​ที่สุดของความสำเร็จ...คือการไม่ยอมแพ้


“แค่เปลี่ยนความคิด ชีวิตก็เปลี่ยน ผมต้องทำให้ได้”

“ไม่จำเป็นต้องรีบร้อน เป็นไปตามในแบบของตัวเอง ถ้าเราโอเค สนุกกับมัน แสดงว่าเรามาถูกทาง” เป็นคำปลอบโยนของโนบุที่พูดให้กำลังใจมิจึ พี่ชายฝาแฝดขณะที่เขาสกัดกั้นอารมณ์อ่อนไหวไว้ไม่อยู่...


โนบุ และมิจึ เป็นนักเรียนโรงเรียนเพลินพัฒนา รุ่นที่เข้ามาเรียนพร้อมๆ กันกับที่โรงเรียนกำลังก่อสร้างอาคารบนที่ดินที่เป็นโรงเรียนในปัจจุบันนี้ นักเรียนรุ่นนี้จึงเรียนชั้น ป.๑ กันที่อาคารของโรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) ซึ่งเป็นสำนักงานชั่วคราวของโรงเรียนในขณะนั้นด้วย จบชั้น ม.๖ หรือชั้น ๑๒ ของโรงเรียนเมื่อปีการศึกษา ๒๕๕๗


การได้รับทุนไปศึกษาต่อคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยโซคา ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปีก่อน ทำให้เขาทั้งสองได้เรียนรู้ว่า “กำลังใจ” คือสิ่งสำคัญที่ทำให้เขาสามารถต่อสู้กับปัญหาอุปสรรคให้ผ่านพ้นไป เพื่อให้พร้อมก้าวเดินต่อไปในหนทางข้างหน้าอย่างภาคภูมิ


โนบุและมิจึในวันที่ให้สัมภาษณ์


เมื่อแรกเข้าเรียน “ภาษาญี่ปุ่น” ดูจะเป็นอุปสรรคในการเรียนต่างแดนของโนบุ - มิจึ อยู่ไม่น้อย แม้คุณพ่อจะเป็นชาวญี่ปุ่น แต่ด้วยการเลี้ยงดูที่เติบโตมาในบรรยากาศแบบไทย และเพิ่งได้เรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นจริงจังในช่วงมัธยม ทำให้ช่วงแรกของสองหนุ่มในมหาวิทยาลัยโซคา ประเทศญี่ปุ่น ไม่เป็นไปดังตั้งใจ


"โนบุ" เข้าเรียนชั้นปีที่ ๑ คณะวิศวกรรมศาสตร์ก่อน "มิจึ" เพราะผ่านเกณฑ์วัดผลภาษาญี่ปุ่นจากไทยไปก่อน


“วิชาคณิตศาสตร์เทอมแรก ฟังไม่ทันเลยครับ ศัพท์เฉพาะภาษาญี่ปุ่นเยอะมากๆ โนบุตัดสินใจเดินไปบอกครูว่าผมไม่เข้าใจ ประเมินตัวเองดูแล้วเรียนด้วยตัวเองไม่ไหว จึงขอนัดไปหาคุณครูทุกวันศุกร์ที่ครูว่าง โดยเตรียมทำแบบฝึกหัดไปก่อน อ่านเตรียมไปก่อน ช่วงแรกคะแนนไม่ดีเลยครับ เข้าห้องสมุดอ่านหนังสือ เติมส่วนที่ขาดเพื่อตามครูให้ทัน หลังเลิกเรียนก็อ่านทำความเข้าใจจนดึก หลับไม่ลงจริงๆ ครับ หมดหวังมาก ผลที่ออกมาไม่ได้ตามต้องการ ทีแรกรู้สึกท้อ กลัวการสอบ พอสอบเทอม ๑ ผ่านไป เทอม ๒ ก็เริ่มดีขึ้น...


Programming เป็นอีกวิชาที่ยากมากๆ แต่ผมสนใจการเขียนโปรแกรมอยากทำได้ อุปสรรคของโนบุคืออ่านโจทย์ไม่เข้าใจ คาบแรกให้เรียนเกม ครูให้อธิบายขั้นตอนโดยให้อธิบายจากสิ่งที่เห็นว่าเกมนี้มีการทำงานอย่างไร ผมนั่งทำการบ้าน ๔ - ๕ ชั่วโมง ทุกวัน เอาข้อสอบเก่ามาทำ พอเทอม ๒ เริ่มชินกับการใช้ 'ภาษาซี' ในการเขียนโปรแกรมจึงเริ่มสนุกขึ้น ผมจะใช้วิธีเชคerror เป็นระยะ ช้าแต่ชัวร์ ขณะที่เพื่อนบางคนเขาเขียนโปรแกรมเร็ว และเก่งมาก แต่ก็พลาดตรงที่ไม่ได้ตรวจเช็ค พอเขียนออกมาผิดก็กลับไปแก้ไม่ทัน”


ผลของความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ทำให้ผลการเรียนเทอมที่ ๒ ของโนบุดีขึ้นมาก ได้เกรดเฉลี่ยถึง ๔.๐๐ (สูงสุดคือเกรด ๕ เรียก S เทอมที่ ๒ นี้ ได้ S - ๒ A - ๔ B - ๒) จากเทอมแรกที่ได้เกรดเฉลี่ยเพียง ๒.๗๕


ในขณะเรียนโนบุก็ไม่ทิ้งกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ยังรับหน้าที่เป็นคณะกรรมการ จัดการแสดงของนักเรียนต่างชาติในงานเทศกาลของมหาวิทยาลัยจากคณะกรรมการทั้งหมด ๘ คน คละชั้นปี โนบุออกแบบฉากเอง งานนี้ช่วยให้ได้พัฒนาทักษะ ทั้งการวาดรูป การเต้น และสิ่งสำคัญช่วยให้โนบุพัฒนาภาษาญี่ปุ่นได้ดีขึ้นมาก


ด้าน "มิจึ" ที่มีเวลาเพียงครึ่งปีเพื่อให้จบภาษาญี่ปุ่นทันเพื่อนๆ จึงมุ่งมั่นกับการเรียนภาษาอย่างเต็มที่ ซึ่งก็มีข้อได้เปรียบกว่าการเรียนที่ภาษาญี่ปุ่นที่ไทยหลายด้าน เพราะมีความเข้มข้นของเนื้อหามากกว่า ทั้งการเขียนเรียงความ ไวยากรณ์ ฝึกการจับใจความ คันจิ


มิจึ รู้ตัวเองว่าอ่อนไวยากรณ์ และคันจิ คะแนนไม่ดีต้องพยายามมากกว่านี้ ฝืนตัวเองอ่านหนังสือถึงตี ๑ ตี ๒ ฝืนเกือบเดือนจนร่างกายแย่ แต่ก็ยังทำคะแนนได้ไม่ดี รู้สึกเหนื่อยจนวูบ


ความเหงา อยากกลับบ้าน วนเวียนเข้ามา...


“ไม่ต้องคิดมาก ถ้าเราเชื่อมั่นว่าทำได้ เราจะทำได้ ถ้าคิดว่าทำไม่ได้ เราก็ทำไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องรีบร้อน เป็นไปตามในแบบตัวเอง ถ้าเราโอเค สนุกกับมัน แสดงว่าเรามาถูกทาง” โนบุให้กำลังใจพี่ชาย


“แค่เปลี่ยนความคิด ชีวิตก็เปลี่ยน ผมต้องทำให้ได้” มิจึตั้งปณิธานกับตัวเอง


มิจึคิดใหม่ พยายามหาทางของตัวเอง ไม่ฝืนตัวเองตามคำแนะนำของน้องชาย อ่านหนังสือเตรียมสอบทุกวัน คะแนนครึ่งปีหลัง ไวยากรณ์ผ่านได้ คันจิ สอบไปทั้งหมด ๕ ครั้ง แต่ทำอย่างไรก็ยังสอบไม่ผ่าน


“ทางเลือกสุดท้ายที่จะทำให้มิจึผ่านคันจิ คือต้องคัดลงกระดาษ A ๓ ทั้งหมด ๕๒๘ แผ่น ในระยะเวลาเดือนครึ่ง ฟังดูเหมือนไม่ใช่เรื่องยาก แต่แทบไม่น่าเชื่อ จากการทำงานครั้งนี้ทำให้มิจึได้บทเรียนเยอะมากๆ ครับ...


มิจึลงมือคัดทุกวัน แทบไม่ได้พัก พอเหนื่อยสะสมมากเข้า ร่างกายก็เริ่มล้า จนกระทั่งใกล้ถึงวันกำหนดส่งงานก็ยังไม่เสร็จ ช่วงนั้นเครียดมากๆ เพราะนี่คือตัวตัดสินว่าเราจะได้เข้าเรียนคณะวิศวกรรม ที่ มหาวิทยาลัยโซคา หรือไม่....


แต่สุดท้ายก็พยายามคัดจนเสร็จ ถึงวันกำหนดส่งงาน วันนั้นเป็นวันแรกที่หิมะตกหนักมาก ผมเดินฝ่าหิมะหอบงานไปส่งคุณครูตามคำมั่นสัญญา ใช้เวลาร่วม ๑ ชั่วโมง กว่าจะไปถึง...จากคุณครูที่ไม่ชอบหน้า กลายเป็นคุณครูที่รักที่สุด ครูคอยช่วยจริงๆ”


“ไม่ว่ายังไง...ฤดูหนาวก็ต้องเปลี่ยนเป็นฤดูใบไม้ผลิแน่นอน" คำปลอบโยนของเพื่อนดังก้องอยู่ในความคิดคำนึงในยามที่มีน้ำตานองหน้า


“มิจึมีความพยายาม โตขึ้นมาก เชื่อใจว่าเขาจะผ่านไปได้ เหมือนผมที่ผ่านช่วงเวลาแบบนี้ไปได้เหมือนกัน” โนบุเสริม


“มีคนรอบข้างให้กำลังใจผมเยอะมาก มีรุ่นพี่ให้กำลังใจ คอยช่วยเรื่องเรียน คุณครู เพื่อนที่หอ เราไม่ได้พยายามอยู่คนเดียว ผมอยากเติบโตเป็นผู้นำที่ดี อยากตอบแทนบุญคุณพวกเขา ช่วยเหลือคนอื่น เติบโตเป็นผู้นำระดับโลก อยากช่วยคนได้มากกว่านี้ ในเวลาเพียงครึ่งปีมิจึได้เรียนรู้เยอะมาก เพื่อน สังคม การใช้ชีวิต เราต้องเติบโตในโลกกว้างอีกมาก ผมอยากรู้จักโลกมากกว่านี้”


“มาถึงจุดนี้เราจะไม่เสียมารยาทกับคุณครู กับเพื่อน กับคนรอบข้างที่เขาเป็นกำลังใจให้เรามาตลอด เราต้องพยายามเพื่อคนอื่น จึงอยากเปิดโลกกว้าง อยากช่วยคนรอบข้าง ช่วยให้คนมีความสุขให้ได้ อยากสร้างสันติภาพให้ได้ ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างไทย - ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นกับจีน หรือกับอเมริกา อยากให้ทุกสิ่งดีขึ้น อยากทำอะไรสักอย่างเพื่อสร้างความสัมพันธ์ จะใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญพัฒนาต่อไปได้ จึงอยากเรียนภาษาอื่นเพิ่มเติมเพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศด้วย” โนบุ - มิจึ ช่วยกันสะท้อนความรู้สึก


“สังคมเพลินพัฒนาเป็นสังคมที่ดี เราถูกหล่อหลอมให้เติบโตมาบนความรับผิดชอบ ไม่เหลวไหล ไม่ออกนอกลู่นอกทาง ได้ทำกิจกรรมควบคู่กับการเรียน ซึ่งช่วยฝึกความอดทนได้ดีมากๆ เป็นรากฐานที่ทำให้เราไม่ท้อง่าย ทุกคนผ่านการฝึกมาแล้ว ที่เพลินฯ สอนให้เรามีทิศทางแน่วแน่ เรารู้ว่าเราจะเดินไปทางไหนในโลกของการแข่งขัน แม้เราต้องเจอคนเยอะแยะ เราก็เชื่อว่าเราไปตามทางของตัวเองได้ ทุกคนพยายามในแบบของตัวเอง สามารถส่องแสงเต็มที่ เผยศักยภาพ สร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ทุกคน” โนบุพูดด้วยแววตาแห่งความเชื่อมั่น ที่ช่วยตอกย้ำความเป็น "ศิษย์รุ่นแรก" ของ "เพลินพัฒนา" ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นไปอีก



โนบุตอนเป็นนักเรียนชั้น ป.๑




...............................


* เรื่องโดย ส่วนงานสื่อสารองค์กร

หมายเลขบันทึก: 607295เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2016 13:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2016 17:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท