Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กรณีศึกษานางนาลิสา ทรอย .. คนถือสองสัญชาติ ซึ่งสัญชาติหนึ่ง ก็คือ สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิต


กรณีศึกษานางนาลิสา ทรอย : คนสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาซึ่งเกิดนอกประเทศไทยก่อนวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ จากมารดาสัญชาติไทยและบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายที่มีสัญชาติอเมริกัน และยังถือสัญชาติอเมริกัน ... แน่นอน เธอถือสองสัญชาติ

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กรณีศึกษาในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๓ ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๕

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t...

-----------

ข้อเท็จจริง

-----------

ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นางนาลิสา ทรอย เกิดที่โรงพยาบาลเซนต์ แมรี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๙ จากนางสมมาตร ทรอย และนายแฟรงค์ ทรอย

ในขณะที่เกิด ไม่ได้มีการแจ้งการเกิดของนางนาลิสาในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย มีเพียงการแจ้งการเกิดของนางนาลิสาในทะเบียนราษฎรของสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๒ นางนาลิสา ทรอย หวอด ได้ยื่นคำร้องเกี่ยวกับงานทะเบียนราษฎร (ท.ร.๓๑) เพื่อขอให้นายทะเบียนอำเภอเกาะคาดำเนินการเพื่อเพิ่มชื่อของตนในทะเบียนบ้าน โดยอ้างว่า ตนเกิดเมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๙ และมีสัญชาติไทย ทั้งนี้ โดยมีพยานเอกสาร ก็คือ ใบรับรองคนเกิด (Certficate of Live Birth) ซึ่งออกโดยคณะกรรมการสุขอนามัยรัฐวิสคอนซิล (Wisconsin State Board of Health) เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๙๖๖/พ.ศ.๒๕๐๙

ใบรับรองคนเกิดดังกล่าวระบุถึงบุพการีของนางนาลิสาว่า มีบิดาชื่อ แฟรงค์ เนธาน ทรอย ซึ่งเกิดที่โอกลาโฮม่า และมีมารดาชื่อ สมมาตร พันธุ์อร่าม ซึ่งเกิดในประเทศไทย ขอให้สังเกตว่า ใบรับรองคนเกิดตามกฎหมายอเมริกัน มีลักษณะเช่นเดียวกับเอกสารรับรองคนเกิดในหลายประเทศที่ไม่ระบุสถานทางสัญชาติของทั้งบิดาและมารดา หากแต่ระบุเพียงสถานที่เกิดของบุพการีของคนเกิด

แต่อย่างไรก็ตาม แบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรจากฐานข้อมูลการทะเบียน สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (ท.ร.๑๔/๑) ปรับปรุงข้อมูลครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๒ และรับรองว่า เป็นรายการจากฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎรเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๒ โดยผู้ช่วยนายทะเบียนอำเภอเกาะคาว่า “นางสมมาตร พันธุ์อร่าม (ทรอย) เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย เกิดเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๓ จากนางทองย้อยและนายผิน ซึ่งมีสถานะทางสัญชาติเป็นไทย โดยมีที่อยู่ ณ อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปางตั้งแต่วันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๖ โดยมีเลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๕”

ในปัจจุบัน นางสมมาตรถือบัตรประชาชนตาม พ.ร.บ.บัตรประชาชน พ.ศ.๒๕๒๖ ออกโดยกรมการปกครองเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๑ และทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ณ อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ระบุว่า นางสมมาตรมีสัญชาติไทย

ส่วนนางนาลิสา ในปัจจุบัน เธอถือหนังสือเดินทางที่ออกโดยประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเอกสารนี้ระบุว่า เธอมีชื่อบุคคลว่า "นาลิสา ทรอย" และมีชื่อสกุลว่า "หวอด" ซึ่งเป็นชื่อของสามีของนาลิสา เอกสารนี้ระบุต่อไปว่า นาลิสามีสัญชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเกิดที่มลรัฐวิสคอนซิล ประเทศสหรัฐอเมริกา หนังสือเดินทางฉบับนี้ออกเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ค.ศ.๒๐๐๑/พ.ศ.๒๕๔๔ และจะหมดอายุในวันที่ ๑๒ กันยายน ค.ศ.๒๐๑๑/พ.ศ.๒๕๕๔

นอกจากนั้น ยังมีหนังสือรับรองของสถานกงสุลใหญ่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประจำจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งรับรองว่า นางนาลิสาเป็นบุตรนางสมมาตร ซึ่งเกิดในประเทศไทย

แต่อย่างไรก็ตาม นางสมมาตร ทรอยให้ปากคำว่า ตนได้สมรสตามกฎหมายอเมริกันกับนายแฟรงค์ เนธาน ทรอยก่อนการเกิดของนางนาลิสา แต่ในปัจจุบัน ตนได้หย่าขาดจากการสมรสดังกล่าวแล้ว

ปลัดจังหวัดลำปางปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง จึงมีหนังสือลงวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ถึงอธิบดีกรมการปกครอง เพื่อหารือกรณีการขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน โดยปลัดจังหวัดลำปาง ในขณะเดียวกัน นางสมมาตรได้มีหนังสือเพื่อหารือข้อกฎหมายมายังคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๒

อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปางได้เพิ่มชื่อของนางนาลิสาลงในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ในสถานะ “คนสัญชาติไทย” เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๕๓

แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย นางนาลิสาก็ยังอาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาต่อไป แม้จะมีการเดินทางมาเยี่ยมมารดาในประเทศไทยบ้างก็ตาม การดำเนินชีวิตโดยทั่วไปทำในประเทศสหรัฐอเมริกา

--------

คำถาม

---------

๑. นางนาลิสามีข้อเท็จจริงอันเป็นจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับประเทศใดบ้าง ? เพราะเหตุใด ? (หน้า ๓)

๒. จะต้องใช้กฎหมายของประเทศใดในการพิจารณาปัญหาการได้สัญชาติไทยของ นางนาลิสา ? เพราะเหตุใด ? (หน้า ๔)

๓. โดยผลของกฎหมายไทยดังกล่าว นางนาลิสาได้สัญชาติไทยโดยการเกิดหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ? (หน้า ๔)

๔. นางนาลิสาจะต้องทำอย่างไรเพื่อทำให้ได้สถานะคนสัญชาติไทย ? (หน้า ๕)

๕. นางนาลิสามีสถานะเป็นราษฎรไทยประเภทคนสัญชาติไทยหรือไม่ ? การไม่อาศัยอยู่จริงในประเทศไทยส่งผลต่อสถานะบุคคลตามกฎหมายทะเบียนราษฎรของนางนาลิสาหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ? (หน้า ๖)

๖. นางนาลิสามีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนทางการเมืองของรัฐไทยหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ? (หน้า ๗)

๗. นางนาลิสามีสิทธิในเสรีภาพที่จะประกอบอาชีพในประเทศไทยเพียงใด ? จะต้องขออนุญาตทำงานหรือลงทุนหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ? (หน้า ๘)

---------

คำตอบ

--------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ขอให้คำตอบต่อคำถามดังต่อไปนี้

๑. นางนาลิสามีข้อเท็จจริงอันเป็นจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงอันทำให้ได้สัญชาติของประเทศใดบ้าง ? ถ้ามี เพราะเหตุใด ?

โดยพิจารณาธรรมชาติของหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยอำนาจอธิปไตยของรัฐ เอกชนจึงอาจมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐใดรัฐหนึ่งได้ใน ๒ ช่วงเวลา กล่าวคือ ในขณะที่เกิด เอกชนอาจมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐ ๓ สถานะ กล่าวคือ (๑) รัฐเจ้าของถิ่นที่เกิด (๒) รัฐเจ้าของสัญชาติของบิดา และ (๓) รัฐเจ้าของสัญชาติของมารดา ต่อมา ภายหลังการเกิด เอกชนอาจมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐใน ๒ สถานะ กล่าวคือ (๑) รัฐเจ้าของสัญชาติของคู่สมรส และ (๒) รัฐซึ่งมีความสัมพันธ์ที่แท้จริงกับเอกชน

จากการพิจารณาข้อเท็จจริงของ นางนาลิสา จะพบว่า นางนาลิสามีความสัมพันธ์อย่างแท้จริงกับประเทศไทยตั้งแต่เกิด ทั้งนี้ เพราะมารดามีสัญชาติไทย ประเทศไทยจึงมีความสัมพันธ์ที่แท้จริงกับนางนาลิสาในสถานะของรัฐเจ้าของสัญชาติของมารดา

นอกจากนั้น นางนาลิสามีความสัมพันธ์อย่างแท้จริงกับประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เกิดเช่นกัน ทั้งนี้ เพราะประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติของบิดา และรัฐเจ้าของดินแดนที่เกิดของนางนาลิสา

ดังนั้น โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายนี้ยอมรับว่า นางนาลิสาจึงมีข้อเท็จจริงอันเป็นจุดเกาะเกี่ยวอันอาจทำให้มีสัญชาติไทยและสหรัฐอเมริกา แต่การจะมีหรือใช้สิทธิในสัญชาติของประเทศดังกล่าวได้จริงหรือไม่ ย่อมเป็นไปตามกฎหมายของรัฐเจ้าของสัญชาติแต่ละรัฐ ซึ่งอาจนำไปสู่สภาวะคนหลายสัญชาติก็เป็นได้

๒. จะต้องใช้กฎหมายของประเทศใดในการพิจารณาปัญหาการได้สัญชาติไทยของ นางนาลิสา ? เพราะเหตุใด ?

เมื่อปรากฏว่า นางนาลิสาซึ่งเกิดใน พ.ศ.๒๕๐๙ จากมารดาสัญชาติไทย กฎหมายที่มีผลกำหนดปัญหาความเป็นคนสัญชาติไทยโดยการเกิดของ นางนาลิสา จึงได้แก่ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ฉบับดั้งเดิมซึ่งมีผลกำหนดปัญหาความเป็นคนสัญชาติไทยโดยการเกิดของบุคคลที่มีจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดกับประเทศไทยระหว่างวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๘ จนถึงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕

เมื่อฟังว่า นางนาลิสามีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดา จึงมีความเป็นไปได้ที่นางนาลิสาจะได้สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดา หากมีข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบของมาตรา ๗ (๒) แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยการได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

ปัญหาที่จะพิจารณาต่อไป ก็คือ นางนาลิสามีข้อเท็จจริงครบตามที่กฎหมายนี้กำหนดหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?

๓. โดยผลของกฎหมายดังกล่าว นางนาลิสาได้สัญชาติไทยโดยการเกิดหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?

โดยมาตรา ๗ แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้เกิดนอกราชอาณาจักรไทยโดยมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือบิดาไม่มีสัญชาติ”

จะเห็นว่า บุคคลที่จะมีสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาภายใต้กฎหมายนี้ จะต้องมีข้อเท็จจริง ๓ ประการ กล่าวคือ (๑) บุคคลนั้นเกิดนอกประเทศไทย (๒) มารดามีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยในขณะที่บุคคลนั้นเกิด และ (๓) ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายไม่มีสัญชาติ

จะเห็นว่า แม้ว่านางนาลิสาจะเกิดนอกประเทศไทย กล่าวคือ ในประเทศสหรัฐอเมริกาโดยมีมารดาเป็นคนสัญชาติไทย แต่นางนาลิสาไม่อาจได้สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาโดยการเกิดโดยผลของมาตรา ๗ (๒) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ทั้งนี้ เพราะปรากฏมีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เข้าองค์ประกอบของการได้สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาโดยการเกิดตามข้อกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น ในวินาทีที่เกิด จนกว่าจะมีการกำหนดเป็นอย่างอื่นในกฎหมายไทย นางนาลิสาจึงไม่มีสถานะเป็นคนสัญชาติไทย ในสายตาของรัฐไทย นางนาลิสาจึงมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่มีจุดเกาะเกี่ยวเข้มข้นกับประเทศไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดา

๔. นางนาลิสาจะต้องทำอย่างไรเพื่อทำให้ได้สถานะคนสัญชาติไทย ?

นับแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ รัฐสภาไทยยอมรับ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ อันมีผลปรับแนวคิดเรื่องสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดา ให้มีลักษณะกลับไปสอดคล้องกับหลักกฎหมายสัญชาติ นั่นก็คือ บุตรของมารดาสัญชาติไทยทุกคนย่อมสืบสิทธิในสัญชาติไทยจากมารดาได้ ไม่ว่าจะเกิดนอกหรือในประเทศไทย หรือไม่ว่าจะปรากฏมีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือไม่ว่าบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายจะมีสัญชาติหรือไม่ ข้อเท็จจริงเดียวที่ทำให้ได้มาซึ่งสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดา ก็คือ มารดาเป็นคนสัญชาติไทยในขณะที่บุตรเกิด

จึงสรุปหลักกฎหมายในเรื่องนี้ได้เป็น ๒ ประเด็นว่า

ประเด็นแรก บุตรของมารดาสัญชาติไทยซึ่งเกิดภายใต้การปฏิรูปกฎหมายใหม่โดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาตามกฎหมายใหม่ กล่าวคือ มาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕

ประเด็นที่สอง บุตรของมารดาสัญชาติไทยซึ่งก่อนการปฏิรูปกฎหมายใหม่โดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาตามกฎหมายใหม่ นับแต่วันที่กฎหมายใหม่มีผล นั่นก็คือ วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ มาตราที่เป็นบ่อเกิดแห่งสิทธิมี ๒ มาตรา กล่าวคือ (๑) มาตรา ๑๐ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และ (๒) มาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕

ดังนั้น แม้ว่า นางนาลิสาจะไม่ได้สัญชาติไทยจากมารดาในขณะที่เกิดตามมาตรา ๗ (๒) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ฉบับดั้งเดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลในขณะที่นางนาลิสาเกิด แต่โดยกฎหมายที่ปฏิรูปใหม่ที่มีผลตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นต้นมา นางนาลิสาจึงได้สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาโดยผลของกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ จึงไม่จำเป็นต้องร้องขอสัญชาติไทยแต่อย่างใด

หากวันนี้ นางนาลิสายังไม่มีเอกสารรับรองสิทธิในสัญชาติไทย นางนาลิสาก็จะต้องไปแสดงตนขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย ซึ่งเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของกรมการปกครองที่ทำหน้าที่นายทะเบียนราษฎรตาม มาตรา ๓๖ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ จะต้องเพิ่มชื่อหรือลงรายการสัญชาติไทยให้แก่นางนาลิสาในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) หากเจ้าหน้าที่ดังกล่าวปฏิเสธ นางนาลิสาก็อาจร้องขอต่อศาลปกครองให้คุ้มครองสิทธิที่จะมีชื่อในทะเบียนบ้านดังกล่าวได้ โดยการบังคับให้อำเภอหรือเขตหรือเทศบาลที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามมาตรา ๓๖ ดังกล่าวมา

๕. นางนาลิสามีสถานะเป็นราษฎรไทยประเภทคนสัญชาติไทยหรือไม่ ? การไม่อาศัยอยู่จริงในประเทศไทยส่งผลต่อสถานะบุคคลตามกฎหมายทะเบียนราษฎรของนางนาลิสาหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล นิติสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศ ย่อมตกอยู่ภายใต้กฎหมายมหาชนภายในของรัฐคู่กรณี เว้นแต่จะมีการกำหนดเป็นอย่างอื่น จะเห็นว่า ปัญหาสถานะความเป็นราษฎรไทยเป็นเรื่องตามกฎหมายมหาชน ดังนั้น ปัญหานี้ย่อมตกอยู่ภายใต้กฎหมายมหาชนภายในของรัฐคู่กรณี ซึ่งก็คือ กฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรของประเทศไทย อันได้แก่ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑

โดยหลักกฎหมายการทะเบียนราษฎรซึ่งพัฒนาในรัฐไทย ราษฎรไทยมีอยู่ ๒ ลักษณะ กล่าวคือ

ประเภทแรก ก็คือ ราษฎรไทยซึ่งถูกบันทึกในทะเบียนบ้านเพราะมีสิทธิอาศัยตามกฎหมายไทย ดังปรากฏตามมาตรา ๓๖ และ ๓๘ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ และเราจะเห็นว่า การเป็นคนในทะเบียนบ้านย่อมทำให้ได้รับการยอมรับว่า มีสิทธิในภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนไทย ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา ๒๙ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ “ผู้ใดมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านใด ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้นั้นอยู่และมีภูมิลำเนาอยู่ ณ ที่นั้น”

ประเภทที่สอง ก็คือ ราษฎรไทยซึ่งถูกบันทึกในทะเบียนประวัติเพราะเป็นคนไร้รัฐซึ่งไม่มีสิทธิอาศัยตามกฎหมาย แต่ส่งกลับประเทศต้นทางมิได้หรือไม่ควรส่งกลับประเทศไทย ซึ่งโดยข้อเท็จจริง ประเทศไทยใช้ทะเบียนประวัติสำหรับ (๑) บันทึกแรงงานต่างด้าวไร้รัฐจากพม่าลาวและกัมพูชาที่แสดงตนขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวในสาขาอาชีพที่ขาดแคลนในตลาดแรงงานไทย (คนที่มีเลขประจำตัว ๑๓ หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข ๐๐ และถูกบันทึกในทะเบียนประวัติประเภท ท.ร.๓๘/๑) เป็นไปตามแนวคิดที่เริ่มต้นกำหนดโดยมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการจัดระบบแรงงานต่างด้าวเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๗ และ (๒) บันทึกบุคคลที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคล ๖ กรณีย่อย (คนที่มีเลขประจำตัว ๑๓ หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข ๐ และถูกบันทึกในทะเบียนประวัติประเภท ท.ร.๓๘ ก) เป็นไปตามแนวคิดที่เริ่มต้นกำหนดโดยมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการจัดการสถานะและสิทธิของบุคคลเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๘ อันได้แก่ (๒.๑.) ชนกลุ่มน้อยไร้รัฐซึ่งไม่มีประเทศต้นทางหรือขาดจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศต้นทางที่อพยพมานานแล้วแต่ตกสำรวจทางทะเบียนราษฎรไทยซึ่งทำครั้งล่าสุดใน พ.ศ.๒๕๔๒ (๒.๒.) บุคคลไร้รัฐในสถาบันการศึกษาไทย (๒.๓.) บุคคลไร้รัฐที่ทำคุณประโยชน์อย่างสูงสุดต่อประเทศไทย (๒.๔) บุคคลไร้รัฐเพราะไร้รากเหง้า (๒.๕) แรงงานไร้รัฐที่ขึ้นทะเบียนประวัติประเภท ท.ร.๓๘/๑ แต่พิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทางไม่ผ่าน และ (๒.๖.) บุคคลไร้รัฐที่ไม่อาจส่งกลับไปประเทศต้นทางหรือส่งต่อไปประเทศที่สาม เพราะสาเหตุอื่นๆ อาทิ การหนีภัยความตาย แต่อย่างไรก็ตาม โปรดสังเกตว่า มาตรา ๒๙ มิได้สันนิษฐานให้การมีชื่อในทะเบียนประวัติเป็นเครื่องแสดงว่า บุคคลมีภูมิลำเนาตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร อันมีสถานะเป็นกฎหมายมหาชนไทย แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การมีชื่อในทะเบียนประวัติเป็นเครื่องแสดงว่า บุคคลมีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนไทย เพราะการตั้งบ้านเรือนในประเทศไทยก็ย่อมทำให้บุคคลมีถิ่นที่อยู่อันเป็นแหล่งสำคัญในรัฐเจ้าของดินแดนที่ตั้งบ้านเรือน อันหมายความว่า มีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนในประเทศดังกล่าว (มาตรา ๓๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ้งและพาณิชย์)

ดังนั้น เมื่อนางนาลิสา ทรอยมีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรของรัฐไทย เธอจึงมีสถานะเป็นราษฎรไทยประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ทั้งนี้ เพราะเธอมีสิทธิอาศัยอยู่ถาวรในประเทศไทย ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา ๓๔ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มิใช่ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ทั้งนี้แม้ว่าเธอจะมีสิทธิในสัญชาติอเมริกันในขณะที่เธอเกิด กฎหมายไทยมิได้ถือว่า คนสัญชาติไทยที่มีสิทธิในสัญชาติของรัฐต่างประเทศตกเป็นคนต่างด้าว โดยสรุป เมื่อนางนาลิสามีสิทธิในสัญชาติไทย นายทะเบียนราษฎรของรัฐไทยจึงต้องบันทึกชื่อของเขาในสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) เพื่อแสดงการรับรองของรัฐ (State Recognition) ใน “สถานะคนสัญชาติไทย” ให้แก่เขา

จึงสรุปว่า แม้หลังจากการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย นางนาลิสาก็ยังอาศัยอยู่และการดำเนินชีวิตโดยทั่วไปทำในประเทศสหรัฐอเมริกา นางนาลิสามีสถานะเป็นราษฎรไทยประเภทคนสัญชาติไทย การไม่อาศัยอยู่จริงในประเทศไทยไม่ส่งผลต่อสถานะบุคคลตามกฎหมายทะเบียนราษฎรของนางนาลิสาแต่อย่างใด

๖. นางนาลิสามีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนทางการเมืองของรัฐไทยหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?

จะเห็นว่า กรณีตามข้อเท็จจริงเป็นเรื่องตามกฎหมายมหาชน เพราะว่า เป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างรัฐเจ้าของอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนและประชากร กล่าวคือรัฐไทย และเอกชนผู้ทรงสิทธิในการเลือกตั้งเป็นผู้แทนทางการเมือง กล่าวคือ นางนาลิสา และนิติสัมพันธ์ตามข้อเท็จจริงยังมีลักษณะเป็นนิติสัมพันธ์ของเอกชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศ กล่าวคือ ระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนั้น นิติสัมพันธ์ดังกล่าวจึงตกอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

เมื่อไม่ปรากฏว่า มีการกำหนดเป็นอย่างอื่น จึงต้องนำเอากฎหมายรัฐธรรมนูญของไทยว่าด้วยการเลือกตั้ง รวมตลอดถึงกฎหมายไทยลูกบทที่กำหนดวิธีการเลือกตั้งมาใช้รับรองสิทธิในความเป็นผู้แทนทางการเมืองของนางนาลิสา

จะเห็นว่า โดยกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เป็นจารีตประเพณี อันหมายถึง ประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บุคคลธรรมดาผู้ทรงสิทธิเลือกตั้งจะต้องเป็นคนสัญชาติไทย เมื่อนางนาลิสามีสถานะคนสัญชาติไทย ดังปรากฏตามบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) เธอจึงมีสิทธิเลือกตั้งเป็นผู้แทนทางการเมืองของรัฐไทย

จึงสรุปว่า แม้หลังการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย ทั้งยังอาศัยอยู่และการดำเนินชีวิตโดยทั่วไปทำในประเทศสหรัฐอเมริกา นางนาลิสาก็ยังมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทย การมีสัญชาติอเมริกันอยู่ด้วยและการไม่อาศัยอยู่จริงในประเทศไทยไม่ส่งผลต่อสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองในสถานะผู้แทนทางการเมืองของนางนาลิสาแต่อย่างใด

ดังจะเห็นว่า มาตรา ๙๙ วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่ง....มีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักรย่อมมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา”

๗. นางนาลิสามีสิทธิในเสรีภาพที่จะประกอบอาชีพในประเทศไทยเพียงใด ? จะต้องขออนุญาตทำงานหรือลงทุนหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล เรื่องการอนุญาตประกอบธุรกิจในประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นเรื่องของเป็นนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชนระหว่างรัฐเจ้าของดินแดนและเอกชนผู้ประกอบการ ดังนั้น แม้มีลักษณะระหว่างประเทศ นิติสัมพันธ์ดังกล่าวก็จะยังตกอยู่ภายใต้กฎหมายมหาชนภายในของรัฐคู่กรณี แต่อย่างไรก็ตาม กรณีอาจถูกกำหนดเป็นอย่างอื่นโดยกฎหมายของรัฐนั้นเอง

เราคงต้องตระหนักว่า น่าจะมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายไทยซึ่งเป็นรัฐเจ้าของดินแดนที่มีการประกอบอาชีพอยู่ ๓ ลักษณะด้วยกันที่น่าจะเกี่ยวข้อง กล่าวคือ (๑) กฎหมายรัฐธรรมนูญของรัฐไทย ซึ่งมีผลในปัจจุบัน ก็คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ (๒) กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจหรือการลงทุนของคนต่างด้าว ซึ่งที่มีผลในปัจจุบัน ก็คือ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๔๒ และ (๓) กฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งที่มีผลในปัจจุบัน ก็คือ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๕๑

ในประการแรก เราพบว่า มาตรา ๔๓ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ บัญญัติว่า

“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน”

ดังนั้น โดยหลักกฎหมายทั่วไป นาลิสามีสถานะเป็น “บุคคล” เธอจึงมีสถานะเป็นผู้ทรงสิทธิในมาตรา ๔๓ นี้ที่จะมี “เสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพ”

ในประการที่สอง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการประกอบธุรกิจในประเทศไทยของคนต่างด้าวนั้น ประเทศไทยได้มีบทกฎหมายหลักที่ใช้ในการจำกัดสิทธิของคนต่างด้าว อันได้แก่ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๔๒ นั่นก็หมายความว่า คนสัญชาติไทยย่อมไม่อาจตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมายนี้ได้เลย โดยมาตรา ๔(๑) แห่ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๔๒ คนต่างด้าวย่อมหมายความถึงบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ดังนั้น แม้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นางนาลิสาจะมีสัญชาติอเมริกันอยู่ด้วย แต่เธอก็มีสัญชาติไทยอีกด้วย เธอจึงไม่อาจมีสถานะเป็น “คนต่างด้าว” ในความหมายของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๔๒ จึงไม่อาจถูกจำกัดสิทธิในเสรีภาพที่จะประกอบธุรกิจในประเทศไทยแต่อย่างใด

ในประการที่สาม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการทำงานในประเทศไทยของคนต่างด้าวนั้น ประเทศไทยได้มีบทกฎหมายหลักที่ใช้ในการจำกัดสิทธิของคนต่างด้าว อันได้แก่ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๕๑ นั่นก็หมายความว่า คนสัญชาติไทยย่อมไม่อาจตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมายนี้ได้เลย โดยมาตรา ๕ แห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๕๑ คนต่างด้าวย่อมหมายความถึงบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ดังนั้น กรณีจึงวิเคราะห์ได้ในลักษณะเดียวกับกรณีของสิทธิประกอบธุรกิจ แม้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นางนาลิสาจะมีสัญชาติอเมริกันอยู่ด้วย แต่เธอก็มีสัญชาติไทยอีกด้วย เธอจึงไม่อาจมีสถานะเป็น “คนต่างด้าว” ในความหมายของ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๕๑ จึงไม่อาจถูกจำกัดสิทธิในเสรีภาพที่จะทำงานในประเทศไทยแต่อย่างใด

จึงสรุปว่า แม้หลังจากการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย นางนาลิสาก็ยังอาศัยอยู่และการดำเนินชีวิตโดยทั่วไปทำในประเทศสหรัฐอเมริกา นางนาลิสาก็ยังมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทย การไม่อาศัยอยู่จริงในประเทศไทยไม่ส่งผลต่อสิทธิในเสรีภาพที่จะประกอบธุรกิจหรือทำงานในประเทศไทยของนางนาลิสาแต่อย่างใด

----------------------------------

หมายเลขบันทึก: 598880เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2015 15:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ธันวาคม 2015 15:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากทราบว่า..หากบิดามารดาเป็นต่างชาติ..หากมีบุตร..เกิดในประเทศไทย..จะถือ.สัญชาติไทยได้ไหม..เพราะเกิดบนแผ่นดินไทย...พ่อแม่เด็กมีงานทำอยู่ประจำ..กฎหมายไทยมีแบบเดียวกับอเมริกันรึเปล่า...คะ

ประเทศไทยยอมรับสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิดมาตั้งแต่วันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๖ แล้ว เพียงแต่วิธีการก็จะแตกต่างตามยุคตามสมัย

แต่ทัศนคติของคนในกระทรวงมหาดไทยในยุคของพระพุทธเจ้าหลวง จะมีความเป็นมนุษย์นิยมอย่างมาก จึงทำให้เยาวราชและพาหุรัด มีความต่างไปจากระนองและสมุทรสาครค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท