สร้างการเรียนรู้ที่มีประสิทธิผล ด้วย Cone of Experience


สร้างการเรียนรู้ที่มีประสิทธิผล ด้วย Cone of Experience


เราเคยเรียนรู้ผ่านวิธีการไหนมาบ้าง วิธีการไหนที่เราจดจำ หรือได้เรียนรู้มากที่สุด...


เมื่อปี ค.ศ.๑๙๖๙ หรือเมื่อกว่า ๔๐ ปีที่แล้ว ดร.เอ็ดก้า เดล (Edgar Dale) นักการศึกษาชาวอเมริกัน ผู้รับการขนานนามว่าเป็น “บิดาแห่งสื่อการสอนสมัยใหม่” ได้ศึกษาและนำเสนอความคิดเกี่ยวกับวิธีการเรียนรู้ และการจดจำของมนุษย์ ซึ่งกลายเป็นพื้นฐานและแนวทางสำคัญที่ภาคการศึกษาและภาคเอกชนนำไปใช้กันอย่างหลากหลายมาจนถึงทุกวันนี้ แนวคิดนี้ถูกเรียกว่า Cone of Experience หรือ Learning Pyramid

ดร.เอ็ดก้า เคยเป็นครูสอนระดับประถมศึกษา มีความสนใจด้านการใช้สื่อ จึงได้มีโอกาสทำงานที่บริษัท อีสแมนโกดัก หรือที่เราเรียกสั้นๆว่า โกดัก และนั่นจึงเป็นที่มาที่ทำให้ ดร.เอ็ดก้า มีผลงานด้านการใช้สื่อเพื่อการศึกษาและพฤติกรรมจำนวนมาก

ดร.เอ็ดก้า ได้แบ่งรูปแบบการเรียนรู้ของมนุษย์เป็น ๒ กลุ่มใหญ่ คือ รูปแบบการเรียนรู้แบบดั้งเดิม (Traditional Passive) เป็นการเรียนรู้แบบธรรมเนียมนิยมที่ทำกันมานาน มองผู้เรียนแบบผู้รับสาร และรูปแบบที่สอง คือ รูปแบบการเรียนรู้แบบรวมหมู่ (Teaming Active) มุ่งเน้นการเรียนรู้ที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ใช้ตัวผู้เรียนเข้าไปมีสัมพันธ์กับสิ่งที่เรียนรู้อย่างลึกซึ้ง รูปแบบนี้มีฐานความคิดที่แตกต่างจากรูปแบบแรก คือ เชื่อว่าทุกคนมีความรู้ ถ่ายทอด และสร้างความรู้ด้วยตนเองได้



ดร.เอ็ดก้า ระบุว่า การเรียนรู้แบบดั้งเดิมมีปัญหาสำคัญคือ ผู้เรียนจดจำได้น้อยเพราะเรียนรู้น้อย วิธีการที่ได้ผลน้อยที่สุด คือ การบรรยาย และการอ่าน แม้แต่การฟังสื่อหรือชมวิดีทัศน์ ก็ยังสร้างการจำจดและเรียนรู้ได้น้อยไม่แต่งกันมากนัก วิธีการที่ดูเหมือนจะได้ผลมากขึ้นมา คือ การสาธิต ซึ่งเราจะเห็นว่ามีสินค้าจำนวนมากใช้การโฆษณาจูงใจด้วยการสาธิตให้เราชมทั้งผ่านหน้าจอโทรทัศน์ ที่เห็นบ่อยก็คือ TV Direct รวมถึงการออกบูธสาธิตสินค้าตามงานอีเว้นท์ต่างๆ ซึ่งสามารถจูงใจให้ผู้บริโภคตัดสินใจทดลองใช้และซื้อสินค้า

อย่างไรก็ตาม อีกวิธีการหนึ่งที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่เกิดประสิทธิผลมากกว่า ดร.เอ็ดก้า เรียกแนวทางนี้ว่า Teaming Active หรือ Team-Active Learning นับเป็นวิธีการที่สามารถสร้างการเรียนรู้และจดจำให้กับผู้เรียนรู้ได้มากกว่า ๕๐% คือ การสนทนากลุ่ม การฝึกปฏิบัติ การนำไปใช้ทันที และการนำไปสอนผู้อื่น ตามลำดับ

ดังนั้น เมื่อเราได้มีโอกาสเป็นผู้สอน ผู้ถ่ายทอด หรือผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ คำถามสำคัญจึงย้อนกลับมาว่าเราจะใช้ Cone of Experience เป็นหลักในการคิด ออกแบบ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิผลสูงสุดได้อย่างไร


“...ฉันเห็น ฉันหลงลืม, ฉันฟัง ฉันจำได้, ฉันทำ ฉันจึงเข้าใจ...”
ขงจื้อ



พีธากร ศรีบุตรวงษ์
๒๘/๒/๕๙

หมายเลขบันทึก: 602484เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2016 11:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2016 11:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท