การฝึกเจริญสติกับการเรียนรู้


ผมคิดต่อว่า การฝึกเจริญสติ/ฝึกสมาธิ ก่อให้เกิดความเข้มแข็งทางใจ ทำให้จิตสงบ มีความอดทนต่ออนิษฐารมณ์ ต่างๆ ทั้งที่มีสาเหตุจากภายนอก และมีสาเหตุจากภายในตัวเราเอง และผมคิดว่าวัยรุ่นจำนวนมาก ที่เสียคน ก็เพราะขาดทักษะนี้ ... ทักษะในการกำกับใจตนเอง


บทความเรื่อง Why I’m teaching my 6-year-old to meditate ใน นสพ. เดอะเนชั่น วันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๙ กระตุ้นให้ผมเขียนบันทึกนี้

อ่านบทความนี้แล้ว ผมสรุปว่า การฝึกเจริญสติ/ฝึกสมาธิ เป็นการฝึกทักษะชีวิตอย่างหนึ่ง ให้สามารถเผชิญ อุปสรรคขวากหนามต่างๆ ในชีวิตได้ดีขึ้น ในบทความบอกว่า ผู้เขียนมีเป้าหมาย ในเบื้องต้นในการฝึกลูกสาวอายุ ๖ ขวบ ให้สามารถอดทนต่อการถูกรังแกล้อเลียนในโรงเรียน การถูกตามมาก่อกวนทางอินเทอร์เน็ต และสิ่งรบกวนความสงบสุขอื่นๆ

ผมคิดต่อว่า การฝึกเจริญสติ/ฝึกสมาธิ ก่อให้เกิดความเข้มแข็งทางใจ ทำให้จิตสงบ มีความอดทนต่ออนิษฐารมณ์ ต่างๆ ทั้งที่มีสาเหตุจากภายนอก และมีสาเหตุจากภายในตัวเราเอง และผมคิดว่าวัยรุ่นจำนวนมาก ที่เสียคน ก็เพราะขาดทักษะนี้ ... ทักษะในการกำกับใจตนเอง

ทำให้ผมนึกถึงสมัยเป็นอาจารย์ใหม่ๆ ศาสตราจารย์ นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ได้ชักชวนนักศึกษาแพทย์ ไปฝึกสมาธิ เพื่อจะดูว่าผลการเรียนดีขึ้นหรือไม่ ผลสรุปว่าดีขึ้น

เรามองการฝึกเจริญสติ/ฝึกสมาธิ ด้วยมุมมองและเป้าหมายแตกต่างกัน และสับสนกับการฝึกสมาธิ สมัยผมเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาชั้นเตรียมอุดมปีที่ ๑ ห้อง ๒๒ ซึ่งเป็นห้องคิง ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เพื่อนร่วมห้องมาชวนไป ฝึกสมาธิ บอกว่าท่านขุนวิจิตรมาตราให้มาชวน เพราะท่านเชื่อว่าเด็กหนุ่มสาวสมองดี น่าจะฝึกได้ผลดี ท่านหวังผลในเชิงปาฏิหาริย์ คล้ายให้เกิดตาทิพย์ หูทิพย์ ท่านให้เด็กอายุ ๖ - ๗ ขวบที่ ท่านฝึกแล้วทำให้ดู ว่าสามารถมองเห็นทางแก้มได้ โดยท่านปิดตาเด็ก แล้วเอาของมาวางตรงหน้า เด็กสามารถบอกได้ถูก ว่าของเป็นอะไร

ผมไปฝึกสองสามครั้งก็ไม่ได้ไปอีก เพราะผมหลับไปจริงๆ ทุกครั้ง ไม่สามารถนั่งให้เกิดสมาธิได้ เนื่องจากตอนนั้นผมเรียนหนัก นอนไม่พอ เมื่อไปนั่งบนเก้าอี้นุ่มในห้องแอร์และเปิดไฟสลัวๆ ชวนนอนหลับอย่างยิ่ง

ตอนนี้ผมมีมุมมองต่อเรื่องการเจริญสติ และฝึกสมาธิแตกต่างจากเดิมมาก อาจถือว่าผมมี transformative learning ในเรื่อง ทักษะด้าน สติ สมาธิ และปัญญา แตกต่างไปจากสมัยหนุ่มๆ มาก โดยที่ใน ชีวิตนี้ผมไม่เคยเข้ารับการอบรมฝึก เจริญสติ หรือฝึกสมาธิเลย ผมคิดว่าหนังสือที่อธิบายความแตกต่างของ สติ สมาธิ และปัญญา เข้าใจง่ายที่สุดคือ หนังสือ สวนโมกข์ ธรรมกาย สันติอโศก เขียนโดย ศ. นพ. ประเวศ วะสี ซึ่งอ่านบางส่วนได้ ที่นี่

ผมมองว่า สติ และสมาธิ เป็นเครื่องมือ (means) ไม่ใช่เป้าหมาย ตัวเป้าหมาย (end) คือ ปัญญา ซึ่งหมายถึงความเข้าใจสรรพสิ่งตามความเป็นจริง ซึ่งในทางพุทธเน้นที่ปัญญาเพื่อความหลุดพ้น เพื่อปลอดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองจิตใจ

ผมเข้าใจ (ถูกหรือผิดก็ไม่ทราบ) ว่าสติช่วยให้เราอยู่กับปัจจุบันขณะ จิตใจไม่วอกแวกหลุกหลิก สมาธิช่วยให้จิตของเราพุ่งไปที่จุดใดจุดหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ผมไม่เคยฝึกจึงไม่เข้าใจสมาธิชั้นต่างๆ ที่เกิดฌาณต่างๆ เมื่อไม่เคยปฏิบัติย่อมไม่เข้าใจจริง ผมจึงเข้าใจสติและสมาธิในระดับชีวิตประจำวันเท่านั้น

ผมเข้าใจ (จากการปฏิบัติในชีวิตประจำวันของตนเอง) ว่ามีพื้นฐานของการเจริญสติและสมาธิให้ ได้ผลง่าย โดยการรักษาจิตใจและพฤติกรรมของตนให้สะอาด โดยการมองโลกในแง่บวก การให้อภัย ให้ทาน ไม่โลภ การปฏิบัติตามศีล ๕ ปฏิบัติตามฆราวาสธรรม ฯลฯ จะช่วยให้การฝึกสติ และสมาธิในชีวิตประจำวัน ง่ายขึ้น เพราะคนที่จิตใจสะอาดผ่องใส ย่อมไม่มีความขุ่นมัวในจิตใจ ที่เป็นอุปสรรคต่อ สติ สมาธิ และปัญญา

ผมคิดเอาเองว่า การฝึกสติ น่าจะมี ๒ ส่วน คือสติเกี่ยวกับความรู้สึกภายในตน กับสติต่อสภาพแวดล้อม โดยรอบ การฝึกสติเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโดยรอบต้องเปิดอวัยวะเกี่ยวกับการรับรู้ (sensation) ทุกด้าน พุ่งไปที่เรื่องเดียว การมีสตินี้ผมคิดว่ามันไปโยงกับปัญญา และเชื่อมโยงกับสมาธิด้วย สติช่วยให้รับรู้สิ่งใด สิ่งหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริง เช่นเมื่อเราไปเที่ยวชมสถานที่ใดที่หนึ่ง เราต้องการรับรู้และเรียนรู้เกี่ยวกับสถานที่นั้น การมีสติอยู่กับปัจจุบันขณะ (ไม่ใจลอยไปคิดเรื่องอื่น) ทำให้เราสังเกตและรับรู้ เรื่องของสถานที่นั้นด้วยตาหูจมูกลิ้นกายใจ ได้ครบถ้วน แต่จะสังเกตเห็นรายละเอียด และความเชื่อมโยง ของสถานที่นั้น ได้มากน้อยแค่ไหน ต้องอาศัยความรู้เดิมด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา ศิลปะ สถาปัตยกรรม ฯลฯ ซึ่งผมคิดว่าหมายถึงปัญญา

นอกจากนั้น แม้เราจะมีสติอยู่กับสถานที่นั้น แต่เนื่องจากเรื่องราวของสถานที่นั้นมีหลายมิติ หากเราใช้สมาธิเพ่ง (โฟกัส) ไปที่มิติด้านใดด้านหนึ่ง เช่นด้านศิลปะ ก็จะทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่นั้น ในด้านศิลปะ ชัดเจน ครบถ้วน เกิดความรู้และความพึงพอใจ มากกว่าการไม่โฟกัสประเด็นในการใช้สติ

ผมตีความอย่างนี้ ไม่ทราบว่าเข้าป่าเข้าดงไปแค่ไหน ท่านผู้รู้โปรดช่วยแนะนำด้วย

ผมตีความว่า สติส่วนที่เกี่ยวกับความรู้สึกภายในตน เป็นเกราะ หรือภูมิคุ้มกันป้องกันเชื้อโรคทางใจ/ อารมณ์ และน่าจะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่า Executive Functionที่ช่วยให้คนเราบังคับใจตนเองได้ ไม่แสดงพฤติกรรม แบบหุนหันพลันแล่น ไม่ประพฤติปฏิบัติตามแรงขับดันของสัญชาตญาณ แต่มีการไตร่ตรอง ให้รอบคอบก่อนปฏิบัติ และในการไตร่ตรองนั้น ต้องใช้ปัญญา และใช้สมาธิ

สติ สมาธิ และปัญญา จึงเป็นพลังในการทำงานและดำรงชีวิต คือเป็นทักษะชีวิต จึงเป็นสิ่งที่ ต้องอยู่ในการเรียนรู้ และการศึกษาของเด็กทุกคน กล่าวใหม่ว่า ต้องอยู่ในการศึกษาในระบบ แต่เวลานี้ระบบการศึกษาไทยไม่ได้เอาใจใส่ แม้แต่โครงการโรงเรียนวิถีพุทธก็เน้นเป้าหมายทางศาสนา มากกว่าเป้าหมายที่ทักษะชีวิต

แต่ก็มีโรงเรียนจำนวนหนึ่ง จัดให้นักเรียนทุกคนฝึก จิตตปัญญาศึกษา หรือ จิตศึกษา เช่น โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาโรงเรียนสัตยาไส โรงเรียนรุ่งอรุณ , และโรงเรียนวิถีพุทธ อื่นๆ

บทความของฝรั่ง ใช้คำว่า meditate ในบทความเขากล่าวชัดเจนว่า เขาต้องการใช้การฝึกสมาธิ ช่วยให้ลูกอายุ ๖ ขวบของเขามีทักษะชีวิต อยู่ในโลกที่มีความบีบคั้นได้โดยไม่ถูกกระทบ


วิจารณ์ พานิช

๒๕ เม.ย. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 606282เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2016 11:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2016 11:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สติปัฏฐานสี่ คือหัวใจของการปฏิบัติในพุทธศาสนา ฟังเหมือนง่ายแต่ทำยากมากๆ เพราะไม่อาจต้านสิ่งเร้าจากภายนอก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท