ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

ทำอย่างไรจึงจะปลอดภัยจากการกินพริก


การกินพริกที่ปลอดภัย คือ การกินพริกที่มีปริมาณพอเหมาะ และต้องปลอดสารจากสารเคมีตกค้าง

กินพริกทั่วไปไม่ปลอดภัย   โดยปกติในระบบการผลิตพริกของพี่น้องเกษตรกรโดยทั่วๆ ไปส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่องของการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตที่สูงๆ  และให้สวยงาม เพื่อดึงดูดใจของผู้ซื้อ และผู้บริโภค ดังนั้น เกษตรกรก็จะทำทุกวิถีทางที่จะให้ได้มาซึ่งผลผลิตตามเป้าหมาย แน่นอนครับการที่จะได้มาซึ่งผลผลิตดังกล่าวก็แสดงว่าไม่มีปัญหาเรื่องโรคและแมลงในผลผลิต แต่โดยทั่วไปในธรรมชาติคงไม่มี หรือหากมีก็จะน้อยมากไม่ถึงร้อยละ 1 ของผลผลิตทั้งหมดด้วยซ้ำไป เนื่องจากบ้านเราเป็นประเทศที่ร้อนชื้น จึงเหมาะต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิต ซึ่งรวมถึงโรค และแมลงศัตรูพืชด้วย ดังนั้น ในกระบวนการผลิตพริกของพี่น้องเกษตรกรจึงต้องใช้สารเคมีเข้ามาใช้ในการกำจัดโรคแมลง ตามคำแนะนำของพ่อค้าที่มุ่งที่จะทำยอดการขายอย่างเดียว ในขณะเดียวกันโรคแมลงก็พัฒนาการตนเองเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้เช่นกัน โดยการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง จึงทำให้เกษตรกรต้องใช้สารเคมีในปริมาณที่มาก และเข้มข้นขึ้นทุกวัน (Concentrate) จนลืมนึกถึงความปลอดภัยของตนเองในฐานะผู้ใช้  และผู้บริโภค

 ถึงเวลาที่ต้องช่วยกันสร้างความปลอดภัยต่อการกินพริก

เมื่อเช้าผมได้มีโอกาสสนทนา และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge  Sharing) เกี่ยวกับข้อมูลด้านการผลิต และการตลาดพริกกับท่านอาจารย์หมอ วิจารณ์   พานิช  ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ซึ่งนับเป็นการ Share & Learn และข้อเสนอแนะที่ดีมากๆ เลยทีเดียว โดยเฉพาะในเรื่องของการที่เราจะทำอย่างไรให้ผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้แปรรูปผลผลิตจากพริก ได้หันมาตระหนักถึงพิษภัยของการใช้ สารเคมีในระบบการผลิต ว่าเราในฐานะนักวิชาการควรทำอะไรบ้างเพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตให้กับคนในประเทศ ที่บริโภคพริกวันละเป็นร้อยๆ ตัน ว่าเราจะหาแนวทางอย่างไรในการที่จะให้พี่น้องเกษตรกรได้ ลด และเลิก การใช้สารเคมีดังกล่าว

 ผู้นำแนวทางการแทรกซึม  จากที่ได้ความรู้จากท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ แล้วทำให้ผมได้ ปริ๊งแว้ป (ขออนุญาตยืมคำพูดของท่านอาจารย์ ดร.ประพนธ์   ผาสุขยืด มาใช้นะครับ)  ขึ้นมาทันที ผมได้นึกถึงผู้นำชุมชนสองท่านที่เคยคุยกันเมื่อตอนต้นปี ซึ่งทั้งสองท่านทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ผลิต และเป็นพ่อค้าพริกด้วย  คือ พ่อบุญเหล็ง   สายแวว และผู้ใหญ่สมร แห่งตำบลหัวเรือ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งสองท่านพยายามที่จะจัดการความรู้ (KM) ซึ่งตอนนั้นผมเองก็ยังไม่ทราบเหมือนกันครับว่า KM คืออะไร ให้เกษตรกรในชุมชนของตนเอง ได้เห็นถึงพิษภัย ของสารเคมี ตลอดทั้งการใช้สารเคมี เนื่องจากตำบลหัวเรือเป็นตำบลที่มีการผลิตพริกมานาน และใช้สารเคมีที่ยาวนานเช่นกัน จนกระทั่งมีการสะสมของสารเคมีในดินมากจนกระทั่งคนในชุมชนไม่กล้าที่จะนำน้ำใต้ดินมาใช้ในการอุปโภค บริโภค ถือว่ารุนแรงมาก ซึ่งผู้นำทั้งสองท่านได้พยายามที่จะใช้แนวทางในการลดละเลิก ดังนี้

1. พยายามพูด และทำความเข้าใจ (Storytelling) ให้พี่น้องเกษตรกรด้วยกันได้เข้าใจถึงโทษภัยของสารเคมี

2. พยายามในการหาแนวทางในการผลิตสารชีวภาพต่างๆ    ที่มีคุณสมบัติในการป้องกันกำจัดโรคและแมลง ศัตรูพืช เพื่อทดแทนการใช้สารเคมีต่างๆ

3. กระตุ้น (Motivate) และหาแนวร่วมในการผลิตพริกในระบบการผลิตพริกอินทรีย์  โดยได้พยายามหาตลาดและช่องทางการขายพริกอินทรีย์มากขึ้น

 นักวิชาการต้องขยับและขับเคลื่อนอย่างจริงจัง

ทำอย่างไรครับที่นักวิชาการอย่างผม และท่าน ที่จะต้องเอาจริงเอาจัง และช่วยกันขับเคลื่อนแนวทางการจัดการความรู้  (KM) ในการผลิตพริกแบบอินทรีย์ ให้ออกมาอย่างเป็นจริงเป็นจังเสียที ลำพังจะให้เกษตรกรต้องดิ้นรนอยู่ฝ่ายเดียวคงจะเป็นไปได้ช้า เรา (ผม) ในฐานะที่ต้องกินภาษีของประชาชน และหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ต้องมาช่วยกันในการทำงานเพื่อประชาชนในประเทศเทศ จะได้กินพริก และพืชผักชนิดอื่นๆ ที่ปลอดภัย อันจะส่งผลต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชนโดยรวม

 แนวทางการจัดการความรู้พริกอินทรีย์ ผมเคยไปถาม อบต. หลายแห่งว่า อบต. สามารถออกเป็นกฎระเบียบไม่ให้มีการขาย และใช้สารเคมีในชุมชนได้หรือไม่ แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีคำตอบเท่าทุกวันนี้ อย่างไรก็ตามในการที่จะขับเคลื่อนการจัดการความรู้เรื่องการผลิตพริกอินทรีย์ ผมก็มีความเห็นพ้องกับแนวทางของผู้นำทั้งสองท่านที่กล่าวมาข้างต้น และใคร่ขอเพิ่มเติมแนวทางการดำเนินการเพิ่มเติม ดังนี้

1.      รณรงค์ และส่งเสริมการบริโภคพืชผัก ที่ปลอดสาร กับประชาชนทุกระดับให้มากขึ้น

2.      ประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการให้ช่วยกันใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดสารให้มากขึ้น เช่น พ่อค้าทุกระดับ โรงงานแปรรูปพริก

3.      รัฐควรมีนโยบายการผลิตเกษตรอินทรีย์ที่ชัดเจน และมีแม่งานที่เอาจริง ตลอดการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง 

ขอบคุณมากครับ

อุทัย   อันพิมพ์

17 พ.ย. 2549

หมายเลขบันทึก: 60635เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2006 15:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2012 11:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมไม่แน่ใจว่า ทำไมคุณจึงให้ความสนใจเกี่ยวกับพริกมากมายเหลือเกิน ผมตอบไปแล้วว่า พริกเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งของระบบการดำรงชีวิต และใช้ไม่มาก ถึงแม้จะมีสารพิษบ้างก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่นัก แต่ถ้าเป็นสารพิษที่อยู่ในแปลงปลูกพริกก็อาจจะขยายผลไปถึงอาหารอื่นได้ด้วย นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องพิจารณา ผมยังอยากให้คุณเน้นความสำคัญอยู่ที่เกษตรกรรมแบบประณีต ที่สร้างความพอเพียงในสองหลักใหญ่ดังที่กล่าวไปแล้ว ตอนนี้คุณอยู่ที่ สคส ซึ่งน่าจะนำเสนอด้านการจัดการความรู้มากกว่า ผมคิดว่ามีประเด็นอีกมากมายที่แม้แต่ สคส เองก็ไม่ได้สื่อสารกับบุคคลภายนอกอย่างชัดเจนนัก คุณอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้งาน สคส เชื่อมโยงกับชุมชนได้ 

ลองดูในมุมนี้หน่อยดีไหม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท