มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาจังหวัด : 1. โหมโรง



วันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ผมไปร่วมการประชุม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒกับการพัฒนาจังหวัดนครนายกและจังหวัดสระแก้วอย่างบูรณาการ ที่โรงแรมรอยัลฮิลล์ฯ นครนายก

นี่คือการประชุมเพื่อ “โหมโรง” การพัฒนา มศว. สู่การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาจังหวัด ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก จะเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับ “Transform” มศว. ทีเดียว ซึ่งตามนิยามของ ศ. นพ. ประเวศ วะสี นี่คือการสร้างจิตสำนึกใหม่ของมหาวิทยาลัย และ มศว. กำลังเป็นผู้นำของประเทศ ผมเข้าใจว่ามหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นอีกมหาวิทยาลัยหนึ่งที่เด่นด้านนี้

จะสำเร็จหรือไม่ ต้องดูกันต่อไป และต้องไม่ใช่แค่ “ดู” หรือ “เชียร์” ต้องเข้าไป “ช่วย” กัน เพราะงานนี้ยาก แต่จะมีคุณค่าต่อแผ่นดิน หรือต่อสังคมไทยอย่างมหาศาล

ผมปวารณาตัวไว้อย่างนั้น

“จิตสำนึกใหม่ของมหาวิทยาลัย” นี้ คือจิตสำนึกในการทำเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของคนในพื้นที่ มองการทำหน้าที่หลักของมหาวิทยาลัยเชื่อมโยงกับการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่ เป็น collective consciousness ของคนทั้งมหาวิทยาลัย และของสมาชิกของ มศว. แต่ละคน

ย้ำคำว่า “ทำหน้าที่หลักเชื่อมโยงกับการพัฒนาพื้นที่” โดยที่หน้าที่หลักที่ยึดถือกันทั่วไปมี ๔ ด้านคือ การผลิตบัณฑิต, การวิจัย, การให้บริการวิชาการ, และการทำนุบำรุงวัฒนธรรมและศิลปะ

ผมเสนอหน้าที่หลักประการที่ ๕ ที่เป็นหน้าที่เชิงบูรณาการ คือทำหน้าที่นี้อย่างเดียวอาจบูรณาการ ๔ หน้าที่ข้างบนเข้าด้วยกันทั้งหมด คือ “พันธกิจมหาวิทยาลัยกับสังคม” (University Engagement) ตามที่ระบุรายละเอียดไว้ในเว็บไซต์ของ พันธกิจมหาวิทยาลัยกับสังคม หัวใจของการทำหน้าที่นี้คือต้อง ไม่ใช่เข้าไปช่วยเหลือสังคม/ชุมชน แต่เข้าไป engage ซึ่งดู ppt และเสียงการบรรยายเรื่องนี้ของผมตามลิ้งค์ข้างล่าง

ศ. นพ. ประเวศ วะสี ลงแรงช่วย มศว. คิดยุทธศาสตร์ทำงานนี้ให้สำเร็จให้ได้ โดยเขียนบทความ สามเหลี่ยมพัฒนาจังหวัดอย่างบูรณาการ : พลังจังหวัด - มหาวิทยาลัย - ภาคีช่วยพัฒนา ซึ่งอ่านได้ ที่นี่ โดยท่านระดมภาคีช่วยพัฒนาไปเล่ากิจกรรมหรือผลงานของตนเองในที่ประชุมถึง ๑๑ ด้านคือ (๑) การใช้ข้อมูล (๒) ระบบสุขภาพ (๓) ความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนท้องถิ่น (๔) วัดกับการพัฒนา (๕) ศิลปินกับการพัฒนา (๖) โรงเรียนปฏิรูปการเรียนรู้ (๗) การเงินการคลังชุมชน (๘) การจัดการสภาพแวดล้อม (๙) พลังงานชุมชน (๑๐) ข้อมูลข่าวสาร (๑๑) การท่องเที่ยวชุมชน

หลักการคือ หาความเข้มแข็งของการดำเนินการด้านต่างๆ ที่ไปทำในชุมชน และเห็นผลดีต่อชุมชน อย่างชัดเจน ที่ไหนก็ได้ เอามาเป็นข้อเรียนรู้และปรับมาใช้ในสองจังหวัดนี้ ซึ่งผมคิดว่า ยังมีรายละเอียดอื่นๆ อีกมาก ที่จะนำมาเป็น ภาคีร่วมพัฒนา ได้

ดู ppt ประกอบการบรรยายนำของ ศ. นพ. ประเวศ ได้ ที่นี่ หลักการสำคัญคือ ต้องแสวงหา ภาคีร่วมพัฒนา มาร่วมคิดร่วมทำ ร่วมเรียนรู้

ผมเองก็เตรียมทีมงานของ สคส. ไปคิดหาวิธีนำเอา KM 3.0 ไปใช้เป็นเครื่องมือของการเรียนรู้ร่วมกัน ในการปฏิบัติ เพื่อเป็นหนึ่งในภาคีร่วมพัฒนา

ผมได้รับเชิญให้บรรยายเรื่องการทำงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง (Collaboration to Transformative Learning) ดู ppt ประกอบการบรรยายได้ ที่นี่ และฟังเสียงการบรรยายได้ ที่นี่ ผมตั้งใจไปสื่อสาร ๔ ประเด็นต่อประชาคม มศว. คือ (๑) ต้องใช้หลักการ engagement ไม่ใช่ช่วยเหลือ (๒) การดำเนินการทั้งหมดนั้นเป็นการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็น transformative learning (๓) กิจกรรมหลักที่สำคัญที่สุดของ มศว. คือการผลิตบัณฑิตต้องผูกพันอยู่กับการปฏิบัติในพื้นที่ถึงร้อยละ ๗๐ - ๘๐ ของรายวิชา คือ นิสิตและอาจารย์ เรียนรายวิชาโดยการไปปฏิบัติในพื้นที่ โดยอาจารย์ต้องเรียนรู้วิธีตั้งโจทย์และออกแบบการเรียนรู้ในพื้นที่ให้แก่นิสิต และรู้วิธีประเมินความก้าวหน้าของการเรียนรู้จากการปฏิบัติ และเรียนรู้วิธีให้ constructive feedback แก่ศิษย์ และ (๔) อาจารย์ต้องฝึกทักษะ การเป็น “คุณอำนวย” ให้เกิด Transformative Learning จากการปฏิบัติ ตามด้วย การไตร่ตรองสะท้อนคิดอย่างยิ่งยวด (Critical Reflection) โดยอาจารย์ฝึกวิธีตั้งคำถามเพื่อให้เกิด critical reflection หลังการปฏิบัติ

ผมคิดว่า ปัจจัยสำคัญที่สุด ต่อความสำเร็จของขบวนการมหาวิทยาลัยกับการพัฒนาจังหวัด คือจิตสำนึกแห่งความไม่รู้ (Consciousness of Ignorance) และต้องการจัดการความไม่รู้ของตน เพื่อประโยชน์ของผู้อื่นและประโยชน์ส่วนรวม มีกลไกส่งเสริมให้ภาคีทุกภาคส่วนในจังหวัดร่วมกันดำเนินการทั้ง การจัดการความไม่รู้ และการจัดการความรู้ สู่การพัฒนาจังหวัดอย่างบูรณาการ และสู่ Transformative Learning

การประชุมนี้มี ๒ วัน วันที่ ๑ มีนาคม เป็นการรายงานผลการประชุมกลุ่ม และสรุปการประชุม ตกเย็นผมก็ได้รับอีเมล์จาก นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ส่งข้อสรุปที่ตนจดไว้มาให้ อ่านแล้วผมก็ตาสว่าง ว่าเห็นลู่ทางการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติชัดเจน แค่เรียนรู้วิธีทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย ชุมชน/สังคม และภาคีร่วมพัฒนา ในลักษณะของ engagement ก็น่าจะทำได้หลายปี และเป้าหมายหลักคือการ transform มหาวิทยาลัย ที่ผมอยากท้าทายว่า เป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์จาก center of wisdom (ศูนย์กลางแห่งปัญญา) ไปเป็น center of ignorance (ศูนย์กลางแห่งการค้นหาปัญญา) เมื่อไรก็ตามมหาวิทยาลัยไทยบรรลุกระบวนทัศน์นี้ มหาวิทยาลัยไทยจะรุ่งเรือง ผมได้แนวคิดนี้จากหนังสือ Sapiens : A Brief History of Humankind

บรรยากาศในห้องประชุม


ช่วงการประชุมกลุ่มในตอนบ่าย



วิจารณ์ พานิช

๑ มี.ค. ๕๙ ปรับปรุงเพิ่มเติม ๒ มี.ค. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 604214เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2016 14:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2016 09:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านเรื่องนี้แล้วได้ประโยชน์มากครับ ขอติดตามอ่านในฐานะแฟนคลับ FoV

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท