วิปัสสนาภาวนา (ตอนที่ ๙)


ขอยกกรณีธรรมกายเพื่อนำมาชี้เป็นตัวอย่าง โดยมิได้ต้องการจะยกตนข่มท่าน หรือเพื่อทับถมซ้ำเติม แต่เพื่อเป็นบทเรียนและกรณีศึกษาสำหรับชาวพุทธและสังคมไทย ให้นำไปสู่การแก้ไข เพื่อการปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้อง และความเจริญงอกงามในธรรมปฏิบัติต่อไป

ศีล สมาธิ และปัญญา

ศีล สมาธิ และปัญญา มีทั้งที่อยู่ในองค์มรรค และอยู่นอกองค์มรรค เรื่องนี้อาจจะเข้าใจค่อนข้างยากสักหน่อย

แต่พอดีในขณะนี้มีตัวอย่างการปฏิบัติศีล สมาธิ และปัญญาแบบนอกองค์มรรคที่สามารถจะยกมาให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นได้ คือ 'กรณีธรรมกาย'

ขอยกกรณีธรรมกายเพื่อนำมาชี้เป็นตัวอย่าง โดยมิได้ต้องการจะยกตนข่มท่าน หรือเพื่อทับถมซ้ำเติม แต่เพื่อเป็นบทเรียนและกรณีศึกษาสำหรับชาวพุทธและสังคมไทย ให้นำไปสู่การแก้ไข เพื่อการปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้อง และความเจริญงอกงามในธรรมปฏิบัติต่อไป

ถ้าตั้งคำถามว่า ชาวธรรมกายมีการปฏิบัติเพื่อเจริญศีล สมาธิ และปัญญาหรือไม่ ทั้งผู้ที่เป็นชาวธรรมกายและไม่ใช่ชาวธรรมกาย คงจะตอบว่า 'มี'

ชาวธรรมกายเป็นผู้ที่มีปัญญามาก มีผู้ที่เป็นปัญญาชนอยู่ในวัดและเครือข่ายเป็นจำนวนมาก มีพระที่เป็นมหาเปรียญและสมณศักดิ์ระดับสูงเป็นจำนวนมาก มีฆราวาสที่มีการศึกษาและปัญญาสูง เป็นบัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต และผู้ที่เคยทำงานเป็นผู้บริหารในวงการราชการและเอกชนระดับสูงมากมาย

ชาวธรรมกายสอนเรื่องการทำสมาธิระดับลึก จนสามารถจะเพ่งให้เห็นเป็นดวงแก้วและเห็นธรรมกาย เหมือนพระพุทธรูปในลักษณะต่างๆ

ชาวธรรมกายสอนเรื่องศีลและให้พระและฆราวาสทั้งในวัดและนอกวัด ปฏิบัติตัวถือศีลกันหมดทั้งวัดและเครือข่าย

แต่แล้วคงจะต้องถามต่อว่า เกิดอะไรขึ้นกับธรรมกาย ทำไมเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย จึงถูกกล่าวหาว่าผิดศีล ละเมิดพระธรรมวินัย ต้องอาบัติ สอนผิดเพี้ยน (เช่น สอนว่านิพพานเป็นอัตตา นิพพานเป็นดินแดนที่อยู่ของพระพุทธเจ้า สามารถจะไปพบและตักบาตรกับพระพุทธเจ้าได้ ฯลฯ) ทำไมจึงมีการกระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผิดศีลธรรมและกฎหมาย ซึ่งเป็นคดีความกันอยู่ ฯลฯ

คำตอบก็คือ นี่แหละคือผลของการปฏิบัติศีล สมาธิ และปัญญา แบบแยกส่วนและนอกองค์มรรค ไม่ใช่ศีล สมาธิ และปัญญาในองค์มรรค ที่จะนำไปสู่การทำลายอวิชชาและโมหะ และการทำให้กิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง ถูกกำจัดและขัดเกลา เพื่อทำให้ความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวตนลดลงและถูกทำลาย

มรรคแปด คือ ทางเส้นเดียวหรือการปฏิบัติอย่างเดียว โดยมีองค์ประกอบแปดอย่าง ซึ่งเมื่อสังเคราะห์แล้วเหลือสามอย่าง เรียกว่า ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา (จะเรียกหรือเน้นอะไรก่อน กลาง หรือหลังก็ได้ เพราะอยู่ร่วมกันอยู่แล้ว)

ความเห็นชอบและดำริชอบ คือ 'ปัญญา'

การมีวาจาชอบ การกระทำชอบ และการเลี้ยงชีพชอบ คือ 'ศีล'

ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ และความมีจิตตั้งมั่นชอบ คือ 'สมาธิ'

มรรคแปดเป็นทางเส้นเดียวหรือการปฏิบัติอย่างเดียวด้วยองค์ประกอบแปดอย่าง ไม่ได้แยกจากกัน ฉันใด ไตรสิกขา ก็คือ ทางเส้นเดียวหรือการปฏิบัติอย่างเดียวด้วยองค์ประกอบสามอย่าง ที่ไม่ได้แยกจากกัน ฉันนั้น

จุดที่เข้าใจยาก คือ จะปฏิบัติอย่างไรให้ถูกต้องครบองค์มรรคแปดหรือไตรสิกขา เคล็ด (ที่ไม่ลับ เพราะพระพุทธองค์ทรงสอน พระอรหันตสาวก และพระวิปัสสนาจารย์ก็สอนกันต่อๆ มา) ก็คือให้เจริญสติปัฎฐานสี่ คือ มีความเพียร (อาตาปี) มีความรู้ตัว (สัมปชาโน) และมีสติ (สติมา) อยู่บนฐานทั้งสี่ คือ

- การเจริญสติบนฐานกาย (กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน)

- การเจริญสติบนฐานเวทนา (เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน)

- การเจริญสติบนฐานจิต (จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน) และ

- การเจริญสติบนฐานธรรม (ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน)

การเจริญสติปัฏฐานสี่ (หรือการเจริญมรรคมีองค์แปด หรือไตรสิกขา) นั้น จะต้องเจริญหรือปฏิบัติให้ต่อเนื่องและยาวนาน จึงจะเห็นผล ที่จะกำจัดขัดเกลากิเลส ตัญหา อุปาทาน และทำลายความยินดีและยินร้ายในโลกเสียให้พินาศได้ (วิเนยยะ โลเก อะภิชฌาโทมะนัสสัง)

การเจริญสติปัฏฐาน หรือ การเจริญความเพียร-สัมปชัญญะ-สติ คือ จุดรวมของศีล สมาธิ และปัญญา เพราะ สติปัฏฐาน คือ ศีล (อินทรียสังวรศีล) สมาธิ (ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ หรืออัปนาสมาธิ) และทำให้เกิดภาวนามยปัญญา หรือวิปัสสนาปัญญา คือ ปัญญาที่จะทำให้เห็นรูป-นาม หรือขันธ์ห้า และพระไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา) และเป็นปัญญาที่จะกำจัดขัดเกลาอวิชชา-โมหะ กิเลส-ตัญหาและอุปทาน

หมายเลขบันทึก: 606081เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2016 08:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2016 11:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท