Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

การพัฒนาพฤติกรรมทางจริยธรรมของนักเรียนโดยการอ่านหนังสือนิทานธรรมะ ในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อ จังหวัดนครปฐม


แพรภัทร ยอดแก้ว นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง "การพัฒนาพฤติกรรมทางจริยธรรมของนักเรียนโดยการอ่านหนังสือนิทานธรรมะ ในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อ จังหวัดนครปฐม" ในการประชุมสังคมศาสตร์วิชาการระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 12 มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย จ.เชียงราย วันที่ 14 มกราคม 2559

การพัฒนาพฤติกรรมทางจริยธรรมของนักเรียนโดยการอ่านหนังสือนิทานธรรมะ ในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อ จังหวัดนครปฐม

Ethical Behavior Developmentof Studentsby Dhamma Tales Reading in the Buddhist Sunday Center Wat Prong Madua Nakhon Pathom Province

แพรภัทร ยอดแก้ว[1]

Praepatyodkaew

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1. เพื่อสร้างกิจกรรมการอ่านหนังสือนิทานธรรมะของนักเรียนในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อ จังหวัดนครปฐม 2. เพื่อศึกษาความพึงพอใจในกิจกรรมการอ่านหนังสือนิทานธรรมะของนักเรียน และ 3.เพื่อศึกษาระดับพฤติกรรมทางจริยธรรมของนักเรียน โดยการวิจัยนี้เป็นการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงปริมาณผสมผสานกับการวิจัยเชิงคุณภาพโดยใช้วิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ใช้วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง จากนักเรียนในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดโพรงมะเดื่อได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 52 คน เก็บข้อมูลทำโดยใช้แบบสอบถามความพึงพอใจ และแบบสอบถามพฤติกรรมทางจริยธรรม ผลการวิจัย พบว่า

1.กิจกรรมการอ่านนิทานธรรมะเป็นกิจกรรมเชิงบูรณาการที่เน้นกิจกรรมหลัก คือ การอ่านนิทานธรรมะ และกิจกรรมเสริม คือ กิจกรรมการเรียนรู้ธรรมะที่สร้างสรรค์สำหรับนักเรียน

2.นักเรียน มีระดับความพึงพอใจในกิจกรรมอ่านหนังสือนิทานธรรม อยู่ในระดับมาก

3.นักเรียน มีระดับพฤติกรรมทางจริยธรรมโดยรวม อยู่ในระดับดี

คำสำคัญ: ความพึงพอใจ, นิทานธรรม, พฤติกรรมทางจริยธรรม

ABSTRACT

The purposes of this research were: (1) tocreate activities for dhamma tales reading in the Buddhist Sunday Center, Wat Prong Madua, Nakhon Pathom Province; (2) to study students ’s satisfaction towards the dhamma tales reading ; and (3) to study Ethical Behavior level of students in the Buddhist Sunday Center, Wat Prong Madua, Nakhon Pathom Province. This research was quantitative research.Samplingmethod by purposive sampling.The sample group are52students. Data were collected by using 3 sets of questionnaires: demographic data, Satisfaction, and Ethical Behavior of students.

Major findings were as follows :

1. The dhamma tales reading activities are integrated activities.Main activities are dhamma tales reading and extended activities are creative dhamma activities for students.

2. Studentshad dhamma story reading activities satisfaction were at high level.

3. Studentshad Ethical behavior were at high level.

Key words: Satisfaction, Dhamma Tale, Ethical behavior



1Faculty of Humanities and Social SciencesNakhon Pathom Rajabhat University, Thailand.

สรุปผลการวิจัย

จากการวิจัยครั้งนี้ สามารถสรุปผลของการวิจัย ได้ดังนี้

ส่วนที่ 1 กิจกรรมการอ่านหนังสือนิทานธรรมะของนักเรียนในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อ จังหวัดนครปฐม

กิจกรรมการอ่านนิทานธรรมะที่สร้างขึ้น เป็นกิจกรรมที่จะช่วยให้นักเรียนสนใจ มีแรงจูงใจในการอ่านหนังสือธรรมะ นักเรียนได้อ่านหนังสืออย่างมีความสุข ความสนุกสนานเพลิดเพลิน และส่งเสริมการพัฒนาพฤติกรรมทางจริยธรรม มีลักษณะเป็นกิจกรรมเชิงบูรณาการ ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก และกิจกรรมเสริม ดังนี้

1. กิจกรรมหลัก คือ กิจกรรมที่เน้นการอ่านนิทานธรรมะเช่นการอ่านนิทานชาดกการอ่านนิทานธรรมะทั่วไป การอ่านนิทานท้องถิ่น ฯลฯ

2. กิจกรรมเสริม ผู้วิจัยจัดกิจกรรมการเรียนรู้ธรรมะที่สร้างสรรค์สำหรับนักเรียน จำนวน 7 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมการเล่านิทานธรรมะจากการอ่านกิจกรรมเสียงธรรมตามสายในชุมชน กิจกรรมสมุดบันทึกความดีจากคติธรรมในนิทานกิจกรรมโต้วาทีนิทานธรรมะกิจกรรมตอบปัญหาธรรมะจากนิทานธรรมะ กิจกรรมละครธรรม และการประกวดการเล่านิทานธรรมะ

ผู้วิจัยและพระสงฆ์ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ โดยจัดกิจกรรมทุกวันอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง อาทิตย์ละ 2 ชั่วโมง มีรูปแบบกิจกรรมแบ่งเป็น 4 ขั้นตอน คือ ขั้นเสวนาน่ารู้ขั้นอ่านและเรียนรู้นิทานธรรม ขั้นสร้างสรรค์ความคิด และขั้นสรุปและนำเสนอ

จากผลการจัดกิจกรรม มีข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนี้

1. ควรมีการจัดห้องสมุดธรรมะสำหรับให้นักเรียนศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อ จังหวัดนครปฐม ได้ศึกษาค้นคว้า และยืมหนังสือธรรมะกลับไปอ่านที่บ้าน

2.ควรจัดสิ่งแวดล้อมในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อ ให้เอื้อต่อการเรียนรู้สำหรับนักเรียน เพื่อให้นักเรียนได้เข้าสู่บรรยากาศของการอ่านและได้ใกล้ชิดกับหนังสือธรรมะมากยิ่งขึ้น

3. ควรมีการจัดนิทรรศการหนังสือธรรมในโอกาสต่างๆ เช่น นิทรรศการวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนสนใจอ่านหนังสือสม่ำเสมอ

4. ควรขอความร่วมมือจากพ่อแม่ ผู้ปกครองให้ส่งเสริมการอ่านนิทานธรรมะของนักเรียน เพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่านและปลูกฝังพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นไปอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

5. วัด ชุมชนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านและการดำเนินงานห้องสมุดธรรมะอย่างต่อเนื่อง

ส่วนที่ 2 ความพึงพอใจในกิจกรรมการอ่านหนังสือนิทานธรรมของนักเรียนในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อ จังหวัดนครปฐม

จากการศึกษาความพึงพอใจในกิจกรรมการอ่านหนังสือนิทานธรรมะมีผลสรุป ดังนี้

1. ปัจจัยส่วนบุคคล

พบว่านักเรียนในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อ จังหวัดนครปฐม ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงมีจำนวน31 คน คิดเป็นร้อยละ 59.6 มีอายุมากกว่า 12 ปีมีจำนวน 27 คน คิดเป็นร้อยละ 51.9ระดับการศึกษา ป.6มีจำนวน 27 คน คิดเป็นร้อยละ 51.9 และศึกษาในโรงเรียนวัดหุบรัก จำนวน 35คน คิดเป็นร้อยละ 67.3

2. ความพึงพอใจในกิจกรรมส่งเสริมอ่านหนังสือนิทานธรรม

พบว่านักเรียนในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อ มีระดับความพึงพอใจในกิจกรรมส่งเสริมการอ่านหนังสือนิทานธรรม อยู่ในระดับมาก(×̅ = 4.47)จำนวน 45 คน คิดเป็นร้อยละ 86.5

ส่วนที่ 3 พฤติกรรมทางจริยธรรมของนักเรียนในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อ จังหวัดนครปฐม

จากการศึกษาพฤติกรรมทางจริยธรรมของนักเรียนในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ที่เข้าร่วมกิจกรรมการอ่านนิทานธรรมะ พบว่านักเรียนในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อ มีระดับพฤติกรรมทางจริยธรรมโดยรวม อยู่ในระดับดี (×̅ = 4.19) จำนวน 40 คน คิดเป็นร้อยละ 76.9 และเมื่อแยกพิจารณาในแต่ละด้าน พบว่าด้านธัมมัสสวนะ (×̅ = 4.55) ด้านเวยยาวัจจะ (×̅ = 4.43)ด้านธัมมเทสนา (×̅ = 4.42)ด้านอนุโมทนา (×̅ = 4.38) ด้านอปจายนะ (×̅ = 4.28) ด้านทิฏฐุชุกัมม์ (×̅ = 4.27) ด้านปัตติทาน (×̅ = 4.12)ด้านทาน (×̅ = 3.99)ด้านศีล (×̅ = 3.79) และ ด้านภาวนา (×̅ = 3.74) มีระดับพฤติกรรมทางจริยธรรมอยู่ในระดับดี


การอภิปรายผลการวิจัย

จากสรุปผลการวิจัยข้างต้นนี้ สามารถอภิปรายผลการวิจัย ได้ดังนี้

1.กิจกรรมการอ่านนิทานธรรมะที่สร้างขึ้น โดยมีกิจกรรมหลักและกิจกรรมเสริมนั้น มีรูปแบบกิจกรรมแบ่งเป็น 4 ขั้นตอน คือ ขั้นเสวนาน่ารู้ขั้นอ่านและเรียนรู้นิทานธรรม ขั้นสร้างสรรค์ความคิด และขั้นสรุปและนำเสนอ สอดคล้องกับญาณภัทร ยอดแก้ว (2557) ที่ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง การพัฒนานวัตกรรมการสอนธรรมศึกษาในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อ จังหวัดนครปฐม ซึ่งในรูปแบบการจัดการเรียนรู้นั้นได้ประยุกต์จากหลักวุฒิธรรม 4 ประการมาเป็น 4 ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ คือ ขั้นเสวนาผู้รู้ ขั้นฟังดูคำสอน ขั้นสร้างสรรค์ความคิด และขั้นสรุปและนำเสนอ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาปัญญาตามแนวพุทธ

2.ผลการศึกษาความพึงพอใจในกิจกรรมการอ่านหนังสือนิทานธรรมะซึ่งมีผลสรุปความพึงพอใจในระดับมาก แสดงให้เห็นว่าการสอนธรรมะผ่านนิทาน เป็นกิจกรรมที่ได้รับความสนใจและเป็นที่พึงพอใจของนักเรียน ประกอบกับนักเรียนที่มาศึกษาในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์โดยมากมีทัศนคติที่ดีต่อศูนย์เป็นทุนเดิม รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ อยู่ด้วยแล้ว สอดคล้องกับงานวิจัยของแพรภัทรยอดแก้ว (2557) เรื่องความพึงพอใจของเยาวชนท้องถิ่นที่มีต่อศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดโพรงมะเดื่อจังหวัดนครปฐม ผลการวิจัยพบว่า เยาวชนท้องถิ่นที่เข้าเรียนในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อ ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากทุกด้าน ได้แก่ ด้านพระอาจารย์ผู้สอน ด้านวิชาการ ด้านอาหารกลางวัน ด้านอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อม

3.ผลการศึกษาพฤติกรรมทางจริยธรรมของนักเรียนในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ที่เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งพบว่า ส่วนมากมีพฤติกรรมทางจริยธรรมในระดับดี ซึ่งอาจเป็นผลจากปัจจัยหลายๆ ด้าน รวมทั้งการจัดการเรียนรู้ของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์โดยเฉพาะกิจกรรมการอ่านนิทานธรรมะและกิจกรรมเสริมต่างๆ ด้วยสอดคล้องกับงานวิจัยของแพรภัทรยอดแก้ว (2556) ศึกษาเรื่อง การพัฒนาพฤติกรรมทางจริยธรรมของนักศึกษาโปรแกรมสังคมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ด้วยโครงการเพิ่มพลังการศึกษาด้วยหนังสือธรรมะของพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ผลการวิจัยพบว่า นักศึกษาโปรแกรมสังคมศึกษา ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจโดยรวมอยู่ในระดับดี มีพฤติกรรมทางจริยธรรม อยู่ในระดับสูงและพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างความพึงพอใจต่อการอ่านหนังสือธรรมะ กับพฤติกรรมทางจริยธรรม มีความสัมพันธ์กันทางบวก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .01

รวมทั้ง สอดคล้องกับงานวิจัยของญาณภัทรยอดแก้วและแพรภัทร ยอดแก้ว (2557) ศึกษาเรื่องคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามหลักบุญกิริยาวัตถุ 10 และพฤติกรรมทางจริยธรรมของนักเรียนในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อ จังหวัดนครปฐม ผลการวิจัยพบว่า 1) คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ตามหลักบุญกิริยาวัตถุ 10 ได้แก่ 1.ทานมัย (รู้จักให้) 2.สีลมัย (มีวินัย) 3.ภาวนามัย (ใจสะอาด) 4.อปจายนมัย (มารยาทดี) 5.ไวยยาวัจมัย (มีจิตสาธารณะ) 6.ปัตติทานมัย (เสียสละเพื่อผู้อื่น) 7.ปัตตานุโมทนามัย (ชื่นชมความดี) 8.ธัมมัสสวนมัย (ใฝ่รู้สิ่งไม่มีโทษ) 9.ธัมมเทสนามัย (ชี้นำคุณประโยชน์) 10.ทิฏฐุชุกัมม์ (เชื่อกฎแห่งกรรม) 2) นักเรียนในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ มีพฤติกรรมทางจริยธรรมอยู่ในระดับดี

เอกสารอ้างอิง

แพรภัทร ยอดแก้ว นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง "การพัฒนาพฤติกรรมทางจริยธรรมของนักเรียนโดยการอ่านหนังสือนิทานธรรมะ ในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพรงมะเดื่อ จังหวัดนครปฐม" ในการประชุมสังคมศาสตร์วิชาการระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 12 มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย จ.เชียงราย วันที่ 14 มกราคม 2559 ..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/user/praepat/profile


หมายเลขบันทึก: 604520เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2016 12:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 เมษายน 2016 12:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท