ยุทธศาสตร์พัฒนาคณะ



ในสภามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง คณบดีท่านใหม่ มาเสนอยุทธศาสตร์พัฒนาคณะ ผมอ่านเอกสาร และ PowerPoint ประกอบการประชุม แล้วถามตัวเองว่าหากผมเป็นคณบดี ผมจะคิดและทำอย่างไร คำตอบต่อไปนี้ โบราณตกยุคแค่ไหนก็ไม่ทราบ

ในเชิงยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความสำเร็จ ผมคิดว่า ต้องสร้างหรือพัฒนาคณะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ที่การ ทำงานวิชาการเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง จากความเคยชินเดิมๆ เมื่อ ๒๐ - ๕๐ ปีที่ผ่านมา โดยการผลงาน ที่แตกต่างคือ สมรรถนะของบัณฑิต และบทบาทต่อสังคมของคณะในลักษณะ social / community engagement

คือเป้าหมายเปลี่ยนในลักษณะเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (paradigm shift)

หากเป้าหมายเปลี่ยนเช่นนี้ ยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดคือจะหาใครมาเป็นกำลังขับเคลื่อน การเปลี่ยนแปลง หากตอบว่าคณบดี ก็เป็นคำตอบที่ทั้งถูกและผิด ถูกก็เพราะคณบดีต้องใช้ภาวะผู้นำ อย่างแน่นอน แต่ถ้าคณบดีตั้งตัวเป็นเจ้าของการเปลี่ยนแปลงนี้ คณบดีก็จะมีฝ่ายตรงข้ามเต็มคณะ ดังนั้น ยุทธศาสตร์ในระดับกุศโลบายก็คือ คณบดีต้องหาทางให้มีอาจารย์/กลุ่มอาจารย์ ลุกขึ้นมาเป็น “เจ้าของ” การเปลี่ยนแปลงแต่ละด้าน แล้วคณบดีทำหน้าที่ประสาน (coordinate) งานขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง หลากหลายด้าน เข้าด้วยกัน ให้เกิดการเสริมพลัง (synergy) กัน

ปัญหาอย่างหนึ่งของการสร้างการเปลี่ยนแปลงก็คือ เป้าหมายมันมัวๆ ไม่ชัด จึงต้องมียุทธศาสตร์ ทำให้เป้าหมายมัวๆ มีตัวอย่างรูปธรรมที่ชัดเจนจับต้องได้ โดยอาจเอาตัวอย่างความสำเร็จในอดีต ของหน่วยงานเอง หรือเป็นตัวอย่างความสำเร็จของหน่วยงานอื่น ในมหาวิทยาลัยอื่นในประเทศไทย หรือในต่างประเทศ เอามาเป็นตัวอย่าง หรือ benchmark สำหรับกำหนดเป้าหมายผลงาน

นี่คือขั้นตอนการกำหนดวิสัยทัศน์ (vision) และพันธกิจ (mission) โดยมีแกนนำในคณะ ในกระบวนการกำหนด และในที่สุดสมาชิกของแกนนำนี้เอง กลายเป็นเจ้าของพันธกิจตัวใดตัวหนึ่ง ร่วมกัน กำหนดเป้าหมายปลายทาง และเป้าหมายรายทางเป็นขั้นๆ และร่วมกันดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยคณบดีคอยร่วมแก้ปัญหา และร่วมชื่นชมเฉลิมฉลองเมื่อบรรลุเป้าหมายรายทาง

คณบดีจัดให้มีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างแต่ละทีมพัฒนาการเปลี่ยนแปลงแต่ละเป้าหมาย เพื่อนำเอาวิธีการที่ใช้ได้ผลในทีมหนึ่ง ไปปรับใช้ในอีกทีมหนึ่ง รวมทั้งเพื่อเป็นกำลังใจแก่กันและกัน

ในการทำงานเพื่อพัฒนาเช่นนี้ ต้องทำร่วมกับภาคีเชิงยุทธศาสตร์ (strategic partners) ที่หลากหลาย มีการนำเอาพลังทรัพยากรจากหลายฝ่ายมาร่วมกันพัฒนา ทรัพยากรที่ทรงพลังที่สุดในสายตาของผมคือ นักศึกษา นักศึกษาจะเป็นพลังทางปัญญา (intellectual capital) หากเรามีมุมมองใหม่ต่อนักศึกษา มองเป็นผู้ร่วมทำงานเพื่อเรียนรู้ หรือเป็นผู้ผลิต / ผู้สร้าง ไม่ใช่ผู้บริโภค ที่มารับถ่ายทอดความรู้

ยุทธศาสตร์พัฒนาคณะในยุคนี้ ต้องใช้กระบวนทัศน์ที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง


วิจารณ์ พานิช

๒๖ มี.ค. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 605388เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2016 16:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 เมษายน 2016 16:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท