ตามรอยเส้นทางเดินทัพ ‘สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช‘ แห่งเมืองอุตรดิตถ์


ณ ริมแม่น้ำน่านใต้เมืองสวางคบุรี ชื่อสถานที่นี้ตลอดระยะเวลา 250 ปี ที่ผ่านมา แทบไม่มีคนรู้จักเนื่องจากถูกละเลยไปจากหน้าประวัติศาสตร์ สถานที่ถูกหลงลืมแห่งนี้อาจยังคงเก็บงำความลับบางอย่างที่คนรุ่นหลังอาจจะไม่มีทางได้รู้

ตามรอยเส้นทางเดินทัพ

‘สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช‘

แห่งเมืองอุตรดิตถ์

ประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้ว่าคำว่า ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ คำสามคำนี้มิใช่เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ปรากฏบนธงไตรรงค์เท่านั้น หากเป็นคำสามคำที่หลอมรวมจิตใจของชาวไทยทุกผู้ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมาทุกยุคทุกสมัย

ย้อนไปเมื่อเกือบ 250 ปีก่อน จากเหตุการณ์สูญเสียกรุงศรีอยุธยาปี พ.ศ. 2310 บ้านเมืองอยู่ในสภาพไร้ศูนย์อำนาจปกครองด้วยสภาพบ้านแตกสาแหรกขาดนั้น หากไม่ได้พระมหากษัตริย์ที่ทรงมีน้ำพระทัยเด็ดเดี่ยว แกล้วกล้า และเสียสละ เยี่ยงสมเด็จพระเจ้าตากสินแล้วก็จะไม่มีแผ่นดินไทยอย่างปัจจุบันนี้

วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ชาวบ้านท้องถิ่นเรียกว่า วัดคุ้งตะเภา ตามชื่อหมู่บ้านในปัจจุบัน ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 ต.คุ้งตะเภา อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ สันนิษฐานว่าแรกเริ่มก่อนจะเป็นวัดนั้น เคยเป็นที่ตั้งค่ายที่ พระเจ้าตากสิน ได้มาประทับถึง 2 เดือน และอุทิศพระตำหนักชั่วคราวให้สร้างวัดขึ้น เพื่ออุทิศส่วนกุศลสมโภชการชำนะศึกรวมชาติ ในครั้งเข้าปราบชุมนุมเจ้าพระฝางเมืองสวางคบุรีได้เป็นชุมนุมสุดท้าย รวมไทยให้เป็นหนึ่งเดียวได้ ราวเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2313

พระเจ้าตากทรงเรือพระที่นั่ง พร้อมด้วยพระยาสีหราชเดโช ขุนศึกคู่พระทัย (ซึ่งต่อมาเป็นพระยาพิชัยดาบหัก) และเหล่าพลทหาร ยกทัพออกจากเมืองพิษณุโลก มาตั้งค่ายพักที่ พระตำหนักค่ายหาดสูง (วัดคุ้งตะเภา) เมืองสวางคบุรี ณ ที่แห่งนี้ พระเจ้าตาก ได้ทำพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อ ชำระบริสุทธิ์แห่งสงฆ์หัวเมืองเหนือทั้งปวง กอบกู้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและแผ่นดิน ซึ่งปรากฎความโดยละเอียดมากในพระราชพงศาวดารทุกฉบับ

หลังจากสิ้นศึกครั้งนั้น พระเจ้าตากสินประทับอยู่ ณ พระตำหนักค่ายหาดสูง เป็นเวลาถึง 2 เดือน เพื่อเป็นหลักชัยรวบรวมผู้คนชาวหัวเมืองเหนือให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และในการศึกครั้งนี้ ทำให้ทรงได้ลูกช้างเผือก "นางพระยาเศวตมงคลคชสารตัวประเสริฐ" ซึ่งเป็นช้างเผือกเชือกแรกและเชือกเดียวในรัชสมัย พร้อมทั้งตราพระราชกำหนดต่าง ๆ และประกาศเชิญชวนให้ราษฎรไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ที่หนีไปซุกซ่อนภัยสงครามพม่าตามป่าเขา คืนกลับมาตั้งบ้านเรือน ดุจเมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี พร้อมยังได้สถาปนาเลื่อนยศพระยาสีหราชเดโช (จ้อย) ให้เป็นที่ "พระยาพิชัย (ดาบหัก)" ครองเมืองพิชัย บ้านเกิดของท่าน ในครั้งนี้เอง

(ศาลาการเปรียญหลังเก่าโครงไม้ส่วนหนึ่งจากศาลาเดิมสมัยธนบุรี)

หลังจากสิ้น 2 เดือน ที่พระเจ้าตากสินได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในหัวเมืองเหนือ สมโภชพระบรมธาตุศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ แล้ว ก่อนเสด็จกลับ ได้ทรงอาราธนาพระพิมลธรรม และคณะสงฆ์จากกรุงธนบุรีมาจำพรรษาและอยู่สั่งสอนพระธรรมวินัยในเมืองสวางคบุรี และทรงสถาปนาเปลี่ยนนามวัดแห่งนี้ขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุจำพรรษา มีพระผู้ใหญ่หลายรูป จวบจนปี พ.ศ. 2325 สิ้นยุคกรุงธนบุรี ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไป

(ซากโบราณสถานวัดคุ้งตะเภา บริเวณเนินหาดสูงโบราณ)

วัดคุ้งตะเภา ณ ริมแม่น้ำน่านใต้เมืองสวางคบุรี ชื่อนี้สถานที่นี้ตลอดระยะเวลา 250 ปี ที่ผ่านมา แทบไม่มีคนรู้จัก เนื่องจากถูกละเลยไปจากหน้าประวัติศาสตร์ไทย เนื่องด้วยสถานที่นี้เก็บงำความบางอย่างที่คนรุ่นหลังอาจจะไม่มีทางได้รู้

(ตัวอย่างสมุดไทยลงหรดาลพระอัยการโบราณจำนวนมากที่พบในวัดคุ้งตะเภา
ปัจจุบันเก็บรักษาและจัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา)

ฉะนั้นเป็นเรื่องยาก ที่จะหาข้อมูลมาบรรยายถึงประวัติความเป็นมาของวัดโดยชัดเจน หลังจากยุคสมัยของพระเจ้าตากสิน ซึ่งอยู่ในสายตาของช่วงต้นราชวงศ์จักรีมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2325 สิ้นยุคกรุงธนบุรี ทแกล้วทหารกล้า ซึ่งติดตามรับใช้ พระเจ้าตากสิน และพระยาพิชัยดาบหัก เดินทางกลับบ้านเกิด บ้างก็กระจัดพลัดพรากไปตามความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย

คนเก่าแก่เล่าสืบว่าต้นตระกูลชาวบ้านแถบนี้บางสายเป็นทหารจากเมืองเก่าที่ติดตามมากับทัพ เพื่อขึ้นมาตีหัวเมืองเหนือ บ้างก็อพยพโยกย้ายมาจากเมืองสวางคบุรีเก่าหลังสิ้นศึกเจ้าพระฝาง และส่วนหนึ่งนั้นคือเชื้อสายของตระกูลมวยไทยโบราณสายพระยาพิชัยดาบหัก (สายครูเมฆท่าเสา) ที่สืบมาแต่ครั้งนั้น คนบ้านคุ้งตะเภาส่วนใหญ่จึงมีสำเนียงภาษาถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะคือภาษาถิ่นสุโขทัย ภาษาเหน่อบ้านเกิดแบบเมืองพิชัย ที่พระยาพิชัยดาบหักใช้ตลอดจนชั่วชีวิตของท่าน และเปล่งวาจา "ไม่ขอเป็นข้าสองเจ้า บ่าวสองนาย ขอตายตามเสด็จเป็นราชพลี"

(โครงฝาปะกนที่เชื่อว่าเป็นส่วนประกอบของกลุ่มอาคารพระตำหนักโบราณสมัยธนบุรี
ปัจจุบันเก็บรักษาและจัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา)

ปัจจุบันในวัดคุ้งตะเภา แม้จะยังไม่เคยมีการขุดค้นทางโบราณคดี แต่ก็ยังคงปรากฎร่องรอยโบราณวัตถุเศษกระเบื้องขอและอิฐดินเผาโบราณกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณ และยังคงหลงเหลือเสาไม้พระตำหนักเก่าแก่ ที่เชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของพระตำหนักค่ายหาดสูง ที่พระเจ้าตากสินอุทิศถวายเพื่อสร้างวัดคุ้งตะเภา ก่อนจะเสด็จกลับกรุงธนบุรี

สำหรับโบราณสถานที่ยังคงเหลืออยู่คือ ซากร่องรอยเจดีย์เก่าแก่ เศษกระเบื้องดินเผา เสาพระตำหนักโบราณ รวมถึงบริเวณที่เคยเป็นหาดทรายกว้าง หน้าพระตำหนักค่ายหาดสูง สถานที่พระเจ้าตากสินทำการชำระสงฆ์หัวเมืองเหนือในครั้งกระนั้น

(ซากเสาไม้พระตำหนักโบราณสมัยธนบุรีในวัดคุ้งตะเภา)

เดิมทีวัดคุ้งตะเภา มีศาลาปรก หอฉัน หอนั่ง ศาลาการเปรียญ และกุฏิสงฆ์ รวมถึงซากเสาพระตำหนักฯ เป็นเสาไม้มะค่า แต่ละต้นสลักโดยรอบเป็นเหลี่ยม เห็นได้ชัดว่าไม่ใช่อาคารที่ชาวบ้านท้องถิ่นในยุคนั้นทำ รวมถึงเจดีย์เก่าแก่โบราณ และเดิมบริเวณหน้าวัดโบราณ มีเสาไม้สูงปลายยอดเสาเป็นตัวหงส์ประดับ ชาวบ้านเล่าสืบมาว่าชาวบ้านทำไว้เพื่อป้องกันหลอกข้าศึกชาวพม่า เพราะในปี 2316 พม่าได้ยกทัพจากเมืองน่านผ่านหน้าวัดเพื่อไปปล้นสะดมเมืองลับแล แต่วัดคุ้งตะเภาไม่ถูกทำลายในครั้งนั้น เพราะเสาหงส์ต้นนี้

(ยอดเสาหงส์โบราณจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา)

ในปี 2558 วัดคุ้งตะเภา ได้ดำริโครงการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก เพื่อรำลึกถึงสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และขุนศึกคู่พระทัยคู่บารมีกู้แผ่นดิน ประดิษฐานไว้ด้านหน้าสี่แยกวัดคุ้งตะเภา หันหน้าเข้าสู่ทุ่งสมรภูมิศึก ใกล้เคียงตรงตามสถานที่จริงตามพระราชพงศาวดาร เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ เมื่อปี 2313

ถ้ามีโอกาสเดิทางไปวัดคุ้งตะเภา จะพบกับโบราณวัตถุ อาทิ ซากอิฐเจดีย์เก่าแก่ ศาลพระเจ้าตาก โบราณวัตถุพระราชกำหนดบทพระอัยการโบราณ เครื่องลายคราม ถ้วยชามไห อายุกว่า 300 ปี จำนวนมาก นับว่าเป็นอีกหนึ่งร่องรอยแห่งประวัติของ “พระเจ้าตากสินมหาราช” และ "พระยาพิชัยดาบหัก" ในแผ่นดินอุตรดิตถ์



โครงการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ณ วัดคุ้งตะเภา


"...แลพ่ออุตสาหะทรมานเที่ยวทำสงครามมาทั้งนี้

ใช่จะจงพระทัยปรารถนาหาความสุขแต่พระองค์ผู้เดียวหามิได้

อุตสาหะสู้ยากลำบากพระกายทั้งนี้เพื่อจะทำนุบำรุงพระศาสนา

ให้สมณะชีพราหมณ์ประชาราษฎรเป็นสุขทั่วขอบขันธเสมา..."

"พระราชดำรัสสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช"

จาก พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) หน้า ๖๒


ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1

“พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)”. (๒๕๔๒). ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๓. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ). (๒๕๐๕). พระนคร :โอเดียสโตร์.

หมายเลขบันทึก: 608377เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2016 02:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2016 02:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท