วิชาการพัฒนานิสิต : หลักคิดการเขียนโครงการเพื่อการพัฒนานิสิต


สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าจัดเจนเอามากๆ คงหนีไม่พ้นการแนะนำให้นิสิตได้ตระหนักว่า โครงการเพื่อการพัฒนานิสิตที่ดี ย่อมหยัดยืนอยู่บนความต้องการของชุมชน ความต้องการของชุมชนก็คือ “โจทย์” ที่นิสิตจะต้องไปศึกษาบริบทชุมชน วิเคราะห์ปัญหา หรือความต้องการของชุมชนให้แจ่มชัด และต้องไม่เกินแรงที่นิสิตจะบริการได้

การจัดการเรียนการสอนวิชาการพัฒนานิสิตวันที่ 7 มิถุนายน 2559 เป็นประเด็นเกี่ยวกับหลักการเขียนโครงการเพื่อการพัฒนานิสิต โดย ดร.คชากฤษ เหลี่ยมไธสง


สำหรับอาจารย์ ดร.คชากฤษ เหลี่ยมไธสง เป็นหนึ่งในคณะทำงานวิชาการพัฒนานิสิตมาระยะหนึ่ง เคยผ่านการดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิตคณะวิทยาการสารสนเทศ ปัจจุบันยังคงเป็นหนึ่งในคณะผู้บริหารของคณะวิทยาการสารสนเทศ ซึ่งมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนมาอย่างเป็นรูปธรรม ในวาระการบรรยายเช่นนี้ จึงนับได้ว่าเป็นการทำงานตรงกับประสบการณ์ของท่านอย่างมากโข




แท้ที่จริงประเด็น “หลักการเขียนโครงการเพื่อการพัฒนานิสิต” เราเรียกหลากหลายชื่อ เช่น โครงการจัดการเรียนรู้ระหว่างนิสิตกับชุมชน รวมถึงโครงการเรียนรู้คู่บริการระหว่างนิสิตกับชุมชน

แต่ถึงแม้จะเรียกแตกต่างกันไปหลายชื่อ หากแต่แก่นสารก็ยึดโยงในครรลองเดียวกัน นั่นก็คือ การมีสถานะเป็นกลไกส่งเสริมให้นิสิตได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำในกิจกรรมนอกชั้นเรียนภายใต้แนวคิดเรียนรู้คู่บริการ อันมีชุมชนเป็นชั้นเรียน (ห้องเรียน) หรือฐานการเรียนรู้ โดยชุมชนที่ว่านี้เป็นได้ทั้งหน่วยงานในมหาวิทยาลัยและชุมชนที่หมายถึงหมู่บ้านรายรอบมหาวิทยาลัยฯ




โครงการเพื่อการพัฒนานิสิต คือหลักของการ "เรียนรู้คู่บริการ" เน้นการศึกษาบริบทชุมชน ศึกษาปัญหา (โจทย์) ของชุมชนแล้วมาออกแบบเป็นกิจกรรมหนุนเสริมชุมชนร่วมกับชุมชน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นกิจกรรมอันใหญ่โต เนื่องเพราะเน้นที่จะฝึกให้นิสิตได้เรียนรู้ชุมชนคู่กับการช่วยเหลือชุมชน และดำเนินการบนฐานคิดการมีส่วนร่วมระหว่างนิสิตกับนิสิต และนิสิตกับชุมชน ไล่เรียงตั้งแต่ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ และร่วมลงมือทำ

ทั้งนี้ทั้งนั้นเรามีความเชื่อว่า โครงการเพื่อการพัฒนานิสิต จะช่วยให้นิสิตได้เกิดทัศนคติที่สร้างสรรค์ต่อการดำเนินชีวิต และมีความตระหนักในหน้าที่ตนเอง รวมถึงมีทักษะที่ดีต่อการรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม เฉกเช่น อัตลักษณ์นิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่กล่าวว่า “เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน”

รวมถึงค่านิยมของนิสิต (MSU FOR ALL) ที่หมายถึง "พึ่งได้" (พึ่งตนเองได้ และเป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้)

ซึ่งนั่นก็สัมพันธ์กับคำว่า "จิตอาสา - จิตสาธารณะ" โดยยึดโยงกับปลายทางอันเป็นปรัชญามหาวิทยาลัยมหาสารคามว่า "ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน"




สำหรับการบรรยายในวันนี้ ดร.คชากฤษ เหลี่ยมไธสง ได้กล่าวถึงองค์ประกอบสำคัญๆ ในการเขียนโครงการเพื่อการพัฒนานิสิต เช่น ชื่อโครงการ หลักการเหตุผล วัตถุประสงค์ เป้าหมาย ลักษณะการดำเนินงาน วันเวลา-สถานที่ งบประมาณ ผลที่คาดว่าจะได้รับ การประเมินผล

ยกตัวอย่างเช่น กรณีการตั้ง “ชื่อโครงการ” ควรต้องสั้น กระชับ หรือถ้าจะยืดยามก็ต้องได้ใจความ ไม่เช่นนั้นก็ต้องมีภาษาที่ชวนฟัง- เร้าใจ บ่งบอกภาพรวมโครงการ บ่งบอกวัตถุประสงค์ หรือกิจกรรมในตัวอย่างเสร็จสรรพ เรียกได้ว่า เห็นและอ่านในทันทีก็สามารถจินตนาการถึงเรื่องราวของโครงการได้ -

ขณะที่ “หลักการและเหตุผล” จำต้องเขียนให้เห็นถึงที่มาที่ไปของโครงการ ความจำเป็นที่ต้องทำโครงการ ปัญหาที่ต้องการแก้ไข หรือประเด็นที่ต้องการเรียนรู้ รวมไปถึงแรงบันดาลใจของคนทำงาน ซึ่งอาจรวมถึงกรอบแนวคิดทฤษฎี กลุ่มเป้าหมาย และผลที่คาดว่าจะได้รับจากการจัดทำโครงการ




หรือแม้กระทั่งการฝากแง่คิดแก่นิสิตในการเขียน “วัตถุประสงค์โครงการ” ที่ต้องสัมพันธ์กับ “หลักการและเหตุผล” เพราะในยามต้องประเมินโครงการ สิ่งแรกที่จะบ่งบอกว่าโครงการประสบความสำเร็จหรือไม่ นิสิตก็ต้องประเมินจากวัตถุประสงค์เป็นหัวใจหลัก ซึ่งการเขียนวัตถุประสงค์จะต้องสัมพันธ์ยึดโยงกับ “ผลที่คาดว่าจะได้รับ” มิใช่ไปคนละทิศ คนละทางกัน



นอกจากนี้แล้ว สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าจัดเจนเอามากๆ คงหนีไม่พ้นการแนะนำให้นิสิตได้ตระหนักว่า โครงการเพื่อการพัฒนานิสิตที่ดี ย่อมหยัดยืนอยู่บนความต้องการของชุมชน

ความต้องการของชุมชนก็คือ “โจทย์” ที่นิสิตจะต้องไปศึกษาบริบทชุมชน วิเคราะห์ปัญหา หรือความต้องการของชุมชนให้แจ่มชัด และต้องไม่เกินแรงที่นิสิตจะบริการสังคมได้ หรือเรียกเป็นวิชาการหน่อยก็คือการ “สนธิโจทย์ของชุมชนกับนิสิต” เข้าด้วยกันนั่นเอง

ครับ-เสร็จจากนี้ นิสิตจะได้นำกรอบแนวคิดไปฝึกเขียนโครงการตามที่ตัวเองอยากจะทำ จากนั้นก็จะขยับเข้าสู่การเรียนรู้ในแบบกระบวนการ "บันเทิงเริงปัญญา" ในวาระ "โครงการในฝัน" ที่จะเน้นให้แต่ละคนได้นำโครงการของตนเองมาบอกเล่าสู่กันฟัง บนฐานคิดของการจัดการความรู้ร่วมกัน



หมายเหตุ

ภาพ : อัมพล นุกิจ จันเพ็ญ ศรีดาว อติรุจ อัคมูล
ออกแบบ : จันเพ็ญ ศรีดาว
ถอดคำ : พนัส ปรีวาสนา

หมายเลขบันทึก: 608261เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2016 12:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2016 13:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ชัดเจนและเข้าใจง่ายดีมาก

ขอบคุณมากๆครับ

ดีมาก ๆ เลยค่ะ ทบทวนตัวเองด้วย รอตามอ่านโครงการผลผลิตของนิสิตนะคะ

ครับ ดร.ขจิต ฝอยทอง


ช่วงนี้ ไม่ได้บรรยายในชั้นเรียนแล้วครับ กระบวนการก็ไม่ได้ลงมือเอง ถอยมาทำหน้าที่ออกแบบกระบวนการ ออกแบบเนื้อหา ดังนั้นจึงต้องเข้าไปดู ไปสังเกตการณ์ ไปประเมิการเรียนรู้ในแต่ละชั่วโมง มีบางครั้งก็ต้องเข้าไปสรุปด้วยตนเอง บ้างเหมือนกัน เพื่อให้ตรงประเด็น หรือขยายความให้แจ่มชัดและครอบคลุมมากขึ้น



ครับ พี่หมอธิ

กระบวนการที่ทำ ช่วยให้ผมได้ทบทวนเนื้อหาวิชาที่ตนเองเขียนเอกสารการสอนมาตั้งแต่ปี 2554 ได้เป็นอย่างดี รู้เลยว่า ต้องแก้ไข เติมแต่ง ตัดทอนอะไร และเนื้อหาเหล่านี้ เหมาะต่อการที่ให้ใครบรรยาย หรือเชื่อมไปยังกระบวนการภาคปฏิบัติการอย่าไร

การเข้ามานั่งสังเกตการณ์เช่นนี้ ตัผมเอง ได้พัฒนาตัวเองไปด้วยครับ แถม "งานงอก" เพิ่มขึ้น-- หมายถึง "น้องๆ" ได้งานไปทำต่อ นั่นเอง ครับ 555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท