ฐานข้อมูลเพื่อการขับเคลื่อนโครงการอำเภอพัฒนานิคมสุขภาพดี: ผู้สูงอายุ สุขภาพดี มีตังค์ ยั่งยืน


ได้มีโอกาสไปร่วมเรียนรู้การขับเคลื่อนอำเภอสุขภาพดีของอำเภอพัฒนานิคม จ.ลพบุรี ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (สพช.) ตั้งแต่ช่วงกลางปี ๒๕๕๘ จึงนำบางเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟังครับ

โจทย์ร่วมของคนทำงาน

อำเภอพัฒนานิคม ภายใต้นโยบายการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอ (District Health System) ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ทั้งหมดจากแนวคิดการพัฒนาเดิม แต่เพิ่มการจัดการ (Management)_เน้นให้เกิดการมีส่วนร่วม (Participation) มากขึ้น และการใช้พื้นที่เป็นฐาน (Context-based) ในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างแท้จริง พอได้รับโจทย์ “ร่วม” จาก สพช. ในการหากลไกการขับเคลื่อนต่อยอดก็ได้เริ่มหารือกันระหว่างคนทำงานหลายรอบ โดยมี สสอ. กับ รพ. พัฒนานิคมเป็นหัวเรือใหญ่ ซึ่งในช่วงแรกๆ ก็ยากพอสมควรกับการหา “จุดเริ่ม” จึงได้กลับไปทบทวนดูแนวโน้มและยุทธศาสตร์ของการทำงานในทุกระดับ ข้อสรุปของโจทย์การขับเคลื่อนจึงมาอยู่ที่ “ผู้สูงอายุ” ซึ่งมาจากสถานการณ์ที่เด่นชัดของจำนวนและแนวโน้มของผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากการคุยหารือกันหลายรอบ “ทีม” สุขภาพอำเภอได้เป้าหมายหรือวิสัยทัศน์ร่วมกัน (Shared-Vision) คือ “การสร้างผู้สูอายุให้สุขภาพดี มีตังค์ อย่างยั่งยืน” เแต่การจะ Scope ลงมาถึงการจัดทำโครงการพัฒนาหรือกิจกรรมไม่ได้ง่ายนักว่าจะทำอะไร ทีมทำงานโดยการมีส่วนร่วมของ สสอ. รพ. อปท. ภาคประชาชน และเอกชนในพื้นที่ได้ร่วมหารือออกแบบการขับเคลื่อนการทำงานกันหลายรอบ

บรรยากาศการร่วมคิดร่วมทำ

บูรณาการเป้าหมาย หาแนวร่วมทุกภาคส่วน

จากการพูดคุยกันในทีมขับเคลื่อนอำเภอสุขภาพ พบว่า พัฒนานิคมไม่ได้เริ่มจากศูนย์ มีทุนในแต่ละพื้นที่มากมาย เช่น ภูมิปัญหาและวัฒนธรรมไทยเบิ้ง การขับเคลื่อนโรงเรียนผู้สูงอายุ เป็นต้น หลังจากได้กลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน คือ ผู้สูงอายุ แล้ว ทีมสุขภาพอำเภอจึงได้นำยุทธศาสต์ของกระทรวง จังหวัด และอำเภอมาบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้เห็นภาพใหญ่ของการพัฒนา และทำให้สอดคล้องกันในทุกระดับ การทำงานมีเป้าหมายร่วมกัน โดยไม่ได้ต่างคนต่างทำ การขับเคลื่อนการทำงานผู้สูงอายุของพัฒนานิคม จึงสอดคล้องกับลพบุรีโมเดลในเรื่องของ “Long-term Care และ CKD (Chronic Kidney Diseases) พอได้ดังนั้นแล้วเครือข่ายคนทำงานจึงมานั่งคุยกันว่าจะ “เริ่ม” จากตรงไหน จนท้ายที่สุดจึงได้คำตอบคือ “ฐานข้อมูล” ด้วยเหตุที่มีความซ้ำซ้อนและไม่ตอบโจทย์การส่งรายงานต่อ “หน่วยเหนือ” ตามความต้องการของ “เจ้านาย” แต่ละคน ซึ่งบางทีก็ทำบ้าง ขาดบ้าง นั่งเทียนบ้าง ใช้ผิดใช้ถูกบ้าง และบางครั้งก็มีการถกเถียงกันว่านี่เป็นข้อมูลฉัน นั่นเป็นข้อมูลเธอ อะไรทำนองนั้น การจัดการข้อมูลจังน่าจะเป็น “จุดเชื่อม” ของการมองภาพเดียวกันของคนทำงานทั้งอำเภอ ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงชาวสา’สุข เท่านั้น แต่รวมถึงภาคส่วนอื่นๆ ด้วยโดยเฉพาะ อปท. ที่นำข้อมูลไปวางแผนการพัฒนาต่างๆ ด้วย

ร่วมคิิดกันหลายรอบ

ใครต้องร่วมทีมบ้าง ?

หลังจากได้ประเด็นและทบทวนยุทธศาสตร์แล้ว ทีมสุขภาพอำเภอได้ค้นหา “ตัวจริง” ของการขับเคลื่อนงาน รวมถึงทีมที่จะเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักและเป็นตัวเชื่อมกับองค์กรภาคีเครือข่ายไปในตัว แน่นอนว่างานนี้ พี่ปุ๋ย เจ้าหน้าที่ไอทีของโรงพยาบาลพัฒนานิคม เป็นพระเอก ในฐานะคนทำงานไอทีมากับมืออย่างยาวนาน โดยมี ผอ. เป็นผู้อำนวยการสนับสนุนการขับเคลื่อน สสอ. เป็นแกนนำผู้กำกับการขับเคลื่อน มีทีมจัดการปฐมภูมิอำเภอ (Primary Care Cluster Management) และทีมจัดการปฐมภูมิระดับชุมชน (Community Care Management) เป็นทีมขับเคลื่อน รวมถึงเครือข่ายภาคประชาชนในนามของตัวแทนชมรมผู้สูอายุ กลุ่มภูมิปัญญา เข้ามาร่วมวางแผนและขับเคลื่อนงานร่วมด้วย

ทุนทางสังคมและวัฒนธรรมที่พัฒนานิคมมากมายทีเดียว

ฐานข้อมูลร่วม คือ คำตอบและจุดเริ่มต้น

หลังจากได้โจทย์ร่วม คือ การจัดทำฐานข้อมูล “ทีม” ได้เริ่มวางแผนการจัดการข้อมูล ด้วยการนำฐานข้อมูลต่างๆ ของโรงพยาบาล รพ.สต. และ สสจ. มานั่งดู และขยายวงชวน “เพื่อน” คือ ไอทีของ สสจ. มาช่วยกันดูว่าข้อมูลอะไรที่ “จำเป็น” ข้อมูลอะไรที่ต้อง “ส่ง” ตามตัวชี้วัด ข้อมูลอะไรที่ต้อง “ปรับ” ให้เกิดประโยชน์จริงโดยไม่เพียงส่งๆ ไปเท่านั้น เช่น ในด้านทันตกรรม ทีมได้หารือกับทันตแพทย์และคนทำงานในพื้นที่ว่าเก็บอย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด

พี่ปุ๋ย พระเอกด้านเอที

หลังจากได้ข้อสรุปของหน้าตาฐานข้อมูล แบบฟอร์มที่จะเก็บแล้ว ทีมไอทีได้วางแผนการเก็บข้อมูลทั้งจากกระดาษ และการคีย์ออนไลน์ เพื่อให้ทุ่นเวลาและเหมาะสำหรับผู้ใช้ โดยเฉพาะในการกรอกออนไลน์ พี่ปุ๋ย และทีมได้วางแผนไปถึงการทำแผนที่ GPS ด้วย โดยใช้สมาร์ทโฟนในการ Plot จุด นับว่าเป็นนวตกรรมการเก็บข้อมูลเพื่อนำไปใช้เป็นฐานของการวางแผนโดยใช้บริบทพื้นที่อย่างแท้จริง ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงการวิเคราะห์ข้อมูล และเตรียมการคืนและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับพื้นที่ คนทำงาน และหน่ยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

หน้าตาส่วนหนึ่งของฐานข้อมูลใหม่

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการเล่าคร่าวๆ กับการขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุในอำเภอพัฒนานิคม ซึ่งในรายละเอียดมีความน่าสนใจอีกมากทีเดียว แล้วนำมาเล่าสู่กันฟังเป็นระยะๆ ครับ และจริงๆ อยากให้คนทำงานตัวจริงเป็นผู้เล่าด้วยซึ่งกำลังอยู่ในช่วงการพัฒนาต่อยอดไปเป็น R2R รอติดตามกันต่อไปครับ

หมายเลขบันทึก: 604589เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2016 13:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 เมษายน 2016 13:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ฐานข้อมูลร่วม คือ คำตอบและจุดเริ่มต้น.....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท