ประวัติเมืองสงขลา (24) ถนนไทรบุรี


ครั้งอดีต ชาวสงขลาตั้งบ้านเรือนหนาแน่นอยู่บริเวณถนนนครใน นครนอก ริมทะเลสาบเท่านั้น เมื่อบ้านเมืองเริ่มขยายตัวออกไปทางด้านทิศตะวันออก­ จึงจำเป็นต้องสร้างถนนเพิ่มเพื่อประโยชน์ในการสัญจร

ถนนไทรบุรีเป็นถนนสายหลักของย่านเก่าสงขลา ผ่านวัดวาอารามในเมืองสงขลาหลายวัด ไม่ว่าจะเป็นวัดไทรงาม วัดแจ้ง วัดดอนรัก วัดเลียบ วัดดอนแย้ และวัดกลางหรือวัดมัชฌิมาวาส พระอารามหลวงก็ตั้งอยู่บนถนนสายนี้

นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เปรียบได้กับก้างปลา มีถนนเชื่อมสายต่างๆ เป็นก้าง เช่น ถนนสวนหมาก รองเมือง จะนะ เพชรคีรี สายบุรี สงขลาบุรี หนองจิก ยะลา ฉวาง บ้านดอน ฯลฯ และมีถนนไทรบุรีเป็นเหมือนถนนสายกลาง เป็นกระดูกสันหลังของปลา

ครั้งอดีต ชาวสงขลาตั้งบ้านเรือนหนาแน่นอยู่บริเวณถนนนครใน นครนอก ริมทะเลสาบเท่านั้น เมื่อบ้านเมืองเริ่มขยายตัวออกไปทางด้านทิศตะวันออก­ จึงจำเป็นต้องสร้างถนนเพิ่มเพื่อประโยชน์ในการสัญจร

ในพงศาวดารเมืองสงขลา ภาคที่ 2 ซึ่งพระยาสวัสดิ์คีรีศรีสมันตราษฎร์นายก (เย็น สุวรรณปัทม) เป็นผู้เรียบเรียง ได้ระบุไว้ในหัวข้อราชการพิเศษว่าในปีพ.ศ. 2405 รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาวิเชียรคีรี(บุญสังข์) จัดสร้างทางหลวงจากเมืองสงขลาไปต่อพรมแดนเมืองไทรบุรี พระราชทานเงินส่วยเมืองสงขลา 3 ปีให้ทำ

และให้เจ้าพระยาไทรทำต่อไปในแขวงเมืองไทรบุรี พระราชทานเงินอากรรังนกเมืองสตูล 15,000 เหรียญ เป็นทางหลวงข้ามแหลมมลายูสาย 1 ใช้เป็นประโยชน์มาจนบัดนี้

เมืองไทรบุรีเคยเป็นอาณาเขตดินแดนของไทย ต่อมาไทยต้องโอนเมืองกลันตัน ตรังกานู ปะลิส และไทรบุรี ตลอดจนเกาะใกล้เคียงให้กับอังกฤษตามสนธิสัญญาอังกฤษ-สยาม พ.ศ. 2451 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 โดยไทยได้สิ่งแลกเปลี่ยนคือ เงินกู้จากอังกฤษจำนวน 4 ล้านปอนด์ เพื่อสร้างทางรถไฟสายใต้และได้คืนสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้กับไทย

แต่ตำบลสะเดา กิ่งอำเภอจังโหลน จังหวัดไทรบุรี ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของไทยต่อไป โดยได้รวมตำบลสะเดาเข้ากับตำบลปริก ตำบลทุ่งหมอ ขึ้นกับอำเภอเหนือ (หาดใหญ่) ต่อมาในปีพ.ศ. 2460 ได้ยกฐานะสะเดาขึ้นเป็นอำเภอ ขึ้นกับจังหวัดสงขลา ให้พระภักดีราชกิจเป็นนายอำเภอคนแรก

ถนนไทรบุรีตั้งต้นจากบริเวณกำแพงวัดไทรงาม แล้วผ่านเข้าในบริเวณด้านในของกำแพงเมืองสงขลาที่ถนนจะนะ แล้วทอดตัวยาวทะลุออกจากเขตกำแพงเมืองที่ถนนกำแพงเพชรไปบรรจบถนนรามวิถีที่หลาลุงแสง (ศาลาลุงแสง) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของถนนนครนอก กลายเป็นสี่แยกหน้าธนาคารทหารไทยนั่นเอง

ช่วงที่อยู่ในเขตกำแพงเมืองนั้น ถนนมีสภาพไม่เป็นเส้นตรงเป็นระเบียบมากนัก คงเป็นเพราะขณะตัดถนนเมื่อเกือบ 150 ปีที่ผ่านมาต้องอ้อมเขตที่ดินแหล่งชุมชนต่างๆ แต่เมื่อพ้นเขตกำแพงเมืองมาแล้ว ก็ตัดตรงไปจนถึงสามแยกสำโรง สุดเขตเทศบาลนครสงขลา

ผมศึกษาดูประวัติวัดต่างๆ ในเมืองสงขลาแล้ว ยังบอกไม่ได้ชัดเจนว่าถนนกับวัดในเขตกำแพงเมือง ใครมาก่อนใคร ที่มีประวัติชัดเจนเห็นจะเป็นวัดดอนรัก ซึ่งพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) ผู้ช่วยราชการเมืองสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นผู้สร้าง อยู่ที่หัวมุมด้านตะวันตกเฉียงเหนือของสี่แยกถนนไทรบุรีตัดกับถนนเพชรคีรี มุมตรงข้ามวัดมีอาคารเก่าแก่สมัยก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพา เคยเป็นที่ตั้งของโรงหมอไคเซ จารชนชาวญี่ปุ่น

ถนนไทรบุรีผ่านการซ่อมแซมหลายครั้ง หวังว่าการซ่อมแซมครั้งนี้เสร็จแล้ว คงจะใช้งานได้ดี อยู่คู่กับประวัติศาสตร์เมืองสงขลาได้อีกยาวนาน

หมายเลขบันทึก: 607804เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2016 17:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2016 06:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท