ความรู้เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน


แนวทางการบริหารจัดการผลประโยชน์ทับซ้อนที่ใช้กันในประเทศต่างๆ สามารถจำแนกได้ 2 แบบ คือแบบเคร่งครัด กับ แบบยืดหยุ่น สสส. เลือกใช้แบบยืดหยุ่น

การพัฒนาแนวทางป้องกันและบริหารจัดการปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน

ในระบบการดำเนินงานของ สสส.

ปาริชาต ศิวะรักษ์

ชื่อบทความนี้คือชื่อรายงานฉบับหนึ่งที่ดิฉันทำการศึกษาให้ สสส. เมื่อสิบปีก่อน[1] หลังจากที่ สสส. ถูกมรสุมข้อกล่าวหาเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนกระหน่ำในปี 2547 ประเด็นปัญหาครั้งนั้นไม่ต่างจากครั้งนี้มากนัก แต่การจัดการเพื่อ “ปรับระบบ” ครั้งนี้มีขอบเขตกว้างขวางและรุนแรงกว่ามาก

คำถามคือเกิดอะไรขึ้นในระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา สสส. และสังคมไทยมีความเข้าใจเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนมากขึ้นหรือไม่ ทุกฝ่ายได้เรียนรู้บทเรียน และมีการปรับแนวคิด มุมมอง และการปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่

คำตอบของดิฉันคือ สสส. มีความเข้าใจมากขึ้น ...และมีความพยายามปรับปรุง แต่ยังไม่เพียงพอ ส่วนสังคมไทยนั้นมีความสนใจมากขึ้น อาจเป็นเพราะมีกรณีอื้อฉาวทั้งในภาครัฐและภาคธุรกิจอยู่เนืองๆ แต่คนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจเรื่องนี้ค่อนข้างจำกัด

องค์ประกอบของผลประโยชน์ทับซ้อน

ผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest – CoI) มีองค์ประกอบ 3 ส่วน

องค์ประกอบแรก คือ ผลประโยชน์ส่วนตัว เป็นธรรมดาที่ทุกคนย่อมมีและแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งรวมถึงผลประโยชน์ที่เอื้อต่อผู้ที่ใกล้ชิดกับบุคคลนั้นด้วย อาทิ บุคคลภายในครอบครัว ญาติ เพื่อนพ้อง และองค์กรที่บุคคลนั้นมีความเกี่ยวข้อง

องค์ประกอบที่สอง คือ อำนาจหน้าที่อันเกิดจากตำแหน่งในองค์กร หรือการดำเนินบทบาทตามหน้าที่การงานหรือวิชาชีพ ซึ่งทำให้บุคคลนั้นมีความรับผิดชอบและพันธะกิจต่อองค์กร ต่อลูกค้า ต่อนายจ้าง หรือต่อสาธารณะ ทั้งนี้สังคมหรือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคาดหวังว่าบุคคลนั้นจะให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบในส่วนนี้สูงกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว

การแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวจะเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนจริงๆ ก็ต่อเมื่อมีองค์ประกอบที่สาม ได้แก่ การที่บุคคลนั้นปล่อยให้ผลประโยชน์ส่วนตัวมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจหรือดำเนินการในการปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นทางการของตนโดยไม่รักษาผลประโยชน์ขององค์กร หรือผู้ที่เป็นลูกค้า นายจ้าง หรือผลประโยชน์สาธารณะ

ผลประโยชน์ทับซ้อนกับธรรมาภิบาล

การป้องกันและบริหารจัดการผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาธรรมาภิบาล และมีความสำคัญต่อความน่าเชื่อถือขององค์กร ในขณะที่ธรรมาภิบาลมีหลายมิติ เช่น ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ การมีส่วนร่วม ฯลฯ ผลประโยชน์ทับซ้อนมีขอบเขตแคบกว่า คือเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่าง “ผลประโยชน์ส่วนตัว” และ “ผลประโยชน์องค์กรหรือประโยชน์สาธารณะ” เท่านั้น

ตัวอย่าง เช่น เจ้าหน้าที่ สสส. ซื้อของจากบริษัท ก. โดยมิได้สืบราคาของประเภทเดียวกันจากบริษัทอื่น คือการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล เพราะไม่ได้ทำตามกระบวนการที่จะเป็นประโยชน์ที่สุดแก่องค์กร แต่เจ้าหน้าที่ สสส. ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะไม่ได้รับประโยชน์จากการจัดซื้อดังกล่าว

แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ สสส. ซื้อของจากบริษัท ก. ซึ่งมีราคาแพงกว่าบริษัท ข. เพราะเป็นเพื่อนกับเจ้าของบริษัท ก. จะเรียกว่าเป็นกรณีผลประโยชน์ทับซ้อน

ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ สสส. ซื้อของจากบริษัท ก. ซึ่งมีความสัมพันธ์เป็นเพื่อน แต่บริษัทดังกล่าวเสนอราคาต่ำสุดเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นๆ แม้จะไม่ใช่สถานการณ์ผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ในสายตาคนภายนอก อาจเข้าใจว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะคิดว่าเจ้าหน้าที่ สสส. อาจให้ข้อมูลบริษัท ก. ให้สามารถเสนอราคาต่ำสุดได้ ซึ่งก็ทำให้เสียความน่าเชื่อถือของ สสส. ได้เช่นกัน

ผลประโยชน์ทับซ้อนจึงไม่ใช่เรื่องที่จะตัดสินว่าผิด-ถูก ควร-ไม่ควร ได้โดยง่าย องค์กรต่างๆ ต้องกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการป้องกันและแก้ไขให้เหมาะสมกับบริบทของตนเอง โดยคำนึงถึงความเข้าใจและมุมมองของสังคมในวงกว้างด้วย

การบริหารจัดการผลประโยชน์ทับซ้อน

หลักข้อแรกของการบริหารจัดการผลประโยชน์ทับซ้อน คือ ยอมรับว่าเป็นไปได้ยากที่จะไม่มีสถานการณ์ผลประโยชน์ทับซ้อนเลยในการดำเนินงานต่างๆ และให้ความสำคัญกับการศึกษาความเสี่ยงและสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนเพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการที่เหมาะสม

มีตัวอย่างการบริหารจัดการผลประโยชน์ทับซ้อนขององค์กรหลากหลายรูปแบบ อาทิ

องค์กรให้ทุนส่งเสริมสุขภาพต่างประเทศ เช่น VicHealth และ Healthway ในมลรัฐวิคตอเรียและมลรัฐออสเตรเลียตะวันตก ประเทศออสเตรเลีย กลุ่มนี้มีบทบาทภารกิจใกล้เคียงกับ สสส. มากที่สุด

องค์กรอื่นๆ ต่างประเทศ เช่น Faculty of Public Health, Harvard University ซึ่งกำหนดแนวทางการบริหารจัดการผลประโยชน์ทับซ้อนในหมู่คณาจารย์ และองค์การอนามัยโลก World Health Organization (WHO) ซึ่งกำหนดแนวทางการบริหารจัดการผลประโยชน์ทับซ้อนสำหรับที่ปรึกษาที่ทำงานให้ WHO

องค์กรให้ทุนในประเทศไทย เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งสร้างแนวทางการบริหารจัดการผลประโยชน์ทับซ้อนในกลุ่มผู้บริหารทุนและผู้รับทุน

องค์กรภาคธุรกิจในประเทศไทย เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

กฎหมายไทยได้กำหนดหลักการและแนวทางที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทับซ้อนไว้ อาทิ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2541) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542

ทั้งนี้แนวทางการบริหารจัดการผลประโยชน์ทับซ้อนที่ใช้กันในประเทศต่างๆ สามารถจำแนกได้ 2 แบบ

แบบเคร่งครัด เน้นการใช้กฎระเบียบที่มีรายละเอียด และการติดตามบังคับให้เป็นไปตามกฎ มีบทลงโทษ แนวทางนี้ครอบคลุมและชัดเจน ง่ายต่อการสร้างความเข้าใจ ง่ายต่อการสร้างมาตรฐานการปฏิบัติที่คงเส้นคงวา แต่อาจเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการดำเนินงาน การสร้างเครือข่ายพันธมิตร และมีต้นทุนด้านเวลาและทรัพยากรสูง

แบบยืดหยุ่น มีกรอบการจัดการผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างกว้างๆ ที่ตั้งอยู่บนฐานคุณค่าทางจริยธรรม มีเงื่อนไขว่าต้องได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นทุนเดิม และมีการรักษาภาพลักษณ์ที่ดี ระมัดระวังมิให้เกิดเรื่องอื้อฉาว เมื่อใดที่เกิดเรื่องอื้อฉาว พื้นที่ในการดำเนินการได้อย่างยืดหยุ่นคล่องตัวดังกล่าวจะหายไปทันที

องค์กรข้างต้นนี้ส่วนใหญ่ รวมทั้ง สสส. ใช้แนวทางยืดหยุ่น ใช้วิธีกำหนดนโยบาย ระเบียบ แนวปฏิบัติ จรรยาบรรณ โดยให้บุคคลที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนเปิดเผยรายการธุรกรรมที่อาจเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน และให้ขออนุญาต/อนุมัติผู้บริหารหรือคณะกรรมการระดับสูงพิจารณากำหนดขั้นตอนกระบวนการดำเนินการที่เหมาะสม

หลักปฏิบัติทั่วไปคือผู้ที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ร่วมการพิจารณาเรื่องที่ตนเองอาจมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม ในทางปฏิบัติ มักมีการกำหนดแบบฟอร์มการเปิดเผยรายการผลประโยชน์ทับซ้อน และปรับให้การบริหารจัดการผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นส่วนหนึ่งของระบบการบริหารงานขององค์กร เช่น ให้มีการแถลงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในการประชุมตามวาระที่เกี่ยวข้อง ให้มีการปรับปรุงคำแถลงผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นระยะๆ จัดตั้งคณะทำงานพิจารณาประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน กำหนดวิธีการเปิดเผยการดำเนินงานเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน ฯลฯ

ความเสี่ยงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของ สสส.

สสส. เป็นแหล่งทุนขนาดใหญ่ที่สนับสนุนบุคคล องค์กร และหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและนอกภาครัฐจำนวนมากที่ดำเนินงานด้านการส่งเสริมสุขภาพ ในการนี้ สสส. ต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ของบุคคลหลากหลายสาขา โดยแต่งตั้งให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ และ/หรือให้ทุนสนับสนุนให้องค์กรที่มีความชำนาญด้านต่างๆ ช่วยขับเคลื่อนงาน ในบางกรณี จึงพบว่าประธาน/กรรมการ/ที่ปรึกษา ฯลฯ ขององค์กรเหล่านี้เป็นกรรมการหรืออนุกรรมการชุดต่างๆ ของ สสส. ด้วย ปรากฏการณ์นี้เป็นเรื่องปกติของสังคมไทยทื่ “คนเก่ง” มักสวมหมวกหลายใบ เพราะได้รับเชิญให้ดำรงตำแหน่งมากมาย เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกวงการ ทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่

แม้การดำเนินงานในลักษณะดังกล่าวจะมีข้อดีอยู่ไม่น้อย แต่ก็เป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดข้อกังขาเกี่ยวกับการมีส่วนได้เสีย หรือการมีผลประโยชน์ทับซ้อนของบุคคลในระบบของ สสส. หรือบุคคลที่เข้ามาร่วมงานกับ สสส. ได้ง่าย ประสบการณ์ในอดีตและสถานการณ์ปัจจุบันก็ได้สะท้อนว่าความเก่งและความตั้งใจดีของบุคคลที่เข้ามาร่วมงานกับ สสส. ไม่ใช่เกราะคุ้มกันที่ดีพอ ไม่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจได้เพียงพอในสายตาสาธารณชน สสส. จึงจำเป็นต้องกำหนดแนวทางการป้องกันและบริหารจัดการปัญหานี้อย่างรัดกุม

ทั้งนี้ทุกฝ่ายน่าจะพิจารณาแนวคิดขององค์การอนามัยโลก ซึ่งจำแนกสถานการณ์ผลประโยชน์ทับซ้อนเป็น 3 ระดับได้แก่

1) ระดับที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนที่ชัดเจน (real CoI) ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดการตัดสินใจและดำเนินการที่ให้ความสำคัญกับประโยชน์ส่วนตัว/องค์กรที่ตนเองเกี่ยวข้องมากกว่าประโยชน์สาธารณะ

2) ระดับที่อาจเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน (potential CoI) ได้แก่กรณีที่ผู้มีความรู้ผิดรู้ชอบตามปกติเกิดความไม่แน่ใจว่าจะต้องรายงานว่าเป็น CoI หรือไม่ ตัวอย่างเช่นกองทุนแห่งหนึ่งไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าความสัมพันธ์ในลักษณะ “มิตรสหาย” ระหว่างกรรมการกองทุนกับผู้ขอรับทุนเป็นความเสี่ยงด้านผลประโยชน์ทับซ้อน แต่กรรมการกองทุนเป็นเพื่อนที่สนิทสนมกับผู้ขอรับทุนอย่างยิ่ง

3) ระดับที่อาจถูกพิจารณาว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน (apparent CoI) ซึ่งแม้จะไม่มีผลต่อการใช้ดุลยพินิจหรือการตัดสินใจเรื่องใดๆ ไม่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ แต่ก็อาจทำให้ผู้อื่นสงสัยในความโปร่งใส ถูกต้อง เป็นธรรมของดุลยพินิจหรือการตัดสินใจที่เกี่ยวข้อง เช่น กรรมการกองทุนเป็นที่ปรึกษาขององค์กรที่ได้รับทุนจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ากรรมการผู้นั้นจะมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการพิจารณาให้ทุนเลย

จะเห็นได้ว่าเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนนั้น จะต้องให้ความสำคัญทั้งกับรูปธรรมของปัญหา และภาพลักษณ์มุมมองของบุคคลอื่นๆ ด้วย ส่วนแนวทางการบริหารจัดการก็มักยึดโยงกับระดับผลประโยชน์ทับซ้อน ไล่เรียงไปตั้งแต่ระดับที่ยอมรับได้ แต่ต้องมีการรายงาน ไปจนถึงระดับที่จัดว่าเป็นปัญหา ยอมรับไม่ได้ หรือต้องมีการควบคุมอย่างเคร่งครัด

รูปแบบการดำเนินงานของ สสส. ทำให้มีความเสี่ยงต่อสถานการณ์ผลประโยชน์ทับซ้อนระดับที่ 3 ซึ่งแม้ว่าจะมิได้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ แต่ก็เป็นสถานการณ์ที่ สสส. ต้องพยายามแก้ไข และสื่อสารกับสาธารณชนอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง

ความพยายามของ สสส. ในการบริหารจัดการผลประโยชน์ทับซ้อน

พระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องคือ มาตรา 18 (7) ซึ่งกำหนดว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้อง “ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการที่กระทำกับกองทุน หรือในกิจการที่ขัดหรือแย้งกับวัตถุประสงค์ของกองทุน หรือได้รับประโยชน์ในกิจการที่ขัดหรือแย้งกับวัตถุประสงค์ของกองทุน ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่เป็นผู้ดำเนินกิจการอันเป็นสาธารณประโยชน์และมิได้แสวงหากำไร” และมาตรา 22 วรรค 3 ซึ่งกำหนดว่า “ในการปฏิบัติหน้าที่ กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียโดยตรงหรือโดยอ้อมในเรื่องที่คณะกรรมการพิจารณา ให้กรรมการผู้นั้นแจ้งให้ที่ประชุมทราบ และให้ที่ประชุมพิจารณาว่ากรรมการผู้นั้นสมควรจะอยู่ในที่ประชุม และมีมติในการประชุมเรื่องนั้นได้หรือไม่ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด”

ระหว่างปี 2545 ถึงปี 2549 เครื่องมือในการบริหารจัดการผลประโยชน์ทับซ้อนของ สสส. ได้แก่จรรยาบรรณของคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2545 โดยข้อ 5 สะท้อนวิธีคิดของ สสส. เกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนว่าคณะกรรมการกองทุนฯ ทุกคน “พึงหลีกเลี่ยงมิให้เกิด ความทับซ้อนหรือขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ที่กรรมการเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์สาธารณะ ในการดำเนินงานของกองทุน” แต่การหลีกเลี่ยงมิให้เกิดปัญหาดังกล่าว “มิใช่การปฏิเสธที่จะเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของสำนักงานโดยสิ้นเชิง หากแต่ควรเป็นการสนับสนุนด้วยหลักการของระบบคุณธรรม (merit system) และโดยเปิดเผย” และข้อ 6 ได้วางแนวปฏิบัติในกรณีที่คณะกรรมการผู้หนึ่งผู้ใดมีความเกี่ยวพันกับหน่วยงานที่เสนอขอรับทุนสนับสนุนจากกองทุนฯ โดยให้บุคคลนั้นเปิดเผยแก่คณะกรรมการถึงความเกี่ยวพันกับหน่วยงานหรือโครงการที่เสนอขอรับทุน หลีกเลี่ยงการพิจารณาสนับสนุนทุน เว้นแต่จะได้รับการร้องขอให้เป็นผู้ให้ข้อมูลในฐานะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ งดเว้นการใช้สิทธิออกเสียงใดๆ และละเว้นการปฏิบัติใดๆ ในลักษณะชักจูงหรือกดดันให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาโครงการหรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานมีการตัดสินใจที่อาจให้คุณหรือให้โทษต่อโครงการหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงการ

ต่อมา สสส. ได้ออก “ระเบียบว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการกรณีมีส่วนได้เสียกับกองทุน พ.ศ. 2549” เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการประชุมคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน ฯลฯ ที่กรรมการกองทุนฯ แต่งตั้ง ซึ่งมีผลให้เกิดการขยายระบบการบริหารจัดการผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องการสนับสนุนทุนให้กว้างขวางขึ้น

นอกจากการเปิดเผยกรณีที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนซึ่งเป็นมาตรการเชิงป้องกันแล้ว รายงานการประเมินผลการดำเนินงานของ สสส. ซึ่งจัดทำขึ้นโดยทีมประเมินภายนอกทุกห้าปีก็จะมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความเสี่ยงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนโดยพิจารณาจากโครงสร้างการบริหารจัดการและกระบวนการดำเนินงานด้วย

อย่างไรก็ดีในรอบสิบปีที่ผ่านมา สสส. ได้ขยายงานอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว มีความหลากหลายสูงทั้งด้านลักษณะงานและภาคีเครือข่าย ซึ่งย่อมเพิ่มความยากลำบากในการบริหารจัดการผลประโยชน์ทับซ้อน และขยายช่องว่างระหว่างสถานการณ์ความเสี่ยงกับการพัฒนากลไก เครื่องมือ และบุคลากรเพื่อกำกับและบริหารจัดการความเสี่ยง

สรุปและเสนอแนะ

ปัจจุบันหลายฝ่ายมีมุมมองเรื่อง สสส. และผลประโยชน์ทับซ้อนว่าหากผู้ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรที่รับทุนสนับสนุนจาก สสส. ดำรงตำแหน่งกรรมการ อนุกรรมการ ฯลฯ ของ สสส. ถือว่าเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนแล้ว ที่จริงคือเกิดความเสี่ยงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่จะต้องบริหารจัดการเพื่อป้องกันมิให้ความเสี่ยงนั้นกลายเป็นปัญหาที่แท้จริง

ในขณะเดียวกัน สสส. ก็มีแนวคิดและแนวทางการบริหารจัดการผลประโยชน์ทับซ้อนแบบยืดหยุ่น และให้ความสนใจกับสถานการณ์ apparent CoI น้อยเกินไป การทบทวนและปรับปรุงแนวทางและระบบการบริหารจัดการผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้นไม่เท่าทันกับสถานการณ์และความจำเป็น และมีการสื่อสารเรื่องนี้กับสังคมน้อยเกินไป

ดิฉันเชื่อว่าสังคมไทยเห็นประโยชน์และความสำคัญของ สสส. และหวังว่า สสส. และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเกิดการเรียนรู้ และสามารถเปลี่ยนวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาสที่ สสส. และสังคมไทยจะก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคงและเข้มแข็ง

15 มกราคม 2559



[1] ปาริชาต ศิวะรักษ์ และ ศุภมิตร ปิติพัฒน์, “การพัฒนาแนวทางป้องกันและบริหารจัดการปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในระบบการดำเนินงานของ สสส.” นำเสนอต่อคณะกรรมการประเมินผล กองทุนสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ, 2549.

หมายเลขบันทึก: 599615เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2016 05:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มกราคม 2016 05:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท