แกะถั่วบนภู ถึงดูใจตน


สองอาทิตย์ที่ผ่านมา มีโอกาสไปชัยภูมิกับคู่ชีวิตเพื่อไปร่วมเป็นทีมหยอดถั่วบนภูหลงค่ะเนื่องจากป่าภูหลงหลังจากที่ผ่านไฟไหม้มาได้ประมาณหนึ่งเดือน หญ้าคามายึดพื้นที่ป่าแทนไม้ยืนต้นและหมู่ไม้อื่นๆที่ถูกเผาไป จนเป็นที่หวั่นเกรงกันว่า หน้าร้อนปีหน้า ป่าที่มีแต่หญ้าคาอาจถูกความร้อนจัดทำให้หญ้าลุกไหม้และเป็นเชื้อไฟเผาป่าจนวอดวายได้ ดังนั้น ทางทีมงานรักษาป่านำโดยพระคุณเจ้าไพศาล วิสาโล จึงตกลงกันว่า จะใช้พืชตระกูลถั่วไปปรามหญ้าคาไว้ก่อน

สาเหตุที่เป็นถั่วเพราะถั่วโตเร็ว อายุได้สามปีก็ตาย ระหว่างที่ถั่วเติบโต ถั่วจะช่วยยับยั้งการเติบโตของหญ้า และเมื่อตาย ก็จะยังเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ใหญ่ที่หยอดเมล็ดพันธุ์ไปพร้อมๆกับถั่วอีกด้วย

ในวันก่อนวันทำงานบนภู อาสาสมัครบางส่วนมาช่วยพระคุณเจ้าที่ลูกศิษย์เรียกหาท่านว่า พระอาจารย์ตุ้ม แกะเม็ดถั่วออกจากเปลือก

ก็เป็นธรรมดานะคะ ทำงานอย่างนี้ ก็ต้องมีตกหล่นกันบ้าง

ถั่วบางเม็ดที่หล่นจากมือจึงกระจัดกระจายอยู่ตามพื้น พอแกะกันเสร็จ แม้เม็ดถั่วที่ร่วงอยู่ตามพื้นจะมีจำนวนไม่มากนักแต่พระอาจารย์ก็ไม่ละเลย ท่านนำทีมเก็บกันทีละเม็ด

เก็บไป ท่านก็สอนไป ว่าอย่าประมาทเม็ดถั่วเล็กๆ ถั่วที่ตกตามพื้นแม้เพียงเม็ดหนึ่ง หากเขาสามารถไปเติบโตได้ เขาจะให้เมล็ดพันธุ์อีกนับหมื่น เช่นเดียวกับการกระทำของเรา อย่าเห็นว่าธรรมแม้เล็กน้อยจะไม่มีผล เราพึงสั่งสมความดีแม้ทีละเล็ก ทีละน้อย สะสมไปก็มากขึ้นมาได้เอง อย่าประมาทธรรม

ท่านช่างมีอุบายในการสอนค่ะ ดูซีคะ ถั่วที่สะสมทีละเม็ดยังเต็มกระสอบได้เลย แล้วทำไมกรรมดีกรรมไม่ดี สะสมทีละนิด จะเต็มใจเราไม่ได้

ชวนให้นึกถึงพระคาถาที่ว่า


บุคคลพึงขวนขวายในกรรมอันงาม พึงห้ามจิตจากบาป

เพราะว่า เมื่อบุคคลทำบุญช้า ใจจะยินดีในบาป

ขึ้นมาค่ะ

พระคาถานี้ เน้นที่การกระทำในใจ ความหมายก็คืออย่าประมาท ถ้าเรายอมรับอกุศลธรรมไว้ในใจ ไม่รีบขวนขวายละ ไม่ขวนขวายหักห้ามใจ อกุศลธรรมแม้เพียงเล็กๆน้อยๆแต่หากมาเยี่ยมเยียนแล้วเราปล่อยใจให้ทำตาม บ่อยๆเข้า เราก็จะยินดีในการกระทำนั้นทั้งที่เป็นการกระทำอันเป็นบาป

แล้วสิ่งเล็กๆน้อยๆนี้ก็จะมาเยี่ยมเราบ่อยมากขึ้น ขยายเวลาในการมาเยือนนานขึ้น จนในที่สุดก็จะยึดครองใจเรา เติบโต จนเก็บอยู่เพียงในใจไม่ได้ ต้องก้าวล่วงออกมาสู่การกระทำทางกาย วาจา

ส่วนใหญ่ ที่เราประมาททำกรรมอันเป็นบาปในใจ เพราะมักคิดว่าทำแค่ในใจคงไม่เป็นไรเพราะไม่กระทบถึงใคร แค่คิดไปคงไม่มีใครเดือดร้อน แต่มักลืมไปว่ามีคนที่จะเดือดร้อนอยู่คนหนึ่ง ก็คือตัวเราเอง

อีกทั้งเราส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าบาปคือสิ่งที่ต้องทำออกมาทางกาย วาจาเป็นการผิดศีล เช่น พูดเท็จ ลักทรัพย์ เป็นต้น อันที่จริง แม้การคิดทำผิดศีลอยู่เพียงในใจ คิดถึงเรื่องอะไรด้วยความลังเลสงสัยไปด้วยอำนาจตัณหา ทิฏฐิ มานะ คิดหวังให้ผู้อื่นตกต่ำ สูญเสียสิ่งที่เขาได้โดยธรรม อย่างนี้แค่คิดก็บาปแล้ว

ทำไม เพียงคิดในใจ ไม่ทำหรือแสดงออกทางกายวาจาก็เป็นบาปหรือคะ

เพราะความคิดในใจ มักเป็นไปตามความยินดี(กามฉันท์) ยินร้าย (พยาบาท) สงสัย ไม่แน่ใจในเรื่องต่างๆ (วิจิกิจฉา)ซึ่งก็มักเป็นไปเพราะความยินดียินร้ายอยู่ดี จนฟุ้งซ่าน (อุจธัจจกุกกุจจะ) หรือจิตตกจนเซื่องซึม (ถีนมิทธะ) ภาวะ อาการ เหล่านี้ จะเป็นตัวนำเราสู่ความต่ำคือตกอยู่ใต้อำนาจกิเลส แล้วกิเลสนั้นจะนำเราให้ตกอยู่ในความทุกข์อีกที

ทั้งนี้เพราะคำว่าบาป มีคำแปลหนึ่งว่า ทางสู่ทุคติ

การทำบาปในใจมีได้หลายสาเหตุค่ะ อย่างเช่น บางทีเราอยากทำบางอย่างที่ผิดต่อกฎ ระเบียบ ศีล แต่เพราะเรามีเมตตาต่อผู้อื่น รู้ว่าการกระทำผิดของเราจะทำให้เขาเสียใจ จึงยับยั้งการกระทำนั่นไว้ เมื่อเรายังอยากทำอย่างนั้นอยู่ ประกอบกับกำลังใจยังมีไม่มากพอที่จะห้ามความต้องการทำผิดได้ ไม่มีความเพียรในการพิจารณามากพอที่จะทำให้ใจเห็นโทษของการกระทำผิดได้ เมื่อทำในความเป็นจริงไม่ได้ ก็ขอทำเพียงในใจ ปล่อยให้อกุศลธรรมครอบงำจิตเพื่อเสพสุขจากการคิดในใจ

หรือรังเกียจอยากทำร้ายเขา แต่เพราะทำในความเป็นจริงไม่ได้ จึงคิดทำร้ายอยู่ในใจ เสพสุขจากการเบียดเบียนเขาอยู่ในใจ โดยไม่รู้ว่ากำลังเบียดเบียนตนด้วยความคิดต่ำ

รือ คิดฟุ้งด้วยความอยากมี อยากเป็น ในสิ่งที่ไม่สามารถมี เป็น บนพื้นฐานความเป็นจริงในปัจจุบันได้ เมื่อมีในความเป็นจริงไม่ได้ ก็ขอคิดว่าตนมี ตนเป็น อยู่ในใจ ขอมีขอเป็นอยู่ในความฝัน เพราะการมีการเป็นอยู่ในใจนั้น คิดถึงทีไร ใจตนก็เห็นไปว่าเป็นความสุข

หรือมีความเห็นผิดว่า คิดแค่เล็กๆน้อยๆในใจอย่างนี้คงไม่มีผล การคิดอย่างนี้ผิดพลาดมากทีเดียวค่ะ เพราะธรรมทุกอย่างก็สั่งสมไปจากการเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) เคยตรัสว่า ความคิดทั้งกลายที่เกิดขึ้นแล้ว จะไม่สูญหายไปไหน จะประกอบกับใจอยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้น เราจึงต้องระวังความคิด เพราะเมื่อเกิดขึ้นแล้ว หากเป็นไปในทางอกุศล ก็ต้องมาเสียเวลาขวนขวายดับ กิเลสเดิมก็มาก มีงานต้องทำ ต้องใช้เวลามากมายอยู่แล้ว ยังจะต้องมาใช้เวลาเพิ่มให้ต้องเนิ่นช้าไปอีก

หรือ ยอมสยบในสุขจากการคิดทั้งที่ผิดธรรมหรือไม่ตั้งอยู่บนปัจจุบันธรรม เพราะเกรงว่าตนจะสูญเสียสุขจากการระลึกถึงไป จึงยอมรับอกุศลธรรมนั้นไว้ ไม่สามารถสละออกทั้งตัวความสุขเอง และ เหตุที่ทำให้สุข

แม้จะมีคำตรัสว่า ไม่ทิ้งสุขอันชอบธรรม แต่ก็มีคำตรัสตามมาค่ะ ว่าแม้แต่สุขอันชอบธรรม ก็ไม่มัวเมายอมสยบ ให้เพียรเพื่อสุขอันเลิศยิ่งขึ้น

การยอมสยบในสุขอันชอบธรรม บางทีก็เป็นบาปได้เหมือนกันค่ะ เช่น พอใจในชีวิต ไม่ต้องการอะไรนอกเหนือจากนี้อีกแล้ว เมื่อพอใจจนยอมสยบในสุขอันชอบธรรม จึงไม่รู้ว่ากำลังยึด “มั่น” สภาวะและเหตุปัจจัยให้เกิดสภาวะ กายใจจึงเป็นไปตามธรรมชาติของแต่ละธรรม และธรรมเหล่านี้เองที่นำเราไปสู่ทุคติ

เพราะเมื่อยึดมั่นในสิ่งต่างๆ เช่น คู่ครอง บุตร ทรัพย์สินจึงเกิดการตระหนี่ หวงกั้น หวั่นเกรงว่าจะสูญเสียสิ่งที่ยึดไป เพราะยึดมั่นในสภาวะ เช่น ความสุข ความรัก ความมีชื่อเสียง จึงนำไปสู่ความโลภ ไม่พอใจในสิ่งที่พึงมีพึงได้ตามกำลังตน ยินดีเฉพาะสิ่งที่ตนมีแล้วไม่ได้

เมื่อเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นในใจ อุปกิเลสก็จรมาสู่ใจได้เนืองๆ กุศลจึงอาจกลายเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศล

การคิดด้วยความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ ซึ่งเรามีกันอยู่ทุกวันบางครั้งก็เป็นบาปค่ะ เพราะการสงสัยในบางเรื่องเป็นการนำไปสู่การแก้ไขปัญหาปรับปรุงตน บางเรื่องนำไปสู่การสนทนาอันทำให้เกิดความงอกงามของปัญญา บางเรื่องนำไปสู่สุขอันชอบธรรมทางโลก แต่บางเรื่อง นำไปสู่การเกิดกิเลส

เช่น สงสัยว่าคนนั้นจะรักเรามั้ย คนนี้จะเกลียดเรามั้ย คนโน้นกำลังนินทาเราอยู่ใช่มั้ย คนนู้นกำลังจับผิดเราอยู่หรือเปล่า

การสงสัยที่เกิดจากตัณหา ทิฏฐิ มานะ เมื่อเกิดก็เกิดขึ้นเพราะกิเลสที่ครองใจ และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็นำไปสู่การเพ่งเฉพาะหรืออภิชฌา จิตจึงไม่สงบ และเป็นไอกรุ่นให้เกิดกิเลสที่เกี่ยวเนื่องกันอีก กิเลสจึงเกิดซ้อนบนกิเลสไปอย่างไม่รู้จบ จิตจึงสงบไม่ได้

หรือมีความโกรธเกิดขึ้น แม้จะรู้ว่าโกรธ แต่ก็ไม่ยอมระงับ ไม่พิจารณาหาเหตุผล เมื่อระบายความโกรธให้สาแก่ใจในความเป็นจริงไม่ได้ ก็คิดต่อว่า ด่าทออยู่ในใจ ความโกรธจึงไม่เคยดับ แม้ภายนอกจะดูสงบนิ่ง แต่ความโกรธภายในกลับเหมือนระเบิดลูกใหญ่ที่รอวันระเบิด

เหล่านี้ เรียก เพลินไปในทุกข์ ค่ะ เพราะหลงใหล เพลิดเพลินในสุขที่ได้จากการคิด หรือทั้งๆที่รู้ว่าคิดแล้วทุกข์ แต่ก็ยังเพลินที่จะคิด

และเพราะเพลิน จึงไม่เมตตาตนด้วยการขวนขวายในกรรมอันงาม ใจจึงยินดีในการกระทำในใจนั้นไปเรื่อยๆ สมดังคำตรัสที่ว่า ถ้าทำกรรมอันงามอันเป็นบุญซึ่งในที่นี้คือการห้ามใจจากบาปช้า การอบรมสั่งสอนใจตนช้า ใจจะยินดีในบาป

การยินดีในบาป ปล่อยใจตนให้ยินดีในกิเลสหรือนำใจไปสู่การสั่งสมกิเลส เท่ากับเราปล่อยใจให้เพาะปลูกต้นอกุศลธรรมด้วยเมล็ดขึ้นทีต้น ทีละเล็กทีละน้อย และนอกจากจะลงมือเพาะปลูกแล้ว ยังลงมือหล่อเลี้ยงเมล็ดพันธุ์ให้เติบโตด้วยฝนคือกิเลส จนเมล็ดเม็ดน้อยค่อยๆเติบโต กลายเป็นต้นไม้ใหญ่หลายต่อหลายต้น ในที่สุด เมื่อการกระทำอกุศลอยู่เพียงในใจเติบโตเต็มที่ก็จะล้นออกมาทางกาย วาจา เพราะใจไม่สามารถต้านทานความใหญ่โตของต้นอกุศลธรรมได้อีกต่อไป กายที่เป็นบ่าวจึงเป็นไปตามใจที่ถูกอกุศลธรรมยึดครองไว้

การเห็นว่าเรื่องเล็กน้อยคงไม่มีผล ทำเพียงในใจคงไม่มีผล จึงเป็นการประมาทในธรรมเป็นอย่างมาก

ตรัสว่าความประมาทเป็นทางสู่ความตาย หากเราประมาทธรรมอยู่เรื่อยๆ แม้ในขณะนี้เราจะยังไม่ตายจริงๆ แต่การที่เราประมาท ก็เท่ากับเรากำลังทำตนให้ค่อยๆตายไปจากหนทางแห่งการสิ้นทุกข์ในพุทธศาสนา

หมายเลขบันทึก: 607618เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2016 09:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2016 08:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ได้แกะถั่วเหมือนได้นั่งเจริญสติไปด้วยเลยนะคะ

สาธุๆ

ได้ฝึกสติด้วยนะครับ

ภาพหายไปครับ

ขออนุโมนทนาบุญด้วยค่ะพี่ตุ๊กตา ^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท