KM วันละคำ : 657. จัดการคุณค่า


ผมตีความว่า ในมุมของ KM “คุณค่า” เป็น “ความรู้” ชนิดหนึ่ง ที่หากมียุทธศาสตร์ นำมาใช้ประโยชน์ สร้างการ “ระบาด” ของพลังคุณค่าได้ งานที่ยากจะสำเร็จได้

พิธีเปิดการประชุมปฏิบัติการ


ผู้เข้าร่วมอ่านข้อมูลแรงบันดาลใจของผู้เข่าร่วมประชุม และข้อมูลของจังหวัดนครนายกและสระแก้ว


ละลายพฤติกรรมด้วยเกมกระรอกกับรัง


วง BAR

KM วันละคำ : 657. จัดการคุณค่า

มศว. ต้องการพัฒนา “คุณอำนวย” สำหรับทำหน้าที่ขับเคลื่อนกิจกรรมมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาจังหวัด ดังเล่าแล้วใน บันทึกนี้ ได้มาขอให้ สคส. ทำหน้าที่เป็นวิทยากรในการประชุมปฏิบัติการ ระหว่างวันที่ ๙ - ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๙ ที่จังหวัดราชบุรี เพื่อสร้าง “คุณอำนวย” ที่เป็นคนของมหาวิทยาลัย

คุณวรรณา เลิศวิจิตรจรัส ทำหน้าที่หัวหน้าวิทยากร ผมไปเป็นกองหลังให้ ๑ วันในวันแรก และเตรียมตัวไปหนุน การจัดการคุณค่า เพื่อสร้างแรงบันดาลใจของอาจารย์หรือนักวิชาการ ต่อการทำงาน พัฒนาจังหวัด

งานที่ มศว. มีเจตนารมณ์ดำเนินการเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มากในสายตาของผม ตามที่ได้บันทึกไว้แล้ว ในลิ้งค์ข้างต้น เพราะเป็นการทำหน้าที่มหาวิทยาลัยผู้นำในการดำเนินการ University – Community Engagement ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องพลิกกระบวนทัศน์ของคนมหาวิทยาลัยทีเดียว แต่ก็เป็นงานที่ยาก เพราะคนมหาวิทยาลัยไม่คุ้นกับการทำงานชนิดนี้

กระบวนการที่ สคส. รับไปทำให้ มศว. นั้น เป็นการสร้าง ผู้นำการเปลี่ยนแปลง หรือไปติดอาวุธทักษะ การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ให้แก่คนจำนวน ๒๙ คน ที่อาสาเข้ามาทำหน้าที่เป็น “คุณอำนวย” แต่จริงๆ แล้ว ในจำนวน ๒๙ คนนั้น มีคนระดับคณบดีถึง ๕ คน ซึ่งน่าจะเลยบทบาท “คุณอำนวย” ไปแล้ว น่าจะเป็น “คุณเอื้อ” มากกว่า

ผมแนะนำคุณอ้อ (วรรณา) หัวหน้าทีมวิทยากรว่า หัวข้อในช่วงแรกของการประชุม ซึ่งเป็นกิจกรรม BAR (Before Action Review) นั้น น่าจะตั้งโจทย์ให้ผู้เข้าร่วมประชุมปฏิบัติการแต่ละคน ได้บอกเป้าหมาย ของตนในระดับคุณค่า ว่าที่มาฝึกทักษะ KM ทักษะ คุณอำนวย และกิจกรรมมหาวิทยาลัยพัฒนาจังหวัดนี้ มีคุณค่าต่อตนเอง ต่อ มศว. และต่อสังคมไทยอย่างไร เราเชื่อว่า การคุยกันในระดับคุณค่า จะสร้างแรง บันดาลใจได้ง่าย

คุณอ้อปรับกระบวนการทันควัน บรรยากาศและคำพูดของผู้เข้าร่วมทำให้ผมตีความว่า คนไทยเราไม่ถนัดพูดเรื่องคุณค่า ถนัดเล่าเรื่องราวของตนเอง และถนัดบอกความคาดหวังเพื่อให้คนอื่นไปทำ ไม่ใช่ความคาดหวังที่ตนเองจะเป็นผู้ลงมือทำ ผมจึงต้องเข้าไปตีความคำพูดของแต่ละคนเข้าสู่โจทย์ คือคุณค่าของการประชุมปฏิบัติการ ๓ วัน กับคุณค่าของโครงการ มศว. พัฒนาจังหวัด

ผมได้เรียนรู้ว่า ทีมวิทยากร ประสบความสำเร็จในการสร้างบรรยากาศ ให้ที่ประชุมเป็นพื้นที่ปลอดภัย ให้ทุกคนพูดออกมาจากใจได้ และให้ผู้เข้าร่วมถอดหมวกถอดหัวโขน และลดอายุเหลือ ๒๕ ปีเท่ากัน (มีผมอายุเกินอยุ่คนเดียวคือ ๒๖ ... จะครบร้อย) การจัดวง KM ทีมวิทยากรต้องหาวิธีจัดการบรรยากาศ ที่เป็นอิสระและปลอดภัยให้ได้ เพื่อให้ได้คุณค่าจากบรรยากาศนั้น คือสมาชิกทุกคนมีจิตใจสดชื่นเบิกบาน มีความสร้างสรรค์สูง

ผมกลับจากการประชุมเวลา ๑๖ น. ของวันที่ ๙ มิถุนายน พร้อมกับความสุข ที่กระบวนการใน ภาคเช้าและภาคบ่าย ได้ช่วยเอื้อให้คณะผู้เข้าร่วมประชุมกระตือรือร้นในคุณค่าของการนำวิชาการเข้าไปรับใช้ พื้นที่หรือชุมชนในลักษณะของ engagement ไม่ใช่เข้าไปช่วยเหลือ

คุณค่าของ university - community engagement สูงส่งกว่าคุณค่าของการเข้าไปช่วยเหลือ อย่างเทียบกันไม่ติด

ผมตีความว่า ในมุมของ KM “คุณค่า” เป็น “ความรู้” ชนิดหนึ่ง ที่หากมียุทธศาสตร์ นำมาใช้ประโยชน์ สร้างการ “ระบาด” ของพลังคุณค่าได้ งานที่ยากจะสำเร็จได้

วิจารณ์ พานิช

๙ มิ.ย. ๕๙

หมายเลขบันทึก: 608166เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2016 06:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2016 07:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านบันทึกอาจารย์แล้ว ปิ๊งค่ะ

ที่งานพยาบาล รพ ศรีนครินทร์ กำลังจะ km การนำผลงานวิจัยมาใช้ในการดูแลผู้ป่วย

ได้แนวคิดที่จะไป BAR

การนำผลวิจัยไปใช้ในการทำงาน...มีคุณค่าต่อตนเอง ต่อผู้ป่วยและต่อองค์กรอย่างไร?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท