การมีส่วนร่วม(ฟัง)


"พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง"

          วันก่อนผมได้ไปร่วมประชุมคณะทำงานประเมินวิสาหกิจชุมชนของจังหวัด  ซึ่งมีคณะทำงานจากหลายหน่วยงาน ผมไปในฐานะเจ้าหน้าที่สนับสนุนการปฏิบัติงาน  เพราะสำนักงานเกษตรจังหวัดเป็นเลขาคณะทำงาน

          ไม่ได้มาเล่าว่างานเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่ผมจะเล่าคงเป็นสิ่งที่ผมได้เรียนรู้และนำเครื่องมือKM ไปปรับใช้ในครั้งนี้  นั่นก็คือการ "นิ่งฟังอย่างตั้งใจ" ครับ  การฟังอย่างลึกหรือการฟังอย่างมีความตั้งใจนั้น  ก่อเกิดประโยชน์ให้แก่ตัวเองในหลายๆ ประเด็นคือ

  • ได้ยิน และมองเห็นประเด็นที่จะต้องนำมาปรับปรุงการทำงาน (การประเมิน) จากข้อเสนอแนะจากผู้ร่วมประชุม
  • เรียนรู้ และเข้าใจในความปรารถนาดีของทุกคน 
  • เป็นการฝึกตนเองให้มีความอดทน (ฟัง)
  • เห็นความแตกต่างของความคิดและการสื่อออกมา  แตทุกคนล้วนต้องการให้งานออกมาดีที่สุด
  • เกิดแนวทางการทำงานแบบมีส่วนร่วม เพราะเมื่อได้ร่วมกันคิดและเสนอแนะวิธีการทำงาน  ก็จะต้องมีข้อตกลงอันจะนำไปสู่การปฏิบัติร่วมกันต่อไปได้
  • ฯลฯ

          หลังจากเสร็จจากการประชุม ผมได้คุยกับเจ้าหน้าที่ที่ไปด้วยกัน และชมเขาว่า เขาก็นิ่งฟังได้ดี จึงถึงบางอ้อว่า ที่นิ่งก็เพื่อที่จะให้คนอื่นได้ร่วมแสดงความคิดเห็นมากๆ และจะได้มาร่วมกันปฏิบัติงานนี้ให้สำเร็จลุล่วงไปให้ดีที่สุด  ก็เป็นอันว่าวิธีการดังภาษิตของคนโราณที่ว่า "พูดไปสองไพเบี้ย  นิ่งเสียตำลึงทอง"  ที่มีความหมายใกล้เคียงกับการ "ฟังอย่างลึก" ของ KM นับว่าใช้ได้ผลดีมากนะครับ(ในบางโอกาส) ไม่เชื่อท่านก็ลองนำไปใช้ดูเองก็แล้วกัน 

         แต่สิ่งที่คนไปร่วมประชุมอย่างผมไม่ได้แสดงบทบาทก็คือ ผมไม่พูดเลยในการประชุมครั้งนี้   แต่ผมกลับคิดว่าผมได้มีส่วนร่วม (คือร่วมฟัง) และได้ประโยชน์ต่องานและการฝึกฝนตนเองมากกว่าการประชุมทุกๆ ครั้งเสียอีก เพราะเข้าใจและมองเห็นการพัฒนางานชัดเจนมากขึ้น

บันทึกมาเพื่อการ ลปรร. ครับ

วีรยุทธ  สมป่าสัก

หมายเลขบันทึก: 60149เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2006 09:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • ผมมีการประชุมสำนักงานอยู่บ่อย ๆ เวลาประเมินการมีส่วนร่วม มักจะพิจารณาจากผู้ที่ร่วมแสดงความคิดเห็น สำหรับผู้ที่ไม่แสดงความคิดเห็นอะไรเลยมานั่งฟังเพียงอย่างเดียว
    มักจะถูกมองว่าไม่มีส่วนร่วม แต่อ่านบันทึกนี้ของคุณวีรยุทธ ทำให้ผมนึกคิดมาได้ว่า การนั่งฟังอย่างตั้งใจในสิ่งที่พูด ถือว่าเป็นผู้มีส่วนร่วมจริง ๆ ครับ

 

เรียน คุณบอย สหเวช

  • หากกิจกรรมจบลงหรือสิ้นสุด ณ การเลิกประชุม การไม่แสดงความคิดเห็น ก็คงเป็นเหมือนที่คุณบอยเขียนไว้คือ "ขาดการมีส่วนร่วม" หรืออีกมุมมองหนึ่งก็คือ "มีความเห็นไม่แตกต่างจากที่ประชุม"
  • แต่งานนี้บังเอิญว่างานยังไม่สิ้นสุดครับ  การนิ่งฟังกลับส่งผลให้คนอื่นได้พูดมากขึ้น กล้านำเสนอมากขึ้น และที่สำคัญเราเรียนรู้ว่าจะต้องกลับไปทำอะไรเพิ่มขึ้นอีกมาก
  • ขอบพระคุณมากครับที่แวะมาเยี่ยมเยียน

เรียน น้องสิงห์ป่าสัก

         ในกรอบข้อความสำคัญ พูดไปสองไพรเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง ที่ถูกน่าจะพูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง กรุณาตรวจสอบอีกครั้ง ..ขอบคุณที่จุดประกายให้เห็นความสำคัญของการฟังอย่างลึกซึ้ง
 

       
 

ตามครูนงมาค่ะ....ล้อเล่นมาเองค่ะ....ฟังมากๆ เดี๋ยวหลับค่ะ ต้องพูดบ้าง.....เห็นด้วยค่ะกับ

  • ได้ยิน และมองเห็นประเด็นที่จะต้องนำมาปรับปรุงการทำงาน (การประเมิน) จากข้อเสนอแนะจากผู้ร่วมประชุม
  • เรียนรู้ และเข้าใจในความปรารถนาดีของทุกคน 
  • เป็นการฝึกตนเองให้มีความอดทน (ฟัง)
  • เห็นความแตกต่างของความคิดและการสื่อออกมา  แตทุกคนล้วนต้องการให้งานออกมาดีที่สุด
  • เกิดแนวทางการทำงานแบบมีส่วนร่วม เพราะเมื่อได้ร่วมกันคิดและเสนอแนะวิธีการทำงาน  ก็จะต้องมีข้อตกลงอันจะนำไปสู่การปฏิบัติร่วมกันต่อไปได้
  • ฯลฯ

     แต่หากการประชุมไหนมีแต่คนตั้งใจฟังมาก ก็กร่อยได้เหมือนกันนะคะ

เรียน ครูนงเมืองคอน

     แก้ไขแล้วครับ ขอบพระคุณมากครับ

เรียน พี่เมตตา

      ขอบพระคุณมากครับที่แวะมาเยี่ยมเยียน และร่วมแจม

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท