ฉันจึงมาหา "ความหมาย" ของการศึกษา


ฉัน จึงมา หาความหมายของการศึกษา

คำว่า educate เป็นรากศัพท์เดิมของการศึกษารากศัพท์นี้แท้จริงแล้ว มีความหมาย ว่า“ดึงออกมา” แต่ส่วนใหญ่แล้วจะแปล educate ว่าเป็น การศึกษาอบรม ซึ่งก็มีความหมายอย่างที่เปาโล แฟร์เร ว่า “Banking” ผมให้ความหมายตรงกันข้ามกับรากศัพท์เดิม คือ“ยัดเข้าไป”

ทั้งสองคำมีความสัมพันธ์ทางอำนาจอย่างชัดเจน คำแรก ที่มีความหมายว่า “ดึงออกมา” เป็นอำนาจเชิงราบ คือ อำนาจอยู่ในตัวผู้เรียนทุกคนที่จะดึงความรู้ในตัวออกมากนอกจากอำนาจในการดึงความรู้ทุกอย่างออกมาแล้ว ยังหมายถึงการควบคุมวิถีการเรียนรู้ของตัวเอง อยู่สองนัยส่วนความหมายที่สองที่แสดงถึงการ “ยัดเข้าไป”มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจเชิงดิ่ง โดยแสดงถึงอำนาจในการกระทำการต่อผู้ที่เรียนรู้อย่างเป็นระบบและอำนาจในที่นี่หมายความถึงอำนาจในการควบคุม และรวมไปถึง อำนาจอันละมุน ในการกล่อมเกลา

เมื่อสืบสานวงศ์วานความรู้ย่อ ๆ แบบ “ดึงออกมา”เริ่มต้นตั้งแต่มีมนุษย์เกิดขึ้นมา ก็มีความรู้ในการดึงออกมา ได้แก่ความรู้ที่เกิดจากการแก้ปัญหาพื้นฐานซึ่งต้องใช้ทักษะการคิดเพื่อแก้ไขปัญหา และเป็นการก่อร่างอารยธรรมมนุษย์ขึ้นมาเช่น ยุคหิน ยุคเหล็ก ยุคสัมฤทธิ์ ไปจนถึงยุคไฟนีออน ยุคระเบิดนิวเคลียร์ล้วนใช้ทักษะการคิดแบบอิสระของปัจเจกชนอย่างอิสระ ซึ่งนอกจากจะเป็นความคิดแบบแก้ไขปัญหาแล้ว ยังมีทักษะทางด้านจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ด้วย

ส่วนเมื่อสืบสานวงศ์วานของความรู้ย่อ ๆ แบบ “ยัดเข้าไป” ก็เริ่มต้นประมาณศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมาเป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมคนเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม เพื่อสร้างและผลิตซ้ำให้ลูกหลานแรงงานได้กลายมาเป็นแรงงานในระบบอุตสาหกรรม ระบบอุตสาหกรรมเป็นระบบการจัดการเพื่อกำไรสูงสุดเพื่อทำให้แรงงานทำกำไรให้กับผู้ลงทุนการจัดการชนิดเป็นการจัดการความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ทุกขั้นตอน

มิติทางด้านเป้าหมายของการนิยามการศึกษาแบบ “ดึงออกมา” คือ คุณภาพชีวิต ความสามารถที่แท้จริง ความสุข ทางเลือก ให้คนมีเสรีภาพ และมีความแตกต่างหลากหลาย ส่วนมิติเป้าหมายทางด้านการศึกษาแบบ “ยัดเข้าไป” คือ กระดาษรับรองจากอำนาจ เพื่อนำไปสมัครเป็นแรงงานในระบบของรัฐ และ อุตสาหกรรม เน้นให้ผู้คนเป็นไปอย่างเดียวกันหมด

มิติทางด้านเวลาของการนิยาม การศึกษาแบบ “ดึงออกมา” คือ เรียนรู้ ทุกที่ ทุกเวลา จะใช้เวลาไหนก็ได้ส่วนมิติทางด้านเวลาของการศึกษาแบบ “ยัดเข้าไป” คือการเรียนรู้เกิดขึ้นในเวลาที่เลียนแบบระบบอุตสาหกรรมอาจเพิ่มเติม พิธีกรรมของรัฐ เข้าไปด้วย การเรียนรู้เป็นไปตามเวลา และขึ้นอยู่กับ “ครู”

มิติทางด้านทรัพยากรนั้น นิยามการศึกษาแบบ “ดึงออกมา” ใช้ทรัพยากรเพียงสมองของ ปัจเจกชน สื่อ ข้อมูล ที่หลากหลายจะท่วมโลก ส่วนนิยามการศึกษาแบบ “ยัดเข้าไป” ใช้ทรัพยากรที่ภาษี มูลค่ามหาศาลในระดับล้าน ล้าน บาท ต่อปีตั้งองค์กรขนาดใหญ่ ขนาดกลางมีคนทำงานเกี่ยวข้องจำนวนมาก มีการฝึกอบรม ลงทุนด้านวัสดุอุปกรณ์ มีระเบียบข้อบังคับ การคุมคุม มีวรรณกรรมหลักสูตร มีเทคนิคการเรียนรู้มีหน่วยงานวัดและประเมินผลมีหน่วยผลิตปัญญาชนของรัฐ มีสื่อ มีอาคารจำนวนมหาศาล มีหน่วยผลิตนโยบาย และ สั่งการตามลำดับชั้น มีองค์กรตรวจสอบมาตรฐานการศึกษา แถมยังมีผู้ช่วยเหลือการศึกษาให้ทรัพยากรเพิ่มอีกจำนวนมากมาย ลงทุนสูงมากหน่วยงานแต่ละหน่วยได้รับการจัดสรรงบประมาณไม่เท่ากันตามระบบอุปถัมป์ ทำให้องค์กรมีความแตกต่างกันมากทางทรัพยากร

มิติทางด้านวัฒนธรรมนิยามการศึกษาแบบ “ดึงออกมา” เป็นปกติวิสัยที่เป็นชนกลุ่มน้อยมีลักษณะเป็น พหุวัฒนธรรม (Multicultural) มีความแตกต่างหลากหลายตามความถนัดและ ลีลาการเรียนรู้ ส่วนนิยามการศึกษาแบบ “ยัดเข้าไป” ใช้วัฒนธรรมเดี่ยว (Monoculture) วัฒนธรรมแห่งชาติ วัฒนธรรมแบบมาตรฐานการเน้นความเป็นหนึ่งเดียว ปิดกั้นความแตกต่างหลากหลาย และอัตลักษณ์แบบอื่น ๆ

มิติด้านวิทยาศาสตร์นิยามการศึกษาแบบ “ดึงออกมา” ใช้วิทยาศาสตร์ทางประสาทวิทยาและการทำงานของสมอง ของปัจเจกชนที่มีความแต่งต่างทางด้านการเรียนรู้ส่วนนิยามการศึกษาแบบ “ยัดเข้าไป” อธิบาย วิทยาศาสตร์พฤติกรรมในการควบคุมมนุษย์ทั้งระบบ ยกตัวอย่างเช่น ระบบ หลักสูตรการสอนและการวัดประเมินผล เป็นเครื่องมือในควบคุมความรู้ ทักษะ และการปฏิบัติ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

มิติด้าน “อำนาจ”นิยามการศึกษาแบบ “ดึงออกมา” ใช้อำนาจภายในตัวเอง เช่น สติ สมาธิ ความตั้งใจ ในการเรียนรู้ด้วยตนเองส่วนนิยามการศึกษาแบบ “ยัดเข้าไป”ใช้อำนาจในการเก็บกดปิดกั้นการศึกษาแบบ “ดึงออกมา” อันเนื่องมาจากการอ้างมาตรฐาน วิทยาศาสตร์ใช้อำนาจจากภายนอกในการสร้างความสนใจ สติ และ สมาธิ

มิติด้าน องค์ความรู้ นิยามการศึกษาแบบ “ดึงออกมา”ใช้องค์ความรู้แบบใดก็ได้ ที่ตนเองชอบถนัดก่อน เพื่อนำเอามาสร้างคุณภาพชีวิตของตนเอง แบบแตกต่างหลากหลาย กำหนดเองได้แบบSubjective ส่วนองค์ความรู้ นิยามการศึกษาแบบ “ยัดเข้าไป” นั้น ใช้องค์ความรู้ที่ผู้มีอำนาจได้กำหนดขึ้น และอนุญาตใช้เท่านั้น เป็นองค์ความรู้ที่เขาเรียกว่ามาตรฐานเดียวเหมือนกันทั้งหมด องค์ความรู้มุ่งเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ให้เป็นแรงงาน ลูกจ้าง และคุณภาพชีวิตแบบแรงงาน ลูกจ้าง แบบ Objective

มิติด้าน “ศีลธรรม” นิยามการศึกษาแบบ “ดึงออกมา” ใช้ศีลธรรมผ่านการคิด และการควบคุมวินัย (Discipline)ภายในอย่างเข้มข้น จริงจัง ส่วนนิยามการศึกษาแบบ “ยัดเข้าไป” ใช้ศีลธรรม และการควบคุมวินัย โดยการบังคับจากอำนาจภายนอกเข้าไป

มิติด้าน “คุณภาพ” นิยามการศึกษาแบบ “ดึงออกมา” นิยามคุณภาพไปที่ คุณภาพชีวิต ความสุข และความเป็นมนุษย์ส่วนคุณภาพของนิยามการศึกษาแบบ “ยัดเข้าไป” นิยามคุณภาพ คือการทำตามคำสั่ง ข้อกำหนด การควบคุมพฤติกรรม ในการเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ดีได้แก่ การสามารถจดจำสิ่งที่เป็นคำสั่ง ข้อกำหนด ของผู้มีอำนาจ กระทำตามคำสั่ง ข้อกำหนด อย่างมีประสิทธิภาพ ดำรงความมีประสิทธิภาพให้มากขึ้น เพื่อเป็นแรงงานที่ดีในระบบรัฐและทุนนิยม

มิติ ความยั่งยืน นิยามการศึกษาแบบ “ดึงออกมา”มีอยู่แล้วในตัวมนุษย์ทุกคนมีความยั่งยืนตลอดชีวิต เป็นการศึกษาตลอดชีวิต ส่วนนิยามการศึกษาแบบ “ยัดเข้าไป” มีระยะเวลาตามกำหนด ในมิติวัน เดือน ปี แบบระบบอุตสาหกรรม การที่ต้องพึ่งพาอำนาจการสั่งการมาทั้งหมดในระยะเวลาเมื่อจบตามระยะเวลาก็ต้องเรียนรู้ด้วยการใช้นิยามการศึกษาแบบ “ดึงออกมา” เช่นกัน

มิติ ภาคปฏิบัติการนิยามการศึกษาแบบ “ดึงออกมา” ในระดับที่หนึ่ง เป็นการศึกษาปกติวิสัยมีอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว ในการคิดแก้ปัญหาต่าง ๆมีบุคคลจำนวนมากที่ไม่ได้ผ่านระบบการศึกษา หรือไม่ใช่ระบบการศึกษา ได้ใช้การศึกษาแบบปกติวิสัยในการกำกับตัวเองกำกับวินัย ได้แก่ ในการคิดแก้ปัญหาต่าง ๆมีบุคคลจำนวนมากที่ไม่ได้ผ่านระบบการศึกษา หรือไม่ใช้ระบบการศึกษา ได้ใช้การศึกษาแบบปกติวิสัยในการกำกับตัวเองกำกับวินัยได้แก่ กลุ่มภูมิปํญญาท้องถิ่น เช่น พ่อผาย สร้อยสระกลาง ครูบาสุทธินันท์ปรัชญพฤทธิ์พ่อคำเดือง ภาษี พะตีจอนิ โอโดเชา ฯลฯกลุ่มเศรษฐีใหม่ ทางเทคโนโลยี ได้แก่ บิลเกตส์สตีฟ จ๊อบส์กลุ่มเจ้าสัวและมหาเศรษฐีชาวจีน เช่น เจ้าพ่อกระทิงแดง เจ้าพ่อเบียร์ช้าง ฯลฯ กลุ่มนักวิชาการ เจ้าคุณพระยาอนุมานราชธน กลุ่มศิลปินจิตรกร ดนตรี แขนงต่าง ๆ ได้แก ประเทือง เอมเจริญ ฯลฯ ทางด้าน ศาสนา ได้แก่ ศาสดาของทุกศาสนา ค้นพบเอง นักวิทยาศาสตร์ ไอน์สไตน์เอดิสันกาลิเลโอ ฯลฯ การศึกษาแบบโฮมสคูล การศึกษาแบบทางเลือกทุกระดับ กลุ่มเสวนาไดอะล็อกในระดับที่สองคือ ระดับ Post Education คือ พวกที่เรียนรู้เองหลังจากจบการศึกษา ได้แก่ ศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ นักวิชาการ แรงงาน ลูกจ้าง และแทบจะทุกคนที่จบการศึกษา แล้วย่อมเรียนรู้วิธีการแก้ไขปัญหา ตามสติปัญญาและความเชื่อมั่นในตนเองภาคปฏิบัติการจริงของ การศึกษาแบบ “ยัดเข้าไป” คือ แรงงานทั้งระบบของการจ้างงานของรัฐและระบบทุนนิยม

โดยสรุปแล้วกลุ่มที่นิยามการศึกษา “ดึงออกมา” เป็นระบบการศึกษาที่เรียกว่า “Informal Education” เมื่อเรียนรู้ร่วมกันเป็นชุมชน เรียกว่า “NonFormal Education”ทั้ง Informal และ non formal อันยิ่งใหญ่ อยู่ภายในตัวของทุกคน ถูกลดทอน ปิดกั้น ให้เหลือเพียงหน่วยงานเล็ก ๆ ของรัฐในการให้การศึกษาในไวยากรณ์ของ “การยัดเข้าไป” มากกว่าการส่งเสริมการศึกษา ทำความเข้าใจกับคนว่า เรามีเครื่องมือเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพอยู่กับตัวตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์ใช้ความสนใจ ใช้ความเป็น Agency ของมนุษย์ ในการกำหนดด้วยเครื่องมือสามัญที่อยู่ในตัว คือ สมอง ร่างกายรับประสาทสัมผัส ความคิด การสื่อสาร ด้วยความเป็นอิสระ และแตกต่างหลากหลายส่วนกลุ่มที่นิยามการศึกษาว่า “ยัดเข้าไป” ก็เป็นสิ่งที่ครอบงำสังคมมาตั้งแต่ศตวรรษที่18มาจนถึงปัจจุบัน เป็นแบบ Modernism เน้นอำนาจ นโยบาย การสั่งการ การปฏิบัติตามคำสั่งของแรงงาน การควบคุมทุกปริมณฑล ด้วยวิทยาศาสตร์แบบพฤติกรรม ดังที่พวกเราได้คุ้นเคยกัน ความเป็นโพสโมเดิร์น นอกจากการวิพากษ์ความเป็นโมเดิร์นแล้วการค้นหาว่าโมเดิร์นได้เก็บกด ปิดกั้นอะไรหน้าที่เราก็คือการปลดปล่อย การปิดกั้นและใช้วาทกรรมนี้สร้างและสถาปนาขึ้นใหม่

คำสำคัญ (Tags): #informal education
หมายเลขบันทึก: 605279เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2016 23:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 เมษายน 2016 23:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท