"เหนื่อยใจ แต่ยังมีไฟอยู่" ... (ปัญหาและอุปสรรคของโรงเรียนในซอกหลืบ)


นับตั้งแต่การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมบริหาร "โรงเรียนภายในมหาวิทยาลัย"
อันเป็นโรงเรียนที่เสมือนอยู่ในซอกหลืบของหน่วยงานทั้งหมดของมหาวิทยาลัย
โรงเรียนนี้ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัยก็มักจะไม่ค่อยได้รับความสนใจจากทั้งคณะและทั้งมหาวิทยาลัย
มานับเป็นเวลาหลาย ๑๐ ปี

การส่งคนเข้ามาบริหารโรงเรียนแห่งนี้ บางยุคมาจากมหาวิทยาลัย บางยุคมาจากคณะ
แต่ที่ส่งมาส่วนใหญ่ล้วนเป็นการส่งไปแค่ "ขัดตาทัพ" เอาเข้าจริง ๆ ก็ปล่อยปละละเลย
ให้โรงเรียนอยู่ตามมีตามเกิดไปตามยถากรรม มาบริหารบ้าง ไม่มาบริหารบ้าง

และก่อนยุคที่ผมจะเข้ามา ๒ ช่วงก่อนหน้านั้น คือ การที่มหาวิทยาลัยมอบอำนาจการบริหาร
ให้กับหัวหน้าสำนักงานโรงเรียนมารักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนมากกว่า ๕ ปี
อันด้วยศักยภาพที่ไม่ได้เป็นครู ไม่ได้เป็นผู้บริหารที่แท้จริง
ทำให้โรงเรียนมีแต่ทรงกับทรุด ภาพที่ออกไปต่อสาธารณชน คือ ไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์
ไม่มีใครรู้ว่าโรงเรียนกำลังทำอะไรอยู่

แต่ที่น่าหนักใจมากกว่านั้น คือ สถานะของครูโรงเรียนนี้ เป็นแค่ "พนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุน" เท่านั้น
ไม่ใช่ "ครู" ตามสถานะที่ควรเป็น ดังนั้น เวลาประเมินก็จะใช้แบบประเมินเดียวกับสายสนับสนุนคนอื่น ๆ
ซึ่งไม่ตรงต่อภาระงานจริงที่เกิดขึ้น ไม่มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ถ้าเงินเดือนขึ้นก็ใกล้จะตันเต็มที
ขาดขวัญและกำลังใจอย่างร้ายแรง

ครูที่ยังมีจิตวิญญาณของความเป็นครูอยู่บ้าง ก็จะอยู่เพื่อให้ความรู้และดูแลเด็ก ๆ ที่เป็นลูกศิษย์ของพวกเขา
ส่วนครูที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครูต่ำ ก็จะอยู่เพื่อตัวเอง ทำบ้าง ไม่ทำบ้าง เพราะอย่างน้อย
พวกเขาก็คิดว่า ไม่มีใครสนใจอยู่แล้ว อยากทำอะไรก็ทำ เพียงเพ่ื่อความอยู่รอดเท่านั้น


รักษาการ ผอ.คนที่แล้ว คือ คนที่ผมทำงานด้วยอยู่แล้ว เมื่อรักษาการ ผอ. อยู่ ๖ เดือน ก็หมดวาระลง
และไม่สามารถต่ออายุได้ ทำให้ต้องสรรหาคนที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทน ซึ่งมหาวิทยาลัยได้เลือก
อดีตคณบดีคณะผลิตครู ซึ่งจะเกษียณอายุอีก ๑ ปี เข้ามาทำหน้าที่ และท่านได้เลือกผมเข้ามาช่วยงานในฐานะรองฯ

รักษาการ ผอ. มีการประสานเชื่อมต่อกับมหาวิทยาลัยได้ดีเยี่ยม ทำให้โรงเรียนสามารถของบกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งที่ ๑ ได้
ทำให้โรงเรียนเริ่มสร้างโดมกันแดดกันฝน ซ่อมห้องน้ำนักเรียนทั้งอาคาร ซ่อมแซมป้ายโรงเรียน เป็นต้น

ผมกับ ผอ. มารับหน้าที่ต่อ ก็ต่องานด้านนี้ทันที ซึ่งขณะนี้ยังไม่เสร็จสิ้นทั้งหมด แต่ใกล้แล้ว
ระหว่างนี้ก็มีงบกระตุ้นเศรษฐกิจเข้ามาอีกรอบ อดีตรักษาการยังคงช่วยเหลืออยู่เบื้องหลัง
ทำให้โรงเรียนได้งบฯ ในครั้งนี้ เป็นการทำพื้นใหม่ ปรับปรุงห้องดนตรี ซ่อมแซมพื้นสนามเด็กเล่น

เช่นนั้นแล้วทำให้งานด้านอาคารสถานที่จะชัดเจนมาก


แต่วินัยและสปิริตครูยังต่ำเตี้ยเรี่ยดินเหมือนเดิม การสัมผัสกับครูเหล่านี้ทำให้พบปัญหาที่เกิดขึ้นมากมาย


ปัญหาด้านวิชาการ

* ครูไม่ค่อยเขียนแผนการสอนก่อนสอนเด็ก บางคนก็เขียนแผนไม่เป็น


ปัญหาด้านกิจการนักเรียน

* การทำโครงการต่าง ๆ ทำไปอย่างที่เคยทำ ไม่มีการประเมินหรือทบทวนโครงการที่ผ่านมาว่า สิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดี


ปัญหาหย่อนวินัยของครู

* ครูขาดวินัยในการอยู่เวรเช้า กลางวัน และเย็น
* ครูออกจากโรงเรียนโดยพลการ
* ครูหลายคนมาสาย เข้าเร็ว
* ครูหลายคนก็ลากิจมากมาย
* ครูหลายคนไม่รู้ว่า ครุภัณฑ์เป็นของส่วนตัว ครุภัณฑ์ใดเป็นของโรงเรียน


ปัญหาการถูกแทรกแซง

* บางเรื่อง การตัดสินใจกลับไม่ได้อยู่กับ ผอ. และ ผม ทำให้เราทำงานลำบากมากขึ้น
ไหนจะต้องระวังผู้ใต้บังคับบัญชา ไหนจะต้องระวังผู้บังคับบัญชาที่อยู่เหนือเรา



ดังนั้น สิ่งที่ผมและ ผอ. กำลังทำตอนนี้ ก็คือ

* เริ่มให้ครูเขียนแผนการสอน แล้วส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิตรวจความถูกต้อง เป็นรายสัปดาห์
* ผมเน้นงานประชาสัมพันธ์มากขึ้น เปิดช่องทางต่าง ๆ ให้คนภายในและคนภายนอกมหาวิทยาลัย ทราบว่า โรงเรียนกำลังทำอะไร
* ผมเน้นเรื่องโครงการฯ ว่า ต้องมีเวลาเตรียมตัวทำโครงการอย่างน้อย ๑ สัปดาห์ แล้วให้มาคุย Theme งานให้ฟังก่อนลงมือปฏิบัติ
ให้หาวิธีการประเมินโครงการให้ตรงวัตถุประสงค์ และปิดท้ายว่า เมื่อเสร็จโครงการต้องส่งข่าวและรูปภาพมายังฝ่ายประชาสัมพันธ์ทันที
หรือไม่เกินอีก ๑ วัน เพราะฝ่ายประชาสัมพันธ์จะส่งข่าวต่อไปยังประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัย
* ผมเน้นเรื่องเวรว่า ควรอยู่รับ-ส่งเด็กทุกช่องทางของโรงเรียน
* ให้แต่ละฝ่ายเตรียมเขียน "คู่มือปฏิบัติงาน" เพื่อให้สามารถตรวจสอบขั้นตอนได้ตามการประกันคุณภาพ
* ครูพี่เลี้ยงต้องควบคุมดูแลการแต่งกายของนักศึกษาที่เข้ามาฝึกสอนในโรงเรียนให้เคร่งครัด
* ผมถามครูว่า ทำอย่างไรจะให้เด็กนักเรียนของเรารู้จักไหวัทักทายคนเป็น
* ครูคือต้นแบบ ครูควรรู้ว่า ควรต้องทำอย่างไร โดยเริ่มจากตัวครูเอง


เหล่านี้เป็นประเด็นหลัก ๆ ที่แจ้งให้ครูทุกคนทราบ

แต่แน่นอน หลังจากที่ออกจากห้องประชุมแล้ว ก็เริ่มมีเสียงบ่น เสียงโอดครวญไปตามสายต่าง ๆ
โดยเฉพาะไปยัง อดีตรักษาการ ผอ. ที่ช่วยเราอยู่เบื้องหลัง ซึ่งครูที่นิสัยไม่ดีบางคนก็คงคิดว่า ท่านจะเข้ามาช่วยเรื่องนี้ได้

สำหรับผมเองแล้ว สิ่งที่ผมตัดสินใจทำลงไป มันถูกต้องต่อองค์กร ต่อตัวครู ต่อนักเรียนแล้ว
ยังไงก็ยังคงยืนยันว่าจะทำแบบนี้ ใครไม่พอใจต้องให้เหตุผลผมได้ว่า สิ่งที่ผมกับ ผอ. ทำมันผิดพลาด ผมจะยอมรับแต่โดยดี
แต่ถ้าไม่ผิด ก็จะไม่เปลี่ยนแปลงอะไร

ถ้าไม่พอใจกันหนักหนา อีก ๕ เดือน ผมจะลงพร้อมกับ ผอ.ที่จะเกษียณอายุ และจะได้กลับไปทำหน้าที่ครูมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว
ยังมีสิ่งที่ผมต้องทำอีกมาก และผมมีคุณค่ามากพอที่จะทำอะไรอีกหลาย ๆ สิ่ง

สิ่งไหนทำได้ก็ทำ สิ่งไหนทำไม่ได้ก็หยุด

เพียงแค่คำว่า Comfort Zone เท่านั้นที่ทำให้เกิดเรื่องพวกนี้
บางทีการที่องค์กรมีคนที่เอาตัวรอดไปวัน ๆ ก็ทำให้องค์กรหยุดอยู่กับที่ หรือ ถอยหลังออกไปอีก

เหนื่อยใจ แต่ยังมีไฟอยู่

บุญรักษา กัลยาณมิตรทุกท่าน ;)...


หมายเลขบันทึก: 600500เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2016 01:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2016 01:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท