Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ชวนคิดกันเรื่องสิทธิในสวัสดิการของคนพิการที่มีสองสัญชาติ ซึ่งสัญชาติหนึ่งเป็นสัญชาติไทย และอีกสัญชาติเป็นสัญชาติอเมริกัน


ตอบคุณลัคณาเรื่องสิทธิของบุตรที่เกิดจากชายสัญชาติอเมริกัน

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

บันทึกความเห็นทางกฎหมายเพื่อสร้างพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับประชาชนเกี่ยวกับสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย โดยการสนับสนุนทุนการทำงานจากมูลนิธิฮันส์ ไซเดล แห่งประเทศเยอรมันนี

เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10154137240838834

--------------------------

ความเป็นมาของเรื่อง

--------------------------

เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๙ เวลา ๑๐.๒๗ น. คุณลัคณา ได้อีเมลล์ผ่าน [email protected] มาถึงผู้บันทึก โดยใช้หัวข้ออีเมลล์ว่า “อยากให้ลูกชายถือสัญชาติอเมริกัน” และมีใจความว่า “สวัสดีค่ะ ดิฉันอยากรบกวนสอบถามเกี่ยวกับการอยากให้ลูกถือสัญชาติอเมริกันดีมั้ยค่ะ ลูกชาย อายุ ๘ ปี มีใบแจ้งเกิดทั้งของอเมริกาและไทย แต่ลูกชายเป็นออทิสติก สามีเกิดอุบัติเหตุเลยกลับไปอยู่ที่อเมริกาได้ ๓ ปี แล้วไม่มีงานทำ ไปขึ้นทะเบียนเป็นคนพิการที่อเมริกา ปัญหาคือดิฉันอยากให้ลูกชายได้เงินช่วยเหลือและสวัสดิการจากอเมริกา แต่ปัญหาคือตัวดิฉันไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศ สามีไม่มีงานทำ และเคยมีประวัติไม่ดีตอนเป็นหนุ่ม ตัวดิฉันเลยขอวีซ่าไม่ผ่าน ทีนี้ตัวดิฉันมีความกังวลว่าถ้าสามีตาย ก่อนที่ลูกจะอายุ ๒๐ ปี พาสปอร์ตของลูกชายธรรมดาพ่อเขาจะต่อให้ตลอด ต่อไปถ้าพ่อเขาตายใครจะต่อให้เขาค่ะ และ เขาจะขอถือสัญชาติอเมริกันได้มั้ยค่ะ สามีปีนี้อายุ ๕๒ ปีค่ะ ลูกชายอายุ ๘ ปีค่ะ รบกวนขอความคิดเห็นจากอาจารย์ด้วยค่ะ. ขอบคุณค่ะ”

--------------------------

ข้อเท็จจริงที่รับฟังได้

--------------------------

โดยสรุปความเข้าใจจากอีเมลล์ของคุณลัคณา ผู้บันทึกเข้าใจว่า เป็นเรื่องของคุณลัคณา หญิงสัญชาติไทยที่อยู่กินฉันสามีภริยากับชายสัญชาติอเมริกันในประเทศไทย โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย

เมื่อคุณลัคณาเล่าว่า บุตรชายมีอายุประมาณ ๘ ปี ผู้บันทึกจึงเดาว่า บุตรชายย่อมเกิดในประเทศไทยในราว พ.ศ.๒๕๕๒ – ๒๕๕๓ ซึ่งบิดาสัญชาติอเมริกันได้แจ้งการเกิดของบุตรต่อกงสุลอเมริกันประจำประเทศไทย ในขณะที่มารดาสัญชาติไทยก็ได้แจ้งการเกิดของบุตรต่อนายทะเบียนตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร

นอกจากนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงจากอีเมลล์ของคุณลัคณาว่า บุตรชายผู้นี้มีอาการออทิสติก

ต่อมา บิดาสัญชาติอเมริกันได้ประสบอุบัติเหตุ เลยกลับไปอยู่ที่อเมริกาได้ ๓ ปี และยังไม่มีงานทำ เขาผู้นี้ได้ไปขึ้นทะเบียนเป็นคนพิการที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

คุณลัคณาไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศ เธอเคยขอวีซ่าเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา แต่วีซ่าไม่ผ่าน เธอเข้าใจว่า ปัญหานี้มีสาเหตุมาจากการที่สามีไม่มีงานทำ และเคยมีประวัติไม่ดีตอนเป็น

บิดาสัญชาติอเมริกันจะเป็นคนต่ออายุหนังสือเดินทางให้แก่บุตรชาย

ในขณะนี้ สามีสัญชาติอเมริกันมีอายุ ๕๒ ปี ส่วนบุตรชายมีอายุ ๘ ปี

-----------------------------------

ประเด็นคำถามจากคุณลัคณา

-----------------------------------

ผู้บันทึกสรุปความกังวลใจและความสงสัยของคุณลัคณาได้เป็น ๓ ประการ กล่าวคือ

ในประการแรก คุณลัคณาอยากให้บุตรชายได้รับความช่วยเหลือด้านสวัสดิการจากรัฐบาลอเมริกัน โดยเฉพาะเงินช่วยเหลือ ซึ่งในขณะนี้ ก็น่าจะได้รับอยู่แล้ว แต่คุณลัคณากังวลว่า หากบิดาของบุตรเสียชีวิตลง กรณีจะเป็นอย่างไร ?

ในประการที่สอง คุณลัคณากังวลใจว่า หากบิดาของบุตรเสียชีวิตลงก่อนที่บุตรชายจะมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ การต่อหนังสือเดินทางอเมริกันจะทำอย่างไร ?

ในประการที่สาม คุณลัคณาไม่แน่ใจว่า บุตรชายจะขอถือสัญชาติอเมริกันตามบิดา ซึ่งเป็นคนสัญชาติอเมริกันได้หรือไม่ ?

-----------------------------------

องค์ความรู้ด้านกฎหมายที่จำเป็นสำหรับคุณลัคณา

-----------------------------------

ผู้บันทึกว่า คุณลัคณาควรจะมีองค์ความรู้ด้านกฎหมาย ๓ ประการ ดังนี้

ในประการแรก ก็คือ กฎหมายอเมริกันในเรื่องสิทธิในความช่วยเหลือด้านสวัสดิการจากรัฐบาลอเมริกัน เพื่อบุตรผู้เยาว์ของคนสัญชาติอเมริกัน

ในประการที่สอง ก็คือ กฎหมายอเมริกันในเรื่องสิทธิในหนังสือเดินทางอเมริกันของคนที่มีสิทธิในสัญชาติอเมริกาโดยหลักสืบสายโลหิต

ในประการที่สาม ก็คือ กฎหมายไทยในเรื่องสิทธิในความช่วยเหลือด้านสวัสดิการจากรัฐบาลไทย เพื่อคนพิการที่มีสิทธิในสัญชาติไทย

-----------------------------------

สิทธิในสวัสดิการจากรัฐบาลอเมริกันของบุตรชาย

-----------------------------------

เพื่อให้ความปรึกษาในประเด็นแรกแห่งความกังวลใจของคุณลัคณาที่ว่า บุตรชายจะได้รับความช่วยเหลือด้านสวัสดิการจากรัฐบาลอเมริกัน โดยเฉพาะเงินช่วยเหลือ หากบิดาของบุตรเสียชีวิตลง หรือไม่ ? อย่างไร ? นั้น ผู้บันทึกมีความเห็นเบื้องต้นว่า เงินช่วยเหลือที่ได้รับน่าจะมาจากความเป็นคนที่มีสถานะเป็นคนสัญชาติอเมริกันของบุตรชาย และอาจจะด้วยความเป็นคนพิการของบุตรชาย ซึ่งบิดาน่าจะได้แจ้งสถานะความเป็นคนพิการของบุตรต่อทางราชการอเมริกันแล้วด้วย แม้บิดาจะไม่มีงานทำ รัฐบาลอเมริกันจึงมีการสนับสนุนเงินช่วยเหลือการดูแลบุตรผู้เยาว์ ในกรณีที่บิดาเสียชีวิตลง และบุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะ นอกจากนั้น ความพิการก็ยังมีอยู่ ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการตามกฎหมายอเมริกันก็ไม่น่าจะสิ้นสุดลง

ในส่วนนี้ ผู้บันทึกแนะนำให้คุณลัคณาไปร้องขอคำปรึกษาจากกงสุลอเมริกันประจำประเทศไทย ซึ่งตั้งสถานกงสุลอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ แต่ก็มีการทำงานอยู่ในสถานทูตอเมริกันประจำประเทศไทยที่ถนนวิทยุ กทม. อีกด้วย ซึ่งการหารือทางหนังสือไปยังท่านกงสุลใหญ่อเมริกันประจำประเทศไทยก็น่าจะทำได้

การทำความเข้าใจกฎหมายอเมริกันในเรื่องสิทธิในสวัสดิการเพื่อบุตรผู้เยาวของคนสัญชาติอเมริกันและ/หรือคนพิการที่มีสิทธิในสัญชาติอเมริกันก็น่าจะทำได้ ภายใต้การหารือกับเจ้าหน้าที่ของสถานกงสุลอเมริกันประจำประเทศไทย

-----------------------------------

สิทธิในสัญชาติอเมริกันและสิทธิถือหนังสือเดินทางอเมริกันของบุตรชายที่น่าจะได้รับการรับรองความเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติอเมริกาโดยหลักสืบสายโลหิตแล้ว

-----------------------------------

ผู้บันทึกตระหนักว่า เมื่อบุตรชายได้รับการแจ้งการเกิดโดยกงสุลอเมริกันประจำประเทศไทยและได้รับการออกหนังสือเดินทางอเมริกันแล้ว ก็น่าจะสรุปได้แล้วว่า บุตรมีสถานะเป็นคนสัญชาติอเมริกันแล้ว ในสายตาของกฎหมายอเมริกันว่าด้วยความเป็นพลเมืองอเมริกัน (American Citizen) บุตรชายจึงถือสัญชาติอเมริกันอยู่แล้วในขณะนี้

ในส่วนที่กังวลใจว่า เมื่อสามี ซึ่งเป็นบิดาของบุตร เสียชีวิตลง หรือละเลยการต่ออายุหนังสือเดินทางให้แก่บุตรผู้เยาว์และพิการนั้น ผู้บันทึกเห็นว่า โดยทางปฏิบัติทั่วไปของนานาอารยประเทศ มารดาของบุตรก็อาจจะดำเนินการแทนได้ แม้มารดาของบุตรจะไม่มีสัญชาติอเมริกันก็ตาม ผู้บันทึกรับทราบทางปฏิบัตินี้ในหลายประเทศ รวมถึงทางปฏิบัติของทางราชการอเมริกันเอง

การต่ออายุหนังสือเดินทางนั้น ก็อาจทำ ณ สถานกงสุลอเมริกันประจำประเทศไทยได้ ไม่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปทำในประเทศสหรัฐอเมริกันแต่อย่างใด

ในประเด็นนี้ก็เช่นกัน คุณลัคณาอาจเข้าหารือในรายละเอียดกับเจ้าหน้าที่ของสถานกงสุลอเมริกันประจำประเทศไทยได้ ทั้งที่เชียงใหม่ และ กทม. หรือเป็นหนังสือ ดังกล่าวมาในข้อที่ผ่านมา การหารือนี้ย่อมจะทำให้คุณลัคณามีองค์ความรู้ในกฎหมายอเมริกันในเรื่องสิทธิในหนังสือเดินทางอเมริกันของคนที่มีสิทธิในสัญชาติอเมริกาโดยหลักสืบสายโลหิต อันได้แก่กรณีบุตรชายของคุณลัคณา นั่นเอง

-----------------------------------

สิทธิถือสัญชาติอเมริกันตามบิดาสัญชาติอเมริกันของบุคคลที่เกิดในประเทศไทยจากมารดาสัญชาติไทย

-----------------------------------

ในส่วนที่คุณลัคณาไม่แน่ใจว่า บุตรชายจะขอถือสัญชาติอเมริกันตามบิดา ซึ่งเป็นคนสัญชาติอเมริกันได้หรือไม่ ? นั้น ผู้บันทึกขออธิบายว่า โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล บุคคลที่เกิดจากคนสัญชาติของรัฐใด ย่อมมีสิทธิในสัญชาติของบุพการีโดยการเกิด ทั้งนี้ เว้นจะมีการกำหนดเป็นอย่างอื่นในกฎหมายภายในของรัฐเจ้าของสัญชาติ ซึ่งโดยกฎหมายอเมริกันว่าด้วยสัญชาติอเมริกัน ผู้บันทึกก็พบว่า กฎหมายนี้ก็รับรองความเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติอเมริกันตามบิดาแก่บุตรที่เกิดในประเทศไทยจากมารดาซึ่งมิใช่คนสัญชาติอเมริกัน และกฎหมายสัญชาติอเมริกันก็มิได้ห้ามการถือสองสัญชาติแต่อย่างใด

จึงสรุปได้ว่า บุตรชายของคุณลัคณาจึงน่าจะมีสิทธิในสัญชาติอเมริกัน และการถือหนังสือเดินทางอเมริกัน ก็น่าจะเป็นพยานหลักฐานได้ว่า ทางราชการอเมริกัน อันได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันได้รับรองความเป็นคนสัญชาติอเมริกันให้แก่บุตรผู้นี้แล้ว และแม้เมื่อบิดาเสียชีวิตลง สิทธิในสัญชาติอเมริกันนี้ก็ไม่สิ้นสุดตามลงไปด้วย

ในลักษณะเดียวกัน คุณลัคณาอาจเข้าหารือในรายละเอียดกับเจ้าหน้าที่ของสถานกงสุลอเมริกันประจำประเทศไทยได้ ทั้งที่เชียงใหม่ และ กทม. หรือเป็นหนังสือ ดังกล่าวมาในข้อที่ผ่านมา การหารือนี้ย่อมจะทำให้คุณลัคณามีองค์ความรู้ในกฎหมายอเมริกันในเรื่องสิทธิในสัญชาติอเมริกันและสิทธิถือหนังสือเดินทางอเมริกันของคนที่มีสิทธิในสัญชาติอเมริกาโดยหลักสืบสายโลหิต อันได้แก่กรณีบุตรชายของคุณลัคณา นั่นเอง

-----------------------------------

สิทธิในความช่วยเหลือด้านสวัสดิการจากรัฐบาลไทย เพื่อคนพิการที่มีสิทธิในสัญชาติไทย

-----------------------------------

ผู้บันทึกแนะนำให้คุณลัคณามีศึกษากฎหมายไทยในส่วนที่เกี่ยวกับบุตรชายอีกด้วย มีสาระสำคัญเกี่ยวกับสิทธิของบุตรชายภายใต้กฎหมายไทย ซึ่งคุณลัคณาควรมีความเข้าใจ ก็คือ

ในประการแรก บุตรชายย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตโดยการเกิดโดยผลอัตโนมัติของมาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕

ในประการที่สอง บุตรชายย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิดโดยผลอัตโนมัติของมาตรา ๗ (๒) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕

ในประการที่สาม บุตรชายน่าจะได้รับการแจ้งการเกิดในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในสถานะคนสัญชาติไทยแล้ว ทั้งนี้ โปรดตรวจสอบสูติบัตรและทะเบียนบ้านเล่มสีน้ำเงินประเภท ท.ร.๑๔ ว่า มีการบันทึกบุตรชายในสถานะคนสัญชาติไทยหรือไม่ ถ้าไม่ ก็ควรจะร้องขอให้เจ้าหน้าที่ทะเบียนที่ออกเอกสารนั้นดำเนินการแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

ในประการที่สี่ การถือสองสัญชาติ กล่าวคือ สัญชาติไทยและสัญชาติอเมริกัน เป็นเสรีภาพที่จะทำได้ ไม่ต้องห้ามทั้งตามกฎหมายไทยและกฎหมายอเมริกัน บุตรจึงถือเอกสารแสดงตนที่ออกโดยรัฐบาลของทั้งสองประเทศได้ ตลอดจนบุตรชายย่อมบริโภคสิทธิในสวัสดิการของทั้งสองประเทศได้ ด้วยว่า รัฐทั้งสองก็ย่อมจจะต้องมีหน้าที่ดูแลคนสัญชาติของตน โดยเฉพาะเมื่อบุตรชายประสบความพิการระดับหนึ่ง กฎหมายของทั้งสองประเทศย่อมจะเข้าดูแลบุตรชายของคุณลัคณาตลอดชีวิต ทั้งนี้ด้วยว่า ประเทศทั้งสองได้ลงนามต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (UN Convention on the Rights of Persons with Disabilities) ลงวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๐/ค.ศ.๒๐๐๗ แม้เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่ให้สัตยาบันแล้วต่ออนุสัญญาดังกล่าว

ในประการที่ห้า ก็คือ หากบุตรชายของคุณลัคณาได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติไทยแล้วในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย บุตรผู้นี้ก็ย่อมจะเป็นผู้ทรงสิทธิในความช่วยเหลือด้านสวัสดิการจากรัฐบาลไทย อันได้แก่ พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๖ ขอให้ตระหนักว่า หากบุตรดังกล่าวได้รับการขึ้นทะเบียนคนพิการตามกฎหมายดังกล่าว บุตรผู้นี้ก็จะได้รับเบี้ยคนพิการทุกเดือน ซึ่งในปัจจุบัน เป็นจำนวน ๘๐๐ บาทต่อเดือน ผู้บันทึกจึงสงสัยว่า บุตรของคุณลัคณาได้รับสิทธิในสวัสดิการสังคมตามกฎหมายไทยนี้แล้วหรือยัง

----------

ข้อสรุป

---------

ทั้งหมดนี้ ก็คือ การทบทวนและการให้ความเห็นเบื้องต้นของผู้บันทึกสำหรับคุณลัคณา หากมีข้อเท็จจริงอื่นเพิ่มเติม หรือมีคำถามมาจากคุณลัคณาอีก ผู้บันทึก ก็จะกลับมาพัฒนาบันทึกนี้ต่อไป

หมายเลขบันทึก: 605733เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2016 14:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2016 14:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท