Concept ที่แตกต่างตัวกำหนดเส้นทาง GE


ผมมาช่วยงานสำนักศึกษาทั่วไปหรือ GE อย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ ตอนนั้นมีนโยบายให้โอกาสผมได้พยายามสร้างเครือข่ายทางวิชาการกับเพื่อนครูในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม สานต่อโครงการพัฒนาเครือข่ายเชิงพื้นที่เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ (LLEN) ที่สำนักศึกษาทั่วไปร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และตั้งกลุ่มงานขึ้นมาทำงานนี้ต่อเนื่อง เรียกว่า "ศูนย์พัฒนาวิชาการเพื่อการเรียนรู้" หรือ CADL ที่ผมใช้เป็นฐานคิดของงานทุกอย่างที่เข้าไปเกี่ยวข้อง

CADL ใช้ "KM" เป็นเครื่องมือในการทำงานทุกอย่าง และพยายามเข้าไปเกี่ยวข้องกับงานทุกด้าน ด้วยหวังให้เชื่อมโยงเป็นองค์รวมเท่าที่ทำได้ มีความมั่นใจว่าจะช่วยทำให้ GE บรรลุจุดมุ่งหมายของการสร้าง "มนุษย์ที่สมบูรณ์" ด้วยการจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไป ที่ สกอ. ประกาศไว้ให้ ๓๐ หน่วยกิต ด้วยกระบวนทัศน์ของผมที่เชื่อว่า ไม่มีทางที่จะสามารถสร้างคนดีหรือ "คนที่สมบูรณ์" ได้ภายใน ๒ ปีของการเรียนรู้รายวิชา GE หรือแม้แต่ ๔ ปีในมหาวิทยาลัย ถ้าจะสร้างมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่่" เก่ง ดี มีสุข" ทุกคนทุกภาคส่วนในพื้นที่ต้องร่วมมือกันอย่างเชื่อมโยงต่อเนื่อง ตั้งแต่ปฐมวัย ประถม มัธยม และอุดมศึกษา เชื่อมผ่านงานบริการวิชาการทุกมิติ "...เพื่อส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง..." ด้วยความเชื่อแบบนี้ CADL จึงได้อาสารับเอาโครงการเด็กดีมีที่เรียนมาดำเนินการ เพื่อเป็นช่องทางในการสร้างคนดี ด้วยการค้นหาครูดี ประสานครูดีครูเพื่อศิษย์ ให้ท่านช่วยหาคนดีเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย เพื่อจะได้เป็นแกนนำในการขับเคลื่อนคุณลักษณะนิสิตที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ต่อไป

ผ่านมา ๒ ปี CADL มีเครือข่ายครูดีที่ได้ประกาศมอบโล่ครูเพื่อศิษย์อีสานแล้ว ๖ ท่าน (มีเครือข่ายในเวทีล่าสุด ๒๐ ท่าน) มีนักเรียนในโครงการเด็กดีมีที่เรียนแล้วประมาณ ๑๕๐ คน (นับเฉพาะตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ ที่เริ่มมารับงาน) แม้ในบรรดารายชื่อนิสิตเหล่านี้ จะมีนิสิตที่มาเป็นแกนนำขับเคลื่อนฯ อย่างต่อเนื่องเพียง ๑๐ คน แต่นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ภาคภูมิใจอย่างหนึ่ง

อีกสิ่งที่ภาคภูมิใจคือ การมีส่วนให้มีรายวิชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการขับเคลื่อนหลักปรัชญาฯ อย่างอย่างบูรณาการในมหาวิทยาลัย แม้ตอนนี้จะเหมือนการตั้งไข่ แต่อาจารย์ผู้สอนส่วนหนึ่งก็เริ่มเข้าใจแนวทางการปลูกฝังให้นิสิตทุกคนในมหาวิทยาลัย น้อมนำเอาหลักปรัชญาฯ มาใช้ในการเรียน ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยนำไปเป็นหลักคิดกับทุกเรื่องของชีวิต ...

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดระหว่างช่วงที่ผมมาช่วยที่นี่ GE คือการปรับปรุงหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ จากเดิมที่มีกว่าร้อยรายวิชา ลดเหลือเพียง ๓๒ รายวิชา ซึ่งเป็นวิชาเลือกเพิ่มเติม ๑๒ รายวิชาที่ให้เลือกเรียนเพียงวิชาเดียว การจัดรายวิชาแบบบูรณาการให้เหลือเพียง ๒๐ รายวิชานี้ มีข้อดีที่สำคัญที่สุดคือ นิสิตทุกคนจะลงทะเบียนเรียนรายวิชาที่เดียวกันหรือคล้ายคลึงกัน จึงทำให้โอกาสที่จะพัฒนาการเรียนการสอนในแต่ละรายวิชา ให้ตอบโจทย์ของ GE สูงขึ้น หากสามารถพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของแต่ละรายวิชาให้เกิด Learning Outcome เสริมเติมกัน ให้ทันสมัยในศตวรรษที่ ๒๑ ก็จะสามารถมาสร้างคุณลักษณะนิสิตที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไปได้เร็วขึ้นง่ายขึ้น ... หวังแบบนั้น

ถึงตอนนี้ ผมฟังว่ามีแนวคิด ๒ ทางในการพัฒนา GE ประเทศไทย (ดูเหมือนผู้ใหญ่ก็กำลังมุ่งไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง) ๑ คือทำต่อเนื่องแบบที่ผมเล่ามา จัดการเรียนการสอนอย่างบูรณาการสร้างคนอย่างมององค์รวม อีก ๑ คือปรับลดรายวิชาศึกษาทั่วไป เปิดโอกาสให้คณะ-วิทยาลัยเอาไปพัฒนา เป็นรายวิชาสำหรับพัฒนาคุณลักษณะนิสิตที่พึงประสงค์ของหลักสูตรสาขาของตนเอง แบบหลังนี้ไม่ใช่มอบกลับไปให้คณะ-วิทยาลัยช่วยพัฒนา แล้วให้นิสิตนักศึกษาคณะวิชาอื่นๆ มาลงทะเบียน เพราะถ้าแบบนั้นจะเป็นการจัดการเรียนรู้แบบถอยหลังไปหลายสิบปีทีเดียว แต่แบบหลังนี้น่าจะหมายถึง GE จะค่อยๆ ลีบหายไป เป็นการเปิดทางให้แต่ละหลักสูตรสาขาหรือแต่ละคณะวิชา-วิทยาลัย นำเอาปัญหาเรื่องสร้าง "มนุษย์ที่สมบูรณ์" ไปลุยเอง

ขออภัยที่ท่านผู้อ่านต้องรอให้ถึงย่อหน้าสุดท้าย กว่าจะคลายความสงสัย ว่าทำไมตั้งชื่อบันทึกแบบนั้น

คำสำคัญ (Tags): #CADL#ge
หมายเลขบันทึก: 606276เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2016 00:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2016 09:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท