวย แม้กระทั่งที่ดินทรัพย์สินก็อาจติดจำนองหรือผ่อนอยู่  และยิ่งกว่านั้นยังเสพติดวิถีการดำรงชีวิตที่ฟุ่มเฟีอย อวดรวยกันอีกต่างหาก

ถ้าเป็นอย่างนี้ จะไปเรียกร้องให้สร้างความพอเพียงได้อย่างไร หนักหนาสาหัสอยู่นะครับ  และก็ไม่ใช่เป็นกันไม่กี่คน เกิน ๙๐% ของประชากรก็ว่าได้ครับ

เท่าที่คุยกันก็คือต้องมาปรับความคิดในการดำรงชีวิตซะใหม่  หลักปรัชญาของท่านในหลวงนั้น ให้เริ่มที่การรู้จักพอประมาณและมีเหตุผลในการใช้จ่าย และผนวกด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันผลกระทบด้านต่างๆที่อาจมี และสุดท้ายก็รู้จักแบ่งปันให้ผู้อื่น เพื่อจะได้สร้างฐานทางสังคมของคนเองให้เข้มแข็ง เป็นชีวิตที่มีความสุข ครอบครัวมีความสุข และสังคมที่มีความสุข

การทำดังกล่าวก็ต้องเริ่มอุดรูรั่วต่างๆ ตั้งแต่รุนแรงที่สุดให้เหลือน้อยที่สุด หรือไม่มีเลยยิ่งดี เพราะโอ่งที่ไม่รั่วนั้น น้ำหยดใส่ไม่นานก็เต็ม ต่างจากโอ่งรั่วเปิดน้ำก๊อกใส่แรงๆก็ยากที่จะเต็ม  เหมือนกับที่ปราชญ์ชาวบ้านว่า  "หาเงินเหลือ ดีกว่าหาเงินหลาย" หรือ "หารายเหลือ ดีกว่าหารายได้" เพราะได้ไม่เหลือนั้นไม่มีทางพอเพียงได้

เพื่อยืนยันคำพูดของปราชญ์อีสาน ผมมีข้อมูลตัวอย่างการจัดการระดับครัวเรือนเพื่อความพอเพียง ในกลุ่มสมาชิกเครือข่ายปราชญ์อีสานอยู่นะครับ ผมเก็บไว้กว่า ๑๐๐ ครัวเรือน มีระดับความพอเพียง ๑๐๐-๕๐๐% (มีเงินเก็บเพิ่มทุกปี) อยู่มากเหมือนกัน บางครัวเรือนก็ยังทำได้แค่ ๑๐-๕๐% เท่านั้น ยังปากกัดตีนถีบอยู่ครับ ถ้าใครสนใจคุยกันได้ครับ แต่ขอสงวนรายละเอียดของตัวเลขไว้ก่อนนะครับ เพราะยังไม่ได้ตีพิมพ์เป็นทางการ

ลองช่วยกันคิดดูนะครับ ผมและครอบครัวกำลังทำครับ วันหลังจะแสดงผลลัพธ์ให้ทราบครับ ทั้งระบบการทำงาน ชีวิตส่วนตัว และระบบครอบครัวครับ

หมายเลขบันทึก: 60891เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2006 16:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • รอฟังด้วยใจระทึกครับ
  • เพิ่งทราบว่าอาจารย์ไปที่ครูบามาครับผม
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท