Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

แม้เกิดนอกประเทศเมียนมา แต่เมื่อเข้ามาอาศัยจนกลมกลืนกับสังคมไทย จึงมีสถานะเป็นราษฎรไทยที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราวแล้ว และอาจร้องขอสิทธิอาศัยถาวรในไทยได้อีกด้วย แม้จะไปพิสูจน์สัญชาติเมียนมาก็ตาม


ตอบคำถามคุณคำหลู่เรื่องสิทธิในการศึกษาระดับมหาบัณฑิตในประเทศไทยของคนไร้สัญชาติ ตลอดจนสิทธิในการพัฒนาสถานะคนสัญชาติเมียนมาของคนไร้สัญชาติในประเทศไทยที่เกิดในประเทศเมียนมา

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

บันทึกความเห็นทางกฎหมายเพื่อสร้างพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับประชาชนเกี่ยวกับสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย โดยการสนับสนุนทุนการทำงานจากมูลนิธิฮันส์ ไซเดล แห่งประเทศเยอรมันนี

เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๙

https://www.facebook.com/note.php?saved&¬e_id=1...

---------------------------

ความเป็นมาของเรื่อง

---------------------------

เมื่อวันพุธที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๙ เวลา ๑๗.๕๓ น. มีข้อความหนึ่งเข้ามาในกล่องข้อความในระบบเฟซบุ๊คของผู้บันทึกว่า “สวัสดีค่ะอาจารย์ หนู ชื่อนางสาวคำหลู่ ตอนนี้ กำลังศึกษาอยู่ที่มหาลัยราชภัฎเชียงใหม่ ปี ๓ เป็นบุคคลไม่มีสัญชาติ บัตรขึ้นต้นด้วยด้วยเลข ๖ ไม่ได้เกิดในประเทศไทยค่ะ คือตอนนี้หนูสนใจอยากเรียนแต่โทมาก แต่เนื่องจากเรื่องบัตรหนูมีปัญหา คือไม่สามารถขอทุนทางมหาลัยได้ และหนูเห็นโพสที่เราสามารถขอสัญชาติพม่าได้ จริงหรือค่ะ หนูเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่เด็กเลยค่ะ

ผู้บันทึกได้เห็นข้อความนี้ในเวลา ๒๐.๓๖ น. จึงตอบรับการหารือ และถามกลับไปว่า “ว่าไงคะ และในตอน ๙.๒๔ น. ของวันรุ่งขึ้น จึงถามไปอีกว่า “คุณพ่อคุณแม่ถือเอกสารอะไรคะ ขอดูภาพถ่ายบัตรประจำตัวที่กรมการปกครองออกให้หน่อยได้ไหมคะ ?”

ในรายละเอียดจึงต้องรอจากคุณคำหลู่อีกครั้งหนึ่ง

---------------------------

ความเห็นทางกฎหมายเบื้องต้น

---------------------------

จากข้อเท็จจริงที่คุณคำหลู่เล่ามาทั้งหมด ก็พอมีความเห็นทางกฎหมายเบื้องต้นได้ว่า

ในประการแรก สิทธิในการเข้าสู่การศึกษาในระดับปริญญาโทในสถาบันการศึกษาไทยคงไม่มีปัญหา เพราะประเทศไทยยอมรับหลักคิด Education for All ซึ่งหมายความว่า ความเป็นมนุษย์ก็เพียงพอที่จะก่อตั้งสิทธิในการศึกษา แต่อย่างไรก็ตาม รัฐไทยก็ยังไม่อาจให้การศึกษาแบบให้เปล่าในการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้ การจ่ายค่าเล่าเรียนในระดับการศึกษานี้จึงต้องทำโดยผู้เรียนเอง

ในประการที่สอง การพิสูจน์สัญชาติเมียนมาโดยการเกิดนั้น ย่อมเป็นไปได้ภายใต้แนวคิดและวิธีการที่กำหนดในกฎหมายของรัฐเมียนมาว่าด้วยสิทธิในสัญชาติเมียนมา ซึ่งโดยหลักการ ก็จะเป็นไปภายใต้คลองจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ๓ ประการ กล่าวคือ (๑) เกิดในประเทศเมียนมา หรือ (๒) มารดามีสถานะเป็นคนสัญชาติเมียนมา หรือ (๓) บิดามีสถานะเป็นคนสัญชาติเมียนมา

ในประการที่สาม ในปัจจุบัน มีคนที่เคยอพยพเข้ามาอาศัยในประเทศไทยที่เกิดในประเทศเมียนมา หรือเป็นบุตรของคนที่เกิดในประเทศเมียนมา กลับไปพิสูจน์สัญชาติเมียนมามากมาย อันทำให้กลับมาถือบัตรแสดงตนว่า เป็นคนสัญชาติเมียนมาที่ออกโดยทางราชการเมียนมา ตลอดจนหนังสือเดินทางที่ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา จนได้รับวีซ่าเข้ามาในประเทศไทยอีกครั้งอย่างถูกต้อง จึงทำให้การเข้ามาทำงานหรือเรียนในประเทศไทยในรอบนี้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย กล่าวคือ พวกเขาจึงปรับสถานะบุคคลของตนเองเองที่เคยไร้สัญชาติ กลับมาเป็นคนมีสัญชาติ หรือกล่าวให้ชัดต่อไป ก็คือ พวกเขาจึงปรับสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมืองที่เคยเป็นคนผิดกฎหมายเป็นคนถูกกฎหมาย

ในประการที่สี่ คนในสถานการณ์ดังคุณคำหลู่ กล่าวคือ ถือเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก ตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรขึ้นต้นด้วยเลข ๖ นั้น บางประเภทมีสิทธิในการรับรองสถานะคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวรตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง ดังนั้น ผู้บันทึกจึงขอให้คุณคำหลู่ถ่ายหรือสแกนบัตรประจำตัวที่ออกโดยกรมการปกครองไทยมาให้ดู ซึ่งโดยเอกสารดังกล่าว ผู้บันทึกจะทราบได้ว่า คุณคำหลู่มีสิทธิในสถานะคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทยหรือไม่ ? และจะได้แนะนำคุณคำหลู่ต่อไปเพื่อการพัฒนาสิทธิที่ดีและเอื้อต่อคุณภาพชีวิตของคุณคำหลู่

ในประการที่ห้า หากคุณคำหลู่พัฒนาสิทธิในสถานะคนสัญชาติเมียนมาสำเร็จ เธอก็จะมีสถานะเป็น “คนสองทะเบียนราษฎร” กล่าวคือ (๑) เป็นคนที่มีสถานะคนสัญชาติเมียนมา ในทะเบียนราษฎรเมียนมา และ (๒) เป็นคนที่มีสถานะคนต่างด้าวไร้สัญชาติในทะเบียนราษฎรไทยประเภทคนอยู่ไม่ถาวร (ท.ร.๑๓) ขอให้ตระหนักว่า ปรากฏการณ์นี้ไม่ผิดกฎหมายเมียนมา ด้วยว่า รัฐเมียนมามิได้ห้ามการถือสองทะเบียนราษฎร รัฐเมียนมาห้ามเพียงการถือสองสัญชาติ ดังนั้น ตราบใดที่การปฏิรูปกฎหมายเมียนมาว่าด้วยสัญชาติยังไม่เกิดขึ้น คนที่ทรงสิทธิในสองสัญชาติ ก็ไม่ควรจะใช้สิทธิในสองสัญชาติ แม้จะไม่มีความผิดอาญาตามกฎหมายไทย แต่ก็มีความผิดอาญาตามกฎหมายเมียนมา ซึ่งคนในสภาทนาความเมียนมาเคยอธิบายให้ผู้บันทึกทราบว่า มีอัตราโทษจำคุก ๑๔ ปี

ในประการที่หก ผู้บันทึกเกิดความตั้งใจที่จะส่งเรื่องของคุณคำหลู่ไปยัง ๓ หน่วยงานนี้ หากคุณคำหลู่เห็นชอบด้วย

(๑) สถานกงสุลเมียนมาประจำประเทศไทย เพื่อให้กงสุลใหญ่เมียนมาได้ทราบถึงปัญหาของคุณคำหลู่ และอาจให้ความช่วยเหลือเธอได้

(๒) อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ เพื่อการรับรู้และแสวงหาความเป็นไปได้ที่ดีที่สุดในการจัดการสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายของนักศึกษาของตน

(๓) ประธานการประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งต่อไป เพื่อที่ท่านผู้นี้จะจัดวาระการประชุมเพื่อดูแลประชาชนอาเซียนดังคุณคำหลู่

---------------------------

คำขอต่อมวลมิตรทั้งหลาย

---------------------------

หากมีความเห็นใดเพิ่มเติม หรือคัดค้าน ก็ขอมวลมิตรกรุณาเพิ่มเติมเข้ามา

---------------------------

คำขอต่อมวลมิตรทั้งหลาย

---------------------------

ประสบการณ์ของคุณนิตยา นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

https://www.facebook.com/groups/450416831792411/permalink/532433776924049/

ประสบการณ์ของคุณเขมทัต นักศึกษามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่

https://www.facebook.com/groups/450416831792411/permalink/532623203571773/


หมายเลขบันทึก: 605761เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2016 22:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2016 22:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท