ทฤษฎีฐานความรู้ขององค์การ​​


ทฤษฎีฐานความรู้ขององค์การ (Knowledge-Based Theory--KBT) และมุมมองการจัดการฐานความรู้ (Knowledge-Based View--KBV) มีการพัฒนาและวิวัฒนาการไปเป็นทฤษฎีมุมมองด้านพื้นฐานด้านทรัพยากร (Resource-Based View--RBV) จนเกิดเป็นการจัดกาiเชิงกลยุทธ์ด้านความรู้ภายในองค์การ โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การประยุกต์ ใช้ความรู้และทักษะด้านทรัพยากรที่มีอยู่ภายในองค์การ เพื่อการผลิตสินค้าและบริการที่ทำให้องค์การสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันจากความสามารถในการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ และกระบวนการหรือปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่ให้มากขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ (Grant, 1996, pp. 109-113; 2001, pp. 114-118; Theriou, Aggelidis, & Theriou, 2009, pp. 177-181)

KBT เป็นทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อให้สามารถแยกความแตกต่าง และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันภายในอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยมีองค์ประกอบสำคัญ คือ สร้างกระบวนการจัดการความรู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับมนุษย์ ซึ่งทำให้เกิดทรัพยากรที่เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต และส่งผลต่อความแตกต่างของสินทรัพย์ หรือผลการดำเนินงานระหว่างองค์การ ซึ่งขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถในการใช้และพัฒนาความรู้ภายในองค์การ เพื่อสร้างการถ่ายทอดความรู้และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันจากสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากกระแสโลกาภิวัตน์และเทคโนโลยี (Curado & Bontis, 2006, pp. 367-371)

KBV เป็นการจัดเก็บองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อองค์การและความรู้นั้นสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน จากการทำงานที่เป็นเลิศ (best practices) บทเรียนจากประสบการณ์การเรียนรู้ที่ผ่านมาในอดีต (lesson learned) รวมทั้งแนวทางการแก้ปัญหา (solution-bases) หรือกรณีปัญหา (case-bases) โดยเก็บไว้ไว้ในระบบฐานความรู้เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถค้นหา และใช้ความรู้ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology--ICT) ได้อย่างดี

RBV มีพื้นฐานมาจากแนวคิดที่เรียกว่า Endogenous Growth หรือ “การเติบโตขององค์กรนั้น จะต้องมาจากการจัดการเชิงกลยุทธ์ในด้านทรัพยากรของผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน” โดยผู้ประกอบการควรมองหาโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ต้องเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน และนำมาซึ่งความสามารถในการแข่งขันทรัพยากรและความสามารถหลักขององค์การ เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แบ่งออกเป็น ทรัพยากรที่มีตัวตน เช่น อุปกรณ์วัตถุดิบ เป็นต้น ส่วนทรัพยากรที่ไม่มีตัวตน ซึ่งเป็นทรัพย์สินทางความรู้ที่สำคัญและสร้างมูลค่าให้กิจการ เช่น ทักษะ ความรู้ เป็นต้น (Akio, 2005, pp. 125-129; Gagnon, 1999, pp. 125-129; Wernerfelt, 1984, pp. 171-175)

RBV เป็นทฤษฎีที่ให้ความสำคัญหรือมุ่งเน้นที่ทรัพยากร (resources)และความสามารถในการจัดการกับทรัพยากร (capabilities) ภายในองค์การ ที่ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้องค์การมีประสิทธิภาพในการสร้างความได้เปรียบของการแข่งขันในยุคสังคมเศรษฐกิจ ฐานความรู้ที่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับบุคคล องค์การ และระดับโลก ซึ่งมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและข้อมูลสารสนเทศ องค์การจึงต้องเรียนรู้ความสัมพันธ์ในการทำงานให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วกว่าคู่แข่ง โดยการพิจารณาทรัพยากรภายในองค์การที่ถือเป็นจุดอ่อนหรือจุดแข็ง และใช้ทรัพยากรที่เป็นจุดแข็ง ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงและความต้องการตามสภาพแวดล้อมภายนอกองค์การ ที่ถือเป็นโอกาสหรืออุปสรรค และแก้ไขหรือปรับปรุงทรัพยากรที่เป็นจุดอ่อนขององค์การ (Barney, 1991, pp. 99-103)

ทรัพยากร (resources) หมายถึง สิ่งทั้งปวงอันเป็นทรัพย์ (ราชบัณฑิตยสถาน, ศูนย์สารสนเทศ, 2542) และในแง่เศรษฐศาสตร์จะมุ่งศึกษาเรื่องการจัดสรรทรัพยากรที่ขาดแคลน เพื่อศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์หรือเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่ไม่มีขีดจำกัด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับการดำรงชีพให้ดีขึ้น หรือกล่าวได้ว่า เป็นการศึกษาวิธีการเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด (scarcity resources) ให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุดเพื่อตอบสนองความต้องการที่ไม่จำกัด (unlimited wants)

โดยธรรมชาติมนุษย์มีความต้องการตลอดเวลา และไม่มีที่สิ้นสุด แต่จำนวนสินค้าและบริการมีจำกัด ทำให้ขาดความสมดุลระหว่างสินค้า บริการ และความต้องการ จึงต้องเลือกตอบสนองความต้องการเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีต้นทุนต่ำสุดหรือกล่าวได้ว่า มนุษย์มีความต้องการที่ไม่จำกัดแต่ทรัพยากรมีจำกัด ทำให้เกิดความ-ขาดแคลน และนำไปสู่การเลือก (choice) สินค้าและบริการ (goods and services) ที่มีอรรถประโยชน์สูงสุด (utility) คือ สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้

ทรัพยากรในทางเศรษฐศาสตร์อาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ (1) ทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง จำนวนและคุณภาพของประชากรทั่วไป ถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ เพราะหากปราศจากมนุษย์แล้ว การผลิตสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจจะไม่เกิดขึ้นและ (2) ทรัพยากรที่ไม่ใช่มนุษย์ อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ทรัพยากรที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และเกินความต้องการของมนุษย์ เป็นสินค้าไร้ราคาหรือทรัพย์เสรี (free goods) โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เช่น ดิน น้ำ อากาศ แสงแดด เป็นต้น และทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้น เป็นสินค้าทางเศรษฐศาสตร์หรือเศรษฐทรัพย์ (economic goods) ที่มีต้นทุนการผลิต มีจำกัดเมื่อเทียบกับความต้องการ ต้องซื้อหรือจ่ายค่าตอบแทน เช่น เครื่องมือ เครื่องจักร สิ่งของที่สามารถจับต้องได้

ทรัพยากรในทางเศรษฐศาสตร์ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทรัพยากรการผลิต (productive resources) หรือปัจจัยการผลิต (factors of production) หมายถึง การแปรสภาพทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เป็นสินค้าหรือบริการที่มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่ โดยทำให้สิ่งของหรือบริการมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น และสามารถบำบัดหรือสนองตอบความต้องการของมนุษย์ได้ ส่วนกระบวนการผลิต เป็นกระบวนการที่นำวัตถุดิบมาแปรสภาพเป็นผลผลิต ซึ่งอาจแบ่งเป็น 4 ประเภท คือ ที่ดิน (land) แรงงาน (labor) ทุน (capital) และผู้ประกอบการ (entrepreneur) อธิบายได้ดังนี้ คือ

1. ที่ดิน (land) คือ พื้นดิน และทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมด เช่น น้ำ สัตว์น้ำ
ป่าไม้ สัตว์ป่า ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ แร่ธาตุ ปริมาณน้ำฝน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะมีอยู่ตามธรรมชาติ มนุษย์สร้างขึ้นเองไม่ได้ แต่สามารถพัฒนา ปรับปรุงคุณภาพของทรัพยากรธรรมชาติได้บ้าง เช่น การปรับปรุงที่ดินให้อุดมสมบูรณ์ขึ้น เป็นต้น รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่บนผิวดิน ภายในดิน ปะปนในดิน และในอากาศเหนือพื้นดินความหมายของคำว่า “ที่ดิน” ทางเศรษฐศาสตร์ในภาคอุตสาหกรรมจะใช้ที่ดินเป็นที่ตั้งโรงงานเก็บสินค้า รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดเหนือดิน ภายในดิน และต่ำกว่าระดับพื้นดินด้วย โดยมีผลตอบแทนของผู้เป็นเจ้าของที่ดิน คือ “ค่าเช่า”

2. แรงงาน (labor) หรือทรัพยากรมนุษย์ (human resource) หรือทุนมนุษย์ (human capital) หรือแรงที่มาจากมนุษย์ ทั้งแรงกายและแรงใจ ความรู้ สมอง สติปัญญา และความคิด ที่มนุษย์ทุ่มเทกำลังความคิดให้แก่การผลิตสินค้าและบริการ หรืออาจหมายถึง ความสามารถทั้งกำลังกายและความคิด ตลอดจนความรู้ ความชำนาญของมนุษย์ ที่ใช้ไปในการผลิตสินค้าและบริการ แต่แรงงานสัตว์ไม่ถือเป็นปัจจัยการผลิตประเภทแรงงาน แต่ถือเป็นทุน ผลตอบแทนของแรงงาน เรียกว่า “ค่าจ้างและเงินเดือน” (wage and salary) โดยทั่วไปแล้ว แรงงานแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ แรงงานที่มีทักษะและไม่มีทักษะ โดยแรงงานที่มีทักษะ (skilled labor) หมายถึง แรงงานที่ได้รับการฝึกฝนและปฏิบัติงานโดยใช้กำลังความคิดมากกกว่าใช้แรงกาย เช่น นักวิชาการ แพทย์ สถาปนิก วิศวกร นักวิชาชีพ เป็นต้น ส่วนแรงงานที่ไม่มีทักษะ (unskilled labor) หมายถึง แรงงานที่ไม่ได้รับการฝึกฝน แต่ทำงานโดยอาศัยกำลังกาย เช่น กรรมกรที่ใช้แรงงาน นักการภารโรง เป็นต้น ซึ่งยังจำเป็นสำหรับการผลิตสินค้าและบริการ ส่วนผลตอบแทน
ที่ผู้ใช้แรงงานได้รับ เรียกว่า “ค่าจ้าง” (wages) หรือ “เงินเดือน”

3. ทุน (capital) หมายถึง สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นสำหรับใช้ร่วมกับปัจจัยการผลิตเพื่อการผลิตสินค้าและบริการ อาจแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ สิ่งก่อสร้าง (construction) และอุปกรณ์การผลิต (equipment) หรืออาจแบ่งเป็นวัตถุทุน และเงินทุน โดยวัตถุทุน หมายถึง เครื่องมือที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องทุ่นแรงในการผลิตสินค้าและบริการ เช่น เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์การผลิต โรงงาน เป็นต้น ส่วนเงินทุน (money capital) คือ จำนวนเงินที่ถูกใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนให้กลายเป็นเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ และสถานที่ที่ใช้ในการผลิตหรือจ่ายเป็นค่าจ้าง ค่าวัตถุดิบ โดยผลตอบแทนที่เจ้าของเงินทุนได้รับ เรียกว่า “ดอกเบี้ย”

การลงทุน (investment) หมายถึง การใช้จ่ายลงทุนโดยมีวัตถุประสงค์
เพื่อให้การผลิตสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นในอนาคต ส่วนเงินทุน (money capital) นั้น
นักเศรษฐศาสตร์ถือเป็นเพียงตัวกลางให้เกิดสินทรัพย์ประเภททุนที่สะท้อนกำลังการผลิตที่มีอยู่ในหน่วยผลิตหรือระบบเศรษฐกิจที่เป็นจริงได้ดีกว่าจำนวนเงินทุน ดังนั้น สินค้าทุนจึงมีความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจมากกว่าเงินทุน แต่เนื่องจากการวัดผลตอบแทนจากปัจจัยทุนมีความยุ่งยาก โดยทั่วไปจึงใช้ผลตอบแทนของเงินทุน อันได้แก่ ดอกเบี้ย (interest) เป็นผลตอบแทนของปัจจัยทุนด้วย

4. ผู้ประกอบการ (entrepreneur) หมายถึง ผู้รวบรวมปัจจัยในการผลิต ได้แก่ ที่ดิน ทุน แรงงาน มาร่วมดำเนินการผลิตสินค้าและบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ถือเป็นความสามารถในการประกอบการ (entrepreneurial ability) หรือการรวบรวมปัจจัยในการผลิตทั้งหลายมาผลิตสินค้าและบริการ โดยผู้ประกอบการ จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับการผลิต สามารถคาดคะเนแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคและกำลังการผลิตในอนาคตได้ นอกจากนี้ ยังต้องเป็นผู้ตัดสินใจว่า จะผลิตอะไร ปริมาณเท่าใด ใช้เทคนิคการผลิตแบบใด ผลิตแล้วจำหน่ายแก่ใคร ราคาต่อหน่วยเป็นเท่าใด จึงจะได้ผลตอบแทนสูงสุด ผู้ประกอบการจะต้องยอมรับการเสี่ยงในธุรกิจของตน ผลตอบแทนที่ผู้ประกอบการได้รับอยู่ในรูปของกำไร (profit) หรืออาจจะขาดทุน ผู้ประกอบการอาจจะเป็นหน่วยงาน บริษัท ห้างร้าน หรือเอกชนเพียงคนเดียวก็ได้

ผู้ประกอบการมีบทบาทสำคัญมาในการพัฒนาและสร้างความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจสูง ส่วนใหญ่มาจากการริเริ่มของผู้ประกอบการ ปัจจุบันประเทศไทยได้ให้ความสำคัญต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium scales Entrepreneurs--SMEs) (Baumane-Vitolina, 2013)

RBV ถูกนำมาใช้กำหนดนโยบายทางธุรกิจขององค์การและเป็นมุมมอง
ในการค้นหาทรัพยากรภายในองค์กรที่มีประสิทธิภาพ สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยมองที่แหล่งทรัพยากร (resources) และความสามารถ (capabilities) โดยอาจแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ สินทรัพย์ที่เป็นรูปธรรม คือ ทรัพยากรที่มีตัวตนหรือมองเห็นได้และจับต้องได้ (tangible resources) เป็นสินทรัพย์ที่หาได้ง่ายโดยทั่วไปและอ้างอิงกับสินทรัพย์ถาวรและสินทรัพย์หมุนเวียนขององค์กรที่เป็นที่มีอยู่ เช่น ที่ดิน อาคาร โรงงาน ทุนทางด้านเครื่องจักร การเงิน กายภาพ บุคลากร และเทคโนโลยี เป็นต้น ส่วนสินทรัพย์ที่เป็นนามธรรม (intangible) คือ ทรัพยากรที่ไม่มีตัวตน หรือมองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้ และยากจะประเมินคุณค่า (intangible resources) ไม่มีสถานะทางกายภาพ แต่องค์การเป็นเจ้าของ เช่น ความเชื่อใจและความภักดีของลูกค้า ประสบการณ์ด้านการผลิต ความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี ชื่อเสียง ต้นทุนด้านองค์การ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และความลับทางการค้า เป็นต้น หากองค์กรต้องการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน ควรสร้างทรัพยากรหลักที่แตกต่าง (heterogeneous) ได้แก่ ทักษะ ความสามารถ และเป็นทรัพยากรที่หยุดนิ่ง ไม่เคลื่อนย้ายโดยง่าย ได้แก่ เครื่องหมายการค้า กระบวนการทำงาน ความรู้ หรือทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

ความสามารถ หมายถึง ความสามารถขององค์กร (ordinary capabilities) ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ หรือไม่มีตัวตนและไม่สามารถตีความสามารถเป็นมูลค่าทางตัวเลขได้ ดังนั้น ความสามารถจึงเป็นกระบวนการขององค์การในการนำข้อมูลและความรู้ ที่ควบคุมโดยองค์การ รวมถึงความสามารถทางด้านข่าวสาร การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้า ผู้จัดหาสิ่งของ (supplier) และตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับผลประกอบการที่มีความเสี่ยง (venture performance) เช่น ความสามารถในการทำงานเป็นทีม วัฒนธรรมองค์การด้านความเชื่อมั่นระหว่างการจัดการองค์การและพนักงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งทักษะในการทำงานภายในองค์การ เป็นต้น ความสามารถและวิธีการของการผสมผสานระหว่างสินทรัพย์ (asset) บุคคล (people) และกระบวนการ (processes) ที่องค์กรใช้เพื่อการเปลี่ยนรูปปัจจัยนำเข้า (inputs) ให้กลายเป็นผลผลิต (outputs) โดยใช้ความสามารถด้านทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว นำมากำหนดกลยุทธ์เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์การ สร้างศักยภาพและความได้เปรียบด้านการแข่งขัน (competitive advantages) (Weerawardena & Mort, 2012, pp. 91-95)

RVB จึงเป็นกรอบแนวคิดที่ใช้พิจารณาประเด็นสำคัญด้านคุณลักษณะของทรัพยากรที่องค์การครอบครองอยู่ว่า เป็นพื้นฐานในการกำหนดผลการดำเนินงานซึ่งนำไปสู่ความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนของธุรกิจหรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้คุ้มค่าสูงสุด (Barney & Arikan, 2001, pp. 124-128) โดยการพิจารณาความได้เปรียบด้านต้นทุน ราคา ความสามารถในการผลิต และการสร้างความแตกต่างให้แก่สินค้าหรือบริการ โดยทรัพยากรนั้นควรมีคุณลักษณะ VRIO ประกอบด้วย
(1) การรวมกลุ่มของทรัพยากรที่มีคุณค่าและก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มภายในองค์การ (value)

(2) เป็นสิ่งที่หาได้ยาก (rareness)

(3) ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ง่ายหรือหากจะมีการลอกเลียนแบบต้องใช้ต้นทุนสูงมาก (limitability)

(4) องค์กรสามารถสร้างความ-เชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจ หรือแม้แต่การควบคุมแหล่งวัตถุดิบให้กลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ เป็นของเฉพาะตัว ไม่สามารถทดแทนกันได้หรือมีความยากต่อการสร้างขึ้นใหม่ (organization)

โดยนำคุณลักษณะทั้ง 4 ประการ คือ มีคุณค่า หายาก ลอกเลียนแบบได้ยากและไม่สามารถทดแทนได้ มาใช้เป็นหลักเกณฑ์การวัดความสามารถในการแข่งขันขององค์กร และต้องพัฒนาความสามารถในด้านการบริหารจัดการปัจจัยนำเข้า การสร้างกระบวนการปรับเปลี่ยนและปัจจัยนำออก

RVB คือ ตัวแบบผลการปฏิบัติงานขององค์การที่มุ่งเน้นทรัพยากร (resources) และความสามารถ (capabilities) และถูกควบคุมโดยองค์การและเป็นหลักของความได้เปรียบทางการแข่งขัน (Barney & Hesterly, 2006) อาจแบ่งเป็น ทรัพยากรทาง-การเงิน (financial resource) ทรัพยากรทางกายภาพ (physical resource) ทรัพยากรบุคคลหรือทรัพยากรมนุษย์ (individual or human resource) และทรัพยากรองค์การ (organizational resource) โดยผ่านการจัดการด้านทรัพยากรมนุษย์ (human resource architecture) (Dunford, Snell, & Wright, 2001) ได้แก่ ทุนมนุษย์ (human capital pool) พฤติกรรมของพนักงาน (employee behavior) และระบบผลการปฏิบัติงานสูง

จากแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับมุมมองด้านทรัพยากรที่มีคุณค่าเฉพาะขององค์การ (RBV) และแนวคิดการจัดการความรู้ (KM) ซึ่งทำให้องค์การเข้าใจการสร้างความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมสินค้า นวัตกรรมกระบวนการ และนวัตกรรมเชิงพฤติกรรม การจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพราะนวัตกรรมเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน (Kasim & Minai, 2009, pp. 297-301)


หมายเลขบันทึก: 600507เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2016 12:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2016 12:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท