จดหมายถึงพ่อ...ตอนวัดป่าสักเมืองเชียงแสน..(ฉบับ๒)(อาจารย์สุภัชชา พันเลิศพาณิชย์)



จดหมายถึงพ่อ...ตอนวัดป่าสักเมืองเชียงแสน..(ฉบับ๒)

อาจารย์สุภัชชา พันเลิศพาณิชย์

พ่อคะ..ลูกไม่ได้เขียนจดหมายถึงพ่อนานแล้ว แต่ความรู้สึกคิดถึงพ่อไม่เคยห่างหายไปจากหัวใจ...ลูกสาวพ่อได้เดินทางไปเชียงแสน๒ครั้งเมื่อมาอยู่เชียงรายด้วยความเมตตาของพระครูสุธีสุตสุนทรและกัลยาณมิตรที่ดีอย่างชมรมสวดมนต์วันเสาร์ จดหมายฉบับนี้เป็นฉบับที่๒ลูกจะขอเล่าเรื่อง พระธาตุเจดีย์วัดป่าสักตามสัญญาคะ

วัดป่าสักตั้งอยู่เมืองเชียงแสนทางทิศตะวันตกห่างจากกำแพงเมืองประมาณ๓ooเมตรเศษ มีเรื่องเล่าตามตำนานและพงศาวดารพื้นบ้านไว้ว่ามีพระมหาเถระชื่อพระพุทธโฆษาจารย์ ได้นำพระบรมพระธาตุของพระพุทธเจ้าคือกระดูกตาตุ่มเบื้องขวามีขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียวมาจากเมืองปาฎลีบุตรได้นำมาถวายพระเจ้าแสนภูผู้ครองเมืองเชียงแสนเมื่อพ.ศ.๑๘๓๘พระองค์จึงทรงโปรดให้สร้างพระธาตุเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและสร้างพระอารามมีเนื้อที่กว้างด้านละ๕oวาพร้อมทั้งให้ปลูกต้นสัก๓ooต้นล้อมรอบพระอารามวัดจึงมีชื่อว่า วัดป่าสัก ด้วยเหตุนี้

ลักษณะพระธาตุป่าสักแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ ฐานล่าง ส่วนกลาง และส่วนบน ตอนล่างเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ถัดขึ้นไปมีซุ้มพระพุทธรูปปั้นยืนประทับปางเปิดโลกทั้งสี่ด้านด้านละสามองค์ส่วนด้านทิศเหนือมีพระพุทธรูปองค์หนึ่งประทับยืนปางลีลา ระหว่างสองข้างซุ้มมีพระพุทธรูปและมีเทวรูปทำด้วยปูนปั้นติดอยู่กับองค์พระธาตุ ยืนประจำอยู่ด้านซ้ายและด้านขวาแต่เศียรเทวรูปเหล่านี้ถูกทำลายหมด เจดีย์มีลักษณะอ่อนช้อยงดงามอาจได้รับแบบอย่างจากศิลปะสมัยสุโขทัยก็เป็นได้ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของนายเอกสิทธิ์ เรือนทอง เรื่องพัฒนาการของแผนผังโบราณสถานในเมืองเชียงแสนและเชียงแสนน้อยว่าหลักฐานจากรูปแบบเจดีย์ประธานองค์ในสมัยแรกสร้างมีลักษณะเจดีย์เป็นทรงระฆังกลมตั้งอยู่บนฐานเขียงมีชั้นมาลัยเถารองรับแสดงว่าได้รับอิทธิพลจากเจดีย์ทรงระฆังศรีลังกาที่นิยมสร้างในสุโขทัย ศรีสัชนาลัยที่ได้รับอิทธิพลมาหลังจากที่พระสุมนเถระมาเผยแพร่พระศาสนาในล้านนา ดังนั้นโบราณสถานนี้อาจสร้างมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่๒oแล้ว(งานวิจัยของนายเอกสิทธิ์ เรือนทอง เรื่องพัฒนาการของแผนผังโบราณสถานในเมืองเชียงแสนและเชียงแสนน้อยหน้า๔๓)

สำหรับตอนบนมีซุ้มจระนำ(ช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆสำหรับใส่พระพุทธรูป)ประดิษฐานพระพุทธรูปสี่ด้านและมีลวดลายปูนปั้นประทับตามซุ้ม มีพระพุทธรูป ตามซุ้ม ส่วนองค์พระธาตุเจดีย์ประดับด้วยรูปครุฑ นาค และรูปเกียรติมุข พระธาตุเจดีย์วัดป่าสักฐานล่างสุดเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้าง๑๔.๖oเมตร สูง ๒๑เมตร ด้านตะวันออกขององค์พระธาตุมีวิหารกว้าง๑๖ เมตรยาว๓๒ เมตร กรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งและบูรณะตามแบบองค์พระธาตุเจดีย์และสภาพรูปองค์เดิมเมื่อพ.ศ.๒๕oo เสร็จสิ้นในพ.ศ.๒๕o๕และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาตินับได้ว่า พระธาตุเจดีย์วัดป่าสักเป็นศิลปะที่ยังค่อนข้างสมบูรณ์แบบงดงามที่สุดในเมืองเชียงแสนและถ้าสังเกตพระธาตุเจดีย์วัดป่าสัก ผู้ศึกษาทางโบราณคดีใดก็ตามเมื่อเห็นพระธาตุเจดีย์วัดป่าสักแล้ว ต้องมีความเห็นต้องกันว่า ลักษณะของพระธาตุเจดีย์นี้เป็นศิลปะแบบศรีวิชัยทางตอนใต้ของประเทศไทยด้วยคล้ายคลึงกันกับลักษณะของพระธาตุเจดีย์ไชยา ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีด้วยคะ

พ่อคะกระต่ายวันนี้กระต่ายเล่าเรื่องวัดป่าสักให้พ่อฟังพอสมควรแล้วพ่อคงนั่งฟังอยู่ใกล้ๆลูกและถ้าพ่อยังอยู่คงหอมแก้มลูกทุกครั้งเมื่อพ่อจะเดินจากไปแม้วันเวลาจะผ่านนานเพียงใดแต่หัวใจของลูกยังคงมีพ่อด้วยอยู่เสมอคะ

ไว้คราวหน้าลูกจะมาเล่าเรื่องเมืองเชียงแสนต่อนะคะ...

รักพ่อมิเสื่อมคลาย

กระต่ายน้อยของพ่อ

”””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””

(ขอบคุณแหล่งข้อมูลดังนี้ค่ะ)

จดหมายจากเชียงราย โดยพ.ท.มนู นันทมนตรีหน้า๓๗-๓๘)

พระธาตุเจดีย์ในเมืองเชียงแสนโดยนายคงเดช ประพัฒน์ทองปี พุทธศักราช ๒๕0๘

พัฒนาการของแผนผังโบราณสถานในเมืองเชียงแสนและเชียงแสนน้อยโดยนายเอกสิทธิ์ เรือนทอง หน้า๔๓)

หมายเลขบันทึก: 604211เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2016 14:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2016 14:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท