ตามนักเรียนเพื่อศึกษาแหล่งเรียนรู้ (ตอนที่ ๑ น้ำหอมจากรากหญ้าแฝก)


ช่วงระหว่างวันที่ ๑๙ - ๒๒ เมษายนที่ผ่านมาครูนกได้มีโอกาสทำหน้าที่ครูผู้ควบคุมนักเรียนจำนวน ๑๒ คน เพื่อศึกษาแหล่งเรียนรูู้ในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี เพื่อบันทึกเทปไว้สำหรับเผยแพร่ในอนาคตของหน่วยงานหนึ่ง สาเหตุที่ครูนกได้ไปครั้งนี้เนื่องจากแหล่งเรียนรู้มีเนื้อหาสาระที่สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ และที่สำคัญครูนกอยากเก็บเกี่ยวประสบการณ์เบื้องหลังการทำรายการเผยแพร่ความรู้ ส่วนนักเรียนจำนวน ๑๒ คนที่ร่วมทริปถือว่า เป็นนักเรียนที่มีประสบการณ์ในการถ่ายทำรายการ เนื่องจากบางคนปฏิบัติหน้าที่ร่วมรายการตั้งแต่ม.๑ ซึ่งนักเรียนจะมาจากหลากหลายระดับชั้นมีตั้งแต่พี่ม.๖ จนกระทั่งถึงน้อง ม.๑ ครั้งนี้ถือว่าครูนกเรียนรู้จากเด็กๆ เลยค่ะ เด็กจะสอนเทคนิคการบันทึกเทปว่า ควรหันอย่างไร การพูดจาควรมีลักษณะอย่างไร และควรจะวางตนเองอยู่ตรงไหนเพื่อให้รายการน่าสนใจ ครูนกยกให้เป็นครูด้านการบันทึกเทปโทรทัศน์เลยค่ะ
ส่วนกลุ่มผู้ผลิตรายการจะประกอบด้วย ตากล้องภาพเคลื่อนไหว ตากล้องภาพนิ่ง ผู้บันทึกเสียง และผู้ผลิตรายการ รวมไปถึงคุณลุงคนขับรถทั้งสองคัน โดยคันแรกเป็นของทีมงานผู้ผลิตรายการ จัดเป็นรถตู้เคลื่อนที่ไหวไปล่วงหน้า ส่วนคันที่สองเป็นทีมร่วมรายการจะมีคุณครูจำนวน ๓ ท่าน คราวนี้เป็นครูผู้เชี่ยวชาญการร่วมบันทึกเทป ๑ ท่าน ครูนกกับน้องเล็กของกลุ่มสาระภาษาไทยถือว่าเป็นน้องใหม่นิ้งของวงการ การเดินทางครั้งนี้จะใช้เวลา ๔ วันเพื่อศึกษาแหล่งเรียนรู้ ๓ แหล่งคือ การทำน้ำหอมจากรากหญ้าแฝก จังหวัดฉะเชิงเทรา ถัดมาคือการทำสบู่จากผงถ่านไม้ไผ่และผลิตภัณฑ์ต่างๆจากไม้ไผ่ อบต.ดงบัง จังหวัดปราจีนบุรี และปิดด้วยแหล่งเรียนรู้เขาควายแกะสลัก บางขวัญ ฉะเชิงเทรา
การถ่ายทำเริ่มจากถ่ายภาพรถบัสเดินทางซึ่งจะต้องมีการประสานกับคุณลุงคนขับ ร่วมถึงดารานักแสดงจำเป็นว่าต้องเปิดม่านบนรถเพื่อให้กล้องได้บันทึก ตามด้วยการเปิดกล้อง การบันทึกกระบวนการผลิตน้ำหอมจากรากหญ้าแฝก และการปิดกล้อง ซึ่งไม่ได้ดำเนินตามลำดับ ทั้งนี้ขึ้นกับจังหวะและช่วงเวลา สิ่งที่เราต้องเคารพคือ การฟังคำแนะนำจากทีมผู้ผลิตรายการซึ่งทำงานน่ารัก ทุ่มเทและตั้งใจมากๆ

ผลิตภัณฑ์จากหญ้าแฝก

ที่มา http://teeneechachoengsao.blogspot.com/2014/01/blo...
ณ แหล่งเรียนรู้การทำน้ำหอมจากรากหญ้าแฝก สิ่งที่ครูนกตกผลึกได้นอกจากการบันทึกเทป บุคคลต้นเรื่องสองท่านเป็นคนทุ่มเทและตั้งใจมาก คุณไพรวัลย์ มาลัยลอยและภรรยา ทำงานภายใต้ชื่อ คีตภัทร สถานที่ตั้งคือ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปหญ้าแฝก เลขที่ 67/103 การเคหะบ้านโพธิ์ หมู่ที่ 2 ตำบลสนามจันทร์ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา แรงบันดาลใจคือคุณไพรวัลย์สนใจด้านสมุนไพรเคยทำมามากมายเช่น หมอนหนุนสมุนไพร แต่ก็ไม่สบความสำเร็จด้วยอุปสรรคบางประการของผลิตภัณฑ์ จนกระทั่งคุณไพรวัลย์สนใจเรื่องหญ้าแฝกด้วยความจงรักภักดีและเทิดทูนในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คุณไพรวัลย์ประสงค์จะทำให้หญ้าแฝกมีประโยชน์มากกว่าป้องกันการพังทะลายของดิน จึงเริ่มเรียนรู้ ทดลองปลูก และทดลองทำ จากการพูดคุยบอกเล่าประสบการณ์ครูนกคิดว่า คุณไพรวัลย์ใช้กระบวนการ PDCA ในการทำงานและทำงานด้านแปรรูปผลิตภัณฑ์โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ตั้งแต่สังเกต ตั้งสมมติฐาน ทดลอง อภิปรายและสรุปผลจนได้ผลิตภัณฑ์จากรากหญ้าแฝกมากมาย แต่จุดเด่นอยู่ที่น้ำหอมจากรากหญ้าแฝกที่ต้องใช้เวลาในการผลิตไม่ต่ำกว่า ๕ ปี จึงจะกลายเป็นขวดวางจำหน่าย
การเรียนรู้ครั้งนี้เด็กๆได้ตกผลึกความรู้ทางวิทยาศาสตร์มากมายในแง่เนื้อหาคือ การสกัดด้วยตัวทำละลาย การกลั่น การเพิ่มพื้นที่ผิวสัมผัสเพื่อเพิ่มอัตราเร็วในการเกิดปฏิกิริยา ที่สำคัญเด็กๆน่าจะเรียนรู้ว่ากระบวนการทางวิทยาศาสตร์ใช่จะอยู่ในห้องปฏิบัติการ อยู่ที่สถานที่ที่ต้องการเรียนรู้ในลักษณะ Learning by doing
ต้องขอบคุณโอกาสที่ทำให้ครูนกได้ร่วมงาน ได้มีโอกาสเรียนรู้ในศาสตร์ที่ไม่เคยเกี่ยวข้องคือการทำรายการ และที่สำคัญได้มีส่วนร่วมในการเผยแพร่ภูมิปัญญาไทยให้กระจายไปตามสื่อต่างๆ ขอบคุณจากใจค่ะ






หมายเลขบันทึก: 605424เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2016 12:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2016 12:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

หวัดดีจ้ะครูนก หายไปนานเลย

สบายดีนะจ๊ะ

ระลึกถึงเสมอจ้าา


เด็กๆ ได้เรียนรู้ นอกห้องเรียน นะคะ

-สวัสดีครับ

-ถือเป็นประสบการณ์ชีวิตที่เยี่ยมจริง ๆนะครับพี่ครูนก

-คงต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มเติมบ้างแล้วล่ะครับ

-น้ำหอมรากหญ้าแฝก...

-ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท