แนวคิดเพิ่มพื้นที่ป่าไม้เมืองไทยง่ายๆ ตอนที่ 1


แนวคิดเพิ่มพื้นที่ป่าไม้เมืองไทยง่ายๆ ตอนที่ 1

ทำได้ ทันที ถ้ารัฐบาลใช้มาตรา 44 แก้ปัญหา

26 พฤษภาคม 2559

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

แม้ว่าช่วงนี้จะประจวบเข้าหน้าฝนตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2559 เป็นต้นไปก็ตาม ได้เห็นข่าวการบุกรุกทำลายป่า ต่อเนื่องกันมาหลายวันก่อน ข่าวภูเขาหัวโล้น ข่าวแม่น้ำแห้งแล้ง แห้งขอด โดยเฉพาะการบุกรุกป่าในพื้นที่ภาคเหนือ จังหวัดน่านอันเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร หรือในภาคใต้จังหวัดชุมพร [2] มีความรู้สึกเศร้าใจ ลองมาทบทวนเกี่ยวกับเรื่อง “การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของไทย” ว่ามีความเป็นมากันอย่างไร

ผู้เขียนขอเล่าจากบทเรียนประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมาเพื่อย้อนดูแนวนโยบายของรัฐในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่า และ การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้

สาเหตุเบื้องต้นของการบุกรุกทำลายป่าโดยราษฎร

ข่าวภัยแล้งที่ทวีความรุนแรง และปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักทุกสายทั่วประเทศที่มีน้อยลงเพราะป่าต้นน้ำถูกบุกรุกทำลาย เพื่อทำการเกษตรประเภท “ปลูกพืชเชิงเดี่ยว” [3] โดยเฉพาะบนภูเขาที่เป็นต้นแม่น้ำสายหลัก ปิง วัง ยม น่าน รวมทั้งต้นน้ำแม่กลอง ในภาคกลาง

การเกษตรเป็นการปลูกเป็น “พืชเชิงเดี่ยว” ส่วนใหญ่ได้แก่ ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ในพื้นที่ เชิงเขา ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เนื่องจากสังคมชนบทไทยเป็น “สังคมเกษตรกรรม” จึงต้องการพื้นที่เพื่อการเพาะปลูก ยิ่งประชากรเพิ่มมากขึ้น มีความต้องการอาหารที่อยู่อาศัย สินค้าบริการที่เพิ่มทวีมากขึ้น ประกอบกับความเจริญทางวัตถุที่เพิ่มขึ้น ประชาชนบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยตาม “ลัทธิบริโภคนิยม” (Consumerism) อาทิ รถยนต์ ทีวี โทรศัพท์มือถือ

ในส่วนของรุ่นลูกรุ่นหลานที่เรียนหนังสือในระดับสูงขึ้น ก็ยิ่งทำให้เกษตรกรมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น จึงต้องการเพิ่มผลผลิต เพื่อให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น มีการบุกรุกป่าเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่มากยิ่งขึ้น

การไม่คาดหวังในกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เป็นที่ครอบครอง ที่ดินมือเปล่า ประชาชนก็ยิ่งจะไม่ปลูกไม้ผล และไม้ยืนต้น เพราะความไม่ได้ถือ “กรรมสิทธิ์ในที่ดิน” ก็เกรงว่าที่ดินจะถูกยึดคืน จึงมีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ที่มีอายุสั้น จำพวก ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ดังกล่าวแล้ว เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ป่าต้นน้ำยิ่งถูกทำลาย เพิ่มขึ้นทุกวัน

บทเรียนบทที่หนึ่ง ความไม่เท่าเทียมกันคนจนคนรวย

ในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินทำกินของภาครัฐในอดีตที่ผ่านมา ได้สร้าง “ความไม่เท่าเทียมกัน” ให้เกิดแก่ประชาชนในพื้นที่ชนบทเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ ภาครัฐได้สร้างแนวคิดว่า “ใครบุกรุกพื้นที่ป่า เป็นคนทำผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง” มีการดำเนินการจับกุมดำเนินคดี นับตั้งแต่การออกกฎหมายป่าไม้ฉบับสำคัญคือ “พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507” [4] กลับมิได้มีการสำรวจตรวจสอบก่อนว่า มีประชาชนได้อยู่อาศัยมาก่อนเขตพื้นที่ที่ได้มีการประกาศเป็น “ป่าสงวนแห่งชาติ” หรือไม่ อย่างไร จนเกิดปัญหาในหลายท้องที่ว่า ได้ประกาศเขตป่าสงวนทับที่ทำกินของราษฎร และแม้ปัจจุบันในพื้นที่หลายแห่งที่มีปัญหาพิพาทกัน ก็ยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบสิทธิ์ ยังไม่สามารถพิสูจน์สิทธิ์ให้แล้วเสร็จไปโดยง่าย เป็นปัญหาเรื้อรัง เรื่อง “สิทธิ” และ “อาชีพ” ที่ชาวบ้านขาดความมั่นใจ และความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกรของตนมาจนถึงปัจจุบัน

ยกตัวอย่างเช่น ในพื้นที่ชนบททางภาคเหนือ พื้นที่ส่วนใหญ่ ชาวบ้านทั่วไปที่เป็นเกษตรกรจะไม่มีเอกสารสิทธิ์ จะด้วยเหตุผลใด หรือนโยบายใดก็ตาม พบว่า โครงการออกเอกสารสิทธิ์นั้นมีจำนวนน้อยครั้งมาก หลายปีอาจมีครั้ง เป็นต้น ส่วนคนรวยหรือคนที่มีความรู้มักจะมีสายสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่สามารถยื่นคำร้องขอออกเอกสารสิทธิ์ได้รวดเร็วกว่าประชาชนทั่วไป ที่แม้จะครอบครองถือครองที่ดินทำกินมานานเพียงใดก็ตาม ก็ยากต่อการได้มาซึ่งเอกสารสิทธิ์ สถานการณ์ทั่วไปพบว่า ที่ดินมือเปล่าที่ยังไม่มีเอกสารใด หากได้เปลี่ยนมือไปเป็นของนายทุนเมื่อใดก็ตาม อีกไม่นานนักกลับพบว่านายทุนสามารถออกเอกสารสิทธิ์ได้โดยง่ายดาย โดยเฉพาะในเขตพื้นที่เศรษฐกิจ หรือพื้นที่ส่งเสริมเศรษฐกิจ หรือ พื้นที่ท่องเที่ยว

บทเรียนบทที่สอง การเพิ่มพื้นที่ป่า

แนวคิดการเพิ่มพื้นที่ป่าของภาครัฐโดยมีหน่วยงานที่เข้ามาปลูกป่า โดยได้รับสนับสนุนจากภาครัฐ และภาคเอกชน เช่น องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) [5] รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยพื้นที่ส่วนใหญ่จะยึดกลับคืนมาจากการบุกรุกป่า โดยทำเป็นศูนย์เพาะชำกล้าไม้ และก็นำไปปลูกยังแปลงสวนป่าที่ได้เตรียมไว้ โดยมีการดูแล การจัดทำแนวกันไฟ ป่าไม้ที่ปลูกจะปลูกเป็นแปลง และเป็นไม้ยืนต้นเชิงเดี่ยว เช่น สน สะเดา ประดู่ หรือแม้แต่ สวนป่าสัก ไม้เบญจพรรณ ก็ตาม ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของป่าธรรมชาติ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและพืชพรรณแบบเดิม

ปัญหาการบริหารจัดการป่าไม้ไม่ต้องมองไกลไปเลย ลองมองที่องค์กรภายในเองอาจพบว่า ปัญหาหลักการแก่งแย่งแสวงประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ มักมีนายทุนหรือผู้มีอิทธิพลเข้ามาเป็นตัวประสานเกี่ยวข้อง เพราะเพียงลำพังหน่วยงานราชการเอง หรือ ชาวบ้านเอง เห็นว่า เป็นเพียงแค่ปัญหาบางส่วนเท่านั้น

ลองออกกฎหมายเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้ปลูกต้นไม้ ปลูกป่าเอง และมีสิทธิได้ใช้ไม้เอง เราอาจไม่ต้องมีกรมป่าไม้ก็ได้ ชาวบ้านก็จะพากันมาปลูกป่า ปลูกต้นไม้ โดยเฉพาะกฎหมายเรื่อง “ป่าชุมชน” [6] ที่กำลังมีปัญหาโต้แย้งกันมาตั้งแต่นานแล้ว และ กฎหมายส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม [7] ที่ท้องถิ่นสามารถเอามาใช้ได้

ปัญหาอุปสรรค เช่น การออกกฎหมายไม้หวงห้าม ที่เป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน และ การลืมไปว่าตนเองนั่นแหละ เป็นตัวการต้นเหตุหลักแห่งปัญหาการบุกรุกทำลายป่าที่เป็นอยู่ ลองไปศึกษาดูตัวอย่างจากเพื่อนบ้านประเทศลาว และเวียดนาม จะเห็นว่าหมู่บ้าน โดยชาวบ้านเขาเป็นคนปลูกต้นไม้เอง เช่น ต้นสัก ต้นไม้ใหญ่ริมทางหลวง ริมทางรถไฟ ที่สาธารณะที่หลวงต่าง ๆ และคนปลูกก็มีสิทธิได้ใช้ไม้เหล่านั้น ชาวบ้านในหมู่บ้านเขาดูแลกันเอง ขอย้ำว่าหากชาวบ้านมีสิทธิในต้นไม้ที่ตนเองปลูกเช่นนี้ รัฐบาลก็คงไม่ต้องรณรงค์ให้ชาวบ้านปลูกต้นไม้ ปลูกป่ากันให้เสียเวลาเลย ไม่ต้องใช้งบประมาณของหลวง แล้วป่าไม้ก็จะมาเอง

นอกจากนี้ มีการกล่าวหากันว่า ชาวเขาเป็นตัวการในการบุกรุกป่าต้นน้ำลำธาร แต่แท้ที่จริงอาจไม่ใช่ ตัวการใหญ่ที่แท้จริงอาจเป็นนายทุนใหญ่ หรือบริษัทยักษ์ใหญ่ที่อยู่เบื้องหลัง หรือ เป็นระบบการทำเกษตรแบบพันธสัญญา (Contract Farming) [8] ที่บริษัทใหญ่ยืมมือราษฎรทำการเกษตรที่เป็นการบุกรุกป่าให้ขยายวงกว้างออกไปเรื่อย ๆ เช่น ธุรกิจการปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ เป็นต้น

บทเรียนบทที่สาม นโยบายการส่งเสริมการปลูกป่า

การส่งเสริมปลูกสวนป่าเป็นของรัฐบาล แต่การปลูกไม้หวงห้ามให้ราษฎรปลูกได้ แต่กลับมีกฎ และระเบียบมากมายจนชาวบ้านที่ปลูกไม่สามารถ ตัด ชักลาก แปรรูปไม้ได้ เพราะขั้นตอนทางกฎหมายที่ยุ่งยาก ตัวอย่างเช่น ไม้สัก ไม้ยางนา หรือไม้พะยูง ซึ่งในปัจจุบันราษฎรได้ละความสนใจปลูกน้อยลง

ปัญหาการนำไม้ยืนต้นสายพันธุ์ต่างถิ่นมาจากเขตแห้งแล้งของออสเตรเลีย คือ ไม้ยูคาลิปตัส (Eucalyptus) [9] ที่ได้รับการส่งเสริม แนะนำจากภาครัฐอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2519 ซึ่งแพร่หลายครอบคลุมพื้นที่มากยิ่งขึ้นในปี 2525 เป็นต้นมา ด้วยเป็นไม้ปลูกง่าย โตเร็ว รายได้ดี มีฐานตลาดทางเศรษฐกิจรองรับ ไม่ว่าจะเป็นแบบไม้ก่อสร้าง โรงงานกระดาษ หรือแม้แต่การก่อสร้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เป็นที่สนใจของตลาด สุดท้ายราษฎรหลายรายที่คิดจะปลูกไม้ยืนต้นเศรษฐกิจอย่างอื่น กลับต้องหันมาปลูกไม้ยูคาลิปตัสแทนด้วยต้นทุน หรือวิธีการขั้นตอนทางกฎหมายที่ง่ายกว่า ซึ่งผลเสียที่เกิดขึ้นอาจมีมาก เพราะอาจนำไปปลูกในแหล่งต้นน้ำที่ทำลายระบบนิเวศน์วิทยาได้ง่าย เพราะเป็นพืชสายพันธุ์ต่างถิ่น ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ

ก็เพราะว่าการปลูกไม้ยูคาลิปตัสมันไม่ได้มีปัญหาขั้นตอนใดที่ยุ่งยากซับซ้อนเลย ไม่ว่าการขออนุญาตปลูก ด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ที่ง่ายมาก ไม่ผิดกฎหมาย ด้วยต้นทุนที่ต่ำ แม้หากจะเทียบผลผลิตตอบแทนทางเศรษฐกิจในระยะยาวแล้วมูลค่าเทียบต่อหน่วยผลิตจะน้อยกว่าพืชไม้ยืนต้นอย่างอื่นมากก็ตาม แต่ในภาวะสถานการณ์เช่นนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่คงเลือกและยอมลงทุนปลูกป่าไม้ยูคาลิปตัส มากกว่าไม้ยืนต้นอย่างอื่นเป็นแน่แท้

จากบทเรียนที่นำเสนอดังกล่าวทั้งสามบท ถือเป็น “โจทย์” ของการแก้ไขปัญหาการทำลาย และการเพิ่มพื้นที่ป่าของรัฐในอดีตที่ผ่านมา ที่รัฐรวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นทุกส่วน ในที่นี้ผู้เขียนเห็นว่า “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)” ก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วม นำมากำหนดเป็นแนวทางต่าง ๆ เพื่อการแก้ไขปัญหาการบุกป่าไม้ โดยเฉพาะการเกษตรปลูกพืชเชิงเดี่ยวของประชาชน การรักษาพื้นที่ป่าของประเทศ โดยเฉพาะป่าต้นน้ำลำธาร การส่งเสริมการปลูกป่าที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในรูปแบบของ “ป่าชุมชน” และรวมตลอดถึง การพัฒนาส่งเสริมอาชีพของประชาชนให้มีความอยู่ดีกินดี ได้ ตอนต่อไปผู้เขียนขอนำเสนอข้อคิดข้อแนะนำในการเพิ่มพื้นที่การปลูกป่าอย่างยั่งยืน



[1] Phachern Thammasarangkoon & Ong-Art Saibutra, Municipality Officer ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม 2559 ปีที่ 66 ฉบับที่ 23040 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น

[2] ข่าวทะเลทรายแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่มีป่าไม่มีน้ำ ข่าวภาพภูเขาหัวโล้น ที่ อุตรดิตถ์ สระแก้ว แม่ฮ่อองสอน แพร่ เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ น่าน ตาก & ข่าวภาพทำให้เกิดความแห้งแล้ง แม่น้ำแห้งขอด ที่ หนองคาย สุโขทัย ยโสธร พิจิตร บุรีรัมย์ พิษณุโลก ตาก ชัยภูมิ กำแพงเพชร นครนายก

& ข่าวป่าไม้ผสานกำลังปูพรมทวงป่าต้นน้ำบ่อเกลือ ประเดิมยึดรีสอร์ตนายก อบต.แล้ว ดู MGR Online, 19 พฤษภาคม 2559, http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9590000050548 , สนธิกำลังยึดคืนผืนป่าใน จ.น่าน 5,000 ไร่, , โพสต์ทูเดย์ 21 พฤษภาคม 2559, http://www.posttoday.com/local/north/433210 , ข่าวโจอี้บอยตั้ง “กลุ่มปลูกเลย” รณรงค์ปลูกป่า อ.สันติสุข จ.น่าน 500 ไร่, มติชน, 18 พฤษภาคม 2559, http://www.matichon.co.th/tag/ป่าน่าน

& ข่าวรุกโค่นป่าต้นน้ำ “ชุมพร” สลดไถเขาจน “หัวโล้น”, เดลินิวส์,19 พฤษภาคม 2559, http://www.dailynews.co.th/regional/398659

& แฉป่าภาคใต้วิกฤติถูกลักตัดนับแสนไร่ จวก จนท.ไม่ทำงาน-รับผลประโยชน์, 23 พฤษภาคม 2559, http://news.thaipbs.or.th/content/252530

& ชุดพญาเสือ-จนท.อุทยานฯ ขีดเส้น 1เดือน สั่งรื้อรีสอร์ทหรูผืนป่าทับลาน, มติชนออนไลน์, 26 พฤษภาคม 2559, http://www.matichon.co.th/news/149914 อุทยานแห่งชาติทับลาน มรดกโลก(ในพื้นที่รอยต่อ 2 จังหวัด จ.ปราจีนบุรี และ จ.นครราชสีมา)

[3] พืชเชิงเดี่ยว หมายถึง Monoculture เป็นการปลูกพืชเพียงชนิดเดียวบนพื้นที่ขนาดใหญ่ อาทิ ไร่อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ฯลฯ แต่พืชที่มีความสามารถจะทำตัวเป็นพืชเชิงเดี่ยวโดยธรรมชาติก็มี เช่น ต้นสน ต้นสัก ต้นยูคาลิปตัส เพราะว่าพืชเหล่านี้มีความสามารถปรับสภาพดินให้ไม่เหมาะแกการเติบโตของต้นไม้ชนิดอื่น จึงไม่มีต้นไม้ชนิดอื่นขึ้นอยู่รอบๆต้นไม้พวกนี้ เช่น การปลูกป่าโดยวิธีใช้ต้นไม้ชนิดเดียว เช่น สนอย่างเดียว(แบบดอยอินทนนท์) หรือ ยูคาลิปตัสอย่างเดียว ไม่มีความหลากหลาย ไม่สามารถรักษาระบบนิเวศน์เดิม ไม่เหมาะกับการเป็นป่าต้นน้ำ

ดู ปัญหาการปลูกพืชเชิงเดี่ยว, OKnation, 13 ธันวาคม 2555, www.oknation.net/blog/thongtham/2012/12/13/entry-1 & Theanchai Urchoojitt, การเกษตร/ปลูกพืช เชิงเดี่ยว คือ นรกของเกษตรกร, 9 พฤษภาคม 2555, https://www.gotoknow.org/posts/487495

[4] พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ 2507, http://forestfire.dnp9.com/forestfire/web1/web/mainfile/bB5ZyGDRrY4t.pdf

[5] เกี่ยวกับ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้, http://www.fio.co.th/p/index.php/about

[6] รตยา จันทรเทียร, พ.ร.บ. ป่าชุมชน, ที่ปรึกษามูลนิธิสืบนาคะเสถียร, 24 ตุลาคม 2544, http://www.seub.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=3:rataya&catid=1:2009-10-07-09-26-02&Itemid=2

& บัณฑิต ศิริรักษ์โสภณ,การเมืองเรื่องป่าชุมชน, นิสิตปริญญาตรี ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2554, http://midnightuniv.org/การเมืองเรื่องป่าชุมชน

[7] พระราชบัญญัติส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535, www.pcd.go.th/info_serv/reg_envi.html

[8] การทำการเกษตรแบบมีสัญญา (Contract Farming), ส่วนพัฒนาความร่วมมือภาคเอกชนและกิจการพิเศษ สำนักพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการจังหวัด สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย, http://jpp.moi.go.th/detail.php?section=11&id=72

การทำการเกษตรแบบมีสัญญา หรือ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) คือ ระบบการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ หรือการเพาะปลูกพืช ที่มีการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าระหว่างฝ่ายเกษตรกร หรือเจ้าของฟาร์ม กับคู่สัญญา คือ "ผู้รับประกัน" ซึ่งมักเป็นบริษัทเอกชนที่สัญญาว่าจะซื้อผลผลิตคืนจากอีกฝ่ายในราคาที่ตกลงกันตั้งแต่ต้น เรียกว่า "ราคาประกัน" ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงได้ก็ต่อเมื่อครบกำหนดสัญญา

[9] อังคณา สุวรรณกูฏ, ยูคาลิปตัส-ไม้คาใจ, ในจดหมายข่าวผลิใบ กรมวิชาการเกษตร, http://www.doa.go.th/pibai/pibai/n11/v_11-mar/ceaksong.html

ปี 2492 กรมป่าไม้ ได้นำยูคาลิปตัสเข้ามาทดลองปลูกที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นแห่งแรก ระยะแรกการปลูกไม้ยูคาลิปตัสเพื่อการค้ายังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร จนกระทั่งเกิดปัญหาขาดแคลนไม้ใช้สอย เพราะป่าธรรมชาติถูกทำลายลงอย่างรวดเร็วอีกทั้งอุตสาหกรรมกระดาษขาดแคลนวัตถุดิบ จึงมีการส่งเสริมการปลูกสวนป่ายูคาลิปตัสขึ้นในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม โดยเฉพาะในพื้นที่ของเอกชนในรัศมี 150 กิโลเมตร จากโรงงานผลิตเยื่อกระดาษ เพื่อผลิตเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานเยื่อกระดาษ ทั้งนี้ในปี 2519 รัฐบาลได้สนับสนุนอย่างจริงจัง ให้ปลูกทดแทนป่าที่ถูกทำลายในอัตราปลูก 1 แสนไร่ต่อปี จากนั้นยูคาลิปตัสก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในปี 2525 รัฐบาลสนับสนุนการปลูกยูคาลิปตัส

หมายเลขบันทึก: 607166เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2016 00:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2016 14:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท