เรียนรู้แบบ “เจอนั่น-เจอนี่” ที่ ม.ชีวิต (4)


พูดง่ายๆ ก็คือ หลงไปให้ความสำคัญกับชิ้นงานเพื่อนำไป ยกป้าย-ถ่ายรูป มากกว่าที่จะทำงานแบบ ปิดทองหลังพระ สร้างทักษะการเรียนรู้และทักษะชีวิตให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน

4. ขยายผลไปสู่การเขียนบันทึกการเรียนรู้จากการทำโครงงาน

กฎเกณฑ์ที่ถูกตั้งขึ้นมาเป็นไฟท์บังคับอย่างหนึ่งของการเรียนจบปริญญาตรีที่สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน (ม.ชีวิต) คือ นักศึกษาจะต้องทำโครงงานเฉพาะสาขา ซึ่งสถาบันฯ ได้ออกแบบหลักสูตรให้มีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง มีการติดตามผล ประเมินผล ให้คะแนน และตัดเกรด โดยกำหนดเป็นชุดวิชาเรียนต่อเนื่อง 8 ภาคเรียนจนสิ้นสุดการเรียน Course Work เรียกชื่อต่างกันไปตามสาขาวิชาที่นักศึกษาเลือกเรียน ได้แก่ เรียกว่าชุดวิชา การสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตและงาน 1-8 สำหรับสาขาวิชาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เรียกว่าชุดวิชา การพัฒนาคุณภาพชีวิต 1-8 สำหรับสาขาวิชาการจัดการสุขภาพชุมชน และเรียกว่าชุดวิชา โครงงานการเกษตรยั่งยืน 1-8 สำหรับสาขาวิชาการจัดการการเกษตรยั่งยืน แต่สำหรับอาจารย์และนักศึกษาชอบและเคยชินที่จะเรียกการทำโครงงานเฉพาะสาขานี้ว่า โครงงาน 3 ปี ตอกย้ำกันไปเลยว่าต้องทำจริง ต่อเนื่อง ติดตามผล/ประเมินผลอย่างเข้มข้นจริงจังตลอด 3 ปีเป็นอย่างน้อย ไม่ใช่โครงงานประเภท ชั่วข้ามเทอม หรือข้ามเดือน ข้ามสัปดาห์ สุดท้ายก็เป็น โครงงานชั่วข้ามคืน ซึ่งเป็นคำที่ผู้เขียนหยิบยกขึ้นมาเตือนสตินักศึกษาว่า อย่ารอช้า เร่งทำงานอย่างจริงจัง ต่อเนื่องตาม Road Map ที่วางไว้เป็นกติกาจะได้จบการศึกษารับปริญญาพร้อมเพื่อนๆ (ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องเกรดและเรื่องอื่นๆ)

การกำหนดให้นักศึกษาต้องทำ โครงงานเฉพาะสาขา หรือ โครงงาน 3 ปี ในทุกสาขาวิชาเป็นความตั้งใจของสถาบันฯ เพื่อประยุกต์ใช้กระบวนการเรียนรู้แบบ Project Based Learning : PBL การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน มาเป็นแนวทางหลักในการจัดการศึกษา ว่ากันตามทฤษฎี PBL เป็นการศึกษาโดยการทำโครงงานโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ผู้เรียนจะใช้แรงบันดาลใจของตนเองเลือกศึกษาในหัวข้อที่ตนสนใจ โดยครู-ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้เป็นเพียงผู้ให้คำปรึกษาและแนะนำกรอบในการศึกษาให้เท่านั้น การศึกษาแบบนี้จะทำให้ผู้เรียนมีความตื่นตัวในการปฏิบัติจริง ศึกษาด้วยความอยากรู้อยากเห็นและมีความกระตือรือร้น รู้สึกท้าทายในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง และภูมิใจกับผลงานที่ออกมาเพราะเป็นผลงานที่ลงมือทำเอง ทำให้ผู้เรียนรู้และเข้าใจในงานนั้นอย่างแท้จริง

นอกจากนั้น การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ PBL ที่ดีจะต้องบูรณาการกับชีวิต มีกระบวนการไตร่ตรองสะท้อนคิด (Reflection) หรือถอดบทเรียนอย่างเป็นระยะๆ สม่ำเสมอ และควรใช้เวลาทำโครงงานนานระยะหนึ่งเพื่อพัฒนาการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มีงานวิจัยหลายชิ้นออกมายืนยันคุณประโยชน์ของ PBL ว่า ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้นเมื่อมีโอกาสได้ค้นคว้า-ปฏิบัติในสิ่งที่ซับซ้อน ท้าทาย หรือในบางครั้งเป็นประเด็นปัญหายุ่งยากที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง ศักยภาพในการรับรู้สิ่งใหม่ๆ ของผู้เรียนจะถูกยกระดับขึ้นเมื่อได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการแก้ปัญหาที่มีความหมาย และเมื่อผู้เรียนได้รับความช่วยเหลือให้เข้าใจว่าความรู้กับทักษะเหล่านั้นสัมพันธ์กันด้วยเหตุอะไร เมื่อใด และอย่างไร

แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังหลุมพรางของ PBL คือ ครู-ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้จะต้องไม่ไปหลงติดที่ ชิ้นงาน/นวัตกรรม/ความสำเร็จ ที่ได้จากโครงงาน PBL มากกว่าการมุ่งไปที่การออกแบบ PBL ให้พัฒนา ทักษะการเรียนรู้ของผู้เรียน ครูหลายคนพยายามบีบคั้นให้ได้ชิ้นงานที่มีรูปแบบที่ดี มีจุดเด่นที่ตรงกับสมัยนิยมจะได้นำไปอวดอ้างสร้างชื่อเสียง แต่ละเลยการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะสำคัญต่อสมดุลของชีวิต หลุมพรางอย่างนี้เห็นตัวอย่างได้ชัดเจนจากการประกวดโครงงานทั่วๆ ไปที่ให้คะแนนรางวัล ชิ้นงานที่เลอเลิศ มากกว่า ทักษะที่ผู้เรียนได้เรียนรู้

พูดง่ายๆ ก็คือ หลงไปให้ความสำคัญกับชิ้นงานเพื่อนำไป ยกป้าย-ถ่ายรูป มากกว่าที่จะทำงานแบบ ปิดทองหลังพระ สร้างทักษะการเรียนรู้และทักษะชีวิตให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน

เมื่อนักศึกษานำเสนอเค้าโครง (Proposal) ของโครงงานเฉพาะสาขาและผ่านขั้นตอนการปรับปรุงแก้ไข อนุมัติให้ทำโครงงานฯ เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ของการศึกษาในปีแรก ในช่วงของการปฏิบัติงานผู้เขียนจะสนับสนุน (และขอร้องแกมบังคับ) ให้นักศึกษาเขียน รายงานผลความก้าวหน้าของการปฏิบัติงานโครงงานเฉพาะสาขา ในรูปแบบ บันทึกการเรียนรู้ : Learning Journals

นอกจากการทำกิจกรรมในโครงงานเฉพาะสาขาแล้ว นักศึกษา ม.ชีวิตทุกคนจะต้องทำกิจกรรมต่อเนื่องจากวิชาการวางแผนและเป้าหมายชีวิต ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามแผนชีวิตของตนเอง 4 แผน คือ แผนบริหารการเงิน (ทำบัญชีรับ-จ่าย การออมเงิน) แผนสุขภาพ แผนการบริหารเวลา แผนพัฒนาอาชีพและการงาน นอกจากนั้นยังมีแผนพัฒนาบุคลิกภาพของตนเองซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการทำโครงงานในวิชาการรู้จักตนเองและการเปลี่ยนแปลงตน ดังนั้น ในแต่ละภาคเรียนนักศึกษาจะต้องเขียนและส่ง บันทึกการเรียนรู้ : Learning Journals ภาคเรียนละ 5 ฉบับ ดังนี้

ฉบับที่ 1 บันทึกการเรียนรู้และความก้าวหน้าของการปฏิบัติงาน : โครงงานพัฒนาอาชีพ & การงาน
ฉบับที่ 2 บันทึกการเรียนรู้และความก้าวหน้าของการปฏิบัติงาน : แผนสุขภาพ

ฉบับที่ 3 บันทึกการเรียนรู้และความก้าวหน้าของการปฏิบัติงาน : แผนการเงิน บัญชีรายรับ/รายจ่าย เงินออม

ฉบับที่ 4 บันทึกการเรียนรู้และความก้าวหน้าของการปฏิบัติงาน : แผนการจัดการเวลา

ฉบับที่ 5 บันทึกการเรียนรู้และความก้าวหน้าของการปฏิบัติงาน : แผน/โครงการพัฒนาบุคลิกภาพของตนเอง

บันทึกการเรียนรู้ : Learning Journals ภาคเรียนละ 5 ฉบับนี้ เมื่อทำต่อเนื่องรวม 8 ภาคเรียนตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 – 9 เพื่อให้สอดคล้องกับชุดวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตและงาน 1-8 และชุดวิชาที่เทียบเคียงกันในอีก 2 สาขาวิชาดังกล่าว นักศึกษาจะมีแหล่งข้อมูลดิบเป็น บันทึกการเรียนรู้ : Learning Journals ที่สร้างขึ้นมาด้วยฝีมือตนเองมากถึง 40 ฉบับ และเมื่อได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดีด้วยคำแนะนำของอาจารย์ที่ปรึกษา ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาจัดระบบเรียบเรียงใหม่โดยช่วยกันสร้างกรอบแนวคิด (Conceptual Frame-Work) ที่เหมาะสมและนำมาสรุปเป็นเอกสารโครงงานเฉพาะสาขาหรือโครงงาน 3 ปีตามรูปแบบที่สถาบันฯ กำหนด ในขั้นตอนนี้ผู้เขียนน้อมนำให้นักศึกษาได้ตระหนักว่า เขากำลังสร้างงานชิ้นเอก (Master Piece) ที่เป็นตำนานชีวิตของตนเอง เรียกงานชิ้นนี้ว่า บนเส้นทางเรียนรู้ : Learning Journey ของตัวนักศึกษาเอง

จาก บันทึกการเรียนรู้ : Learning Journals สู่งานเขียน บนเส้นทางเรียนรู้ : Learning Journey ของตัวนักศึกษาเอง นี่คือที่มาของ การเรียนรู้แบบเจอนั่น-เจอนี่ ที่ ม.ชีวิต ตามชื่อบทความนี้

5. การเรียนรู้แบบเจอนั่น-เจอนี่ของครูและศิษย์

ในมุมมองเดียวกัน บนเส้นทางเรียนรู้ : Learning Journey ของครู/ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ยังทอดยาวไปอีกไกล ยังต้องผ่านโค้งหักศอก เนินสูงชัน หลุมบ่อของปัญหา/อุปสรรค และความยากลำบากนานานัปการ เป็นไปไม่ได้เลยที่ครูจะออกเดินทางไปคนเดียวจนถึงเป้าหมาย มีบ้างบางโอกาสครูอาจจะต้องขอเวลาปลีกวิเวกเพื่อเรียนรู้ที่จะอยู่กับตัวเอง ฝึกทักษะสำคัญ สร้างพลังชีวิตให้กับตนเอง แต่การเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ชีวิตและชุมชน ครูและศิษย์จะต้องเดินทางไกลไปร่วมกันแบบเจอนั่น-เจอนี่ ตลอดเส้นทาง.

หมายเลขบันทึก: 605421เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2016 10:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2016 11:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท