การตัดสินใจทางการเงินบนฐานความเสี่ยง (Risk-Based)


อาจารย์จิรพร สุเมธีประสิทธิ์

[email protected]

การตัดสินใจทางการเงินนับวันจะมีบทบาทในกิจการมากขึ้น เพราะการตัดสินใจด้านการเงินที่ดีจะช่วยเพิ่มหลักประกันได้ว่า กิจการจะมีโอกาสประสบความสำเร็จในการดำเนินงานและการบริหารผลดำเนินงานตามธุรกิจปกติของกิจการ

ประเด็นที่กิจการต้องพิจารณาในการวางแผน และวิเคราะห์ก่อนจะเกิดการตัดสินใจทางการเงินในปัจจุบันและในอนาคตจะพิจารณาบนฐานความเสี่ยง (Risk-Based) เพิ่มขึ้น แทนที่ฝ่ายบริหารงานทางการเงินจะเป็นผู้ตาม หรือปล่อยให้ทีมขายและทีมการตลาด (Front Office) ครอบงำเหมือนในอดีต เพราะวิธีการแบบเดิมๆ นั้น อาจจะทำให้กิจการไม่อาจจะบริหารความเสี่ยงที่มาจากกิจกรรมทางการเงินได้ และประสบความล้มเหลว ทั้งที่การจำหน่ายและการทำธุรกิจกับลูกค้าเป้าหมายไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด

ในการพิจารณาเพื่อการตัดสินใจทางด้านการเงินบนฐานความเสี่ยง สิ่งที่ควรระมัดระวังมีหลายประการ ได้แก่

ประการที่ 1 เป้าประสงค์หลักของการตัดสินใจทางด้านการเงิน

คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มแก่กิจการและรักษาผลตอบแทนแก่นักลงทุน โดยมูลค่าเพิ่มของกิจการ พิจารณาจาก ผลรวมของมูลค่าที่มาจากส่วนของหนี้สินและมูลค่าที่มาจากส่วนของผู้ถือหุ้นของกิจการ

ภายใต้ข้อจำกัดด้านอัตราส่วนของหนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้นที่เป็นที่ยอมรับของตลาด เช่น 1:1 หรือ 2:1และมักจะไม่เกิน 4:1 สิ่งที่นักบริหารทางการเงินจะดำเนินการคือ ทำให้ขนาดของการประกอบการได้ประโยชน์จากการประหยัดจากขนาด (Economies of Scale) ไม่เล็กเกินไปจนไม่คุ้มทุน และได้ประโยชน์จากการประหยัดจากขอบเขตของการดำเนินงาน (Economies of Scope)

ประการที่ 2 การตัดสินใจทางด้านการเงินต้องระมัดระวัง

เนื่องจากแหล่งเงินที่มาจากการก่อหนี้สินและผู้ถือหุ้นล้วนแต่ให้ความสำคัญกับมูลค่าของกิจการ การตัดสินใจทางด้านการเงินจึงต้องระมัดระวัง และวิเคราะห์บนฐานความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดความเสี่ยงจนทำให้มูลค่าของกิจการลดลง

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเงินทุน(ระหว่างหนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้น)จะต้องวิเคราะห์ให้มั่นใจว่า มีส่วนสร้างมูลค่าเพิ่มแก่กิจการเท่านั้น และที่สำคัญมูลค่าเพิ่มดังกล่าวได้มาอย่างไร

ประการที่ 3 การตัดสินใจทางด้านการเงินในเชิงรุก

ยังครอบคลุมถึง การใช้สถานการณ์ที่มีความกดดันทางการเงิน (Financial Stress) ในการวิเคราะห์ข้อมูล เมื่อใดที่เกิดความกดดันทางการเงิน จะเกิดต้นทุนแก่กิจการ หลากหลายลักษณะ

  • ต้นทุนทางตรง ได้แก่ ต้นทุนในการบริหารมวลชนสัมพันธ์ สื่อสารองค์กร และอาจจะรวมถึงค่าใช้จ่ายทางกฎหมาย
  • ต้นทุนทางอ้อม เป็นการพลิกฟื้นธุรกิจ แก้ไขการลดลงของยอดขายและชื่อเสียงของแบรนด์และขององค์กร

แนวทางในการบริหารจัดการทางการเงินภายใต้ สถานการณ์ที่มีความกดดันทางการเงิน ประกอบด้วย

  • การทำความตกลงชี้แจงถึงการปกป้องและคุ้มครองเจ้าหนี้กิจการ
  • Negative Covenant เป็นการตกลงคุ้มครองและรับผิดชอบบางส่วนด้วยการ
  • Positive Covenant เป็นการตกลงในเชิงแก้ไข
  • ตกลงจ่ายเงินปันผลระดับหนึ่งที่เหมาะสมหรือตามความจำเป็นไม่จ่ายเงินปันผลมากแก่ผู้ถือหุ้น ขณะที่ปล่อยให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย
  • ตกลงว่าจะไม่มีการขายตราสารหนี้ที่มีบุริมสิทธิ์เหนือกว่าเจ้าหนี้เดิม และจะจำกัดการสร้างหรือก่อหนี้ใหม่เพิ่มเติมไม่เกินจำนวนที่กำหนดไว้ตามข้อตกลงร่วมกัน
  • ตกลงจะนำเงินที่ได้จากการขายตราสารหนี้ใหม่หรือก่อหนี้ใหม่ไปจ่ายคืนผู้ถือตราสารหนี้ปัจจุบัน โดยตราสารหนี้ใหม่จะต้องมีต้นทุนดอกเบี้ยลดลง
  • ตกลงจะไม่เข้าไปซื้อตราสารหนี้ของกิจการอื่น
  • ทำการจำหน่ายทรัพย์ของกิจการที่ปราศจากภาระผูกพันเพื่อที่จะนำเอาเงินไปคืนหนี้ปัจจุบัน
  • ทำการตัดขายธุรกิจบางส่วนหรือสำนักงานบางส่วนของกิจการออกไป เพื่อให้ได้เงินมาชำระคืนหนี้สิน
  • ทำการธำรงรักษาสถานะและเงื่อนไขของสินทรัพย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มิให้เสื่อมค่าหรือเสื่อมสภาพจากการปล่อยปละละเลย
  • ทำการว่าจ้างผู้สอบบัญชีให้มีการตรวจสอบข้อมูลทางการเงินตามความจำเป็น

จะเห็นว่า การบริหารทางการเงินที่พิจารณาในสถานการณ์ที่มีความกดดันทางการเงินมีปัจจัยความเสี่ยงที่ใช้ในการพิจารณาประกอบด้วย

  • รูปแบบของสินทรัพย์ที่กิจการมีอยู่ หากกิจการมีอสังหาริมทรัพย์ที่ปราศจากภาระผูกพันอยู่บ้าง ก็จะสามารถเปลี่ยนสภาพเป็นเงินสดได้ง่าย และหากมีสินทรัพย์ประเภทอื่นที่มีราคาตลาด ก็จะมีสภาพคล่องในการนำออกจำหน่าย เพื่อที่จะเปลี่ยนสภาพเป็นเงินสดได้ง่าย
  • ความไม่แน่นอนของกระแสเงินสดที่ไหลเข้ามาจากการดำเนินงาน ซึ่งแม้ว่ากิจการจะไม่เผชิญหน้ากับแรงกดดันทางการเงิน จากหนี้สินก็จะมีปัญหาในการดำเนินงานอยู่แล้ว
  • ความสามารถในการบริหารจัดการเงินทุนภายในกิจการ หากการหารือกับเจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้น หรือกิจการในเครือที่เกี่ยวข้องกันเป็นไปได้ยาก กิจการอาจจะไม่ค่อยมีทางเลือกอื่นนอกจากการก่อหนี้จากแหล่งเงินภายนอกเป็นหลัก

ประการที่ 4 การพิจารณาที่นอกเหนือจากตัวเงิน

การตัดสินใจทางการเงินควรจะพิจารณาในประเด็นต่อไปนี้ด้วย

  • ทำการวิเคราะห์และวัดผลดำเนินงานของกิจการในภาพรวม
  • ทำการควบคุมภายในอย่างไร เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของกิจการราบรื่น
  • หลีกเลี่ยงความล่าช้าของโครงการ ปัญหาค่าใช้จ่ายโครงการบานปลาย และไม่สามารถถึงมาตรฐานคุณภาพได้อย่างเพียงพอ
  • ทำการปรับเปลี่ยนและทบทวน นโยบายการเงิน ที่จะทำให้ผลดำเนินงานออกมาได้น่าพอใจ
  • หลีกเลี่ยงความสูญเสีย ความผิดพลาด และไม่เหมาะสมในการใช้เงินทุน
  • ทำการนำข้อมูลเปิดเผยให้เป็นไปอย่างโปร่งใส และมอบหมายความรับผิดชอบให้ชัดเจน
  • ทำการปรับสถานะจนเกิดดุลยภาพระหว่าง ความจำเป็นและต้นทุนของการดำเนินการด้วย เพราะทีมกองหน้า (Front Office) มักจะมองไม่เห็นภาระต้นทุนของกิจการ
  • การใช้แหล่งเงินกู้ มีความเชื่อมโยงถึงการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด การกำกับ สอดส่องในภาพรวมให้ครอบคลุม และทำการทบทวนตามความจำเป็น

ประการที่ 5 สรุปภาพของการบริหารความเสี่ยงในด้านการเงิน

มีขั้นตอนประกอบด้วย

  • การวางแผนกระบวนการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน
  • การค้นหา และระบุความเสี่ยง
  • การวิเคราะห์ ความเสี่ยงเชิงคุณภาพ และเรียงลำดับความเสี่ยง
  • การวิเคราะห์ความเสี่ยงเชิงปริมาณ
  • การทำแผนการตอบโต้ความเสี่ยง และเตรียมพร้อมรองรับความเสี่ยง
  • การติดตามและควบคุมความเสี่ยง
หมายเลขบันทึก: 607982เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2016 19:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2016 19:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท