Tokyo Sonata: บททดสอบความแข็งแกร่งของครอบครัว


เมื่อวันเสาร์ ผมได้ดูหนังเรื่อง Tokyo Sonata เนื้อเรื่องกล่าวถึงครอบครัวชนชั้นกลางในญี่ปุ่น พ่อจากมีงานเป็นคนตกงาน แม่ทำหน้าที่เป็นช้างท้าวหลัง ทำทุกอย่างตามใจพ่อ (ตรงนี้ผมขอแทรกหน่อยนึงตรงที่ว่าสังคมญี่ปุ่น (หรือสังคมที่ชายเป็นใหญ่ทั่งโลก?) ชายจะทำหน้าที่เป็นหลักในครอบครัว ผู้หญิงจะทำหน้าที่เป็นรอง ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวที่ว่าผู้หญิงไม่สามารถจะทำชูชิก็ได้ เพราะมีประจำเดือน) ในเรื่องจะมีลูกชายคนโตที่ไม่ค่อยยอมกลับบ้าน และลูกชายคนเล็กที่ดูรักความยุติธรรม และต้องการจะเรียนดนตรี ปัญหาอยู่ที่สมาชิกแต่ละคนไม่ยอมเปิดเผยเรื่องที่ตนเองทำพลาดไป พูดไปทำไมมี เรามาดูที่พ่อก่อนนะครับ

พ่อ (ในเรื่องชื่อริวเฮย์) ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัว เมื่อก่อนทำงานบริษัท ต่อมาตกงาน แต่ ไม่กล้าบอกคนในบ้าน ใช้ชีวิตเหมือนธรรมดาๆ โกหกภรรยาว่าไปทำงานเหมือนเดิมแต่ความจริงไปต่อคิวหางานใหม่ กลางวันนั่งกินข้าวที่เขาบริจาคทานข้างถนนกับคนไร้บ้าน

โดยเนื้อแท้ คนชั้นกลางที่เป็นชายในญี่ปุ่นรู้สึกว่าเป็นศักดิ์ศรีสำคัญของความเป็นชายที่ต้องเป็นช้างเท้าหน้า มีหน้าที่หลักหาเลี้ยงครอบครัวและต้องเป็นใหญ่ที่สุดภายในบ้าน เมื่อวันหนึ่งเขาถูกปลดออกจากงาน มันจึงเป็นเรื่องบั่นทอนศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจ เขาจึงตัดสินใจไม่บอกเรื่องนี้กับใคร และยังคงแสร้งแต่งตัว ถือกระเป๋าเดินออกจากบ้านเหมือนออกไปทำงานเป็นปกติเช่นทุกๆ วัน ตอนที่กินข้าวอยู่ข้างถนน เขาได้พบกับเพื่อนเก่า ซึ่งตกงานเหมือนกันกับเขา แต่เพื่อนทำเสมือนว่าตนเองยังมีงานทำอยู่ โดยการตั้งเวลาโทรศัพท์ให้ดังเตือนเขา (น่าจะเป็นครั้งหละชั่วโมง?)

แม่ (ในเรื่องชื่อ เมงูงิ) ผู้เป็นเหมือนช้างเท้าหลัง เป็นแม่บ้านเต็มตัว ว่าง่าย ปรนนิบัติสามีโดยไม่มีข้อถกเถียง เหนื่อยแต่ก็อดทน ดูแลบ้าน ดูแลสามีและลูกๆ มีความรับผิดชอบในบ้านอยู่เต็มมือ ที่ภายในใจส่วนลึกยังโหยหาอิสระอยากจะมีชีวิตเสรีของตนเอง ฉากหนึ่งเธอไปดูรถ เพราะสอบใบขับขี่ได้ ก็ได้แต่แค่มอง ไม่ยอมซื้อ เพราะต้องอนุญาตสามี อีกฉากหนึ่งหลังจากที่สามีกำลังหางานทำใหม่อยู่นั้น เธอชูมือขึ้นหวังให้สามีช่วยดึงขึ้นจากโซฟา หลังเหนื่อยล้าเต็มที่ แต่สามีไม่มีแม้แต่จะหันมามอง เพราะมัวแต่หางานใหม่อยู่ เสียงเธอเว้าวอนรอใครสักคนมาฉุดขึ้นไปคือ ความเข้มแข็งสุดท้ายที่กำลังจะหลุดลอย

การที่เป็นช้างเท้าหลัง หลายคนอาจมองว่าอ่อนแอ แต่สำหรับ แม่ ที่เราเห็นคือ ความเข้มแข็ง ที่ ผู้หญิงคนหนึ่งพึงจะทำได้เพื่อประคอง ครอบครัวให้อยู่รอด ฉากหนึ่งครั้นรู้ความจริงเมื่อแอบเห็นสามีอยู่ข้างถนน ก็นิ่งเงียบไว้ทำเป็นไม่รู้เหมือนเคย

ลูกชายคนโต (ในเรื่องชื่อทาคาชิ) หายหน้าออกจากบ้าน นานๆครั้งกลับที อยู่ดีๆคิดไปสมัครเป็นทหารในกองทัพอเมริกัน ทาคาชิเป็นลูกชายวัยรุ่นที่ต้องการเข้าสู่โลกของการเป็นผู้ใหญ่ แสวงหาคุณค่าของชีวิตด้วยการสมัครไปเป็นทหารเข้าร่วมกองทัพของอเมริกาที่พยายามสร้างสันติภาพอยู่แถวตะวันออกกลาง ผดุงสันติสุข หยุดสงคราม ช่วยป้องกันผลกระทบสู่ญี่ปุ่นและปกป้องครอบครัว แต่การสมัครนั้นต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ปกครอง

ลูกชายคนเล็ก (ในเรื่องชื่อ เคนจิ) มีปัญหากับครูในชั้นเรียน เพราะส่งหนังโป๊ ? แต่ตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าของ ครูหาว่าเขาคือเจ้าของหนังสือ เขาเถียงโดยการบอกกับเพื่อนว่าครูอ่านหนังสือโป๊ในรถไฟ จนพวกเพื่อนๆตั้งฉายาให้ครู เคนจิไม่มีเพื่อนเป็นกลุ่มเป็นก้อน มีพรสวรรค์ทางการเล่นเปียโน แอบเม้มเงินค่าอาหารไปเรียนเปียโนเพราะพ่อคัดค้าน ในเวลาต่อมาด้วยความลับแตก ก็รู้ดีอยู่แล้วพ่อจะว่าอย่างไร จึงเอาเปียโนอันเล็กที่ใช้แอบซุ่มฝึกซ้อมมาทุ่มลงกลางบ้านซะเลย ต่อมาเขาถูกพ่อทุบตี ผมคิดว่าสาเหตุที่พ่อไม่ยอมให้เรียนเปียโนอาจมาจาก ไม่อยากให้สิ้นเปลืองเงินทองด้วย เพราะในสภาวะที่พ่อตกงาน สถานะการเงินของบ้านจะเริ่มสั่นคลอนในไม่ช้า

โปรดสังเกตว่าแต่ละบุคคลต่างคนต่างก็มีความลับที่ต้องปกปิด มีความปรารถนาที่ไม่ได้รับการตอบสนอง เช่น พ่อตกงาน แต่ต้องงานใหม่ แม่อยากมีอิสรเสรีเต็มที่ หลุดพ้นไปจากภาระหน้าที่ในครอบครัว ทาเคชิต้องการให้พ่อแม่เซ็นอนุญาตให้ไปเป็นทหาร และเคนจิต้องการที่จะเรียนเปียโน

การที่เราแต่ละคนมีปัญหา ก็ไม่ได้แปลว่า เมื่อกลับเข้าบ้าน ปัญหาของเรา จะกลายมาเป็น ปัญหาของครอบครัวทุกครั้งไป เพราะปัญหาของครอบครัวนี้เกิดจากปัญหาของความสัมพันธ์ระหว่างกัน ไม่ใช่ปัญหาของตัวบุคคล ถ้าเจอปัญหา สามีเปิดอกคุยกับภรรยา ช่วยกันหาทางออก เจอความขัดแย้งกับลูก ก็พูดคุยกันก่อนแล้ววางแผนแก้ปัญหา ปัญหาครอบครัวก็จะไม่เกิด แต่หนังแสดงให้เห็นว่า ถ้าปัญหาเกิดจาก อัตตา ที่สั่งสมมานาน และเห็นตัวตนหรืออัตตาสำคัญกว่าความสัมพันธ์ก็จะนำมาสู่ปัญหาครอบครัว
ลองดูตัวอย่างพ่อ พ่อเป็นคนแบบรักษาหน้าตนเองมากกว่าความสัมพันธ์ในเชิงครอบครัว ยอมทำทุกย่างเพื่อรักษาหน้าตาของตนเองไว้ ใครจะเดือนร้อนอย่างไรก็ไม่สนใจ ขอให้ตัวเองดูดีที่สุดก็เป็นพอ ฉากในหนังหลายตอนที่แสดงให้เห็นว่าพ่ออาจได้งานที่ต่ำกว่าตนเองตอนทำที่บริษัทก็ไม่ยอมทำ นี่คือการรักษาหน้าตาของตนเองมากกว่าความเป็นอยู่ในครอบครัว หากพูดแต่ปมทางจิตอย่างเดียวก็คงไม่เพียงพอ เพราะสังคมญี่ปุ่น (หรือสังคมชายเป็นใหญ่ในโลก) ได้หล่อหลอมให้สมาชิกในสังคมของตัวต้องมีเศรษฐกิจที่ดี มั่งคั่ง ฉายภาพให้เห็นว่าผู้ชายต้องเป็นหัวหน้าครอบครัว ผู้ชายต้องเป็นช้างเท้าหน้า ผู้ชายต้องเข็มแข็ง ผู้ชายต้องร้องไห้ไม่ได้ ผู้ชายคือผู้นำฝ่ายหญิง ฯลฯ การหล่อหลอมสมาชิกในสังคมเช่นนี้ทำให้ก่อเกิดไปเป็นปมในทางสังคมด้วย

พ่อรับไม่ได้กับการต้องเปลี่ยนจาก หัวหน้าแผนก กลายมาเป็น คนตกงาน รับไม่ได้ ที่จะต้องเปลี่ยนงานที่เคยทำมาหางานใหม่ ที่ด้อยกว่าเดิม เมื่อรับไม่ได้ ก็จึงยังหางานทำไม่ได้ จึงไม่กล้าพูดคุยกับภรรยา ตัวอย่างของคนที่ตกงานก็คือเพื่อนพ่อ เพื่อนต้องตั้งโทรศัพท์ให้ดัง เพื่อหลอกเมียกับลูกว่าตนยังมีงานทำ สุดท้ายเพื่อนพ่อต้องฆ่าตนเองตายไปพร้อมกับเมีย หนังทำเหมือนให้รู้สึกพ่อสิ้นหวังถึงขีดสุด คนที่ยึดติดกับ ความเป็นชาย หรือความเป็นหัวหน้าครอบครัวหรือความเป็นพ่อ ต้องไม่เผยความอ่อนแอ ต้องไม่เผยความพ่ายแพ้ และ ต้องควบคุมลูกให้เชื่อฟังนำไปสู่ ปัญหาที่รุนแรงมากขึ้น แต่ในท้ายที่สุดพ่อได้งานใหม่เป็นพนังงานทำความสะอาดในห้าง ก็คือ ล้างส้วม ในครั้งแรกเขาไม่พอใจกับทำงานที่ทำเลย ปัญหาของพ่อ ไม่ได้อยู่ที่ตกงาน แต่คือไม่ยอมสื่อสารและกลัวสูญเสียสถานภาพ นำไปสู่ ความทุกข์ของแม่

เราทำความรู้จักกับตัวแม่ดีกว่า แม่เป็นคนที่อยากมีใครสักคน ยื่นมือมาให้คว้าและฉุดเธอลุกขึ้นไปในฉากหนึ่งนั้น ให้ความรู้สึกเชิงเปรียบเทียบในสภาพเต็มกลืนของแม่ ที่อยากมีแค่ใครคนหนึ่ง เข้าใจ และยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ช่วยแบ่งเบาปัญหาหนักอกเกี่ยวกับลูกๆ และบรรเทาบรรยากาศความเย็นชาในครอบครัว ซึ่งคนๆ นั้นก็คือพ่อ แต่พ่อก็ตกอยู่ภายใต้ความบีบคั้นจากภาวะตกงาน หมกมุ่นกับการหางานทำ นอกจากจะไม่ใส่ใจรับฟังความรู้สึกนึกคิดของสมาชิกในครอบครัวยังระบายความกดดันของตัวเองออกมาให้พวกเขาต้องรองรับ ผลพวงของอารมณ์ จึงเกิดเป็นรอยร้าวลึกในครอบครัวที่รอวันแตก

จุดพลิกผันในชีวิตของครอบครัวก็มาถึง เมื่อแม่ถูกโจรมาปล้นแล้วต้องทำเพื่อเอาชีวิตของตนเองได้รอด และได้ทำในสิ่งที่ต้องการ เช่น ได้นั่งรถที่ตัวเองใฝ่ฝัน ก็เหมือนกับเธอได้มีอิสระ และในเวลาเดียวกันก็ ทำให้เธอได้สัมผัส ความทุกข์ ที่อัดอั้นเก็บกดมานานหลายปี จนไม่อยากจะเดินกลับไปเส้นทางเก่า เธอกล่าวกับโจรตอนหนึ่งว่าไม่อยากจะกลับบ้านแล้ว อยากใช้ชีวิตอยู่กับโจรนี่แหละ เธอได้กับโจร ต่อมาเธอคิดจะฆ่าตัวตาย แต่โจรช่วยไว้

ระหว่างที่เธอพาโจรออกจากบ้าน บังเอิญว่าความลับของพ่อถูกเปิดเผย หลังจากแม่มาเจอตอนทำความสะอาดในห้างด้วยความบังเอิญ ทำให้พ่อแทบสติแตก เมื่อ ภาพลักษณ์หรือหน้าตา ที่ตัวเองห่วงไว้แตกสลายจนไม่เหลืออะไรเลย ซึ่งต่อมาพ่อได้ถูกรถชน เมื่อพ่อฟื้น เขาถามกับตัวเองว่าจะเริ่มต้นใหม่อย่างไรดี

ทาคาชิ ลูกชายคนโต อยากไปเป็นทหาร ซึ่งเขาก็รู้ดีว่าพ่อของเขาในฐานะผู้ปกครองจะไม่ยอมเซ็นอนุญาตให้ไป แต่มันจะไม่มีผล เพราะที่สุดแล้วเขาจะหาทางไปของเขาเอง สุดท้ายแม่อนุญาตให้เขาได้ไปเป็นทหาร

ผมชอบตรงที่เขาได้แสดงออกว่าเขายังเป็นลูกชายของแม่ เช่น เขาสนใจใบขับขี่ของแม่ และบอกแม่ว่า แม่คงไม่ใช้มันหรอกครับ ตอนไปส่งเข้าค่ายทหาร เขากล่าวกับแม่ว่า "แม่ครับ ผมมีเรื่องอยากขอร้อง" "แม่ครับ ทำไมแม่ไม่หย่ากับพ่อล่ะครับ" "เอ๋!?" "หย่าๆ ไปเถอะครับ แม่ยังดูโอเคอยู่เลย" "พูดอะไรของลูกเนี่ย?" "ผมเป็นห่วงเรื่องนี้เรื่องเดียว" "ถ้าหย่าแล้วใครจะทำหน้าที่แม่ล่ะ ?" "มันจะต่างจากเดิมตรงไหนครับ" "มันจะซับซ้อนกว่านั้นมากเลยนะ" "แม่แน่ใจหรือครับ" ที่ผมชอบก็คือคงไม่มีลูกคนไหน ที่อยากให้พ่อแม่ของตัวเองแยกทางกัน หรือหย่า แต่เมื่อสิ่งที่เขาเห็นคือแม่ไม่มีความสุข ลูกก็ใจกว้างพอ

ลูกชายคนเล็ก ก็คือ เคนจิ ตอนนั้นที่กำลังเกิดความขัดแย้งกันระหว่างพ่อ แม่ เขาได้ไปขโมยของในร้านสะดวกซื้อ ต่อมาเขาถูกตำรวจจับได้ แต่ร้านสะดวกซื้อไม่เอาเรื่อง จึงได้กลับบ้าน เขาตอนที่ไม่มีใครเหลืออยู่ที่บ้านเลย


ตอนสุดท้าย พ่อเริ่มปรับตัว รับได้กับงานที่ต่ำกว่าเดิม ฉากนี้พ่อยิ้มขณะทำความสะอาดในห้าง และเอาเงินที่เก็บได้ในห้องน้ำ ไปส่งที่ตู้ที่เก็บของได้แต่ไม่ใช่ของตัวเอง คำว่าหน้าตาหรือศักดิ์ศรีของตนไม่ใช่กลับไปอยู่ที่เดิม แต่ก็คือเคารพตนเองและผู้อื่น รักครอบครัวมากกว่าศักดิ์ศรีของตนเอง พ่อที่ทำความสะอาดในห้าง แต่รักครอบครัว ยังกว่าพ่อที่ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี แต่กลับมาทุบตีลูกๆและ พ่อที่ทำความสะอาดในห้าง แต่รักครอบครัว ยังกว่าพ่อที่ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี แต่กลับมาทุบตีลูกๆและภรรยาของตนเอง หนังเรื่องนี้ทำให้เราเห็นว่าคำว่าครอบครัวนั้นมีความแข็งแกร่งโดยตัวของมันเอง อุปสรรคหรือมรสุมที่ผ่านมาก็เหมือนกับบททดสอบความอดทน และทนทานต่ออุปสรรคได้หรือไม่ หนังเรื่องนี้ให้ข้อคิดกับเราอย่างหนึ่งว่า คนเรามักจะตีความบทบาทไปตามประสบการณ์ในชีวิต แต่ก็ไม่เสียหายอะไร หากแก้ปัญหานั้นไม่ได้ จะขอความช่วยเหลือจากครอบครัว

ตอนสุดท้ายทั้งพ่อแม่ ได้ไปฟังเคนจิเล่นเปียโน มิน่าทำไมเรื่องนี้ถึงได้ตั้งชื่อว่า sonata เมื่อเล่นเสร็จทำให้สายตาทุกคู่มองมาที่เคนจิ เหมือนกับจะบอกว่าครอบครัวที่แข็งแกร่งคือครอบครัวที่รู้จักการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะต่างๆรอบตัว อ้อที่อยากจะบอกก็คือหนังเรื่องนี้ได้รับรางวัลจากเทศกาลหนังเมืองคานส์มาด้วย ใครว่าหนังเมืองคานส์ดูยาก แต่ผมเห็นว่าบางเรื่องดูไม่ยากเลย ดูแล้วให้ความรู้สึกที่ดีมากด้วย



หมายเลขบันทึก: 598884เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2015 18:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ธันวาคม 2015 21:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

-สวัสดีครับอาจารย์

-ตามมาอ่านเรื่องครอบครัวของชาวญี่ปุ่น

-น่าสนใจนะครับ

-การยอมรับกับสภาพจริง ณ ปัจจุบัน ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรกระทำนะครับ

-อยู่กับความเป็นจริง..

-ขอบคุณครับ

  • ความเอาจริงเอาจัง ศักดิ์ศรีมากมายของคนญี่ปุ่น สร้างชาติบ้านเมืองเขาให้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว แซงหน้าหลายๆชาติ แต่บางมุมก็เป็นจุดอ่อน โดยเฉพาะเรืองราวของครอบครัวนี้..
  • ขอบคุณประสบการณ์ดีๆ สวัสดีปีใหม่ '2559 ครับ

น่าดูมากเลยครับ

มีโอกาศจะไปดูนะครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท