นักศึกษาแพทย์อยากทำความดี ปีที่ ๖


สวัสดีครับ

เห็นหัวเรื่องก็คงนึกถึงซีรี่ส์ละครเกาหลี นี่มันคงดีจนกระทั่งมีถึงปีที่ ๖ แล้วหรือ

อันที่จริงมันก็คือการเรียนของนักศึกษาที่สงขลานครินทร์ ที่มาถึงช่วงเวลาหนึ่ง ทุกคนก็จะต้องออกไปบำเพ็ญประโยชน์ คราวนี้ หากให้ออกไปเฉยๆก็คงจัดการกันลำบาก ทางมหาวิทยาลัยและคณะต่างๆต้องจัดกิจกรรมขึ้นมา ปีนี้ก็เป็นปีที่ ๖ ที่ผมรับเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาให้กับเด็กๆ

ลองมาดูกันครับ ว่าปีนี้เขาจะไปทำอะไรกัน (อันที่จริงมันก็เกิดขึ้นรล่วงเลยมานานราวเดือนเมษายน ๒๕๕๘ นี้ แต่ผมก็ยุ่งเสียจนลืมงานชิ้นดีๆชิ้นนี้ของเด็กๆไปได้ เห็นทีจะต้องสะสางให้จบก่อนปีใหม่ จึงได้โอกาสเอามาลงใน G2K เพื่อการบันทึกและร่วมกันเรียนรู้ต่อไป


โครงการ สร้างสุขสู่เย็นศิระ

คำนำ

“โครงการสร้างสุขสู่เย็นศิระ” ดำเนินการโดยนักศึกษาแพทย์ปีที่ 2 กลุ่ม PBL17 ถูกจัดขึ้นตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ในรายวิชากิจกรรมเสริมหลักสูตรของชั้นปีที่ 2 หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อให้นักศึกษาได้ตั้งโครงการและดำเนินการเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมรู้และตระหนักถึงคุณค่าของกิจกรรมร่วมกัน

สำหรับกลุ่มของพวกเราดำเนินโครงการภายใต้การดูแลของ ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ โครงการสร้างสุขสู่เย็นศิระมีวัตถุประสงค์เพื่อการให้แก่ผู้อื่น โดยมีรูปแบบเป็นการให้ด้วยเวลาเพื่อพูดคุยและสร้างกำลังใจให้แก่คนไข้ที่มาพักที่อาคารเย็นศิระ

หากรายงานโครงการฉบับนี้มีสิ่งใดขาดตกบกพร่อง ผู้จัดทำขออภัยมา ณ โอกาสนี้ด้วย

นักศึกษาแพทย์กลุ่ม PBL 17
ชั้นปีที่ 2 ปีการศึกษา 2557

บทคัดย่อ

โครงการสร้างสุขสู่เย็นศิระ ดำเนินโครงการโดยนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 กลุ่ม PBL17 ถูกจัดตั้งขึ้นตามวัตถุประสงค์ของรายวิชากิจกรรมเสริมหลักสูตร ชั้นปีที่ 2 หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมี ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา วัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น โดยการให้เวลาเพื่อพูดคุยและให้กำลังใจแก่คนไข้ที่มาพักที่อาคารเย็นศิระ

การดำเนินโครงการเริ่มด้วย ทางกลุ่มผู้จัดทำโครงการมีความคิดที่จะทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น จึงได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษาให้มาทำกิจกรรมกับผู้ป่วยที่อาคารเย็นศิระ มีรูปแบบกิจกรรมเป็นการพูดคุยและให้กำลังใจคนไข้ โดยทำเป็นกิจกรรมที่มีลักษณะต่อเนื่องติดตามคนไข้ระยะเวลาหนึ่ง โดยผู้ดำเนินโครงการจะแบ่งกันเป็นคู่ หนึ่งคู่ต่อคนไข้หนึ่งคน เน้นการพูดคุยเป็นหลัก โดยเฉลี่ยทุกคู่จะได้ไปพบกับคนไข้ประมาณ 4-5 ครั้ง การพูดคุยกับคนไข้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กำลังใจและทำให้คนไข้ไม่รู้สึกเหงา

มีการประเมินโดยให้ผู้ดำเนินโครงการทำบันทึกสะท้อนคิดจากการไปพูดคุยกับคนไข้ ได้พบว่าคนไข้ส่วนใหญ่รู้สึกเต็มใจและยินดีที่พวกเราไปพูดคุยด้วย รวมทั้งผู้ดำเนินโครงการก็ได้รับข้อคิดและทัศนคติที่ดีจากคนไข้เช่นกัน นอกจากนี้ก็ได้ฝึกทักษะการสื่อสารและการมีปฏิสัมพันธ์กับคนไข้

หลักการและเหตุผล

อาคารเย็นศิระ เป็นอาคารที่พักสำหรับคนไข้และญาติที่มารักษาตัวที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โดยตั้งอยู่ในวัดโคกนาว ถนนกาญจนวณิชย์ ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
จุดประสงค์ของการก่อตั้งอาคารแห่งนี้ เพื่อเป็นที่พักแก่คนไข้และญาติ ซึ่งอาจจะเดินทางมาไกลจากต่างจังหวัด ไม่สะดวกในการเดินทาง ทั้งยังมีฐานะยากจนไม่มีเงินจ่ายค่าที่พักราคาหลายร้อยบาท ที่นี่จึงเป็นสถานที่ที่คนไข้และญาติสามารถมาพักในขณะรอทำการรักษา โดยคิดค่าใช้จ่ายคืนละ 5 บาทต่อคน พร้อมทั้งมีอาหารเลี้ยง 2 มื้อ มีเครื่องนอนกับของใช้ส่วนตัวที่จำเป็นให้ และยังมีบริการรถรับส่งไปกลับโรงพยาบาล คนไข้ส่วนใหญ่ที่มาพักที่นี่ส่วนใหญ่มักจะเป็น ผู้ป่วยเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง ต้องได้รับการให้เคมีบำบัดและฉายแสงหลายครั้ง ซึ่งการพักที่อาคารเย็นศิระจะเป็นการช่วยลดความลำบากและค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากบ้านมายังโรงพยาบาล
หลังจากได้รับคำแนะนำให้ไปทำกิจกรรมที่อาคารแห่งนี้ ผู้ดำเนินโครงการได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมอาคารเย็นศิระ เห็นความเป็นอยู่ของคนไข้ และได้มีการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ คณะผู้ดำเนินงานจึงมีความคิดที่จะทำกิจกรรมกับคนไข้ที่อาคารแห่งนี้ โดยมีรูปแบบเป็นการพูดคุยและให้กำลังใจคนไข้เพราะผู้ดำเนินโครงการตระหนักว่าเวลาเป็นสิ่งสำคัญ แต่มักถูกมองข้ามทั้งๆที่เป็นสิ่งที่ทุกคนมีและสามารถมอบให้แก่กันได้ ดังนั้นการให้ที่แสนเรียบง่ายแต่มีค่าก็คือการให้เวลา การพูดคุยเป็นการช่วยบำบัดจิตใจ ถ้าหากมีสุขภาพจิตดีก็นำไปสู่การมีสุขภาพกายดีได้ ผู้ดำเนินโครงการจึงเห็นว่าการพูดคุยจะเป็นการสร้างกำลังใจและทำให้คนไข้ไม่รู้สึกเหงาระหว่างที่พักที่อาคารเย็นศิระ

วัตถุประสงค์

  • พูดคุยกับเพื่อให้กำลังแก่ผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ที่อาคารเย็นศิระ
  • เพื่อให้ผู้ป่วยได้รู้สึกสบายใจที่มีคนคอยรับฟังสิ่งที่เขาอยากจะพูดสิ่งที่เขารู้สึก
  • เพื่อให้ผู้ป่วยไม่เหงารู้สึกมีความสุขและมีกำลังใจที่จะใช้ชีวิตต่อไป
  • เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้ที่จะเสียสละและเป็นผู้ให้
  • เพื่อสร้างจิตสาธารณะให้แก่นักศึกษาแพทย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • เพื่อเรียนรู้ที่จะสร้างมนุษยสัมพันธ์กับผู้ป่วยและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในวิชาชีพแพทย์ในอนาคต

เป้าหมายของโครงการและผลที่คาดว่าจะได้รับ

เป้าหมายเชิงคุณภาพ

1.ผู้เข้าร่วมโครงการตระหนักถึงผลประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง
2.ผู้เข้าร่วมโครงการเรียนรู้ที่จะสร้างมนุษยสัมพันธ์กับผู้ป่วย
3.ผู้ป่วยมีความสุขเพิ่มขึ้น รู้สึกสบายใจ ดีใจที่มีเพื่อนคุยและมีกำลังใจที่จะใช้ชีวิตต่อไป

เป้าหมายเชิงปริมาณ

1.นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 PBL 17 ปีการศึกษา 2557 จำนวน 9 คน
2.บันทึกสะท้อนคิดจำนวน 1 เล่ม
3. นักศึกษา 1 กลุ่ม ต่อผู้ป่วย 1 คนรวมทั้งหมด ผู้ป่วย 4 คน

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1. ผู้ป่วยมีความรู้สึกดีให้กับนักศึกษา
2. ผู้ป่วยกำลังใจที่จะใช้ชีวิตต่อไป
3. ผู้ป่วยรู้สึกมีความสุข และเพลิดเพลินกับการพูดคุยกับนักศึกษา
4. ผู้เข้าร่วมโครงการมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน
5. ผู้เข้าร่วมโครงการมีความสุขกับการให้ มีจิตสาธารณะ รวมทั้งมีความเข้าใจในตัวผู้ป่วยมากขึ้น
6. ผู้เข้าร่วมโครงการตระหนักและเห็นคุณค่าสำคัญของการดูแลสภาพจิตใจของผู้ป่วย

การดำเนินโครงการ

  • ไปอาคารเย็นศิระ เพื่อไปดูว่าอาคารเย็นศิระเป็นอย่างไร มีอะไรที่พวกเราสามารถทำได้บ้าง
  • ปรึกษา ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ เกี่ยวกับโครงการที่จะทำ และได้ข้อสรุปว่า จะทำโครงการสร้างสุขสู่เย็นศิระ
  • ไปอาคารเย็นศิระอีกครั้ง เพื่อดูว่ามีผู้ป่วยคนไหนบ้างที่พวกเราสามารถเข้าไปหาได้ โดยรับคำปรึกษาจากพี่นุช พยาบาลที่อาคารเย็นศิระ
  • แบ่งกลุ่มเป็น 4 กลุ่มกลุ่มละ 3 คน 1 กลุ่ม และ กลุ่มละ 2 คน 3 กลุ่ม ไปสัมภาษณ์คนไข้ 4 คน ซึ่งเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งหมด
  • แต่ละกลุ่มแบ่งกันไปอาคารเย็นศิระ ในช่วงเวลาที่ผู้ป่วยว่าง และพวกเราว่าง โดยไปอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เพื่อพูดคุยกับคนไข้ซึ่งวันเวลาอาจปรับเปลี่ยนได้ หากผู้ป่วยเสร็จการรักษาก่อนโครงการจบ
  • เขียนบันทึกสะท้อนคิด

ผลการดำเนินโครงการ

จากการที่แต่ละกลุ่มไปพูดคุยกับผู้ป่วย เฉลี่ยกลุ่มละ 5 ครั้ง ทำให้พวกเราได้ให้เวลากับคนไข้ เป็นการช่วยให้ผู้ป่วยได้ระบายความเครียด ความกังวล ยิ่งไปกว่านั้นการที่พวกเราได้ไปพูดคุยกับคนไข้ ทำให้พวกเราได้มุมมองใหม่ๆ ได้เข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วยมากขึ้น

การประเมินโครงการ

เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน
บันทึกสะท้อนคิดของนักศึกษา

รูปแบบการประเมิน

ในการทำกิจกรรมเสริมหลักสูตรในครั้งนี้ ได้มีการประเมินความสัมฤทธิ์ผลของการดำเนินโครงการ โดยอาศัยเครื่องมือหลักคือ บันทึกสะท้อนคิด ซึ่งเป็นบันทึกที่รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ป่วยแต่ละคน รวมทั้งความรู้สึก ทัศนคติและสิ่งที่นักศึกษารวมทั้งผู้ป่วยแต่ละคนได้รับจากการทำกิจกรรมครั้งนี้

วัตถุประสงค์ของการประเมิน
1.เพื่อแสดงถึงประสิทธิภาพของในการดำเนินงาน
2.เป็นตัวชี้วัดความรู้สึกของผู้เข้าร่วมโครงการที่มีต่อโครงการ
3.เพื่อสะท้อนผลที่ได้รับจากการทำโครงการ

สรุปผลของการประเมิน

นักศึกษาแต่ละคนเขียนบันทึกสะท้อนคิดถึงประสบการณ์และสิ่งต่างๆที่ตนได้รับรวมทั้งความรู้สึกต่อโครงการเป็นจำนวนอย่างน้อยคนละ 1 หน้ากระดาษ

สรุปผลการดำเนินโครงการ

จากการดำเนินโครงการสร้างสุข สู่เย็นศิระ ผลปรากฏว่านักศึกษาทุกคนมีทัศนคติต่อผู้ป่วยไปในทางที่ดีขึ้น ได้รับรู้ความรู้สึกของคนเมื่อยามเจ็บป่วย ได้เห็นการดำเนินชีวิตและการใช้ชีวิตของผู้ป่วยแต่ละคนทั้งนี้นักศึกษาทุนคนมีความรู้สึกที่อยากจะทำโครงการดีๆอย่างนี้อีก ในการทำโครงการครั้งนี้ก็ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ทุกข้อ กล่าวคือ นักศึกษาตระหนักถึงความสำคัญของการเป็นผู้ให้ มีความสุขที่ได้ทำประโยชน์เพื่อเพื่อนมนุษย์ในด้านของผู้ป่วย จากการที่แต่ละคนได้พูดคุยกับผู้ป่วยคนหนึ่งในฐานะที่เราเป็นนักศึกษาธรรมดาๆคนหนึ่งจะเห็นได้ว่า มีความสนิทสนมกับผู้ป่วยมากขึ้นเริ่มจากที่เราเป็นผู้ให้ ไปให้เวลาให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยเมื่อการพูดคุยผ่านไปสักระยะหนึ่งก็กลายเป็นการสนทนาถึงชีวิตประจำวัน บอกเล่าถึงประสบการณ์ชีวิต หลักการในการดำเนินชีวิตเสียมากกว่าจนในครั้งสุดท้ายที่ได้ไปพูดคุยก็มีความรู้สึกถึงการจากลาที่เราต้องลาผู้ป่วยเพราะการคุยแต่ละครั้งที่ผ่านๆมา ก็ทำให้เรารู้สึกคุ้นเคยกันมากขึ้นและรู้สึกเหมือนว่าผู้ป่วยเองก็ได้ให้บางสิ่งบางอย่างแก่เรากลับมาด้วยเช่นกันนอกจากนี้โครงการยังช่วยเสริมสร้างความสามัคคีและการทำงานร่วมกันของกลุ่มนักศึกษา ร่วมมือช่วยเหลือกันทำงาน เสนอความคิดเห็นและแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินโครงการ และส่วนที่สำคัญที่สุด คือ โครงการได้ปลูกฝังนักศึกษาให้รู้จักคุณค่าของการเป็นผู้ให้และการมีจิตสาธารณะ รู้จักการทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น รวมทั้งช่วยเหลือสังคมในอนาคต ดั่งพระราชปณิธานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก บิดาทางการแพทย์ของไทยว่า “ให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นกิจที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์”


แค่นี้ก็พอจะนึกภาพรวมออกแล้วใช่ไหมครับ

เดี๋ยวจะทยอยนำบทความสะท้อนของลูกศิษย์แต่ละคนมาลงนะครับ

โปรดอดใจรอ


ธนพันธ์ ชูบุญรู้สึกว่าต้องรีบสะสางงาน

๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๘

หมายเลขบันทึก: 598957เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2015 10:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 ธันวาคม 2015 10:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

บันทึกสะท้อนคิดของผู้ดำเนินโครงการ

อาคารเย็นศิระ

อาคารสีขาวสูงสี่ชั้น ตั้งอยู่บริเวณภายในวัดโคกนาว เชื่อว่าทุกคนที่สัญจรผ่านหน้าวัดทางถนนกาญจนวณิชย์จะต้องเคยเห็น อาคารแห่งนี้มีชื่อว่า “เย็นศิระ” เปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นที่พักของผู้ป่วยและญาติที่มีฐานะยากจนและอยู่ห่างไกล ซึ่งมารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เดิมทีเป็นอาคารขนาดเล็กสามารถรองรับผู้อาศัยได้เพียง 48 คนแต่ก็ไม่เพียงพอ ต่อมาความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์ท่านจึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 300,000 บาท เพื่อสร้างอาคารเพิ่มเติมให้สามารถรองรับผู้อาศัยได้เพิ่มขึ้น

ปัจจุบันอาคารเย็นศิระสามารถรองรับผู้อาศัยได้ประมาณ 400 คน ผู้เข้าพักส่วนมากจะเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ต้องมารับการฉายแสงและให้เคมีบำบัดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน รวมทั้งคนไข้ทั่วไปที่อยู่ห่างไกลซึ่งต้องมารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ แต่มีฐานะยากจนไม่มีเงินเช่าห้องพักราคาหลายร้อยบาท คนไข้เหล่านี้จึงเลือกที่จะพักที่อาคารเย็นศิระ ซึ่งประหยัดและสะดวกในการเดินทาง การเข้าพักที่อาคารเย็นศิระมีค่าใช้จ่าย 5 บาทต่อคนต่อคืน พร้อมทั้งมีอาหารให้ 2 มื้อ และเครื่องนอนเครื่องใช้พื้นฐาน ภายในอาคารเย็นศิระถูกแบ่งเป็นห้องมากมายมีทั้งห้องใหญ่ที่พักได้หลายสิบคน และห้องเล็กที่พักเพียง 4-6 คน มีการแยกที่พักชาย-หญิง เด็กและแบบที่มาเป็นครอบครัว มีเจ้าที่หน้าดูแลตลอด 24 ชั่วโมง

สร้างสุขสู่เย็นศิระ

โครงการสร้างสุขสู่เย็นศิระ พวกเราได้ไปอาคารเย็นศิระในเวลาที่ว่างจากการเรียน เพื่อให้เวลากับคนไข้ที่พักอยู่ที่อาคารเย็นศิระ กิจกรรมที่เราไปทำดูเหมือนกิจกรรมที่ไม่มีอะไรมาก แต่ความจริงแล้ว มีองค์ประกอบอย่างอื่นมากมายในการไปพบคนไข้ในหนึ่งครั้ง พวกเราต้องเตรียมคำถาม และประเด็นต่างๆที่จะไปพูดคุยกับคนไข้ ทำอย่างไรให้คนไข้รู้สึกอยากพูดคุยกับพวกเรา ไม่รู้สึกเบื่อและยินดีที่จะเล่าประสบการณ์ของตนให้พวกเราฟัง

คนไข้ที่เราไปพูดคุยด้วยที่อาคารเย็นศิระ ท่านเป็นพระสงฆ์ ภูมิลำเนาจังหวัดตรัง อายุ 50 ปีป่วยเป็นมะเร็งต่อมทอนซิล ซึ่งก่อนที่ท่านจะทราบว่าตัวท่านป่วยเป็นมะเร็งนั้น มีอาการเริ่มแรกคือ มีก้อนที่คอ จึงไปพบหมอในครั้งแรก หมอก็ได้ให้ยามา ก้อนเนื้อก็ยุบลงไป แต่ไม่นานก็บวมขึ้นมาอีก ผลจากการตรวจในครั้งหลัง ออกมาว่าท่านเป็นมะเร็ง ความรู้สึกแรกที่ท่านรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ท่านก็ไม่ได้ตกใจอะไรมากเพราะได้เตรียมใจไว้ก่อนแล้ว แต่หลังจากนั้นอาการก็ค่อยแย่ลงเรื่อยๆถึงขนาดว่าเคยปวดมากจนสลบไปที่ระเบียงนอกกุฏิ จนกระทั่งตื่นมาอีกทีก็พบว่าเปียกไปทั้งตัวเพราะฝนตก

หลังจากนั้นท่านก็เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โดยเริ่มต้นด้วยการฉายแสง ซึ่งต้องฉายแสงทั้งหมด 35 แสงและให้เคมีบำบัด 3 ครั้ง รวมระยะเวลาประมาณ 3-4 เดือน ซึ่งในช่วงที่พวกเราไปพบท่านนั้น ท่านกำลังจะฉายแสงครบ อาการของท่านทุเลาลงมากแล้ว มีโอกาสหายเป็นปกติสูง แต่ก็ยังมีอาการอื่นๆเช่น คอแห้ง ต้องจิบน้ำอยู่ตลอด และน้ำหนักลดอย่างมากในช่วงหลัง เพราะทานอะไรไม่ค่อยได้ จนหมอต้องกำชับว่าอย่าให้น้ำหนักลดลงต่ำกว่า 45 กิโลกรัมเพราะจะไม่เป็นผลดีรักษา สุดท้ายน้ำหนักของท่านลดลงจนเหลือ 44 กิโลกรัม แต่ท่านก็ได้ทำการรักษาต่อจนจบ

จากการที่ได้ไปพูดคุยกับคนไข้ ทำให้พวกเราได้หลายๆอย่างกลับมา เช่น มิติของการเจ็บป่วยที่มากกว่าการรักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งยังมีด้านอื่นๆอีกมากมายที่ได้รับผลกระทบจากการเจ็บป่วยหนึ่งครั้ง ทั้งคนในครอบครัวของผู้ป่วย ค่ารักษาพยาบาล และที่สำคัญคือสภาพจิตใจของผู้ป่วย แต่ด้วยความที่ท่านเป็นพระสงฆ์ จึงได้ปรับเอาหลักศาสนามาใช้กับชีวิต มองว่าการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตจึงทำให้ท่านมีสติที่เข้มแข็ง สามารถขจัดความวิตกกังวลของท่านไปได้ ทำให้ท่านมีมุมมองที่ดีต่อการรักษา มีกำลังใจที่ดี ในการต่อสู้กับมะเร็ง จนสุดท้ายท่านก็สามารถกลับมาหายเป็นปกติได้ในที่สุด ซึ่งเป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆให้พวกเราว่า ในการที่จะรักษาผู้ป่วยซักคนหนึ่ง มิติทางด้านของจิตใจนั้นมีบทบาทสำคัญไม่แพ้มิติทางด้านการรักษา

นางสาวกษมพร ทองพนัง

นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2

ขอบคุณครับ กษมพร (ขอเดาว่าหนูเกิดวันจันทร์) จากที่สะท้อนมานั้น คงจะพอเห็นว่า เมื่อเริ่มต้นที่จะไปให้ ท้ายที่สุด เราอาจจะได้บางอย่างกลับมาแทนโดยไม่รู้ตัว

สร้างสุขสู่เย็นศิระ

เมื่อมาถึงอาคารเย็นศิระ วันแรกที่ได้เจอน้อง น้องยังดูเหมือนไม่กล้าพูดกับเรามากเท่าไร เราก็ถามอาการของน้อง พูดคุยเรื่องทั่วไป ก็ได้ทราบว่าน้องเป็นเนื้องอกในสมอง ซึ่งได้ผ่าตัดแล้ว ตอนนี้กำลังมาฉายแสงอยู่ที่โรงพยาบาล ได้รู้มาว่าอาการเริ่มแรกของน้องเกิดขึ้นที่โรงเรียนโดยที่นั่งเรียนอยู่ดีๆน้องก็หมดสติไปเลย คุณครูได้พาน้องไปโรงพยาบาล ตอนนั้นหมอวินิจฉัยว่าน้องเป็นไมเกรนและได้ให้ยามากิน น้องบอกว่าได้กินยาแล้วแต่อาการยังไม่ดีขึ้น จนมีอยู่วันหนึ่งน้องได้หมดสติในห้องน้ำที่บ้านของน้อง แม่ของน้องจึงต้องรีบพาน้องไปส่งโรงพยาบาล หมอบอกว่าน้องมีเนื้องอกในสมองต้องผ่าตัด แต่ต้องไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ที่นี่หมอได้เจาะน้ำออกจากศีรษะของน้องโดยต่อท่อออกมาที่บริเวณท้อง และน้องได้ถูกส่งตัวมาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์เพื่อมาผ่าตัด น้องเล่าว่าเมื่อผ่าตัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตื่นมาน้องมองไม่เห็น หมอบอกว่าเป็นผลข้างเคียงจากการผ่าตัด แล้วอาการจะดีขึ้นเรื่อยๆเอง และน้องยังมีอาการอ่อนแรง ทำให้ต้องรับการกายภาพบำบัด ซึ่งในขณะที่เราไปหาน้องตอนนี้ น้องก็ยังมองเห็นได้ไม่ดี เวลาจะไปไหนต้องมีน้องสาวหรือคนอื่นพาไปเสมอเราได้ไปเยี่ยมน้องบ่อยๆโดยบางครั้งก็ซื้อขนม ผลไม้ น้ำปั่น ไปฝากบ้าง น้องก็ดีใจมาก เมื่อได้พูดคุยกันบ่อยๆ ก็ทำให้สนิทสนมมากยิ่งขึ้น น้องกล้าที่จะบอกเล่า พูดคุยกับเรามากขึ้น ทุกๆครั้งที่เราไปเยี่ยมน้อง อาการของน้องก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เราเองก็รู้สึกดีและมีความสุขไปด้วยเช่นกัน จากการพูดคุยกับน้องทำให้เราทราบประวัติของน้องมากขึ้น น้องเป็นชาวมุสลิม มีบ้านอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส ครอบครัวของน้องมีฐานะที่ค่อนข้างยากจน น้องบอกว่าน้องมีความฝันที่จะเป็นคุณครู ถ้าได้เรียนสูงๆ น้องก็อยากจะเรียน เพราะน้องชอบเรียนหนังสือ แต่เนื่องจากทางบ้านมีฐานะที่ไม่ค่อยดีประกอบกับตอนนี้น้องก็ป่วยอยู่ ความฝันของน้องจึงอาจจะเป็นไปได้ยากกว่าเดิม น้องจึงอยากหายป่วยและกลับไปเรียนหนังสือเร็วๆ เราก็ได้ให้กำลังใจน้องว่า น้องต้องทำได้ เพราะเราเชื่อว่าไม่มีความฝันใดที่ยากเกินจะเอื้อมถึง วันอื่นๆที่เราได้มาเยี่ยมน้องก็พูดคุยกันเรื่องทั่วไป พูดเรื่องเที่ยว ชีวิตประจำวัน เราก็คุยกันอย่างสนุกสนานและสนิทสนมมากขึ้น แล้วเมื่อถึงวันที่น้องจะกลับ เราก็ได้ถ่ายรูปกับน้องเก็บไว้เป็นที่ระลึก น้องสาวของน้องได้ให้เบอร์โทรศัพท์ติดต่อเรามา และได้ให้รูปถ่ายนักเรียนเล็กๆหนึ่งรูป พร้อมเขียนข้อความว่า ขอให้พี่คิดถึงน้องด้วยนะ ตอนนั้นเราก็น้ำตาคลอๆไม่คิดว่า น้องจะผูกพันกับเราได้มากขนาดนี้ แล้วเราก็ได้ให้เบอร์โทรศัพท์ติดต่อของเราไปเหมือนกัน เพราะน้องจะต้องมาตามที่หมอนัดอีก เมื่อวันที่น้องกลับมาอีกครั้ง น้องเอาเบอร์โทรศัพท์ของคนอื่นโทรมา แต่เราไม่ได้รับสาย แล้วตอนดึกก็มีข้อความเสียงส่งมาว่า “พี่… น้องถึงหาดใหญ่แล้วนะ” ตอนนั้นคือรู้สึกผิดมากที่ไม่ได้รับโทรศัพท์ของน้อง แต่เนื่องจากวันสองวันนั้นเราไม่ค่อยจะมีเวลาว่างจึงไม่ได้ไปหาน้อง แต่เมื่อเราจะไปหาน้องในตอนเย็นวันหนึ่ง พี่เจ้าหน้าที่ได้บอกกับเราว่า น้องเพิ่งกลับไปเมื่อตอนเที่ยงวันนี้เอง ทำให้เรารู้สึกเสียใจมากที่ไม่ได้มาเจอน้อง เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไรจะได้เจอกันอีกจากการที่ได้ไปทำกิจกรรมที่อาคารเย็นศิระครั้งนี้ ทำให้ได้ประสบการณ์ใหม่ๆมากมาย ทำให้เราได้เพิ่มทักษะในการสนทนา การปรับตัวเพื่อให้เข้ากับผู้อื่นได้ถึงแม้การไปทำกิจกรรมครั้งนี้อาจมีอุปสรรคอยู่บ้าง เช่น ความแตกต่างทางด้านศาสนา วัฒนธรรม ภาษา เพราะน้องฟังพูด ภาษาไทยไม่ค่อยคล่องเท่าไร แต่เราก็สามารถก้าวผ่านอุปสรรคตรงนี้ไปได้ แถมยังได้มิตรภาพดีๆและความผูกพันที่เราคาดไม่ถึง นอกจากนี้ยังเป็นการแบ่งปันเวลาของเราเองไปให้ผู้อื่น ซึ่งบางทีเค้าอาจจะต้องการสิ่งเหล่านี้มากกว่า สิ่งของ วัตถุ เงินทอง ที่มีคนมากมายมาบริจาคให้ ข้าพเจ้าคิดว่าการให้เวลา เป็นการให้ที่ดีที่สุดและมีคุณค่าที่สุดที่ไม่สามารถหาได้จากที่ไหนอีกแล้ว

นางสาวจิตรา ศรีเอกพาณิชย์

นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2

สร้างสุขสู่เย็นศิระ

โครงการสร้างสุขสู่เย็นศิระ เป็นโครงการที่ทำให้เรารู้จักคำว่าให้มากขึ้น ให้ในที่นี้ก็คือการให้เวลา ให้ความสุข ให้กำลังใจแก่ผู้ป่วย ให้ความสบายใจจากการที่เราไปนั่งพูดคุยกับผู้ป่วย ทำให้เราเห็นว่าบางทีการให้เวลาก็สำคัญเหมือนกัน

ครั้งแรกที่พี่เจ้าหน้าที่ที่เย็นศิระแนะนำพวกเราให้รู้จักกับน้องที่พวกเรารับผิดชอบรู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะไม่รู้จะชวนน้องคุยยังไง น้องดูเป็นคนเงียบๆ และเราเองก็พูดไม่ค่อยเก่ง อีกอย่างคือน้องเป็นชาวมุสลิม ยังพูดภาษาไทยไม่ค่อยชำนาญจึงอาจทำให้น้องไม่กล้าพูดด้วยแต่พอได้เริ่มคุยกัน เริ่มแนะนำตัวกัน น้องก็กล้าพูดมากขึ้น

จากการที่ได้พูดคุยกันทำให้ทราบว่าตัวน้องเป็นคนนราธิวาส อายุ 20 ปี น้องมารพ.ด้วยอาการเนื้องอกในสมอง และเข้ารับการผ่าตัดเนื้องอกที่รพ.สงขลานครินทร์ ซึ่งก่อนหน้าที่จะพบเนื้องอกในสมอง น้องมีอาการปวดหัวและชักบ่อยที่โรงเรียน น้องจึงไปรพ.ใกล้บ้าน หมอบอกว่าเป็นไมเกรน ได้ยามาทานแต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น ต่อมาน้องหมดสติในห้องน้ำแม่จึงพาไปรพ.อีกครั้ง และพบว่าเป็นเนื้องอกในสมอง ตอนนั้นที่รพ.ได้ทำการเอาน้ำในสมองออก และส่งตัวมาผ่าตัดต่อที่รพ.สงขลานครินทร์ หลังผ่าตัด ก็มีอาการอ่อนเพลียเดินไม่ได้ ต้องทำกายภาพบำบัด และมองไม่เห็น ช่วงที่พวกเราไปนั้นน้องมาพักที่อาคารเย็นศิระเพราะต้องเข้ารับการฉายแสงหลายครั้ง เพื่อความสะดวกจึงพักที่อาคาร โดยมีญาติมาเฝ้าผลัดเปลี่ยนกันเรื่อยๆ ซึ่งช่วงนั้นก็จะเป็นน้องสาวลูกพี่ลูกน้องมาเฝ้า

ครั้งแรกที่เราคุยกัน เราจะคุยกันเรื่องทั่วๆไป ถามน้องว่ามาจากไหน เคยไปเที่ยวไหนมาบ้าง เล่าเรื่องของเราเพื่อให้น้องรู้สึกสบายใจ ครั้งต่อๆมาน้องเป็นกันเองมากขึ้น รู้สึกสนุกไปกับเรามากขึ้น กล้าที่จะเล่าเรื่องให้พวกเราฟังมากขึ้นทุกครั้งที่เราไปน้องจะยิ้มให้เราเสมอ บางครั้งเราก็มีขนมเล็กๆน้อยๆไปฝากน้องบ้างการไปแต่ละครั้งทำให้เราเห็นว่าอาการของน้องดีขึ้นเรื่อยๆ จากตอนแรกที่ไป น้องมองไม่ค่อยเห็น จะเดินไปไหนก็ต้องมีน้องอีกคนพาไปตลอดๆ แต่ครั้งหลังๆ น้องเริ่มเดินด้วยตัวเองได้ เริ่มมองเห็นมากขึ้น

เราถามน้องถึงความฝันว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร น้องบอกว่าน้องชอบเรียนหนังสือ ถ้ามีโอกาสน้องก็อยากเป็นครู เพราะทางบ้านน้องฐานะไม่ค่อยดีด้วย และน้องก็ป่วยอยู่ด้วย จึงไม่สามารถไปเรียนได้ถ้าหายน้องก็อยากกลับไปเรียนเหมือนเดิม เราก็ได้แต่ให้กำลังใจน้อง และบอกว่าน้องทำได้

นอกจากการได้คุยกับตัวน้องแล้ว เรายังได้คุยกับพี่มุสลิมที่เป็นเจ้าหน้าที่ที่เย็นศิระที่ดูแลน้องอยู่ด้วย พี่เค้าบอกว่า น้องเป็นคนที่น่าสงสาร ทางบ้านน้องฐานะไม่ค่อยดี ตอนนี้มีน้าของน้องที่เลี้ยงครอบครัวอยู่คนเดียว ซึ่งมีทั้งแม่ ทั้งตัวน้องเอง และพี่น้องอีกหลายคน พี่เค้าบอกว่าก่อนหน้านี้ที่น้าของน้องมาเฝ้าที่เย็นศิระ น้องไปฉายแสงที่รพ.และทำบัตร 30 บาทหาย ทำให้ครั้งนี้ต้องจ่ายเงินมากขึ้นกว่าเดิม น้าเองก็ไม่มีเงินแล้วจึงต้องกลับไปทำงาน และให้น้องสาวหยุดเรียนเพื่อมาเฝ้าแทนทำให้เราเข้าใจน้องมากขึ้น

เมื่อถึงวันที่น้องใกล้กลับเราก็ได้ไปหาน้อง มีการถ่ายรูปกัน แลกเบอร์กันนอกจากนั้นน้องสาวของน้องยังให้รูปถ่ายของน้องไว้กับพวกเราด้วย พร้อมกับเขียนด้านหลังรูปถ่าย เป็นภาษาไทย ว่า ขอให้คิดถึงน้องด้วยนะ และเขียนชื่อเรากับเบอร์โทรศัพท์ของน้องไว้ ถึงแม้ว่าน้องจะเขียนชื่อของเราผิดไป แต่ก็เห็นถึงความตั้งใจของน้องที่จะเขียนทั้งที่น้องยังไม่ถนัดภาษาไทย แต่ก็ยังเขียนให้เรา ตอนนั้นรู้สึกดีใจมาก ไม่คิดว่าน้องจะเขียนให้ ไม่คิดว่าน้องจะรู้สึกผูกพันกับเราขนาดนี้

ในวันนั้นน้าของน้องจะมาหาน้องเพื่อรับกลับบ้านในวันถัดไป เราจึงได้อยู่รอเจอน้าของน้องด้วยน้าดูเป็นคนที่ใจดีมาก อัธยาศัยดี คุยกับเราอย่างเป็นกันเองและในวันนั้นเราก็ได้ชวนน้องกับน้องสาวไปเดินโลตัสด้วย เพราะน้องเคยบอกกับเราว่าไม่ค่อยได้ไปเที่ยวไหนเลย ก็เลยอยากพาน้องไปเดินเล่นบ้างแต่พอถึงเวลาจะไปจริงๆ ก็มีคนมาเยี่ยมน้องซะก่อน สุดท้ายเลยเป็นน้องสาวของน้องที่ได้ไปไปถึงก็พาเดินเล่น กินไอศกรีมพูดคุยกันเรื่องต่างๆเรื่องที่บ้านบ้างเรื่องทั่วๆไปบ้าง แล้วก็พาน้องกลับไปที่เย็นศิระ แล้วก็ลากันแล้วบอกกันว่าเดี๋ยวจะมาหาใหม่นะ เพราะน้องมีนัดดูอาการอีก

ช่วงที่น้องกลับไปแล้วช่วงนั้นเรามีงานเยอะมาก เลยยังไม่ได้โทรหาน้องวันหนึ่งน้องโทรมาหาเรา แต่ใช้เบอร์ของคนอื่น น้องโทรมาถามเราว่าเป็นยังไงบ้าง น้องสบายดีนะ แล้วน้องก็โทรมาขอเฟสบุ๊คพวกเราด้วย เพราะน้องเพิ่งสมัคร ก็เลยบอกไป แต่น้องก็ยังไม่ได้แอดมา เลยคิดว่าไว้รอถามวันที่น้องมาที่เย็นศิระอีกที

เมื่อถึงวันที่น้องมาที่เย็นศิระอีกครั้งเพื่อมาเช็คอาการ ในวันนั้นเราไม่สามารถไปได้ จึงไปในวันถัดไป แต่เจ้าหน้าที่ที่เย็นศิระบอกน้องเพิ่งกลับไปเมื่อตอนเที่ยงเอง เรารู้สึกเสียใจและเสียดายมากที่คลาดกัน เพราะไม่รู้จะได้พบกันอีกตอนไหน และอีกอย่างคือเราได้บอกน้องไว้ว่าจะมาหาอีกนะ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เจอกันแต่ยังไงก็ยังหวังว่าเราจะได้เจอกันอีก และตอนที่เจอกันครั้งหน้าก็ขอให้น้องมีสุขภาพที่ดีหายขาดจากโรคที่เคยเป็นด้วยนะ

การได้มาทำโครงการในครั้งนี้ได้สอนอะไรเราหลายๆอย่างมากได้สอนให้มีทักษะในการสื่อสารกับผู้อื่นมากขึ้น จากตอนแรกที่คิดว่าคงจะพูดอะไรไม่ได้เลย ไม่รู้จะคุยอะไรจะชวนคุยอะไรดี แต่พอได้ลองคุยกับน้องจริงๆ ได้เข้าใจได้รับรู้ในสถานการณ์ที่น้องเป็น ก็ทำให้เรารู้สึกคุยได้อย่างสบายใจ กล้าที่จะพูดคุยกับน้องเพื่อให้น้องสบายใจได้มากยิ่งขึ้น และที่สำคัญคือยังสอนให้เรารู้จักให้เวลาคนอื่นอีกด้วย ทำให้รู้ว่าการเสียสละเวลาของเราเพียงเล็กๆน้อยๆ ไปพูดคุย ไปให้กำลังใจคนอื่น ทำให้เค้ามีความสุขได้เหมือนกัน

นางสาวจุฑารัตนศรีสุวรรณ

นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2

สร้างสุขสู่เย็นศิระ

...ความรู้สึกของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งต่อโครงการ…

ข้าพเจ้ายังจำความรู้สึกแรกที่รับรู้ว่าต้องทำงานโครงการที่เกี่ยวกับการทำประโยชน์เพื่อเพื่อนมนุษย์เมื่อได้ฟังชื่อโครงการแล้วก็รู้สึกว่าเป็นโครงการที่ใหญ่มากยอมรับว่าความรู้สึกแรกคือไม่อยากทำ “นี่เราต้องไปทำโครงการอะไรอีกเนี่ยยิ่งใหญ่ขนาดนั้นเด็ก 9 คนจะทำไหวหรอ” เสียงในหัวดังมาอย่างนั้นแต่ยังไงเราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็เลยจับกลุ่มประชุมกันเกี่ยวกับโครงการที่อยากจะไปทำคิดไว้หลายๆโครงการจากนั้นก็ไปนำเสนออาจารย์ประจำกลุ่มเสนอไปหลายๆโครงการเลยล่ะ เช่นโครงการเกี่ยวกับไข้เลือดออกก็วางแผนที่จะไปให้ความรู้คนในชุมชมแจกทรายอะเบทที่ทำเรื่องขอมาจากเทศบาล ยังจำได้ดีถึงคำพูดที่อาจารย์ถามกลับมาว่า “พวกคุณแน่ใจหรอว่าจะทำได้ดีว่ากระทรวงสาธารณะสุข ที่มีเจ้าหน้าที่อสม.1 คนต่อการดูแล 3ครัวเรือน และลงพื้นที่ประจำอย่างสม่ำเสมอ”พวกเราก็เริ่มตระหนักว่านักศึกษาอย่างพวกเราจะเดินทางออกชุมชมก็ลำบากเนื่องจากเวลาว่างก็ไม่แน่นอนจะวางแผนลงพื้นที่แบบตายตัวเลยก็ยากหลังจากนั้นก็นำเสนอโครงการอีกมากมาย เช่น หนังสือเสียงเพื่อคนตาบอดเปิดรับบริจาคเสื้อกันหนาว เครื่องนุ่งห่มให้คนที่อาศัยอยู่บนดอย ที่ที่ความเจริญยังเข้าไม่ถึงมากนักหรือจะเป็นการเปิดหมวกหาเงินทุน ไปทำประโยชน์แก่เด็กกำพร้า หรือคนชราเสนอไปยังไงก็ไม่ผ่านอาจารย์ไม่อยากให้เราทำโครงการที่ลงมือเพียงครั้งเดียวใหญ่ๆอยากให้โครงการมีความต่อเนื่องก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นจริงๆณ ตอนนั้นก็พยายามคิดหาโครงการใหม่แต่คิดยังไงก็คิดไม่ออกอาจารย์จึงแนะนำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของ “เวลา”สิ่งที่ไม่ว่าใครก็ต้องการ และเงินก็ไม่สามารถซื้อสิ่งนี้มาได้หลังจากนั้นอาจารย์ก็แนะนำให้รู้จัก “อาคารเย็นศิระ” อาคารธรรมดาๆที่ไม่ธรรมดาก่อนหน้านี้ข้าพเจ้าเคยได้ยินชื่ออาคารแห่งนี้มาก่อน และรู้เพียงว่าเป็นที่พักสำหรับผู้ป่วยและญาติ“แล้วไงล่ะ เราต้องไปทำอะไรให้อาคารแห่งนี้ ทาสี? จัดหาเงินทุน หาของบริจาค? ไปจัดกิจกรรมสนุกๆ?”เสียงในหัวก็ดังขึ้นมาอีก

ก้าวแรกที่ย่างเข้าไปรู้จักกับอาคารแห่งนี้ทำให้ข้าพเจ้ารู้ว่าอาคารเย็นศิระไม่ใช่อาคารเก่าๆ มืดๆเหมือนในจินตนาการของข้าพเจ้าเลยอาคารแห่งนี้ทั้งสะอาดและให้ความอบอุ่นอย่างบอกไม่ถูก เป็นที่ที่เปิดรับคนทุกประเภท ทุกเพศทุกวัย ทุกศาสนา ทุกๆฐานะ และพี่ๆเจ้าหน้าที่ก็ดูแลที่แห่งนี้ด้วยความผูกพัน มีความรักความเอาใจใส่ให้กับคนไข้เป็นอย่างมากจากนั้นพี่ๆก็แนะนำประวัติ ความเป็นมาของอาคาร สิ่งที่พี่ๆทำในแต่ละวันและทำให้รู้ว่าคนไข้ที่มาพักส่วนใหญ่มักเป็นคนไข้ที่มีเนื้อร้ายที่ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษา ต้องฉายแสงและให้เคมีบำบัดอย่างต่อเนื่องทั้งนี้คนไข้ส่วนใหญ่ก็มีแผลที่ต้องทำความสะอาดทุกวันและที่นี่ก็ยังต้องการอุปกรณ์ทำแผลอยู่

การประชุมครั้งที่สองก็มาถึง กลุ่มของข้าพเจ้าก็ได้เสนอที่จะทำโครงการเกี่ยวกับการทำแผลให้คนไข้พูดคุยและให้เวลากับคนไข้เอาเวลาของเราไปให้เขาพร้อมทั้งมีการเปิดหมวกหาทุนซื้ออุปกรณ์ทำแผลอาจารย์จึงแนะนำว่า เอาเพียงแค่เวลาไปให้เขาก็พอแล้วไม่จำเป็นต้องไปเปิดหมวกหาเงินทุนให้เสียเวลาการประชุมครั้งนี้จำได้ข้อสรุปเป็นโครงการที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น

ผู้ป่วยที่ข้าพเจ้าได้ไปพูดคุยนั้นเป็นพระรูปหนึ่งจากจังหวัดตรังท่านเป็นมะเร็งที่ต่อมทอนซิลรักษาตัวที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์โดยการฉายแสง 35 ครั้งและเคมีบำบัด 3 ครั้งระหว่างที่ท่านพักอยู่ที่อาคารเย็นศิระแห่งนี้ข้าพเจ้าก็แวะเวียนไปพูดคุยกับท่านอยู่เป็นประจำเท่าที่เวลาจะเอื้ออำนวยการพูดคุยกับผู้ป่วยครั้งนี้ทำให้ข้าพเจ้าได้รับรู้ความคิดความรู้สึกต่างๆ จากคนผู้ป่วยคนหนึ่งท่านเป็นคนที่มีความมุ่งมานะตั้งใจเป็นอย่างมากตั้งใจว่ายังไงก็จะรักษาตัวให้หายท่านอยู่ได้ด้วยความเชื่อมั่นว่าทุกอย่างต้องเป็นไปได้ดีท่านบอกว่า “มนุษย์เรากับความตายมันเป็นของคู่กัน”ท่านจึงไม่มีความเครียดหรือกังวลใดๆแน่นอนว่าการรักษาเนื้อร้ายไม่ได้ผ่านไปได้อย่างง่ายดายระหว่างการรักษาท่านต้องเผชิญกับอาการทุกข์ทรมานจากผลข้างเคียงของการฉายรังสีทำให้ท่านเจ็บปวดมาก รู้สึกคลื่นไส้อาเจียน ทานอาหารไม่ค่อยได้จนเป็นผลให้ท่านน้ำหนักลดลงเกินกว่าที่หมอจะอนุญาตให้ท่านรักษาต่อแต่ด้วยความดื้อของท่านจึงขอให้หมอรักษาท่านต่อเพราะเหลือเพียงไม่กี่แสงจนในที่สุดเนื้อร้ายนี้ก็หายไปท่านกลับไปเป็นคนที่มีสุขภาพดีอีกครั้ง

ท่านได้ให้ความรู้ข้อคิด แนวทางในการดำเนินชีวิตอย่างมากมาย ในฐานะพระคนหนึ่งทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจความรู้สึกความนึกคิดของผู้ป่วยคนหนึ่งและได้เรียนรู้ประสบการณ์ที่มีค่าของคนคนหนึ่งทั้งนี้ยังได้รู้มุมมองของผู้ป่วยคนหนึ่งที่มีต่อแพทย์ ได้รู้ว่าเขามีความต้องการหรือคาดหวังสิ่งใดจากแพทย์จากบุคลากร ไปจนถึงจากโรงพยาบาล

หลังจากการทำโครงการครั้งนี้ทำให้ข้าพเจ้ามองหลายสิ่งหลายอย่างในมุมมองที่ต่างจากเดิมทำให้ข้าพเจ้ารู้ว่าจริงๆแล้วการทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นเป็นสิ่งทำได้ง่ายๆ ไม่ต้องใช้เงินทุนใดๆหรือเวลามากมายมหาศาล บางทีเวลาเพียงเล็กๆน้อยๆของเราอาจจะเป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่าของคนใดคนหนึ่งก็เป็นได้

“จงเดินหน้าต่อไปด้วยสติและความกล้าหาญ”

นางสาวชนิสรา เถาเมืองใจ

นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2


</td>

ฮ่า ฮ่า ฮ่า

เธอเขียนได้ดีเสียจนฉันรู้สึกว่า ตัวเองเผด็จการ ไม่ใช้หลักการ student-centered เลยสักนิดเดียว ฮ่า ฮ่า ฮ่า


สร้างสุขสู่เย็นศิระ

บางคนอาจจะสงสัย หากได้ยินชื่อโครงการ “สร้างสุขสู่เย็นศิระ” ไม่ใช่สงสัยว่าโครงการนี้จะทำอะไร ? หากแต่สงสัยว่า “เย็นศิระ” คืออะไร ? อยู่ที่ไหน ? เพราะฉะนั้นก่อนอื่นเลยผมก็จะขอเท้าความถึงเย็นศิระก่อน

“เย็นศิระ” คือ สถานที่ซึ่งให้การพักพิงแก่ผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยที่จะต้องได้รับการฉายแสงทุกวัน การเดินทางไปมาอาจจะลำบาก ก็สามารถมาพักที่นี่โดยคิดค่าพักต่อวันรวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้นเพียง 5 บาทเท่านั้น ฟังไม่ผิดหรอกครับเพียง 5 บาท แถมยังมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลอีกต่างหาก รวมถึงผู้ป่วยที่ไม่มีญาติ ผู้ป่วยที่บ้านอยู่ไกลก็สามารถมาพักอาศัยได้ อาคารเย็นศิระตั้งอยู่ภายในวัดโคกนาว แต่ไม่ว่าคุณจะเป็นไทยพุทธหรือไทยมุสลิมคุณก็สามารเข้ามาพักพิงได้

“สร้างสุขสู่เย็นศิระ” คือ โครงการที่เราตั้งใจจะไปให้ ซึ่งให้ในที่นี้ ให้ของเราคือให้เวลากับผู้ป่วย โดยที่เราจะแบ่งกันเป็นคู่ๆ ต่อผู้ป่วย1คน ก่อนจะไปก็มีความกังวลมาก กังวลไปหลายเรื่อง กลัวเค้าจะไม่คุยกับเรา กลัวว่าไม่รู้จะคุยอะไรกับเค้า กลัวว่าที่เราไปจะเป็นการไปรบกวนเค้า คิดไปหลายอย่างมาก จนถึงวันที่ต้องไปจริงๆ พี่นุชซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่อาคารเย็นศิระ ก็ได้แนะนำผู้ป่วยให้พวกเรารู้จัก ซึ่งผู้ป่วยที่คู่ของผมได้ คือป้า... ซึ่งพบกันครั้งแรกที่ห้องพักของป้าที่เย็นศิระ โดยคุณป้า...มีป้าศรีซึ่งรับบทมาเป็นทั้งเพื่อนและญาติในคราวเดียวมาอยู่ด้วย คุณป้า...ยิ้มแย้มตลอดเวลาที่พูด ทำให้ผมลดความกังวลไปได้ คุณป้าบอกว่าคุณป้าเป็นมะเร็งจนต้องตัดมดลูกทิ้ง และต้องฉายแสงทั้งหมด 25 แสง คุณป้ามาจากนครศรีธรรมราช ตอนแรกตั้งใจจะไปเช่าอพาร์ทเม้นท์อยู่ แต่คุณหมอแนะนำให้มาอยู่ที่เย็นศิระ คุณป้า...อายุ 73 ปี เป็นครูมาก่อน เคยเป็นครูที่จังหวัดยะลามาก่อน ทำให้ผมพอได้มีเรื่องที่จะคุย เพราะผมมาจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยอมรับเลยว่าครั้งแรกที่ไปคุยกับคุณป้า ผมตื่นเต้นมาก พูดไม่ค่อยถูก ไม่ค่อยได้พูด โชคดีอย่างที่บอกไปว่าป้าดูยิ้มแย้มตลอดเวลา ทำให้ลดความความตื่นเต้นไปได้นิดหนึ่ง และก็ต้องขอบคุณคู่หูของผมที่หาเรื่องชวนคุยเก่งมาก ทำให้ทราบเรื่องราวของคุณป้าอีกหลายอย่าง เช่น ลูกคุณป้ามี 2 คน ลูกคุณป้าทำงานที่ไหนเป็นต้น ก่อนจะกลับผมก็ได้ถามเกี่ยวกับการฉายแสง ทำให้ทราบว่าคุณป้ายฉายแสงทุกช่วงบ่าย ผมก็เลยนัดกับคุณป้าว่าครั้งหน้า จะเดินไปฉายแสงพร้อมคุณป้า คุณป้าก็ตอบตกลง พวกเราก็ลาคุณป้ากลับ

ครั้งที่ 2 เรานัดกับคุณป้าไว้ที่เย็นศิระ แต่ปรากฏว่าคุณป้าออกไปก่อนแล้ว จึงตามไปที่ห้องฉายแสงแต่ก็ไม่กล้าเข้า ระหว่างรอได้ซักพัก คุณป้าก็ออกมาพอดี จึงได้นั่งคุยกับคุณป้า ครั้งนี้ผมก็กล้าคุยกับคุณป้ามากขึ้นเพราะเริ่มคุ้นเคย คุณป้าชอบเล่าเรื่องลูกๆของคุณป้าให้ฟัง ซึ่งทุกครั้งที่คุณป้าเล่าเรื่องของลูกๆให้ฟัง แววตาคุณป้าดูจะมีความสุขมาก พอคุยกันเสร็จ เราจึงขอเดินไปส่งคุณป้า แม้คุณป้าจะปฏิเสธแต่ผมพวกเราก็ยืนยันที่จะเดินไปส่ง การเดินไปส่งครั้งนี้ก็ทำให้รู้ว่า การเดินทางไปกลับจากเย็นศิระมาโรงพยาบาลนั้นสะดวกมากและค่อนข้างปลอดภัย

การพบกันครั้งที่ 3 หัวข้อสนทนาก็ยังคล้ายๆเรื่องเดิมๆ แต่ครั้งนี้เราเริ่มถามถึงความเจ็บป่วย ว่าเป็นมายังไง คุณป้าก็บอกว่าแกโชคดีที่ตรวจสุขภาพประจำปีเป็นประจำอยู่แล้ว จึงตรวจเจอความผิดปกติเร็ว พอตรวจเจอคุณป้าก็ถูกส่งมารักษาที่โรงพยาบาลมอ.เลย ซึ่งหลังจากผ่าตัดมดลูกออก คุณป้าก็ต้องฉายแสงอีก 25 แสงเพื่อป้องกันมะเร็งลุกลาม ซึ่งการพบกันครั้งเป็นครั้งท้ายๆของการฉายแสงแล้ว คุณป้าบอกว่าคุณป้าเริ่มมีอาการเบื่ออาหารกินอะไรไม่ได้เลย กินแล้วท้องเสียมาซักพักแล้ว สังเกตจากสีหน้าคุณป้าแล้วดูทรมานอย่างเห็นได้ชัด ผมก็ได้แต่บอกว่า เดี๋ยวพอคุณป้าฉายแสงครบอาการก็คงจะดีขึ้นเอง ซึ่งครั้งนี้คุณป้าได้เล่าเรื่องสามีคุณป้าที่เสียชีวิตไปแล้วด้วย ผมยังจำใบหน้าของคุณป้าตอนเล่าเรื่องนี้ได้ แม้จะผ่านไปหลายปีแล้ว แต่ตอนคุณป้าก็ยังคงคิดถึงสามีของคุณป้าอยู่ ซึ่งครั้งนี้เราก็ได้เดินไปส่งคุณป้าที่เย็นศิระเหมือนเดิม

ครั้งถัดมาครั้งที่ 4 คราวนี้เราไปเจอคุณป้าก่อนที่คุณป้าจะเดินไปฉายแสง คุณป้าเล่าเรื่องที่ลูกคุณป้าพาคุณป้าไปเที่ยวสวนสัตว์ให้ฟังในวันเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา ใบหน้าของคุณป้าดูมีความสุขมากตอนเล่าเรื่องนี้ให้พวกเราฟัง ซึ่งสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์สุดท้ายแล้วที่คุณป้าจะฉายแสง ผมก็เลยลองถามเรื่องของเย็นศิระดู คุณป้าก็เล่าถึงเรื่องผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนที่ไม่เพียงพอ ไม่มีให้เปลี่ยนต้องซักเอง บางครั้งพอนำไปซักก็หายจึงต้องไปนั่งเฝ้า บางครั้งห้องน้ำก็สกปรก ส่วนอาการเบื่ออาหารของคุณป้าก็ยังไม่ดีขึ้น เริ่มมีอาการอาเจียนร่วมด้วย แต่ก็มียาที่คุณหมอให้มาเพื่อบรรเทาอาการจึงดีขึ้น คุยกันได้ซักพักคุณป้าก็ไปฉายแสง จึงนัดกับคุณป้าไว้ว่า เดี๋ยวพวกเราจะมาอีกที วันสุดท้ายที่คุณป้าฉายแสง แล้วพวกเราก็ลาคุณป้ากลับไป

จนถึงวันสุดท้าย ครั้งนี้เป็นครั้งที่ผมประทับใจมาก คุณป้านั่งอยู่ที่ม้าหินอ่อนหน้าอาคารเย็นศิระ พอเห็นพวกเราขับรถเข้ามา คุณป้าฉีกยิ้มกว้างอย่างเห็นได้ชัด ไม่รู้ว่าที่คุณป้ายิ้มนั้นยิ้มเพราะกำลังจะได้กลับบ้านหรือเพราะพวกเรามากันแน่(ฮา) รอยยิ้มของคุณป้าที่ได้เห็นในวันนี้ ทำให้ผมรู้สึกว่าที่ทำมามันต้องมีความหมายบ้างแหละ จากที่ผมไม่กล้าพูดคุยกับคุณป้าก็กลายเป็นว่าผมสามารถชวนคุยไปได้เรื่อยๆ และรู้สึกได้ถึงความเอ็นดูที่คุณป้ามีให้เรา สำหรับผมถือว่าการมาทำโครงการถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว การที่เราไปคุยกับคุณป้าแล้วคุณป้าไม่ได้รำคาญเรา แถมยังรอเราซะอีก ซึ่งตรงนี้ผมมองว่าจริงๆแล้วอาจเป็นเพราะบางทีคนที่เจ็บไข้ก็ต้องการกำลังใจ ต้องการคนคุยด้วยนอกจากเรื่องเจ็บไข้ ให้เค้าได้ระบายได้พูดคุยเรื่องที่เค้าอยากพูดให้ใครสักคนฟัง เพียงแค่เรามี“เวลา”มานั่งคุยกับคนไข้ ก็สามารถช่วยเยียวยาด้านจิตใจของคนไข้ไปได้แล้ว ซึ่งครั้งนี้ก่อนจากกัน คุณป้าก็อวยพรให้โชคดีทั้งในเรื่องเรียนและเรื่องต่างๆ รู้สึกประทับใจมากอีกเหมือนกัน เหมือนว่าคุณป้าเห็นเราเหมือนลูกเหมือนหลานท่านทั้งๆที่เราใช้เวลามาคุยกับท่านไม่นานเท่านั้น ประสบการณ์ดีๆจากโครงการนี้ผมจะไม่ลืมเลยจริงๆ

นายทรงกลด พาณิชพัฒนกุล

นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2


ขอบคุณครับทรงกลด

สนุกจริงๆ

สร้างสุขสู่เย็นศิระ

การที่กลุ่มของพวกเราได้มีการทำโครงการสร้างสุขสู่เย็นศิระ ในครั้งแรกนั้นพวกเราตั้งใจจะหาเงินบางส่วน โดยการเปิดหมวกหรือรับบริจาคเงินต่าง ๆ เพื่อนำไปมอบให้กับอาคารเย็นศิระเพื่อใช้ซื้ออุปกรณ์การแพทย์ อุปกรณ์รักษาพยาบาลต่าง ๆ แต่อาจารย์ประจำกลุ่มของพวกเราได้แนะนำว่า ทำไมไม่ไปพูดคุยหรือช่วยเหลือคนไข้แทนล่ะ อาจจะไปช่วยทำแผลแทน กลุ่มของเราเลยเปลี่ยนแนวคิดต่อโครงการเป็นการเข้าไปพูดคุยกับคนไข้แทน

อย่างแรกที่ได้ลงมือทำคือ การได้ไปเยี่ยมเยียนอาคารเย็นศิระ ได้เจอกับพี่นุช ซึ่งพี่นุชก็ได้แนะนำอาคาร พาเดินดูผู้ป่วยที่นี่จนครบ แรก ๆก็กลัวผู้ป่วยมาก ๆ เพราะแต่ละคนจะเป็นโรคเรื้อรัง หรือไม่ก็เป็นมะเร็งที่มีแผลน่ากลัว คิดว่าตัวเองจะทำกิจกรรมนี้ไม่ได้ อีกอย่างหนึ่งก็คือ ด้วยการที่เรายังไม่เคยทำอะไรแบบนี้มาก่อน ยังไม่มีประสบการณ์ในการทำแผลหรือทำความสะอาดแผล ทำให้ผมไม่ค่อยกล้าที่จะทำ กลัวทำให้ยิ่งแย่หรือไม่ก็ยิ่งลำบาก

พวกเราได้มาที่อาคารเย็นศิระอีกครั้ง มาเลือกผู้ป่วยที่จะติดตามทำโครงการด้วยในระยะยาว ซึ่งผู้ป่วยที่เลือกต้องเป็นผู้ป่วยที่อยู่อาคารนี้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น ต้องฉายแสงติดต่อกัน 1 -2 เดือน หรือไม่ก็ไม่กลับบ้าน โดยกลุ่มของเราแบ่งกันทำเป็นคู่จากการจับฉลาก ซึ่งผมได้คู่กับธีรัตม์

ผมกับธีรัตม์ก็ได้เลือกคุณลุงคนหนึ่ง พี่นุชได้พาเราสองคนมาหาลุงและแนะนำบอกลุงแกว่า พวกผมจะมาพูดคุยช่วยดูแลลุง ซึ่งตอนเจอครั้งแรกนั้น ทำให้ผมรู้เลยว่า ลุงแกเป็นคนพูดเก่ง พวกเราได้เข้าไปหาลุง ซึ่งตอนนั้นลุงแกนอนอยู่คนเดียว ผมก็ได้แนะนำตัวเองให้ลุงรู้จัก และเริ่มพูดคุยกัน ลุงแกบอกว่าแกอายุ 82 ปีแล้ว ครั้งแรกที่ได้ยินนั้น ผมกับธีรัตม์แทบไม่เชื่อเลย เพราะจากการการที่ได้สังเกตดูแล้ว ลุงแกยังดูไม่แก่มาก และยังพูดจากระฉับกระเฉง แข็งแรงดี ซึ่งไม่คิดว่าจะอายุปูนนี้แล้ว

ลุงเข้ามารักษาตัวอยู่ที่ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้ประมาณ 1 สัปดาห์ แกบอกว่าแกมีอาการเจ็บที่คอ เลยมาหาหมอ หมอให้ฉายแสง 35 แสง พวกผมก็ถามแกว่า แกเป็นมะเร็งอะไร แกตอบมาว่า แกไม่ได้เป็นมะเร็ง แต่เหมือนเป็นแมลงอะไรซักอย่าง เดี๋ยวก็หาย ตอนนั้นทั้งผมและธีรัตม์ต่างก็งง ๆ กันครับ ว่าแมลงอะไร แต่ผมคิดในใจ ว่าแกอาจจะปลอบใจตัวเองหรือไม่ก็พยายามไม่คิดว่าเป็นมะเร็ง แค่แมลงบางอย่างเดี๋ยวก็หายไป

การพูดคุยกับลุงนั้น เนื่องจากลุงเป็นคนจังหวัดตรัง ทำให้ภาษาที่ลุงพูดเป็นภาษาใต้ ผมฟังภาษาใต้พอได้บ้าง แต่บางครั้งก็ไม่ค่อยเข้าใจ อีกอย่างหนึ่งคือทั้งผมและธีรัตม์ต่างก็ไม่ได้พูดภาษาใต้ พวกเราสนทนากันโดยฝั่งหนึ่งใช้ภาษาใต้ อีกฝั่งหนึ่งใช้ภาษากลาง อาจจะมีเข้าใจผิดหรืองง ๆ กันบ้าง แต่ก็สามารถคุยกันได้เรื่อย ๆ

ลุงมีลูก 3 คน ซึ่งจะขับรถมาจากตรังมาหาแกอยู่บ่อย ๆ พาแกไปโรงพยาบาลบ้าง หรือไม่ก็ช่วยดูแลแกต่าง ๆ นานา แต่ครั้งแรกที่พวกผมไปนั้น ยังไม่เจอลูกของลุงแกเลย

ลุงทำอาชีพทำไร่ทำสวนทั่วไป ถึงแม้จะอายุ 82 ปีแต่ก็ยังทำงานอย่างหนักแน่นทุกวันตามสภาพร่างกายที่ยังแข็งแรงอยู่ บางครั้งผมยังคิดว่า คุณลุงอายุเยอะขนาดนี้แล้ว ไม่น่าจะทำอะไรได้มากมายตามที่ลุงแกว่า

ในช่วงสัปดาห์แรกที่พวกผมได้คุยกับลุงนั้น ลุงได้บ่นถึงเรื่องการนัดฉายแสงของทางโรงพยาบาลซึ่งสร้างความลำบากให้กับตัวลุงมาก โรงพยาบาลนัดลุงมาฉายแสงประมาณสามทุ่ม ซึ่งเป็นเวลาที่ลุงไม่อยากออกไปไหนแล้ว อีกอย่างคือ ในช่วงกลางวันลุงก็จะว่างมากจนไม่รู้จะทำอะไรนอกจากนอน ลุงแกบอกว่าหากพวกเราช่วยได้ก็อยากจะให้ช่วยตรงนี้ ซึ่งผมกับธีรัตม์ก็คิดว่าจะลองมาคุยกับทางโรงพยาบาลดูเรื่องการเลื่อนนัดฉายแสงให้เป็นช่วงกลางวันแทน

ระหว่างที่คุยกันไปเรื่อย ๆ ลุงก็จับมือของธีรัตม์ขึ้นมาแล้วก็ดูลายมือของธีรัตม์ ลุงแกก็พูดเหมือนกับหมอดู ทำนายอนาคตเรื่องต่าง ๆ ของธีรัตม์ สร้างความประหลาดใจให้กับตัวผมและตัวธีรัตม์ไม่มากก็น้อย ลุงแกไม่ใช่หมอดูหรอก แต่ก็เคยฝึกการดูลายมืออยู่บ้าง ซึ่งธีรัตม์บอกว่าตามที่ลุงพูดนั้นก็ตรงกับตัวธีรัตม์เลย ผมไม่ค่อยกล้าให้ลุงดูลายมือเพราะตัวผมเองเป็นคนกลัวการทำนายอนาคตมาก ๆ

ตลอดการพูดคุยกันในครั้งแรกนั้นเป็นไปด้วยดีกว่าที่ผมคิดไว้ ลุงแกพูดคุยไปด้วยรอยยิ้มและมีเรื่องขำขันเฮฮาในสมัยหนุ่มๆให้ฟังเสมอ ผมรู้สึกมีความสุขมาก เหมือนกับได้ฟังเรื่องราวที่ผมไม่เคยรู้จากคนคนหนึ่ง ตอนนั้นทำให้ผมเปลี่ยนความคิดเรื่องการมาพูดคุยกับคนไข้โดยสิ้นเชิง

พอช่วงเย็นของวันนั้น ลุงแกบอกว่าจะต้องไปโรงพยาบาล พวกผมเลยอาสาจะไปกับลุงด้วย ระหว่างทางที่เดินมาโรงพยาบาลนั้น ก็ได้เจอกับลูกสาวลุงคนหนึ่งพอดีซึ่งกำลังจะมารับลุงไปโรงพยาบาล จึงได้จากลากันตรงนั้นสำหรับวันนี้

ครั้งต่อมาที่ได้มาเยี่ยมลุงนั้น ครั้งนี้ได้เจอกับลูกของลุงสองคน การพูดคุยกันก็ยังเป็นลักษณะเดิม แค่มีเรื่องบางเรื่องเสริมขึ้นมาจากลูก ๆ ของลุงบ้าง ลูกสาวลุงบอกว่า ลุงแกเป็นคนเดินเร็วมากและเดินโดยไม่เหนื่อยเลย จนลูก ๆ แกเดินตามแทบไม่ทัน นั่นเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ทำให้ผมเชื่อว่าลุงแกแข็งแรงและสุขภาพดีมาก ๆ

ในครั้งนี้เหมือนอาการของลุงแย่ลงบ้าง คือลุงแกเจ็บตรงบริเวณคอมากขึ้น ทำให้การกินอาหารของลุง แม้แต่น้ำเปล่าก็ลำบากมากขึ้น ลุงแกเจ็บมากทุกครั้งที่กลืน ทางอาคารเย็นศิระมีนมเสริมให้สำหรับคนไข้ ซึ่งหากเรากินอาหารไม่ได้ เราก็ควรจะกินนมนี้ให้ได้ ไม่อย่างนั้นร่างกายจะไม่มีอาหารไปเลี้ยง พวกผมพูดคุยกับลุงไปจบเรื่องหนึ่งก็จะให้ลุงแกดื่มนมเข้าไปหนึ่งครั้ง ทำแบบนี้เรื่อย ๆ จนลูกของลุงแกบอกว่า จริง ๆ แล้วลุงแกไม่ค่อยกินนมเลย แต่เพราะพวกผมทำแบบนี้ลุงแกถึงกินเยอะขึ้นมาได้ การไปพบหมอครั้งหน้า หมอน่าจะลองให้ลุงแกรับอาหารทางสายยางเพราะหากลุงแกกินได้น้อยเหมือนทุก ๆ วัน อาการจะแย่ลงไปอีก

พวกผมก็ได้แต่หวังว่าลุงแกจะกินได้เยอะขึ้น แล้วร่างกายกลับมาแข็งแรงดังเดิมไวๆ ครั้งนี้พวกผมลาลุงและบอกกับลุงไว้ว่า อาจจะมาเยี่ยมได้น้อยลงเพราะเริ่มใกล้สอบแล้ว ลุงแกก็ยิ้มแล้วบอกว่าไม่เป็นไร ว่างเมื่อไหร่ก็มาได้ตลอด

การมาเยี่ยมในครั้งอื่นต่อมา พวกผมก็จะมาในเวลาเดิม ๆ เจอลุงบ้าง ไม่เจอลุงบ้าง หากวันไหนไม่เจอก็จะไปถามพี่นุชว่าลุงไปไหน พี่นุชบอกว่าลุงแกอาจจะไปโรงพยาบาล หรือไม่ก็เดินเล่นอยู่ที่โลตัส ซึ่งถ้าไปแล้วไม่เจอลุง พวกผมก็จะกลับ แล้วค่อยมาใหม่วันอื่น

พอเข้าสัปดาห์การสอบ ทั้งผมและธีรัตม์ก็เว้นช่วงไปเยี่ยมลุงนานพอสมควร พอสอบเสร็จ สัปดาห์ต่อไปก็ไปเยี่ยมลุง แต่ก็ไม่เจอลุงแล้ว ก็คิดว่าลุงไปโรงพยาบาล แต่ไปกันตลอดหลาย ๆ ครั้งก็ไม่เจอลุงเลย จนมาทราบจากพี่นุชว่าลุงแกกลับบ้านไปแล้วเพราะรักษาเสร็จ ฉายแสงครบ 35 แสงแล้ว พวกผมก็รู้สึกใจหายเพราะยังไม่ได้เจอลุงนานและไม่ได้บอกลาลุงเลย แต่อีกใจหนึ่งก็ดีใจที่ลุงแกรักษาจนครบและอาการก็ดีขึ้นแล้วตามทีพี่นุชว่า

แม้ว่าการเยี่ยมคนไข้ พูดคุยกับคนไข้ ช่วยเหลือคนไข้ตามโครงการสร้างสุขสู่เย็นศิระของพีบีแอล17 ผมและธีรัตม์อาจมาเจอลุงได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็นเพราะว่างไม่ตรงกัน แต่เวลาเพียงเท่านี้ก็ทำให้ผมและธีรัตม์มีความรู้สึกว่า โชคดีมากแล้วที่ได้มีโอกาสมาคุยกับลุง ทุกอย่างเป็นเหมือนที่อาจารย์ว่าเอาไว้ คือ สิ่งที่สำคัญที่คนไข้ต้องการ ไม่ใช่เพียงแต่การรักษาหรือยาดีดีจากหมอ แต่เป็นเวลาที่จะมีใครหรือกลุ่มคนซักกลุ่มหนึ่งไปให้ความสำคัญ ไปสนใจในตัวของคนไข้ ผมนึกถึงลุงทุกครั้งก็อดยิ้มไม่ได้ เพราะช่วงเวลาที่ได้พูดคุยกันนั้น ผมมีความสุขมาก และผมเชื่อว่าลุงลิ่มเองก็มีความสุขจนลืมเรื่องการป่วยไปชั่วคราวได้เลย

กิจกรรมของพีบีแอลนี้ ก็เหมือนเป็นบทเรียนให้กับตัวผมในเรื่องของการพูดคุย การเข้าใจคนไข้ ซึ่งต่อไปในอนาคตผมจะได้ใช้ทักษะตรงนี้ในการสื่อสารกับคนไข้ต่อไป ผมจะนำเอาสิ่งที่ได้จากกิจกรรมนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ที่สุดและสร้างความสุขให้กับผู้คนทุกคน ไม่ว่าจะคนไข้หรือคนสบายดีก็ตาม

นายธนกร ไสยะ

นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2

สร้างสุขสู่เย็นศิระ

ตั้งแต่เริ่มมีโครงการนี้ขึ้นผมก็รู้สึกว่ามันเป็นโครงการที่ค่อนข้างแตกต่างจากกลุ่มPBLอื่นมาก นั้นก็คือการไปพูดคุยกับผู้ป่วย ไม่ค่อยแน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่ แต่พอได้ไปดูผู้ป่วยที่ตึกเย็นศิระ ก็รู้สึกได้ว่าสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการในระหว่างการรอเพื่อไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลนั้นก็คือกิจกรรมยามว่าง อะไรก็ได้ที่ทำให้เค้าไม่รู้สึกต้องทนเบื่อ กิจกรรมที่ผู้ป่วยต้องการนั้นไม่ได้หมายถึงกิจกรรมนันทนาการหรืออะไร แต่มันคือการพูดคุยกับใครสักคนนั้นแล้วรู้สึกสนุกไปด้วย การที่ผู้ป่วยต้องจากบ้านมาเพื่อรับการรักษานั้นส่วนมากก็มักจะอยู่คนเดียวเนื่องจากลูกหลานนั้นไม่ค่อยว่างต่างก็มีการมีงานทำ ส่วนใหญ่ก็มักจะมาตอนหลังเลิกงาน และพี่พยาบาลที่ประจำอยู่ที่นั้นก็มีไม่พอกับจำนวนผู้ป่วย จึงไม่ว่างที่จะมานั่งคุยเล่นกับผู้ป่วยทุกคน ผมคิดว่าการที่ผู้ป่วยเป็นโรคร้ายแรงก็เป็นเรื่องที่แย่พอแล้ว ถ้าหากต้องมานั่งทนเบื่อกับการรออีกคงเป็นอะไรที่ทำให้เค้ารู้สึกแย่มากกว่าเดิม เพราะฉะนั้นผมคิดว่าโครงการนี้จึงเป็นโครงการที่สามารถช่วยผู้ป่วยในด้านจิตใจได้ประมาณหนึ่ง หลังจากนั้นกลุ่มพวกเราก็ได้เข้าพบกับผู้ป่วยที่เราจะไปพูดคุยด้วยโดยแบ่งว่า กลุ่มเรามีทั้งหมด 9 คน แบ่งกลุ่มละ 2-3 คนต่อผู้ป่วย 1 คน และต้องทำกิจกรรมกับผู้ป่วยคนนั้นจนจบโครงการเพื่อที่จะได้ทราบว่าผู้ป่วยคนนั้นคือใคร มาจากไหน และทำไมถึงต้องมาอยู่ที่นี่ ผู้ป่วยที่ผมได้พูดคุยด้วยนั้นเป็นคุณลุงวัย 82 ปี ชาวตรัง มีลูก 3คน มักจะมาจากตรังในเย็นหลังเลิกงาน เนื่องจากมีลูกหลายคน จึงผลัดเวรกันมาเฝ้าพ่อ ร่างกายภายนอกของคุณลุงดูแข็งแรงมาก เป็นคนพูดเก่งลุงแกก็เล่าว่าเมื่อก่อนตอนแกเป็นวัยรุ่นแกก็ใช้ชีวิตวัยรุ่นที่ค่อนข้างจะผาดโผน ลองมาหมดทุกสิ่งอย่างทั้งดีและไม่ดี แต่พอเริ่มมีลูกก็เริ่มหยุด อีกทั้งเป็นที่รู้จักของคนในละแวกนั้น ในชีวิตนี้คุณลุงไม่เคยที่จะเข้าโรงพยาบาลแม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งลูกของลุงได้บอกว่าตอนที่อยู่ที่ตรัง ลุงแกเดินเอาผักเอาปลาไปให้ลูกซึ่งบ้านอยู่ห่างกันหลายกิโลเมตร และก็ยังสามารถขึ้นไปเก็บมะพร้าวได้ด้วย ซึ่งนี้เป็นครั้งแรกที่ลุงเข้าโรงพยาบาลมาด้วยอาการมะเร็งที่หลอดอาหาร แต่ลุงนั้นไม่ยอมรับว่าตนเป็นมะเร็ง ลุงได้เล่าให้ฟังว่าตอนที่ไปรักษากับหมอที่ตรังนั้น หมอได้บอกว่าลุงเป็นมะเร็งที่หลอดอาหาร ลุงจึงโกรธอย่างมากแล้วก็บอกว่าหมอคนนี้แย่มากรักษาไม่ดี ตามประสาคนที่ไม่พอใจในผลตรวจที่ได้ แต่พอมาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์นั้น หมอที่รักษาไม่ได้บอกว่าคุณลุงเป็นมะเร็ง คุณลุงจึงชื่นชมหมอที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์อย่างมากว่าหมอที่นี่เก่งมาก จึงทำให้ผมคิดว่าถึงแม้ว่าโรคที่เป็นมานั้นจะร้ายแรงอย่างไรก็ตาม จิตใจเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่าเสมอ เราควรที่จะดูแลทั้งสองด้านให้หายไปพร้อมๆกันหลังจากนั้นคุณลุงก็ได้เล่าให้ฟังว่าคุณลุงเคยเป็นหมอดูมาก่อนแล้วทำนายสิ่งต่างๆให้ผม ลุงบอกว่าผมเป็นคนเก็บเงินไม่ค่อยอยู่ต้องพยายามออมเงินบ้างนะจะได้มีใช้ในอนาคต แล้วก็บอกว่าผมจะมีลูก 3 คนแต่จะเสียไปหนึ่งคน ซึ่งลุงก็สอนว่าอย่าเชื่อดวงหมด แต่ก็อย่าประมาทกับชีวิต ดูดวงรู้ไว้เพื่อเตือนสติตนเองจะได้ไม่ทำในสิ่งที่ผิดและพอไปเยี่ยมคุณลุงทุกครั้งคุณลุงก็มักจะขอดูดวงเสมอ

ผมได้เข้าไปหาคุณลุงอาทิตย์ละครั้ง แต่ถ้าช่วงใกล้สอบก็จะบอกลุงก่อนว่าติดสอบแล้วจะมาหลังสอบซึ่งในครั้งหลังๆนั้นผมค่อนข้างจะคลาดกับคุณลุงเนื่องจากคุณลุงได้เปลี่ยนเวลาตรวจมาเป็นช่วงบ่าย ทำให้เมื่อเราไปก็มักจะไม่เจอ ผมจึงเปลี่ยนไปช่วงเย็นแทน แต่มักจะเจอคุณลุงหลับอยู่เนื่องจากคุณลุงเหนื่อยจากการฉายแสงมาและพอได้ไปในอาทิตย์ถัดมา ก็ไม่เจอคุณลุงแล้ว พี่พยาบาลก็บอกว่าคุณลุงเค้าหายดีแล้วกลับไปตั้งแต่อาทิตย์ที่แล้ว ผมเลยไม่ได้ถ่ายรูปกับคุณลุงสักครั้งเลย แต่ตอนที่ผมคุยกับคุณลุงนั้นหน้าคุณลุงยิ้มตลอดเลย แกยังบอกว่ามาหาบ่อยๆนะ คุยด้วยแล้วสนุกมากเลย ผมรู้สึกดีมากๆที่ได้ยินคำพูดเหล่านั้น การได้ทำกิจกรรมแบบนี้มันทำให้ผมได้รู้ว่าความรู้สึกของอีกฝ่ายว่าในขณะที่เป็นโรคดังกล่าวอยู่นั้น เค้ารู้สึกอะไรบ้าง เค้าต้องการอะไร และเค้าคาดหวังอะไรจากหมอ โดยที่กิจกรรมนี้สิ่งที่ต้องให้ผู้ป่วยนั้นคือ เวลาและใจ ในเวลาที่เราทำในสิ่งไร้สาระอยู่ เช่น นอนเล่น ดูหนัง เล่นเกม หรืออย่างอื่นก็ตาม แต่หากเรารู้ว่าการเสียสละเวลานี้แล้วจะได้สร้างรอยยิ้มและความรู้สึกที่ดีให้กับผู้อื่นมันก็เป็นสิ่งที่เราควรทำ และทำด้วยใจที่หวังจะสร้างความสุขให้แก่ผู้ป่วย ในโครงการนี้ผมรู้สึกมีความสุขมากๆครับที่ได้ทำ

นายธีรัตม์ ศิริวงศ์

นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2

สร้างสุขสู่เย็นศิระ

โครงการสร้างสุขสู่เย็นศิระ เป็นโครงการที่ไม่ต้องใช้เงินเลยแม้แต่บาทเดียว โดยมีรูปแบบคือการให้ ให้เวลาของพวกเราแก่ผู้ป่วย พวกเรา 9 คนจะแบ่งกันเป็นคู่ แต่ละคู่จะมีคนไข้ที่ต้องติดตาม 1 คน โดยจะติดตามตลอดระยะเวลาที่คนไข้อยู่ที่อาคารเย็นศิระ หรือจนกว่าระยะเวลาทำโครงการจะสิ้นสุด หลังจากได้ข้อสรุปรูปแบบโครงการ แม้มันจะฟังดูง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก แต่ในหัวของดิฉันกลับเต็มไปด้วยความกังวลมากมาย กลัวว่าคนไข้จะไม่อยากคุยกับเรา กลัวว่าไม่รู้จะคุยอะไรกับคนไข้ แล้วคนไข้เขาจะยอมเล่าเรื่องตัวเองให้เราฟังไหม พูดภาษาใต้ไม่เป็น แล้วคนไข้เขาจะกล้าคุยกับเราไหม เขาจะเขินไหม

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ พวกเราเริ่มกิจกรรม โดยไปติดต่อกับพี่นุช ซึ่งเป็นพยาบาลที่ดูแลคนไข้อยู่ที่อาคารเย็นศิระ พวกเราเคยพบพี่นุชมาก่อนหน้านี้แล้วตอนมาดูสถานที่ครั้งแรกก่อนตัดสินใจทำโครงการ เพียงพวกเราบอกว่าจะเข้ามาทำกิจกรรมที่นี่ พี่นุชก็ยินดีช่วยพวกเรา ในครั้งแรกที่มาอาคารแห่งนี้พี่นุชพาพวกเราเดินชมรอบๆและอธิบายระบบการทำงานของเจ้าหน้าที่ และรูปแบบการดูแลผู้ป่วย นอกจากพี่นุช ก็มีพี่เพ้ยที่เป็นเจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งได้แนะนำอาคารแห่งนี้ให้พวกเราได้รู้จักคร่าวๆ

หากดูจากภายนอก อาคารเย็นศิระก็เป็นอาคารธรรมดา 4 ชั้นทั่วไป ดิฉันเคยนั่งรถผ่านอาคารแห่งนี้นับครั้งไม่ถ้วน แต่ไม่เคยมีโอกาสเข้าไปเลย บรรยากาศรอบๆอาคารร่มรื่น มีคนออกมานั่งพูดคุยกันที่ม้าหินอ่อน ภายในแบ่งเป็นทั้งห้องนอนรวมเป็นโถงใหญ่ และห้องเล็กที่มีไม่กี่เตียง ถ้าวันธรรมดาคนก็จะเยอะ แต่ถ้าเป็นวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ คนไข้บางส่วนก็เดินทางกลับบ้าน คนจึงบางตากว่า ความรู้สึกแรกระหว่างเดินดูภายในอาคาร คือรับรู้ได้ถึงความทุกข์ความเจ็บป่วยของคนไข้ รวมทั้งญาติก็เช่นกัน น้อยคนนักที่จะมีสีหน้ายิ้มแย้ม

หลังจากนั้นพี่นุชก็พาพวกเราไปแนะนำให้คนไข้รู้จัก และให้พวกเราเลือกกันเองว่าอยากจะไปคุยกับคนไข้รายไหน ดิฉันและเพื่อนเดินเข้าไปที่ห้องเล็กๆห้องหนึ่งภายในมีสามเตียง มีคุณป้าสองคนกำลังนั่งคุยกันอยู่ หลังจากนั้นพวกเราได้แนะนำตนเอง และขออนุญาตนั่งคุยกับคุณป้า คุณป้าชื่อ... และอีกคนเป็นญาติที่มาอยู่เป็นเพื่อน ป้า...เป็นคนยิ้มแย้มและดูท่าทางใจดี ทำให้ดิฉันคลายกังวลไปได้เปราะหนึ่ง หัวข้อสนทนาส่วนใหญ่ของการพบกันครั้งแรกเป็นเรื่องทั่วไป คุณป้าอายุ 73 ปีเป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญ เคยรับราชการครูมาก่อน คุณป้ามาพักที่อาคารเย็นศิระเพราะต้องเข้ารับการฉายแสงทั้งหมด 25 ครั้ง เนื่องจากเป็นมะเร็งโพรงมดลูก โดยฉายแสงตั้งแต่วันจันทร์ถึงศุกร์ เนื่องจากต้องไปฉายทุกวันและคุณป้าไม่เคยมาหาดใหญ่มาก่อน การพักที่อาคารเย็นศิระจึงเป็นทางเลือกที่ดีและสะดวกสำหรับคุณป้า ป้า...มีลูก 2 คน ทั้งสองคนทำงานอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ครั้งแรกที่พวกเราได้คุยกับคุณป้านั้นคุณป้าฉายแสงมาแล้ว 3 ครั้ง แต่ยังไม่มีอาการข้างเคียงใดๆ คุณป้าเป็นคนอัธยาศัยดี เล่าเรื่องต่างๆให้ฟัง ชวนพวกเราคุยตลอด พวกเราทราบว่าคุณป้าจะไปฉายแสงทุกวันตอนช่วงบ่าย ดังนั้นพวกเราจึงขออนุญาตเดินมารับคุณป้าไปห้องฉายแสงด้วยในวันที่พวกเราว่าง หลังจากนั่งคุยกันเป็นเวลาชั่วโมงกว่าๆ พวกเราจึงขอตัวกลับ ดิฉันคิดว่าการพูดคุยครั้งแรกมันก็ไม่ได้แย่อย่างที่กังวลไว้ ทำให้รู้สึกว่าครั้งต่อๆไปก็ไม่น่ากังวลอีกแล้ว คงจะอย่างที่เขาว่ากันว่าการเริ่มต้นมักยากเสมอ แต่ถ้าผ่านไปได้ จากนี้ก็ไม่มีอะไรน่ากังวลแล้ว

ครั้งที่ 2 พวกเรามารับคุณป้าที่อาคารเย็นศิระ แต่ปรากฏว่าคุณป้าไม่อยู่ จึงเดินตามไปที่ห้องฉายแสง นั่งรอคุณป้าอยู่ครู่ใหญ่ ก็เจอคุณป้าตอนที่กำลังจะเดินกลับพอดี จึงเข้าไปทักและนั่งคุยกันที่หน้าห้องฉายแสง หัวข้อสนทนาก็ยังเป็นเรื่องสุขภาพของคุณป้า และเรื่องทั่วๆไป คุณป้าเล่าเรื่องความเป็นอยู่ที่บ้าน โดยคุณป้าอาศัยอยู่กับลูกสาวและครอบครัวของลูกสาว ส่วนลูกชายอีกคนอยู่บ้านอีกหลัง นอกจากนี้คุณป้าก็เล่าเรื่องสมัยก่อนให้ฟัง ดูแกมีความสุขเมื่อได้นึกถึงอดีต ที่เขาว่ากันว่าคนแก่มักจะมีความสุขเมื่อพูดถึงเรื่องในอดีตคงจะจริง หลังจากนั้นพวกเราก็เดินไปส่งคุณป้าที่อาคารเย็นศิระ แม้เป็นการพบกันครั้งที่สองแล้ว แต่ดิฉันก็ยังไม่กล้าถามเรื่องอาการป่วยของคุณป้ามากนัก กลัวจะทำให้แกไม่สบายใจ คิดว่าถ้าสนิทกันกว่านี้คุณป้าก็คงกล้าที่จะเล่า

ครั้งที่ 3 พวกเราไปเจอคุณป้าที่หน้าห้องฉายแสงอีกเช่นเคย แต่วันนี้คิวที่ห้องฉายแสงยาวคุณป้าเลยยังไม่ได้รับการฉายแสง จึงนั่งคุยกับพวกเราก่อน พอถามว่าคุณป้าป่วยมานานหรือยัง แกก็เล่าตั้งแต่แรกว่าปกติก็ไปตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจมะเร็งปากมดลูกประจำอยู่แล้ว ก็ไม่เคยเจอความผิดปกติ แต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมาตรวจเจอเนื้องอกในโพรงมดลูก หมอที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเวียงสระเลยส่งตัวคุณป้ามาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เพื่อตัดเนื้องอกและมดลูกออก และให้คุณป้าเข้ารับการฉายแสงเพื่อป้องกันการลุกลามของเซลล์มะเร็ง โดยต้องฉายแสงบริเวณหน้าท้อง แต่ละครั้งไม่ถึงชั่วโมงก็เสร็จ จากนั้นคุณป้าก็เล่าเรื่องสามีของแกที่เสียชีวิตไปหลายปีแล้ว พอถึงตรงนี้น้ำเสียงของคุณป้าก็เศร้าลง คุณป้าบอกว่าเหตุการณ์มันเกิดโดยไม่ทันได้ตั้งตัวเลย ไม่มีลางสังหรณ์หรืออะไรบอกเลย ดิฉันรู้สึกได้ว่าคุณป้าคงจะเหงาและคิดถึงคุณลุงมาก ดิฉันรู้สึกได้ว่าคุณป้าดูเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็งและมีกำลังใจในการดำเนินชีวิต รวมทั้งคนในครอบครัวและญาติก็ช่วยเหลือคุณป้าเป็นอย่างดี หลังจากนั้นพวกเราก็รอคุณป้าฉายแสงเสร็จจึงเดินไปส่งที่อาคารเย็นศิระ หลังการพบกันครั้งนี้ก็เริ่มรู้สึกว่าสนิทกับคุณป้ามากขึ้น คุณป้าเล่าเรื่องที่ละเอียดอ่อนต่อจิตใจของแกให้พวกเราฟัง นั้นอาจจะหมายถึงไว้ใจพวกเราและรู้สึกสนิทใจมากขึ้น

ครั้งที่ 4 พวกเราไปเจอคุณป้าที่อาคารเย็นศิระ จึงนั่งคุยกันที่ม้าหินอ่อนหน้าอาคารเย็นศิระ คุณป้าบอกว่าเริ่มมีอาการปวดท้อง เบื่ออาหาร อาเจียนบางครั้ง และท้องเสีย แต่พอหมอให้ยาอาการก็ดีขึ้น วันสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ลูกชายของคุณป้ามาจากนครศรีธรรมราชพาคุณป้าไปเที่ยวสวนสัตว์สงขลาและหาดสมิหลา คุณป้ามีสีหน้ายิ้มแย้มตลอดตอนเล่าเรื่องที่ไปเที่ยวมา คุณป้าคงดีใจที่ลูกมาเยี่ยม คุณป้าได้เล่าถึงเรื่องความเป็นอยู่ที่อาคารเย็นศิระ โดยมีความไม่สะดวกหลายอย่าง เช่น ห้องน้ำสกปรกเพราะเป็นห้องน้ำรวม และแม่บ้านไม่ค่อยทำความสะอาด ผ้าปูที่นอนก็มีไม่เพียงพอ ต้องซักเองเพราะไม่มีเปลี่ยน พอตากก็ต้องไปเฝ้าเพราะไม่เช่นนั้นอาจมีคนมาเอาไปใช้ เจ้าหน้าที่เคยบอกว่าผ้าปูที่นอนมีไม่พอ เพราะมีคนไข้บางคนมาพักแล้วเอาผ้าปูกลับบ้านไปด้วย จากที่ได้ฟังคุณป้า...เล่า จริงๆแล้วครอบครัวคุณป้าก็ไม่ได้มีฐานะลำบาก เพียงแต่ที่มาพักที่เย็นศิระเพราะสะดวกในการเดินทาง คุณป้าเป็นคนมีน้ำใจและนึกถึงผู้อื่นเสมอ สังเกตได้จากแกมักจะไม่ค่อยรับของแจกฟรี เช่น คูปองอาหารกลางวันที่โรงพยาบาล อาหารที่มีแจกที่อาคารเย็นศิระ เป็นต้น เพราะแกถือว่าแกใช้สิทธิ์จ่ายตรงในการรักษาตัวอยู่แล้ว รัฐบาลช่วยค่าใช้จ่ายส่วนนี้แล้ว แกบอกว่าอันไหนที่เรามีกำลังพอซื้อเองได้ก็ซื้อ เอาไว้ให้เขาแจกคนที่ลำบากดีกว่า

ในที่สุดวันสุดท้ายก็มาถึงคุณป้าฉายแสงครบแล้ว และกำลังจะกลับบ้านในวันรุ่งขึ้น ตอนพวกเราไปถึงที่หน้าอาคารเย็นศิระ ก็เจอคุณป้านั่งอยู่ที่ม้าหินอ่อนพอดี แล้วคุณป้าก็ยิ้มกว้างตอนเห็นพวกเรา ตอนนั้นรู้สึกดีมากๆ รู้สึกว่าการมาของเราทำให้เขายิ้มได้ขนาดนี้เลยหรอ มันเป็นรอยยิ้มเหมือนเวลาคนเฒ่าคนแก่เจอลูกหลานมาเยี่ยม คิดว่าคุณป้าคงรอพวกเราอยู่ เพราะพวกเราบอกว่าจะมาหาป้าก่อนป้ากลับบ้าน พวกเราเลยหยอกคุณป้าไปว่า ที่ยิ้มเพราะดีใจที่เจอพวกเราหรือว่าดีใจที่จะได้กลับบ้าน คุณป้าตอบว่าก็ดีใจทั้งสองอย่าง พอถามถึงอาการ คุณป้าก็บอกว่าตอนนี้ปวดท้องมาก ปวดจนนอนไม่ค่อยหลับ เบื่ออาหาร ทานไม่ค่อยได้ บางครั้งก็อาเจียนขณะนั่งสังเกตได้ว่าคุณป้าจะนั่งนิ่งๆไม่ค่อยขยับเพราะจะรู้สึกปวดมากขึ้น ดูน่าสงสารมาก หลังจากกลับบ้านคุณป้าก็ยังต้องกลับมาโรงพยาบาลอีกสามครั้งเพื่อใส่แร่ แต่การใส่แร่ก็แค่มาใส่แล้วกลับบ้านได้เลย คุณป้าดูจะมีความกังวล กลัวว่าจะเจ็บ พวกเราก็บอกคุณป้าว่าถ้าพวกเราว่างวันที่คุณป้ามาโรงพยาบาลแล้วจะไปหา ก่อนจากกันคุณป้าก็อวยพรพวกเราเหมือนเช่นทุกครั้งให้พวกเราตั้งใจเรียน เรียนจบมาเป็นหมอเก่งๆ เป็นหมอที่ดี ประสบความสำเร็จ

แต่หลังจากวันนั้นดิฉันก็ไม่ได้ไปเจอคุณป้าเลย เพราะทุกครั้งที่คุณป้ามาดิฉันก็มักจะไม่ว่าง แต่ก็เคยโทรหาคุณป้าและถามไถ่อาการ คุณป้าก็บอกว่ายังปวดท้องอยู่ และก็ก่อนวางสายก็ยังคงให้คำอวยพรเช่นเดิม ทำให้ดิฉันรู้สึกว่าคุณป้าเอ็นดูพวกเราเหมือนลูกหลาน ดิฉันก็ได้แต่หวังว่าขอให้แกหายเร็วๆ ไม่ปวดท้องแล้ว และสบายดี

ตอนนี้ดิฉันเข้าใจในสิ่งที่อาจารย์เคยบอกแล้วว่า คนไข้บางครั้งเขาก็ไม่ได้ต้องการเงินทองหรือยาดีมารักษาเขา เพราะเขาอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลอยู่แล้ว แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เขาต้องการแต่คนอาจมองข้าม นั่นคือเวลา เวลาที่ใครสักคนสามารถมอบให้เขาได้ เวลาที่มานั่งพูดคุยกับเขา การพูดคุยก็เปรียบเหมือนยาบำบัดที่จะช่วยเยียวยาจิตใจ ให้ไม่เหงา ให้มีกำลังใจสู้กับความเจ็บกาย ถ้าจิตใจมีความสุขความทุกข์กายอาจจะบรรเทาลงได้ การพูดคุยอาจจะเปลี่ยนคนป่วยให้กลับมาแข็งแรงอีกครั้งได้ เวลานั้นเป็นสิ่งมีค่าที่แม้แต่เงินทองก็ซื้อไม่ได้ แค่เวลาที่เราหยิบยื่นให้ใครก็ไม่รู้ที่เราไม่รู้จักมาก่อน อาจนำมาซึ่งความสุขใจของทั้งคนให้และคนรับ ดิฉันไม่แปลกใจเลยว่าทำไมครั้งแรกที่พวกเรา 9 คนก้าวเข้าไปในบริเวณอาคารเย็นศิระ ผู้คนที่อยู่บริเวณนั้นต่างหันมามอง ตอนนั้นรู้สึกเหมือนเราเป็นตัวประหลาด เป็นคนแปลกหน้า แต่เพิ่งมาเข้าใจภายหลังว่าพวกเขากำลังรอคอยให้ใครสักคนมาให้เวลากับพวกเขา คนไข้ที่นี่เคยชินกับการเห็นนักศึกษามาทำกิจกรรมให้ เช่น ร้องเพลง เล่นดนตรี สอนพับนก พับกระดาษ เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ช่วยคลายเหงา คลายเศร้า และสร้างความสุขทางใจให้พวกเขาได้

ดิฉันได้เรียนรู้ว่าการให้ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของ เงินทอง แต่เพียงแค่สิ่งที่เรามีอยู่แล้วอย่างเช่นเวลา เราก็มาแบ่งปันให้ผู้อื่นได้ มิใช่เฉพาะดิฉันที่ให้ แต่พวกเขาซึ่งเป็นผู้รับก็ได้ให้แง่คิด ประสบการณ์ดีดี เป็นสิ่งตอบแทนดิฉันกลับมาเช่นกัน รอยยิ้มและคำพูดดีๆ ความรู้สึกดีๆที่คุณป้ามีให้พวกเราเสมอ ทำให้ดิฉันคิดว่าอย่างน้อยการที่พวกเราได้มานั่งคุยกับคุณป้า ก็คงทำให้คุณป้าสบายใจขึ้นไม่มากก็น้อย ขอบคุณเวลาที่แม้จะเป็นช่วงสั้นๆแต่ก็ทำให้ดิฉันได้รู้จักคนเพิ่มอีกหนึ่งคน

นางสาวแพรวรุ่ง พงศ์มานะวุฒิ

นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2

สร้างสุขสู่เย็นศิระ

...ความรู้สึกของข้าพเจ้า

ครั้งแรกที่ได้รับทราบว่าจะต้องทำโครงการเป็น PBL ตอนนั้นคิดไม่ออกเลยว่าจะทำอะไรดี แต่ที่ตั้งใจไว้ก็คือไหนๆก็ต้องทำโครงการอะไรซักอย่างแล้วก็อยากให้ทำแล้วมันเกิดประโยชน์จริงๆ ในตอนนั้นคิดไว้แค่นี้จริงๆ

ต่อมาเพื่อนในกลุ่ม PBL ได้เสนอโครงการมาหลายๆอย่างเช่น ไข้เลือดออก หาผ้าห่มไปบริจาคหรือ อัดเทปเสียงไปช่วยคนตาบอด แต่อาจารย์ก็ได้เสนอมมุมมองมาว่า โครงการเหล่านี้จริงๆก็มีคนทำอยู่แล้วและทำเป็นโครงการใหญ่มากๆด้วย เราไม่ควรจะไปทำซ้ำเพราะจะไม่เกิดประโยชน์สูงสุด และอาจารย์อยากให้ทำเป็นโครงการที่มีผลต่อเนื่องไม่ใช่โครงการที่ทำเพียงครั้งเดียวเสร็จอาจารย์จึงได้ถามคำถามว่า อะไรที่คนไข้เค้าต้องการจริงๆ ยังไม่ได้รับจากใครและเป็นสิ่งที่เราให้คนไข้เค้าได้จริงๆ ซึ่งสิ่งที่อาจารย์หมายถึงก็คือ เวลา เพราะ เวลาเป็นสิ่งที่ใครก็อยากได้จากใครซักคนหนึ่ง และไม่สามารถซื้อหามาได้ด้วยเงินตรามันจึงเป็นสิ่งมีค่ามากๆ แต่พวกเรากลับมองข้ามมันไป หลังจากที่เราได้ข้อสรุปแล้วว่าเราจะเอาเวลาไปให้คนไข้ คำถามต่อมาคือจะไปทำให้คนไข้ที่ไหน? อาจารย์เลยได้แนะนำให้รู้จักกับอาคารเย็นศิระ ซึ่งเป็นอาคารที่ได้รับพระราชดำรัสจากในหลวงให้สร้างไว้เพื่อเป็นที่พักของผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลเป็นประจำ แต่ไม่สะดวกที่จะจ่ายค่าที่พักหรือผู้ป่วยที่ไม่รู้จะไปพักที่ไหน และคนไข้ส่วนใหญ่มักจะเป็นคนไข้มะเร็ง หลังจากที่ได้ข้อสรุปของโครงการและเห็นเป็นภาพที่ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าเราจะต้องทำอะไร ตอนนั้นรู้สึกว่า โครงการฟังดูดีลงตัวทุกอย่าง แต่ก็ยังมีความรู้สึกบางส่วนว่าเราจะทำได้จริงหรือ? แค่การที่เราไปนั่งคุยกับผู้ป่วยจะทำให้เค้ารู้สึกดีขึ้นจริงๆหรือ และยังกังวลว่าผู้ป่วยเค้าจะรำคาญเราหรือไม่ เพราะตัวเราเองก็เรียนอยู่แค่ปี 2 ไม่ได้มีความรู้อะไรพอที่จะไปช่วยผู้ป่วยได้มากมาย แต่ก็มีความรู้สึกที่ว่า ลองซักตั้งแล้วกัน เลยตัดสินใจที่จะทำโครงการนี้

ผู้ป่วยที่ผมได้เข้าไปพูดคุย เป็นพระสงฆ์ที่มาจากจังหวัด ตรัง อายุ 50 กว่าปี เป็นมะเร็งที่ต่อมทอนซิล เป็นคนที่สูบบุหรี่จัดมากโดยสูบวันละ 1 ซอง มาตั้งแต่สมัยอายุ 20 ต้นๆ เคยทำงานเป็นเซลขายเหล้า เป็นคนขับแท็กซี่ และก่อนที่จะมาบวชเป็นพระได้เข้าไปเป็นผู้จัดการของบริษัทรับเหมาก่อสร้างของครอบครัวภรรยา แต่ต่อมามีปัญหาหลายอย่าง จึงตัดสินใจที่จะบวช อาการของท่านในตอนเริ่มแรกก็เริ่มจากเจ็บคอ ทานอาหารไม่ได้ คลำมีก้อนที่คอ ปวดบริเวณแถวๆกรามตลอดเวลาและเคยปวดจนถึงขั้นเป็นลมล้มที่ระเบียงแบบไม่รู้ตัวเลย จนตื่นมาอีกทีพบว่าตัวเองนอนตากฝนอยู่บนพื้นระเบียง จึงไปพบแพทย์และได้ผลตรวจสุดท้ายว่าเป็นมะเร็งที่ต่อมทอนซิล

ในตอนแรกที่ท่านได้รับทราบว่าตัวท่านเป็นมะเร็ง ท่านไม่ได้รู้สึกตระหนกตกใจแต่อย่างใดเพราะท่านได้เตรียมใจเอาไว้ก่อนแล้ว มีการนำเอาข้อคิดทางศาสนามาเตือนใจให้มีสติที่จะต่อสู้กับปัญหาต่างๆทัศนคติต่ออาการเจ็บป่วยของท่านค่อนข้างดีเพราะท่านได้บอกผมว่า คนเราเกิดมา เรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นเรื่องธรรมดามันเป็นของที่คู่กับเรามาตั้งแต่เราเกิดแล้วจะตกใจไปทำไม อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิดแค่เราอยู่อย่างมีสติ ตัดสินใจอย่างมีสติ ทำทุกอย่างที่เราสามารถทำได้ให้ดีที่สุด ท่านยังบอกอีกว่าการกังวลล่วงหน้าที่มากจนเกินไปแต่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร ก็ไม่รู้จะกังวลไปทำไม ไม่สู้อยู่กับปัจจุบันแล้วทำสิ่งที่เราต้องทำให้ดีที่สุด เจอปัญหาอะไรก็ค่อยแก้กันไปตามแต่สถานการณ์ ด้วยทัศนคติและมุมมองความคิดแบบนี้จึงทำให้ท่านมีสติที่ดี ไม่ตื่นตระหนก ไม่วิตกกังวลไปจนเกินกว่าเหตุ และยังมีกำลังกายกำลังใจที่ดีในการที่จะต่อสู้กับโรคร้าย แต่กว่าที่ท่านจะรักษาจนหายนั้น ตัวท่านเองต้องผ่านการเคี่ยวกรำจากผลข้างเคียงของการรักษาอย่างหนัก เช่นแสบคอตลอดเวลา ขนาดนอนยังเจ็บจนตื่นขึ้นมาทุกชั่วโมงเพื่อดื่มน้ำบรรเทาอาการปวด ยังมีอาการเบื่ออาหารอย่างมากจนน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วเหลือเพียงแต่ 44 กิโลกรัม แต่สุดท้ายท่านก็ยังผ่านมาได้จนหายเป็นปกติในท้ายที่สุด

จากเรื่องราวที่ผมได้พบเจอกับตัวเองในครั้งนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าจริงอยู่ในทางทฤษฏี อาจจะแค่ให้ยา ฉายแสงให้ครบเดี๋ยวก็หาย แต่ในความเป็นจริงการที่คนไข้คนหนึ่งเป็นมะเร็งและต้องรับการรักษาด้วยการฉายแสงและให้ยาร่วมกันมันไม่ได้มีแค่ส่วนของยากับการฉายแสง เพราะการรักษานั้นต้องผ่านความเจ็บปวดทรมานมากในระดับหนึ่ง ดังนั้นทัศนคติที่มีต่อการรักษา ทัศนคติที่มีต่อการเจ็บป่วยและกำลังใจของคนไข้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้การรักษาสำเร็จไปด้วยดี และทำให้ได้เห็นถึงผลกระทบของครอบครัวผู้ป่วยทำให้ครอบครัวสูญเสียรายได้ และหลานชายต้องเสียโอกาส หยุดเรียนไป 1 ปี เพื่อมาดูแลท่านด้วย

ความรู้สึกที่เกิดขึ้นคือ ตัวเราเองรู้สึกดีที่ได้พูดคุยให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยจนผู้ป่วยยิ้มได้ ยินดีที่จะคุยจะเล่าเรื่องราวต่างๆให้เราฟังทั้งที่เราเป็นแค่ นศพ.ตัวเล็กๆคนหนึ่ง ทำให้เรารู้สึกว่าอย่างน้อยเราสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ในอีกหนทางหนึ่งที่นอกเหนือจากการที่ใช้ความรู้เพียงอย่างเดียว รู้สึกประทับใจในตัวของผู้ป่วยที่ไม่ท้อถอย อดทนมุมานะ จนสุดท้ายก็หายเป็นปกติได้และที่ทำให้รู้สึกดีที่สุดคือย่างน้อยเราก็ยังช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นมาได้บ้าง สุดท้ายที่สิ่งที่ผมได้รับจากโครงการนี้มรหลายอย่างคือ มุมมองต่อผู้ป่วยหลากหลายมิติมากขึ้น ได้เรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตบางส่วนจากผู้ป่วย ได้ฝึกการมีปฏิสัมพันธ์กับคนไข้และสิ่งสุดท้ายที่สำคัญที่สุดที่ผมได้รับมาคือ แรงบันดาลใจที่จะเป็นแพทย์ที่ดีเพื่อที่จะได้รับรู้ความรู้สึกดีๆในเวลาที่ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยจนเค้าหายเป็นปกติ

นายอภิวัฒน์ วัฒนกุล

นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2

ชอบใจข้อมูลสะท้อนผลการเรียนรู้ของนักเรียนครับ

ความจริงก็เป็นการเล่าเรื่องทั่วๆไปนะคะ แต่มีบางช่วงบางตอนที่อ่านแล้วน้ำตาซึมได้เหมือนกัน การที่เราได้เปิดใจ เปิดโลกของคนคนหนึ่งนี่ มีผลมากมายในอนาคตแน่นอนค่ะ ขอบตุณ"เวลา"ที่อ.แปร๊ะมาเขียนเล่าเผื่อแผ่พวกเรานะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท