พลังการเรียนรู้ สร้างสรรค์ สู่การเปลี่ยนแปลง "ผู้ใหญ่ย้ำคิดย้ำทำ" สู่การฟื้นคืนสุขภาวะทางสังคมไทย


สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านทุกท่าน ดิฉันเป็นนักศึกษากิจกรรมบำบัดชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันนี้ ดิฉันจะมาพูดถึง พลังการเรียนรู้ สร้างสรรค์ สู่การเปลี่ยนแปลง "ผู้ใหญ่ย้ำคิดย้ำทำ" สู่การฟื้นคืนสุขภาวะทางสังคมไทย ก่อนอื่นเรามารู้จักกับโรคย้ำคิดย้ำทำในผู้ใหญ่กันก่อนดีกว่าค่ะ

โรคย้ำคิดย้ำทำ มีลักษณะสำคัญ 2 ประการ ได้แก่

อาการย้ำคิด (obsessive) : การมีความคิดหรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นเองซ้ำๆ โดยไร้เหตุผล ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลใจ ความไม่สบายใจอย่างมาก และผู้รับบริการรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ตนไม่สบายใจ (ego-dystonic) เช่น คิดซ้ำๆ ว่าจะทำร้ายหรือทำสิ่งไม่ดีกับคนที่ตนรัก คิดซ้ำๆ ว่าลบหลู่หรือด่าว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คิดซ้ำๆ ว่าลืมปิดแก๊สหรือลืมล็อกประตู เป็นต้น โดยผู้รับบริการเองก็ไม่เข้าใจว่าเหตุจึงเกิดความคิดเช่นนั้น

อาการย้ำทำ (Compulsive) : การกระทำอย่างมีเป้าหมายชัดเจนซ้ำๆ เพื่อป้องกันหรือช่วยลดความไม่สบายใจจากความย้ำคิดข้างต้นและเป็นการกระทำที่ไร้เหตุผล เช่น เช็คลูกบิดประตูหรือวาล์วแก๊สซ้ำๆ เพื่อให้แน่ใจว่าปิดเรียบร้อยแล้ว ล้างมือซ้ำ เพราะคิดว่ามือสกปรก เป็นต้น

ความชุกตลอดชีพของโรค OCD อยู่ที่ร้อยละ 1-3 พบในหญิง : ชาย ในอัตรา 1:1ประมาณสองในสามของผู้รับบริการเริ่มมีอาการก่อนอายุ 25 ปี อายุเฉลี่ยเมื่อเริ่มมีอาการ 20-22 ปี อาการมักเรื้อรัง โดยมากจะมีอาการมากเป็นช่วงๆหลังจากเกิดประสบความเครียด เช่น ตั้งครรภ์ มีปัญหาเรื่องเพศหรือสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก

โดยมีเกณฑ์การวินิจฉัย ดังนี้

A. ต้องมีอาการย้ำคิด (obsession) หรือ ย้ำทำ (compulsion) หรือทั้งสองอย่าง

B. อาการย้ำคิดหรืออาการย้ำทำให้ผู้รับบริการเสียเวลา

C. อาการย้ำคิดย้ำทำไม่ได้เป็นจากผลของยาหรือสารเสพติดหรือโรคทางกาย

D. หากมีการวินิจฉัยโรคจิตเวชอื่นอยู่แล้ว อาการย้ำคิดย้ำทำที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นอาการของโรคจิตเวชนั้น

หมายเหตุ ผู้รับบริการอาจตระหนักรู้ว่าความเชื่อและอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำดังกล่าวนั้นเหมาะสมหรือตรงกับโลกแห่งความเป็นจริงหรือไม่ก็ได้

สาเหตุของการเกิดโรคย้ำคิดย้ำทำ

1. ปัจจัยด้านจิตใจ ทฤษฎีจิตวิเคราะห์มองว่าอาการเกิดจากการที่ผู้รับบริการใช้กลไกทางจิตเพื่อจัดการกับความขัดแย้งในระดับจิตไร้สำนึก โดยกลไกทางจิตที่ใช้ ได้แก่ isolation และ undoing

  • isolation : พฤติกรรมการแยกตัวจากสังคม
  • undoing : การแสดงพฤติกรรมออกมาเพื่อชดเชยการกระทำที่ตัวเองไม่พอใจ

2. ปัจจัยด้านชีวภาพ พบว่าในผู้รับบริการโรคย้ำคิดย้ำทำ มีความผิดปกติของ serotonin metabolites ใน CSF และสมองส่วน frontal lobe, caudate และ cingulum มีการทำงานเพิ่มมากกว่าปกติ พบว่าพันธุกรรมอาจมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

ผู้ที่มีอาการย้ำคิดย้ำทำ จะมีพฤติกรรมซ้ำๆ ที่ส่งผลต่อกิจกรรมการดำเนินชีวิต (ADL , IADL) เช่น การล้างมือ การจัดระเบียบ การตรวจเช็ค หรือการคิดซ้ำในใจ เช่น การสวดมนตร์ การนับ การทวนคำซ้ำๆในใจ และ อาการย้ำคิดย้ำทำ ทำให้ผู้รับบริการเสียเวลา เช่น ย้ำคิดและย้ำทำมากกว่า 1 ชม./วัน จะส่งผลต่อการทำหน้าที่ในชีวิตประจำวัน เช่น ด้านอาชีพ (Work) การเรียน(Education) การเข้าสังคม (Social participation)

การประเมินทางกิจกรรมบำบัดตาม PEOP Model

Person

  • ใช้แบบประเมิน Allen cognitive level scale (ACLs), Routine task inventory (RTI) เพื่อใช้ดูระดับ Cognitive ของผู้รับบริการ
  • ใช้ Assessment of motor and process skills (AMPS) เพื่อประเมินทักษะด้านกระบวนการและการเคลื่อนไหว
  • ใช้ Stress management questionnaire (SMQ) เพื่อประเมินวิธีการจัดการความเครียด
  • ใช้ Role checklist เพื่อหาบทบาทในตัวเองของผู้รับบริการ

Environment

ใช้ Safer tool และแบบประเมินสภาพบ้านเพื่อดูว่า สิ่งแวดล้อมที่บ้านสิ่งใดเป็นสิ่งสนับสนุน หรือสิ่งขัดขวางในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต

Occupation :

  • ใช้ FIM/FAM ประเมินเพื่อดูความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน
  • ใช้ Interest checklist เพื่อประเมินดูกิจกรรมที่ผู้รับบริการสนใจ

Performance

  • ใช้ Group Dynamics based Recovery Model Assessment (GDRM) เพื่อประเมินรูปแบบพลังชีวิตของกลุ่มกิจกรรมพลวัติ ดูความสามารถที่เพิ่มขึ้นของผู้รับบริการ
  • ใช้ Role checklist เพื่อหาบทบาทในตัวเองของผู้รับบริการ

ต่อไปจะเป็นการวิเคราะห์ โรคย้ำคิดย้ำทำ โดยใช้ PEOP Model

จากตารางการที่บุคคลจะมีแรงจูงใจได้จะต้องมีความสัมพันธ์ระหว่าง P+E ที่ดี คือ การที่ตัวผู้รับบริการอยากทำกิจกรรม รวมกับการที่มีสิ่งแวดล้อมทั้งทางกายภาพ และทางสังคมเป็นสิ่งที่มาสนับสนุน เช่น ครอบครัว และเพื่อน คอยให้กำลังใจ จะส่งผลให้ผู้รับบริการมีแรงจูงใจในการทำกิจกรรมเพิ่มมากขึ้น และเมื่อผู้รับบริการมีแรงจูงใจในการทำกิจกรรมแล้ว ผู้บำบัดได้ให้กิจกรรมการบำบัด เช่น การทำกิจกรรมกลุ่ม เพื่อส่งเสริมความสามารถ (Ability)ของผู้รับบริการให้เพิ่มมากขึ้น

จากตารางข้างต้นนั้นจะกล่าวถึงกระบวนการออกแบบโปรแกรมการรักษาโดยใช้ 5 สื่อทางกิจกรรมบำบัด โดยในผู้ป่วย OCD จะมี Cognitive levels แล้วแต่ระดับความรุนแรงของโรค ซึ่งในผู้รับบริการที่มี

Cognitive levels 2-3 ควรจัดกิจกรรมกลุ่มแบบ กลุ่มคู่ขนาน แล้วค่อยปรับเป็น กลุ่มผลงาน

ดิฉันจะยกตัวอย่างกิจกรรมกลุ่มเพื่อนำไปบำบัดฟื้นฟูกับผู้รับบริการได้ ได้แก่ กิจกรรมกลุ่มการร้องเพลง หรือให้เต้นแสดงท่าทางตามผู้นำกลุ่ม หรืออาจจะให้ผู้นำกลุ่มชวนสมาชิกในกลุ่มให้ออกมาเป็นผู้นำเต้นแทน เปลี่ยนคนไปเรื่อยๆ กิจกรรมนี้ จะกระตุ้นให้ผู้รับบริการได้เคลื่อนไหวร่างกาย และส่งเสริมให้ผู้รับบริการมีความมั่นใจมากขึ้น ในการนำท่าทางการเต้น

Cognitive levels 4-6 ควรจัดกิจกรรมกลุ่มแบบ กลุ่มผลงาน กลุ่มช่วยกันคิดช่วยกันทำ หรือ กลุ่มอารมณ์ร่วมใจ

ในกลุ่มนี้ซึ่งมีระดับCognitive ที่สูงกว่าในกลุ่มแรก ดิฉันจะยกตัวอย่างกิจกรรมกลุ่มเพื่อนำไปบำบัดฟื้นฟูกับผู้รับบริการได้ ได้แก่

กิจกรรมการแสดงบทบาทสมมติ (Role play) โดยผู้บำบัดเป็นผู้ให้โจทย์ในแต่ละกลุ่ม แล้วให้สมาชิกในกลุ่มร่วมกันคิดแสดงละครออกมา ให้สมบทบาทตรงกับโจทย์ที่ผู้บำบัดให้ ตัวอย่างโจทย์ที่ให้ นิทานอีสปเรื่องราชสีห์กับหนู และอีกกลุ่มอาจจะได้โจทย์ นิทานอีสปเรื่องเทวดากับคนตัดฟืน เมื่อแสดงเสร็จแล้วก็ให้สมาชิกในกลุ่มช่วยกันคิดช่วยกันตอบว่าได้ข้อคิดอะไรจากเรื่องที่แสดงไปบ้าง และสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้อย่างไร กิจกรรมนี้จะช่วยกระตุ้นให้ผู้รับบริการได้ฝึกทักษะการวางแผน การแก้ไขปัญหา การทำงานเป็นกลุ่ม และยังช่วยเพิ่มทักษะทางสังคมให้กับผู้รับบริการด้วย

ท่านผู้อ่านเห็นมั้ยคะว่าโรคย้ำคิดย้ำทำสามารถที่จะควบคุมและฟื้นฟูให้หายได้ โดยวิธีที่ดิฉันนำเสนอไปก็เป็นเพียงหนึ่งวิธีการในการบำบัดฟื้นฟู แต่ยังมีอีกหลายวิธีที่จะช่วยให้กลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิมได้ ร่วมกับการทานยา หวังว่าข้อมูลข้างต้นจะช่วยให้ผู้อ่านได้รับความรู้ไม่มากก็น้อยนะคะ ถ้ามีผิดพลาดประการใด ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

ขอบคุณค่ะ

Reference

กลุ่มงานสุขภาพจิตและจิตเวชชุมชน โรงพยาบาลจิตเวชสระแก้วราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต.โรคย้ำคิดย้ำทำ [Internet].2555[เข้าถึงเมื่อ 4 มีนาคม 2559].เข้าถึงได้จาก http://www.dmhweb.dmh.go.th/jvsk/cpsy2/Diag12.htm

นันทวัช สิทธิรักษ์. จิตเวช ศิริราช DSM-5.กรุงเทพฯ:ประยูรสาส์นไทย การพิมพ์;2558.

อ.ดร.ศุภลักษณ์ เข็มทอง,องอาจ เชียงแขก,ปัณฑิตา จักรโนวรรณ,อินทิรา อะตะมะ ,อำพร โปสจา. การพัฒนาแบบประเมินทางกิจกรรมบำบัดด้านสุขภาพจิตและจิตเวช.นนทบุรี:สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต;2555.



คำสำคัญ (Tags):
หมายเลขบันทึก: 603348เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2016 22:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มีนาคม 2016 23:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท