ผู้สูงอายุร่วมสร้างสังคมสุขภาวะ แก่อย่างมีคุณค่า ชราอย่างมีศักดิ์ศรี


การรวมสมาชิกนอกจากจะสร้างความไว้วางใจต่อกันแล้ว การสร้างให้มีน้ำหนึ่งใจเดียวกันเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก และหากชุมชนนั้นๆ ต่างคนต่างที่มา โดยเฉพาะชุมชนขนาดใหญ่ที่นอกจากฐานะทางสังคมแล้ว ความคิดความอ่านก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

บ่อยครั้งที่เราเห็นข่าวปัญหาผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งเป็นจำนวนมาก เกิดอะไรขึ้น ทั้งที่กลุ่มผู้สูงอายุเปรียบเหมือน “คลังปัญญา” ด้วยประสบการณ์ผ่านร้อนผ่านหนาว และสามารถทำอะไรต่อมิอะไรได้มากมาย ที่เป็นแบบอย่างและสามารถนำสังคมให้เดินไปอย่างถูกต้อง มากกว่าการเป็น “ไม้ใกล้ฝั่ง” ให้สังคมเพิกเฉย

สมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ได้ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 3,500 แห่ง และร่วมกับสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการผลักดันโครงการและกิจกรรมเพื่อผู้สูงอายุมาอย่างต่อเนื่อง

ทว่าการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม ส่งผลให้วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไป โดยเฉพาะสังคมเมืองใหญ่ ซึ่งผู้คนห่างเหินต่อกัน เหมือนต่างคนต่างอยู่ การรวมกลุ่มของชมรมผู้สูงอายุนั้นจึงทำได้ยากเช่นกัน หลายๆ ชมรมต้องล้มหายไปไม่สามารถยืนระยะได้ แต่ก็มีหลายแห่งที่สามารถยืนหยัดอยู่ได้และมีผลการดำเนินงานอย่างโดดเด่น

เช่นที่ “ชมรมผู้สูงอายุหมู่บ้านไทเทยิ่น” เขตดอนเมือง ก่อตั้งเมื่อปี 2550 ปัจจุบันมีสมาชิก 76 คน จัดทำโครงการโดยได้รับการสนับสนุนจาก สสส. มาแล้ว 5 ครั้งตั้งแต่ปี 2552 กับโครงการสร้างเสริมสุขภาพด้วยการออกกำลังกายด้วยยางยืดและไม้พลอง โครงการที่สองปี 2553 จัดทำโครงการ สุขภาวะจิตแจ่มใส สุขภาวะกายแข็งแรง โครงการที่สาม ปี 2554 โครงการพืชผักสมุนไพร-วัยชรา-ใฝ่หาธรรมะ โครงการที่สี่ ปี 2557 โครงการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ในครัวเรือน แบบเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการที่ห้า ปี 2558 โครงการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุโดยชมรมผู้สูงอายุระดับชุมชน

สมพร พยอมใหม่ ประธานชมรมผู้สูงอายุหมู่บ้านไทเทยิ่น กล่าวว่า การรวมกลุ่มของชมรมผู้สูงอายุในสังคมเมืองนั้นไม่ง่าย ถ้าทุกคนไม่ตั้งใจทำจริงๆ และแกนนำหรือคณะกรรมการต้องมีความโปร่งใส และมีองค์ประกอบหลายๆ อย่าง สิ่งหนึ่ง คือการตั้งชมรมแล้วอย่าให้เป็นภาระของสมาชิก เพราะทุกวันนี้ทุกกิจกรรมต้องใช้เงิน ไม่ใช่ให้สมาชิกควักเงินกันเอง หรือจ่ายน้อยที่สุด และทำอย่างไรให้สมาชิกนั้นมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของชมรมให้มากที่สุด

สมาชิกชมรมผู้สูงอายุหมู่บ้านไทเทยิ่น โชคดีที่ว่าส่วนใหญ่รู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะเป็นอดีตพนักงานของ บ.ไทเทยิ่น มาก่อน จึงทำให้การรวมกลุ่มนั้นง่าย เวลาทำกิจกรรมแต่ละครั้งจะมีสมาชิกมาร่วมเกินงบประมาณที่ตั้งไว้ตลอด และต่างยินดีที่ได้มารวมกลุ่มกัน อย่างน้อยได้ความสัมพันธ์ ผูกพันและสามัคคี เวลามีประชุมประจำเดือนก็จะให้สมาชิกทำกับข้าวมาคนละหนึ่งอย่างและมากินร่วมกัน พร้อมทั้งจัดงานอวยพรวันเกิดให้สมาชิกที่เกินในเดือนนั้นๆ ด้วย

ขณะที่ “ชมรมผู้สูงอายุชุมชนศรีบุญยืนพัฒนา” เขตบางซื่อ เป็นอีกหนึ่งชมรมผู้สูงอายุในเขต กทม. ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สสส. และดำเนินโครงการอย่างสำเร็จเป็นรูปธรรม ซึ่งแม้จะเป็นชุมชนที่ก่อตั้งในลำดับท้ายๆ ของ กทม. แต่ที่นี่ถือเป็นชุมชนแถวหน้าของเขต โดยมีชมรมผู้สูงอายุที่เข้มแข็งเป็นเสาหลักให้ชุมชน

มนตรี พิมพาศ ประธานชุมชนฯ และแกนนำชมรมผู้สูงอายุชุมชนศรีบุญยืนพัฒนา กล่าวว่า ชมรมฯ ก่อตั้งเมื่อปี 2542 แรกเริ่มมีสมาชิกเพียง 10 กว่าคน โดยเน้นกิจกรรมการออกกำลังกายเป็นหลัก จนสมาชิกเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 60 คน แต่รับได้จำนวนแค่นี้ จะไม่รับเพิ่มอีก เพื่อให้บริหารจัดการได้ง่าย และคัดกรองเฉพาะผู้ที่สนใจและเข้าร่วมกับกิจกรรมของชมรมจริงจังเท่านั้น

ทุกวันอังคาร พฤหัสบดี และอาทิตย์ ทางชมรมฯจะมีการรวมกลุ่มออกกำลังกายร่วมกัน พร้อมทั้งขอให้สมาชิกลงขันคนละ 5 บาทต่อครั้ง เพื่อรวบรวมมาเป็นเงินกองกลางไว้บริหารจัดการ พอสิ้นเดือนจะนำไปฝากธนาคาร และแจ้งให้ สมาชิกรับทราบว่ามีรายรับรายจ่ายเท่าไหร่ ถ้าจะเอาเงินไปทำอะไรก็ต้องแจ้งสมาชิกด้วยเพื่อความโปร่งใส

การรวมสมาชิกนอกจากจะสร้างความไว้วางใจต่อกันแล้ว การสร้างให้มีน้ำหนึ่งใจเดียวกันเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก และหากชุมชนนั้นๆ ต่างคนต่างที่มา โดยเฉพาะชุมชนขนาดใหญ่ที่นอกจากฐานะทางสังคมแล้ว ความคิดความอ่านก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ที่หมู่บ้านลานทอง เป็นหมู่บ้านจัดสรรของกระทรวงกลาโหม ตั้งอยู่ถนนติวานนท์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ถือเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ 1,338 หลังคาเรือน มีการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุหมู่บ้านลานทอง มาตั้งแต่ปี 2540 ปัจจุบันมีสมาชิก 139 คน และได้จัดโครงการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุโดยชมรมผู้สูงอายุระดับชุมชน โดยได้รับทุนจาก สสส. เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2558

พ.ท.บุญราม บุญมา ประธานชมรมผู้สูงอายุหมู่บ้านลานทอง กล่าวว่า โครงการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุโดยชมรมผู้สูงอายุระดับชุมชน เน้นกิจกรรมการอออกกำลังกาย การสร้างเสริมสุขภาพจิตผู้สูงอายุในชุมชน และอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงและติดบ้าน

ชมรมผู้สูงอายุหมู่บ้านลานทอง จัดเก็บค่าสมัครแบบตลอดชีพ 500 บาท หรือแบบรายปีๆ ละ 100 บาท พร้อมกันนี้สมาชิกต้องเสียเงินค่าบำรุงอีกคนละ 100 บาทต่อปีด้วย เพื่อนำไปเป็นสวัสดิการให้สมาชิกกรณีเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต และจัดประชุมทุกๆ 3 เดือนเพื่อสังสรรค์พบปะพูดคุยกัน

อย่างไรก็ดีมีผู้สมัครเป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุเพียง 139 คน ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเพราะในหมู่บ้านมีจำนวนผู้สูงอายุกว่า 1,200 คน ซึ่งสาเหตุที่ผู้อายุส่วนใหญ่ไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกนั้น เพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นอดีตข้าราชการจะรวมกลุ่มกันเอง ไม่ค่อยให้ความสนใจในกิจกรรมของชมรมมากนักคงเป็นเพราะชุมชนใหญ่ จึงหลอมรวมกันไม่ได้ แต่โชคดีว่ากลุ่มขาประจำที่เป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุนั้นยังถือว่าเหนียวแน่นทำให้การดำเนินงานของชมรมเป็นไปอย่างราบรื่น

วันนี้ผู้สูงอายุสามารถรวมกลุ่มกันแล้วลุกขึ้นมาอย่างเข้มแข็งด้วยสุขภาพดีทั้ง กาย ใจ ปัญญา ให้สังคมได้เห็นพลังของคนแก่ว่ามีมากเพียงไหน ไม่ใช่เป็นเพียง “ไม้ใกล้ฝั่ง” อีกต่อไป

หมายเลขบันทึก: 605399เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2016 20:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2016 15:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มีกิจกรรมของผู้สูงอายุหลายแบบ

ขอชื่นชมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท