เรียนรู้แบบ “เจอนั่น-เจอนี่” ที่ ม.ชีวิต (3)


เราเรียกสิ่งที่ทำลงไปด้วยกระบวนการสุนทรียสนทนานี้ว่า เสียงของฉัน เราร่วมกันได้ยิน เพราะเป็นเรื่องสำคัญมากในการสร้างสภาวะที่ทำให้เกิดความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ทำลายอุปสรรคที่ปิดกั้นและคืนกลับ เสียงของฉัน ให้กับชุมชนเล็กๆ ของเรา คืนความมั่นใจให้กับสมาชิก คืนคุณค่าและความหมายให้เขาภาคภูมิใจในตัวเอง คืนแรงบันดาลใจให้เขามุ่งมั่นพัฒนาตนเองด้วยการลงมือปฏิบัติจริงตามหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ของสถาบันฯ ซึ่งเป็น การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง : Transformative Learning ที่เราสร้างขึ้นร่วมกัน

3. เสริมสร้างทักษะการไตร่ตรองสะท้อนคิดด้วยกระบวนการสุนทรียสนทนา

กิจกรรมหนึ่งที่ผู้เขียนได้ทดลองปฏิบัติในการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ ม.ชีวิต คือการนำกระบวนการ สุนทรียสนทนา (Dialogue) มาปรับใช้แบบค่อยเป็นค่อยไป เรียนรู้แบบสะสมต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ค่อยๆ ยกระดับการฟัง-คิด-พูด และสร้างความรู้ความเข้าใจ จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง เราใช้การ ตั้งวงคุยกัน ภายหลังเสร็จสิ้นการบรรยาย ดูวิดีทัศน์ อ่านบทความ หรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามเนื้อหาวิชาและหลักสูตรของสถาบันฯ

เราพบว่าการตั้งวงคุยกันสร้างคุณประโยชน์ให้กับสมาชิกในกลุ่มได้เป็นอย่างมาก ทั้งสมาชิกที่เป็นผู้ใหญ่/ผู้เยาว์ หญิง/ชาย รวย/จน ฯลฯ แต่ละคนมีประสบการณ์และเรื่องราวในชีวิตที่แตกต่างกันไป ความภาคภูมิใจ ความอัดอั้นตันใจ ความสดใสร่าเริงเมื่ออยู่ในกลุ่มเพื่อนๆ แต่กลับกลายเป็นความเงียบเหงาจับขั้วหัวใจเมื่ออยู่คนเดียวในบ้าน ความรู้สึกว่าไม่รู้จะพูดอะไรกับใครเพราะที่บ้านมีแต่คำสั่งคำสอนครอบงำความคิดไปเสียทุกเรื่อง ความคับแค้นใจที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากการทำงานในองค์กร จากการขายผลผลิตที่ถูกกดราคา ความเครียดจากภาวะหนี้สินและปัญหาในครอบครัว อาการเจ็บป่วยที่มีพื้นฐานอยู่บนปัญหาจิตใจและการกินการอยู่ที่ไม่สมดุลของตนเอง ฯลฯ เรื่องราวเหล่านี้เมื่อนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวงพูดคุยด้วยกระบวนการสุนทรียสนทนาทำให้สมาชิกแต่ละคนพบว่า เสียงที่พูดออกไปมีเพื่อนๆ รับฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ ไม่ตัดสินดี/ชั่ว ถูก/ผิด ไม่พูดจาสั่งสอนด้วยท่าทียกตนข่มท่าน มีเพียงการนิ่งฟัง รับรู้ และสะท้อนออกมาเป็นคำพูดที่แสดงถึงความเข้าใจ เห็นใจ ชื่นชมยินดีในสิ่งที่เป็นความสำเร็จ และสัมผัสได้ถึงอาการวางเฉยแบบมีอุเบกขา เมื่อได้ฟังเรื่องราวที่มันเกินเลยไปจากความเป็นจริง สัมผัสอุเบกขาจากเพื่อนๆ นี้เองเป็นเสมือนกระจกเงาสะท้อนอัตตาตัวตนของผู้พูด เปิดโอกาสให้รู้เนื้อรู้ตัวนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตนเอง โดยลดอัตตาตัวตน พูดเฉพาะในสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ลงมือทำจริง และรู้สึกออกมาจริงๆ เพียงเท่านี้ก็มีคุณค่ามากพอแล้ว

เราเรียกสิ่งที่ทำลงไปด้วยกระบวนการสุนทรียสนทนานี้ว่า เสียงของฉัน เราร่วมกันได้ยิน เพราะเป็นเรื่องสำคัญมากในการสร้างสภาวะที่ทำให้เกิดความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ทำลายอุปสรรคที่ปิดกั้นและคืนกลับ เสียงของฉัน ให้กับชุมชนเล็กๆ ของเรา คืนความมั่นใจให้กับสมาชิก คืนคุณค่าและความหมายให้เขาภาคภูมิใจในตัวเอง คืนแรงบันดาลใจให้เขามุ่งมั่นพัฒนาตนเองด้วยการลงมือปฏิบัติจริงตามหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ของสถาบันฯ ซึ่งเป็น การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง : Transformative Learning ที่เราสร้างขึ้นร่วมกัน

สิ่งที่เกิดขึ้นจากการ ตั้งวงคุยกันแบบสุนทรียสนทนา จะถูกนำมาไตร่ตรองสะท้อนคิดแล้วจึงเขียนออกมาด้วยความลุ่มลึกของจิตใจและสติปัญญา ช่วยยกระดับในเชิงคุณภาพทำให้บันทึกการเรียนรู้กลายเป็น Reflective Learning Journals มีคุณค่าและเป็นช่องทางการสื่อสารที่ดีนำเสนอความจริงทั้งในระดับเหตุการณ์และระดับความคิดจิตใจ เมื่อครู-ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ได้ฟัง-คิด-อ่านงานของนักศึกษาจะกสามารถเข้าถึงและส่งต่อคุณค่าของเรื่องราวเหล่านั้นด้วยการเขียนเพื่อสร้างกำลังใจ แนะนำแนวทางที่เป็นประโยชน์ ฯลฯ ผ่านบันทึกการเรียนรู้ของนักศึกษาได้เป็นรายบุคคล

หมายเลขบันทึก: 605418เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2016 10:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2016 11:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท