Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

รัฐใดเป็นเจ้าของตัวบุคคลของบุตรที่เกิดในมาเลเซียจากมารดาสัญชาติไทยและบิดาสัญชาติมาเลเซีย และไม่ถือบัตรประชาชนไทย


กรณีศึกษานางสาวอัจฉรีย์ : การกำหนดรัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State) ของบุตรที่เกิดในประเทศมาเลเซียของมารดาสัญชาติไทยกับบิดาตามกฎหมายสัญชาติมาเลเซีย

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙

-------------

ข้อเท็จจริง

--------------

ปรากฏข้อเท็จจริง[1]ว่า นางอัจฉรีย์ คนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายมาเลเซียกับนายกาซิม คนสัญชาติมาเลเซียในทะเบียนราษฎรมาเลเซีย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ใน พ.ศ.๒๕๓๔ และบุคคลทั้งสองมีบุตรด้วยกัน ๑ คน ซึ่งมีชื่อว่า “นายซาฟิอี” ซึ่งเกิด ณ โกตาบารู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๕

นายซาฟิอีได้รับการแจ้งการเกิดในทะเบียนราษฎรมาเลเซียในสถานะคนสัญชาติมาเลเซีย แต่ไม่ได้มีการแจ้งการเกิดของเด็กชายผู้นี้ในทะเบียนราษฎรไทย อนึ่ง กฎหมายมาเลเซียยังห้ามการถือสองสัญชาติ

ส่วนนางอัจฉรีย์ไม่เคยร้องใช้สิทธิในสัญชาติมาเลเซียโดยการสมรสกับชายสัญชาติมาเลเซีย และไม่เคยร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐมาเลเซีย เธอร้องขอเพียงสิทธิอาศัยถาวรกับครอบครัว กล่าวคือ สามีตามกฎหมาย และบุตร ซึ่งมีสถานะเป็นคนสัญชาติมาเลเซีย

ภายหลังจากการสมรสกับนายกาซิม นางอัจฉรีย์ได้เข้านับถือศาสนาอิสลามตามสามี

ในราว พ.ศ.๒๕๕๐ นายกาซิมได้เสียชีวิตลง

ต่อมา ในวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ นางอัจฉรีย์ตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทยแต่ผู้เดียว ส่วนนายซาฟิอียังคงอาศัยอยู่กับปู่และย่าในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย

ใน พ.ศ.๒๕๕๙ นายซาฟิอีเรียนจบปริญญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์การกีฬาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐกลันตัน เขาอยากที่จะมาอาศัยอยู่กับมารดาในประเทศไทย จึงพยายามหางานทำในประเทศไทย

ในที่สุด ในเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ เขาก็ได้เข้าทำงานในบริษัทตามกฎหมายไทย ซึ่งมีชื่อว่า “Happy Body For All (Thailand)” บริษัทนี้มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ถือหุ้นร้อยละ ๖๐ เป็นของคนสัญชาติอเมริกัน ส่วนหุ้นข้างหุ้นน้อยร้อยละ ๒๕ ถือโดยคนสัญชาติไทย และร้อยละ ๑๕ ถือโดยคนสัญชาติมาเลเซีย สัญญาจ้างแรงงานระหว่างนายซาฟิอีและบริษัท “Happy Body For All (Thailand)” ทำ ณ สำนักงานของ “Happy Body For All (Malaysia)” ณ โกตาบารู ซึ่งตั้งตามกฎหมายมาเลเซีย

เขาตั้งใจที่จะอาศัยอยู่กับมารดา และไม่กลับไปประเทศมาเลเซียอีกแล้ว

----------

คำถาม

----------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า รัฐใดบ้างที่มีสถานะเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของนายซาฟิอิ เพราะเหตุใด[2]

----------------

แนวคำตอบ

----------------

ประเด็นของเรื่อง เป็นคำถามเพื่อให้กำหนดตัวรัฐเจ้าของตัวบุคคลของมนุษย์/บุคคลธรรมดา ซึ่ง ก็คือ เป็นเรื่องของการพิจารณาสัมพันธภาพระหว่างรัฐอธิปไตยและบุคคลตามกฎหมายเอกชน เราจึงต้องมาพิจารณาว่า รัฐอธิปไตยใดที่มีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับบุคคลธรรมดาตามข้อเท็จจริงอันเป็นโจทย์ อันทำให้มีสถานะเป็น “รัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State)” ของบุคคลธรรมดาดังกล่าว

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ข้อเท็จจริงที่ทำให้รัฐอธิปไตยหนึ่งมีสถานะเป็น “รัฐเจ้าของตัวบุคคล” ของบุคคลธรรมดาคนใด ย่อมเกิดจากสัมพันธภาพระหว่างรัฐอธิปไตยและบุคคลธรรมดานั้นใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) ความเป็นคนที่มีสถานะเป็นคนสัญชาติของรัฐนั้น และ (๒) ความเป็นคนที่มีภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนบนดินแดนของรัฐนั้น และ (๓) ความเป็นคนที่มีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนบนดินแดนของรัฐนั้น

เมื่อเราพิจารณาข้อเท็จจริงของนายซาฟิอิตามข้อเท็จจริงที่ให้มา เราก็อาจสรุปได้เป็น ๓ ข้อวิเคราะห์ กล่าวคือ

ในประการแรก เราอาจสรุปได้อย่างชัดเจนว่า รัฐมาเลเซียจึงมีสถานะเป็น “รัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State)” ของนายซาฟิอิ ในสถานะรัฐเจ้าของสัญชาติของนายซาฟิอิ ทั้งนี้ เพราะนายซาฟิอิได้รับการรับรองสถานะความเป็นคนสัญชาติมาเลเซียโดยรัฐมาเลเซียเท่านั้น ดังจะเห็นว่า นายซาฟิอิจึงถือเอกสารรับรองสถานะคนสัญชาติมาเลเซียที่ออกโดยทางราชการมาเลเซียเท่านั้น

สำหรับรัฐไทยนั้น แม้ว่า จะมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติและรัฐเจ้าของภูมิลำเนาทั้งตามกฎหมายเอกชนและมหาชนของนางอัจฉรีย์ ซึ่งมีสถานะเป็นมารดาของนายซาฟิอิ ซึ่งย่อมทำให้นายซาฟิอิสามารถสืบสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาได้อย่างแน่นอน แต่ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า การแจ้งการเกิดของเด็กชายผู้นี้ยังมิได้ทำในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย รัฐดังกล่าวจึงไม่อาจตระหนักรู้ได้ว่า มีนายซาฟิอิซึ่งทรงสิทธิในสัญชาติไทยอยู่บนโลกนี้ เมื่อการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรในสถานะคนสัญชาติไทยให้แก่นายซาฟิอิยังไม่เกิดขึ้น รัฐไทยก็จะไม่อาจเข้าทำหน้าที่รัฐเจ้าของตัวตัวบุคคลของนายซาฟิอิในสถานะรัฐเจ้าของสัญชาติ จึงไม่ปรากฏมีการออกเอกสารรับรองสถานะบุคคลใดๆ แก่นายซาฟิอิ

ในประการที่สอง จึงกล่าวได้อีกว่า รัฐมาเลเซียจึงยังเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของนายซาฟิอิ ในสถานะรัฐเจ้าของดินแดนอันเป็นภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนของนายซาฟิอิอีกด้วย ทั้งนี้ เพราะนายซาฟิอิได้รับการแจ้งการเกิดในทะเบียนราษฎรของรัฐมาเลเซีย และได้รับการบันทึกรายการสถานะบุคคลเพียงในทะเบียนราษฎรตามกฎหมายมาเลเซีย เขาจึงมีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายมาเลเซียว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เขาจึงมีสถานะเป็นคนที่มีภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนบนดินแดนของรัฐมาเลเซีย ดังนั้น นอกจากรัฐมาเลเซียจะเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติของเด็กชายผู้นี้แล้ว รัฐนี้ยังเป็นรัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนของเด็กชายผู้นี้อีกด้วย

ในส่วนของรัฐไทยนั้น แม้เราจะตระหนักได้ดีว่า หากมีการแจ้งการเกิดย้อนหลังให้นายซาฟิอิในทะเบียนราษฎรไทยหรือมีการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรดังกล่าวนี้ รัฐไทยก็จะเริ่มต้นมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนของนายซาฟิอิ แต่เมื่อยังไม่มีการกระทำดังกล่าว ในปัจจุบัน รัฐไทยก็ยังไม่มีสถานะเป็นรัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนของนายซาฟิอิแต่อย่างใด

ในประการที่สาม รัฐไทยได้เข้ามาเป็นรัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนของนายซาฟิอิแทนรัฐมาเลเซีย ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ทั้งนี้ เพราะเขามีเจตนาที่จะอพยพเข้ามาอาศัยอยู่กับนางอัจฉรีย์ ผู้เป็นมารดา ในประเทศไทย โดยมีเจตนาที่จะละทิ้งบ้านเดิมในเมืองจอร์จทาวน์ รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นภูมิลำเนา “เดิม” ตามกฎหมายเอกชน ที่มีอยู่ในขณะเยาว์วัยตามนายกาซิม ผู้เป็นบิดา และนับแต่บรรลุนิติภาวะ ก่อนเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙

เราจึงฟังได้ว่า ตั้งแต่นายซาฟิอิเกิดจนบรรลุนิติภาวะ เขาย่อมมีภูมิลำเนาตามบุพการีที่ใช้อำนาจปกครองเขา[3] และเมื่อเขาบรรลุนิติภาวะ เขาก็ย่อมมีภูมิลำเนาตามเจตนาของเขาเอง[4] ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิม นั่นก็คือ รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย

เราจึงฟังต่อไปได้อีกว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ นายซาฟิอิย่อมมีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนบนดินแดนของรัฐไทย ณ บ้านที่เขาอาศัยอยู่กับมารดาและครอบครัวฝ่ายมารดา มิใช่ประเทศมาเลเซียอีกต่อไป เพราะเขามีเจตนาที่จะถือเอาประเทศไทยเป็นภูมิลำเนาแทนประเทศมาเลเซีย เมื่อเขาเข้ามาอาศัยอยู่จริงในบ้านในประเทศไทยตามเจตนา ประเทศไทยจึงมีสถานะเป็นภูมิลำเนาใหม่ของนายซาฟิอิ[5] รัฐไทยในวันนี้ จึงมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนของนายซาฟิอิ แม้ยังไม่มีสถานะเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลในสถานะรัฐเจ้าของสัญชาติและรัฐเจ้าของดินแดน อันเป็นภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชน

โดยสรุป จึงมี ๒ รัฐอธิปไตยบนโลกนี้ที่มีสถานะเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของนายซาฟิอิ กล่าวคือ (๑) รัฐมาเลเซีย ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งรัฐเจ้าของสัญชาติของนายซาฟิอิ และรัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนของนายซาฟิอิ และ (๒) รัฐไทย ซึ่งทำหน้าที่เป็นรัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนของนายซาฟิอิ

จะเห็นว่า ด้วยว่า นายซาฟิอิเป็นมนุษย์/บุคคลธรรมดา/บุคคลตามธรรมชาติ ซึ่งมีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงโดยการเกิดกับ ๒ รัฐอธิปไตยพร้อมๆ กัน และนายซาฟิอิก็ได้ใช้เสรีภาพที่จะขอการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายจากทั้งสองรัฐที่มีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับตนแล้ว ดังนั้น เขาจึงได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายในสถานการณ์ที่เขาเลือกเอง ภายใต้อำนาจอธิปไตยของ ๒ รัฐพร้อมๆ กัน รัฐทั้งสองจึงมีโอกาส “ร่วมกัน” ทำหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองนายซาฟิอิ ขอให้เราตระหนักว่า การปรากฏตัวของประชาคมอาเซียน ซึ่งรัฐทั้งสองต่างเป็นสมาชิก จะยิ่งทำให้โอกาสที่จะร่วมกันดูแลนายซาฟิอิของรัฐทั้งสองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่า กรณีจะเป็นเช่นใด นายซาฟิอิก็คือ “ประชาชนอาเซียน (ASEAN People) ซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิตามกฎบัตรอาเซียน” อย่างปฏิเสธมิได้

-------------------------------------------------------------



[1] เป็นข้อเท็จจริงที่สร้างขึ้นจากเรื่องจริงที่หารือเข้ามาโดยประชาชนเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๙ ยังโครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[2] เป็นข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต ภาคปกติ ศูนย์รังสิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา ๒๕๕๗ ภาคที่ ๒

[3] มาตรา ๓๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไทยบัญญัติว่า “ภูมิลำเนาของบุคคลธรรมดา ได้แก่ถิ่นอันบุคคลนั้นมีสถานที่อยู่เป็นแหล่งสำคัญ”

[4] มาตรา ๔๔ วรรคแรก แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไทยบัญญัติว่า “ภูมิลำเนาของผู้เยาว์ ได้แก่ภูมิลำเนาของผู้แทนโดยชอบธรรมซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครอง”

[5] มาตรา ๔๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไทยบัญญัติว่า “ภูมิลำเนาย่อมเปลี่ยนไปด้วยการย้ายถิ่นที่อยู่ พร้อมด้วยเจตนาปรากฏชัดแจ้งว่าจะเปลี่ยนภูมิลำเนา”



หมายเลขบันทึก: 608480เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2016 19:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2016 19:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท