พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (๖)


เมื่อสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ดำรงตำแหน่งแผ่นดินสืบเนื่องต่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงพระดำริว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จดำรงราชสมบัติมาถึง ๒๗ ปี มีข้าราชการที่นิยมยินดีต่อพระองค์มาแต่เดิมก็มาก และข้าราชการในภายหลังก็เป็นคนเกิดในรัชกาลของพระองค์ทั้งสิ้น ย่อมจะเป็นที่นับถือติดมั่นในใจอยู่ทั่วหน้า บางทีจะมีความเดือดร้อนรำคาญ ว่าราชตระกูลของพระบามสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นเสื่อมสูญไปทุกที ก็จะเป็นที่ปั่นป่านรำค่ญใจไปต่างๆจึงทรงพระราชดำริจะรำงับข้อรำคาญนั้นให้เสื่อมหาย จึงได้ทรงรับสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัศวัฒนาวดีเป็นพระบรมราชเทวี ก็ได้มีพระราชโอรสสมดังพระราชประสงค์ แต่ไม่ดำรงพระชนม์อยู่ได้ทั้งพระโอรสและพระชนนี จึงได้ทรงรับกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ เป็นสมเด็จพระบรมราชเทวีต่อมา ก็ได้มีพระราชโอรสพระราชธิดาสมดังพระราชประสงค์ เพราะพระราชดำริดังนี้ จึงได้ดำรัสประกาศยกย่องสมเด็จพระบรมราชโอรสพระราชธิดาทั้ง ๔ พระองค์นี้ ว่าเป็นพวกราชวรวงศ์เนืองๆต่อมา ก็แลการซึ่งเป็นเช่นนี้ ก็นับว่าเป็นการอัศจรรย์ ด้วยพระบรมราชโอรสพระราชธิดาทั้ง ๔ พระองค์นั้น นับว่าเป็นพระราชวรวงศ์แห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ถึงสามสายสามทาง คือ ถ้าจะนับตามลำดับพระบรมราชวงศ์ ซึ่งตรงมาแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็นับว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสมเด็จพระบรมบิตุลาธิราช ท่านทั้ง ๔ พระองค์นี้ เป็นพระราชภาคิไนยทางหนึ่ง ถ้าจะนับฝ่ายสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ และกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็นับว่าเป็นสมเด็จพระบรมราชปัยกาธิบดี ทั้ง ๔ องค์นี้นับว่าเป็นพระราชปนัดดาทางหนึ่ง ถ้าจะนับข้างฝ่ายเจ้าจอมมารดาแห่งสมเด็จพระบรมราชมาดามหัยกาเธอ ซึ่งสืบเนื่องมาแต่น้องนางของพระชนนีในกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย ก็นับเนื่องอยู่ในประพันธ์ ไม่ห่างไกลกว่าทางที่สองนัก ควรนับว่าสนิทกว่าสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอเจ้าฟ้าชายโสมนัศ ด้วยประการฉะนี้ ซึ่งสมเด็จบรมบพิตรพระราชทานสมภาร ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบสันติวงศ์ดำรงราชตระกูลมานี้ นับว่าเป็นอันได้ดำรงพระวงศ์ทั้งสองฝ่ายให้เจริญยืนยาวสืบไป ราชตระกูลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้เสื่อมสูญมีแต่ทรุดไปเช่นคิดเห็นโดยง่ายๆ ด้วยพระบรมราชโอรสและพระราชนัดดา ซึ่งจะสืบไปภายหน้ามากน้อยเท่าใด ก็คงนับเนื่องประพันธ์ในพระราชวงศ์ ทั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดไปไม่มีทางที่จะหลีกละไปอย่างอื่นใด ควรที่พระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งนับว่าเป็นฝ่ายพระเจ้าราชวรวงศ์นี้ จะมีความชื่นชมนิยมต่อพระบารมี ให้เป็นที่ยินดีแห่งตน เมื่อสมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าทรงทราบพระราชประพันธ์อันสนิทเนืองในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวดังนี้ จึงได้มีพระราชหฤทัยระลึกถึงพระเดชพระคุณแห่งพระองค์ ซึ่งได้ดำรงเป็นบรรพบุรุษอันยิ่งใหญ่ จึงทรงบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระเดชพระคุณ ในอภิลักขิตกาลพิเศษครั้งนี้ อนึ่งเมื่อได้ทรงพิจารณาถึงพระราชสันตตติวงศ์ซึ่งเป็นบรรพบุรุษอันเสด็จล่วงไปแล้วนั้น ก็จะสังเวชพระราชหฤทัยในการที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา จะได้ทรงเจริญสัญญาทั้งสามมี อนิจจสัญญา เป็นต้น ให้บริบูรณ์เป็นภาวนามัยบุญกริยา อันเป็นที่ตั้งแห่งกุศลราศี ต้องตามพุทธภาษิต อันทรงแสดงลักษณะทั้งสามประการนั้นฯ

พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (๖)

พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เทศนากัณฑ์ ที่ ๑

เรื่องพระราชสันติวงศ์

บัดนี้จะได้รับพระราชทานถวายวิสัชนา ในพระไตรลักษณ์และลำดับพระราชสันตติวงศ์ แห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉลองพระเดชพระคุณประดับพระปัญญาบารมี อนุโมทนาในพระราชกุศลบุญนิธีอนวัชกิจ ซึ่งสมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าทรงบำเพ็ญเป็นญาติธรรมจริยาทักษิณานุปทานมัย ฉลองพระเดชพระคุณในสมเด็จพระบรมปิตุลา และพระบรมปัยกาธิราช พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อันได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ สืบขัตติยสันตติวงศ์เนื่องมา นับเป็นรัชกาลที่สามในพระบรมราชวงศ์ปัจจุบันนี้ ด้วยทรงพระปรารภคำนวณวันตั้งแต่พระบรมมหาประสูติกาล แห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้มีในวันจันทร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะแม นพศก จุลศักราช ๑๑๔๙ เป็นปีที่ ๖ ในรัชกาลเป็นปฐมมาจนถึงวันเสาร์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๕ ปีชวดยังเป็นนพศก จุลศักราช ๑๒๔๙ นับวารดิถีตามสุริยคติกาลบรรจบครบรอบปีเต็มบริบูรณ์มิได้ยิ่งหย่อน เป็นอภิลักขิตกาลพิเศษ สมควรที่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ซึ่งได้พึ่งพระบารมีมาแต่กาลก่อน และที่ได้รับประโยชน์อันเนื่องมาแต่พระบรมเดชานุภาพและพระราชอุตสาหะของพระองค์ คือได้ทรงปกป้องพระราชอาณาเขตขอบขัณฑสีมา ให้อยู่เย็นเป็นสุขดำรงเป็นเอกราชนครมาถึง ๒๗ ปีเป็นต้น แล้วบำเพ็ญการกุศลฉลองพระเดชพระคุณ โดยความชื่นชมยินดีตามควรแก่กาลสมัย จึงมีพระบรมราชองค์การโปรดเกล้าฯ ให้จัดการบำเพ็ญพระราชกุศลส่วนพิเศษอันนี้ ณ.พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท อันเป็นราชกุฏาคารสถาน ซึ่งพระองค์ได้ทรงสถาปนาขึ้นไว้เป็นพระเกียรติยศอยู่ในแผ่นดิน โปรดให้เชิญพระพุทธปฏิมากรนาคสวาดองค์ ๑ พระพุทธปฏิมากรประจำพระชนมพรรษาวันองค์ ๑ พระชนมพรรษาสมปฏิมากร ๖๕ พระองค์ มาประดิษฐานเป็นที่ทรงนมัสการ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมาสถิตในบุษบกทองคำ ประดิษฐานเหนือพระแท่นแว่นฟ้ากาญจนามัย แล้วโปรดให้นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรมเปรียญ ๑๐๐ รูป แบ่งเป็น สามภาค ภาคหนึ่งเท่าจำนวนปีซึ่งได้เสด็จดำรงสิริราชสมบัติ พระราชทานผ้าไตรจีวรสลับแพร ผ้ากราบแพรต่วนตีตราแสดงการพระราชกุศล ๒๗ รูป ภาคหนึ่ง เท่าพระชนมพรรษาซึ่งยังไม่ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ และพระราชทานไตรจีวรผ้าล้วน ผ้ากราบแพรต่วน ๓๘ รูป อีกภาคหนึ่งเท่าพรรษากาลนับแต่หน้าปีเสด็จสวรรคตมาจนกาลบัดนี้ พระราชทานไตรจีวรและผ้ากราบผ้าล้วน ๓๕ รูป รวมสามภาคครบพระสงฆ์ ๑๐๐ รูป สดัปกรณ์พระบรมอัฐื สวดพระพุทธมนต์ เวลาเช้ารับประทานฉัน พระราชทานเครื่องไทยธรรมต่างๆ ทั้งของหลวงและของพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งทรงจัดมาถวายช่วยการพระราชกุศลแล้วสดัปกรณ์พระสงฆ์ ๗๐๐ รูป มีพระธรรมเทศนาสามกัณฑ์ มีการมหรสพสมโภชพระบรมอัฐิตามสมควรแก่กาลสมัย และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระเจ้าราชวงศ์เธอ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าน้องยาเธอ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าลูกเธอและพระองค์เจ้า หม่อมเจ้า ซึ่งเป็นพระเจ้าหลานเธอและหลานหลวง ในรัชกาลที่สามนั้น ได้บำเพ็ญพระราชกุศลเป็นการฉลองพระเดชพระคุณ ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวตามควรแก่ความประสงค์ ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลทั้งนี้ ถวายแด่สมเด็จพระบรมราชบิตุลาและพระบรมปัยกาธิราช เป็นการฉลองพระเดชพระคุณในอภิลักขิตสมัยในปัจฉิมกาล ด้วยประการฉะนี้

*เนื่องจากเทศนากัณฑ์ที่ ๑ เรื่องพระราชสันติวงศ์ มีความยาวมาก จึงขออนุญาต ไม่คัดลอกมาทั้งหมด เกรงว่าจะเสียเวลามาก จึงขออนุญาต คัดลอกมาเฉพาะส่วนที่เห็นว่าสำคัญเท่านั้น

บัดนี้จะได้รับพระราชทานพรรณนาความ ตามลำดับในพระราชสันติวงศ์ อันเนื่องมาแต่องค์สมเด็จพระปฐมบรมมหาปัยกาธิบดีอันเป็นบรรพบุรุษต้นพระบรมราชวงศ์ อันได้ประดิษฐานและดำรงกรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุธยา ได้ประดิษฐานพระบรมวงศ์สืบเนื่องมาโดยความเจริญแพร่หลาย เป็นพระบรมราชวงศ์อันใหญ่ มีพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งได้เสด็จดำรงแผ่นดินและได้รับราชการ โดยกำลังพระสติปัญญาและกำลังพระกาย ปราบปรามและป้องกันสรรพความร้ายและภัยพิบัติ อันจะมาตกต้องแก่ สมณาจารย์ ประชาราษฎร อันเป็นชาวสยามและชาวต่างประเทศ ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพระราชอาณาเขตพึ่งพระบารมี ได้อยู่เย็นเป็นสุขสืบมา ล่วงกาลได้กว่าร้อยปีเป็นกำหนด ควรที่มหาชนจะนับถือสักการบูชาแล้วตั้งจิตคิดฉลองพระเดชพระคุณโดยความกตัญญูกตเวที ให้พระบรมราชประเพณีวงศ์ดำรงยืนยาวสืบไปในภายหน้า

สมเด็จพระปฐมบรมมหาปัยกาธิบดีพระองค์นั้น ได้เสด็จอุบัติในมหามาตยตระกูลโบราณในครั้งกรุงทวาราวดีศรีอยุธยา ได้ทำราชการสืบตระกูลตั้งนิวาสนสถานอยู่ในกำแพงพระนคร พระองค์มีพระโอรสพระธิดาซึ่งร่วมพระมารดาเดียวกันห้าพระองค์

๑.กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี อันเป็นต้นเชื้อวงศ์แห่งเจ้านายวังหลัง เพราะเป็นมารดาของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข และเจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศรบดินทร เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทรรณเรศ ซึ่งยังมีพระนัดดา ปนัดดา ปรากฏอยู่จนกาลวันนี้

๒.พระเจ้าขุนรามณรงค์ ซึ่งสื้นพระชนม์เสียแต่ครั้งกรุงทวาราวดีศรีอยุธยา

๓.กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ อันเป็นต้นเชื้อวงศ์ของเจ้านายอีกหมู่หนึ่ง ซึ่งเรียกตามคำสามัญว่า เจ้ากรมหลวงกรมขุน เพราะเป็นพระมารดาของเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ซึ่งยังมีพระนัดดาปนัดดา ปรากฏอยู่จนกาลทุกวันนี้โดยมาก และพระองค์เป็นมารดาของกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันยังมีพระราชนัดดาปนัดดาปรากฎอยู้อีกแผนกหนึ่งด้วย

๔.พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

๕.กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท ซึ่งเป็นต้นเชื้อวงศ์ของเจ้านายหมู้หนึ่งซึ่งเรียกโดยคำสามัญว่าเจ้านายวังหน้าพระพุทธยอดฟ้าฯ

*สมเด็จพระปฐมบรมมหาปัยกาธิบดี มีพระธิดา อันประสูติด้วยพระมารดาอื่น ปรากฏนามในภายหลังว่ากรมหลวงนรินทรเทวี เพราะได้กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์เป็นพระภัสดา ก็นับเป็นต้นตระกูลแห่งเจ้านายสืบมาอีกตระกูลหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าเป็นต้นตระกูลเจ้าครอกวัดโพ

*โอรสสมเด็จพระปฐมบรมมหาปัยกาธิบดีอีกพระองค์หนึ่งนั้น คือเจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎาต่างพระมารดากับกรมหลวงนรินทรเทวี เป็นต้นตระกูลเจ้านายอีกพวกหนึ่งซึ่งเรียกว่าพวกเจ้ากรมหลวงจักรเจษฎา

จึงควรนับว่าบรมราชตระกูลอันสืบมาแต่สมเด็จพระปฐมบรมมหาปัยกาธิบดี ได้มาประดิษฐานเป็นขัตติยราชตระกูลในกรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุธยานี้ เป็นเจ็ดสายเจ็ดพวกด้วยประการฉะนี้

บัดนี้จะได้พระราชทานพรรณนาลำดับพระบรมราชวงศ์เฉพาะแต่สายที่ตรงลงมาจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ (พระธิดาแห่งสมเด็จพระรูปศิรโสภาคมหานาคนารี อันมีนิวาสนสถานอยู่พาหิรุทยานแขวงเมืองสมุทรสงคราม เรียกว่าตำบลบางช้าง) เป็นพระราชเทวี แต่ยังไม่ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติ มีพระราชโอรสพระราชธิดาถึงสิบพระองค์ พระองค์ที่ ๑ พระองค์ที่ ๒ สิ้นพระชนม์เสียแต่กรุงทวาราวดียังมิได้แตกทำลาย พระองค์ที่ ๘ พระองค์ที่ ๙ และพระองค์ที่ ๑๐ สิ้นพระชนม์เสียแต่ยังทรงพระเยาว์

.พระธิดาองค์ที่ ๓ สมเด็จพระปฐมบรมอัยยิกาเธอ ได้เป็นพระชายาเจ้ากรุงธนบุรี มีพระโอรสนามว่าเจ้าฟ้าสุพันธวงศ์ แล้วเป็นเจ้าฟ้าอภัยธิเบศ กรมขุนกษัตราน่ชิต ภายหลังต้องถอดเรียกชื่อเดิมว่าหม่อมเหทน

พระราชโอรสองค์ที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

พระธิดาองค์ที่ ๕ สมเด็จพระเจ้าอัยยิกาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ

พระราชโอรสองค์ที่ ๖ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ อันนับเป็นต้นตระกูลแห่งพระเจ้าบวรวงศ์เธอชั้นสอง

พระธิดาองค์ที่ ๗ สมเด็จพระเจ้าอัยยิกาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยวดี

*พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกยังมีพระราชบุตร พระราชบุตรี อันเกิดด้วยพระสนมเป็นพระราชบุตร ๑๓ พระองค์ พระราชบุตรี ๒๐ พระองค์ และเจ้านายทุกพระองค์ก็นับว่าเป็นต้นตระกูลของพระองค์เจ้า หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นพระบวรวงศ์วงศ์เธอชั้นที่สาม และพระวรวงศ์เธอ และหม่อมเจ้าชั้นที่ ๑ มีหม่อมราชวงศ์หม่อมหลวง สืบประพันธ์กันเป็นอันมาก

บัดนี้จะได้รับพระราชทานพรรณนา ในพระราชโอรสพระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และ กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนี มีพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ คือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อันได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบสนองพระองค์มา

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระบรมราชเทวีพระองค์หนึ่ง ซึ่งปรากฏพระนามในภายหลังว่ากรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ มีพระราชโอรสพระองค์ที่ ๑ สิ้นพระชนม์เสียแต่แรกประสูติ

พระราชโอรสองค์ที่ ๒ คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ (ต่อจากพระนั่งเกล้า) มีพระราชโอรสพระราชธิดาเป็นเจ้าฟ้าแต่เดิมห้าพระองค์ คือสมเด็จพระเจ้าพียาเธอเจ้าฟ้าโสมนัส สิ้นพระชนม์เสียแต่วันประสูติ และสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าซึ่งได้เสด็จเถลิงถวัลยราขสมบัติ ดำรงพระบรมราชวงศ์อยู่ในปัจจุบันนี้นับเป็นที่สอง สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจันทรมณฑลโสภณภควดีกรมหลวงวิสุทธิกษัตริย์ นับเป็นที่สาม สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ นับเป็นที่สี่ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช นับเป็นที่ห้า และมีพระราชโอรสพระราชธิดาเป็นเจ้าฟ้า ภายหลังอีกสองพระองค์ มีพระราชบุตร ๓๕ พระองค์ พระราชบุตรี ๔๒ พระองค์

พระราชโอรสองค์ที่ ๓ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมี พระราชบุตร พระราชบุตรี นับว่าเป็นพระเจ้าบวรวงศ์เธอชั้นที่ ๔

บัดนี้จะได้รับพระราชทานพรรณนาความแต่เฉพาะพระบาทสมเด็จจพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นเหตุอันสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าทรงพระปรารภ เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลฉลอง พระเดชพระคุณพระองค์นั้น ได้รับพระราชทานพรรณนาพระบรมราชวงศ์ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมชนกนาถมาแล้ว บัดนี้จะได้รับพระราชทานพรรณนาลำดับพระวงศ์ ฝ่ายกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนี เพื่อให้เป็นที่ทรงระลึกถึงพระคุณแห่งบรรพบุรุษ และเป็นที่ทรงสังเวชตามพระบรมราชประสงค์ก็แลลำดับเชื้อวงศ์ซึ่งสืบเนื่องกันมาอย่างไรนั้น ท่านผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในตระกูลแต่ก่อนๆมักจะปิดป้องมิให้ผู้น้อยในตระกูลทราบ ด้วยรังเกียจว่าจะไปออกนามเล่นในเวลาไม่เหมาะสม ในที่ไม่ควรบ้าง กลัวว่าผู้น้อยจะกำเริบเย่อหยิ่ง ว่าตัวเนื่องประพันธ์สนิทในท่านผู้มีเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ในแผ่นดิน แล้วประพฤติการทุจริตผิดๆไปต่างๆด้วยความทะนงใจบ้าง ครั้นเมื่อท่านผู้ใหญ่ล่วงไปแล้ว ผู้น้อยในตระกูลนั้นก็ไม่ได้ทราบเชื้อสายว่ามาอย่างไร ไม่สามารถที่จะเล่าบอกกันจ่อๆไปได้ ดังนี้เป็นคติโบราณเคยประพฤติมาโดยมาก ก็แลราชินิกุลข้างฝ่ายกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย อันเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เมื่อไต่ถามดูก็ไม่ได้ความตลอดถ้วนถี่ มีเค้ามูลเพียงดังจะได้รับพระราชทานพรรณนาสืบไปนี้มีความว่า พระชนกของกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัยนี้ มีนามบุญจัน ได้ทำราชการแผ่นดินเป็นที่พระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน ตั้งเคหสถานอยู่ในที่ซึ่งได้สถาปนาเป็นวัดเฉลิมพระเกียรติ ณ เมืองนนทบุรี มีภรรยาใหญ่ซึ้งเป็นพระชนนีกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย มีนามว่าเพ็ง มีแต่พระธิดาองค์เดียว คือกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย ได้ทำราชการในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า แต่ยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เสด็จประทับอยู่ ณ บ้านหลวงเดิมแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ครั้นเมื่อเสด็จลงไปประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม ก็ตามเสด็จลงไป ได้ประสูติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ.พระราชวังเดิม แล้วมีพระราชโอรสอีกสองพระองค์ ทรงพระนามว่า พระองค์เจ้าป้อม กับพระองค์เจ้าหนูดำ ทั้งสองพระองค์สิ้นพระชนม์แต่ก่อนแล้ว ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ก็เสด็จเข้ามาประทับในพะบรมมหาราชวัง ได้ดำรงที่พระสนมเอก บังคับการห้องเครื่อง ชนทั้งปวงออกพระนามว่าเจ้าคุณ และได้เสด็จออกไปประทับอยู่ที่พระราชวัง แห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ยังเป็นกรมนั้นบ้างเป็นครั้งคราว จนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมี พระราชบุตร พระราชบุตรี อันเกิดด้วยพระสนมตั้งแต่ยังมิได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติโดยมาก ครั้งเมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ก็มีพระราชบุตร พระราชบุตรี อีกเพียงห้าปีเป็นกำหนด แล้วก็มิได้มีสืบไป พระราชบุตรองค์เป็นปฐม ทรงพระนามพระองค์เจ้ากระวีวงศ์ ถัดนั้นมาเป็นพระราชบุตรยังไม่มีพระนาม เรียกแต่ว่าพระองค์เจ้าหญิงใหญ่ พระองค์เจ้าทั้งสองพระองค์นี้ มีพระชนม์พรรษาเพียง ๙ ปี ๑๐ ปี ก็สิ้นพระชนม์เสียแต่ยังมิได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ที่ ๓ เป็นพระราชบุตรี ทรงพระนามพระองค์เจ้าวิลาศ เป็นพระปิยราชธิดา ภายหลังมาพระราชทานอิสริยยศเป็นกรมหมื่นอับศรสุดาเทพ ได้ทรงรับราชการเป็นพนักงานพระสุคนธ์ ต่อพระองค์เจ้าวงศ์ซึ่งได้ทรงทำมาแต่ก่อน และเป็นผู้กำกับแจกเบี้ยหวัดฝ่ายในครั้นเมื่อประประชวรสิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระโสกาลัยเป็นอันมาก โปรดให้ตั้งพระเมรุ ณ.ท้องสนามหลวง พระราชทานเพลิงเป็นการใหญ่ ที่ ๔ เป็นพระราชบุตร ทรงพระนามพระองค์เจ้าชายดำ สิ้นพระชนม์เสียแต่ยังทรงพระเยาว์ ที่ ๕ พระราชบุตรี มีนามพระองค์เจ้าดวงเดือน ในรัชกาลที่ ๔ ได้เป็นพนักงานพระสุคนธ์ เป็นหัวหน้าในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอฝ่ายใน สิ้นพระชนม์ในรัชกาลนี้ ที่ ๖ พระองค์เจ้าหญิงสิ้นพระชนม์เสียแต่เยาว์ ที่ ๗ พระราชบุตรทรงพระนามพระองค์เจ้าสิริ แล้วโปรดให้เป็นกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ได้บังคับบัญชากรมช่างมุก ทำบานวัดพระเชตุพนและการอื่นๆและได้ทรงเป็นนายด้านทำการทั่วไปในพระอุโบสถวัดพระเชตุพน และได้ทรงเป็นนายด้านทำการวัดหนังจนแล้วเสร็จ ครั้นเมื่อสิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระอาลัยเป็นอันมาก ด้วยเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ในขณะนั้น จึงโปรดเกล้าฯให้จัดการปลูกพระเมรุ พระราชทานเพลิง ณ ท้องสนามหลวงเป็นการใหญ่ แล้วให้เชิญอัฐิบรรจุในพระโกศทองคำมาประดิษฐานไว้ ณ ตำหนักกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัยในพระบรมมหาราชวัง ครั้นภายหลัง เมื่อสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ จึงโปรดใช้ช่างทำพระโกศจำหลักลายลงยาราชาวดีเปลี่ยนถวายใหม่ แล้วก็ปรากฏพระนามว่าสมเด็จพระบรมมาตามหัยกาเธอ มาจนบัดนี้ สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอพระองค์นั้น มีพระโอรสและพระธิดาหลายพระองค์ ในเวลาที่พระบิดาสิ้นพระชนม์นั้นยังทรงพระเยาว์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นพระอัยกาโปรดให้เสด็จมาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง พระองค์ใหญ่ได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณในที่ใกล้ชิด ตามเสด็จอย่างพระเจ้าลูกเธอตลอดมา พระโอรสพระองค์ใหญ่ สมเด็จพระบรมอัยกาพระราชทานนามว่ามงคลเลิศ ในรัชกาลที่ ๔ ก็โปรดให้เป็นพระวงศ์เธอพระองค์เจ้า ทรงพระเมตตาเป็นอันมาก พระองค์เจ้ามงคลเลิศ มุตร และบุตรี ได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณหลายคน มีพระยาไชยสุรินทร์เป็นต้น พระธิดาพระองค์ใหญ่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาใช้สอยสนิท โปรดว่าอยู่งานพัศดี จึงพระราชทานนามว่ารำเพย ภายหลังมาได้เป็นสมเด็จพระบรมราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏพระนามว่าสมเด็จพระนางเจ้ารำเพยภมราภิรม มีพระบรมราชโอรสสามพระองค์ และพระธิดาองค์หนึ่ง ซึ่งได้รับพระราชทานออกพระนามมาแต่เบื้องต้นแล้วนั้น พระองค์ได้ดำรงอยู่ในตำแหน่งพระอัครมเหสีถ้วน ๙ ปี เป็นกำหนด ครั้นเมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว ก็ได้ทรงรับพระเกียรติยศยิ่งใหญ่ในการพระศพตามอย่างสมเด็จพระบรมราชเทวี ครั้นในรัชกาลปัจจุบันนี้ จึงทรงสถาปนาพระอัฐิ เป็นกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ สมเด็จพระบรมราชชนนี ตามโบราณราชประเพณีสืบมา ที่ ๓ เป็นพระธิดา ทรงพระนามหม่อมเจ้าชมชื่น ที่ ๔ เป็นพระธิดา ได้สนองพระเดชพระคุณมาแต่ยังทรงพระเยาว์จนปัจจุบันนี้ มีความชมเป็นอันมาก จึงพระราชทานพระสุพรรณบัฎให้เป็นพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพื้นพงศ์ประยูรวงศ์สนิท พระธิดาที่ ๕ มีนามหม่อมเจ้าประสงค์สรรพ์ พระธิดาที่ ๖ มีนามหม่อมเจ้าสารพัดเพชร พระธิดาที่ ๗ นามหม่อมเจ้าพรรณราย ได้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณในรัชกาลที่ ๔ พระโอรส องค์ที่ ๘ นามเดิม หม่อมเจ้าฉายเฉิด ทรงผนวชได้แปลพระปริยัติธรรมได้แปดประโยค ดำรงยศเป็นหม่อมเจ้าพระเปรียญ ครั้นเมื่อลาผนวชแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระมหากรุณาพระราชทานหีบทองเป็นเครื่องยศ ครั้นถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ พระราชทานพระสุพรรณบัฏให้เป็นพระองค์เจ้า ภายหลังเลื่อนเป็นพระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์ พระโอรสองค์ที่ ๙ พระองค์เจ้าประเสริฐศักด์ องค์ที่ ๑๐ พระบุตรตรี สิ้นพระชนม์ องค์ที่ ๑๑ พระองค์เจ้าโกเมน องค์ที่ ๑๒ พระองค์เจ้าคเนจร องค์ที่ ๑๓ องค์ที่ ๑๔ และองค์ที่ ๑๕ สิ้นพระชนม์ องค์ที่ ๑๖ พระองค์เจ้าลัดดาวัลย์ องค์ที่ ๑๗ พระองค์เจ้าเสงี่ยม องค์ที่ ๑๘ สิ้นพระชนม์ ๑๙ พระองค์เจ้าแสงจันทร์ องค์ที่ ๒๐ พระองค์เจ้านิเวศ องค์ที่ ๒๑ พระองค์เจ้าชุมสาย องค์ที่ ๒๒ สิ้นพระชนม์ องค์ที่ ๒๓ พระองค์เจ้าสุบงกช องค์ที่ ๒๔ องค์ที่ ๒๕ สิ้นพระชนม์ องค์ที่ ๒๖ เดิมเป็นพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตราชประยูร องค์ที่ ๒๗ พระองค์เจ้าเปียก องค์ที่ ๒๘สิ้นพระชนม์ องค์ที่ ๒๙ พระองค์เจ้าอุไร องค์ที่ ๓๐ พระองค์เจ้ากินรี องค์ที่ ๓๑ สิ้นพระชนม์ องค์ที่ ๓๒ พระองค์เจ้าชาย อรรณพ องค์ที่ ๓๓ –๔๒ สิ้นพระชนม์ องค์ที่ ๔๓ พระองค์เจ้าจามรี องค์ที่ ๔๔ สิ้นพระชนม์ องค์ที่ ๔๕ พระองค์เจ้าอมฤตย องค์ที่ ๔๖ พระองค์เจ้าสุบรรณ องค์ที่ ๔๗ สิ้นพระชนม์ องค์ที่ ๔๘ พระองค์เจ้าสิงหรา องค์ที่ ๔๙ พระองค์เจ้าชมพูนุท ในรัชกาลที่ ๔ ได้รับราชการเบ็ดเตล็ดต่างๆเป็นกรมหมื่นเจริญผลพูนสวัสดิ์ ครั้นในรัชกาลปัจจุบันได้ทรงบังคับการในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระคลังพิมานอากาศ และมหาดเล็กช่าง เป็นนายด้านทำวัดเทพศิรินทราวาส และปฏิสังขรณ์วัดราชโอรส แล้วโปรดให้เลื่อนเป็นกรมขุน มีพระโอรสทรงผนวชได้แปลพระปริยัติธรรม ดำรงสมณศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าเปรียญ แล้วภายหลังได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าพระราชาคณะ มีนามว่า หม่อมเจ้าพระสถาพรพิริยพรต องค์ที่ ๕๐ สิ้นพระชนม์ องค์ที่ ๕๑ พระองค์เจ้าบุตรี ได้รับราชการเป็นที่สนิทชิดใช้มาแต่ในรัชกาลที่ ๓ ได้ทรงรักษาประแจพระราชวัง ภายหลังได้ทรงบังคับการในพนักงานนมัสการและกำกับแจกเบี้ยหวัด นับว่าเป็นพระราชบุตรีที่สุดในรัชกาลนั้น เป็นจำนวนพระราชบุตร ๒๓ พระองค์ พระราชบุตรี ๒๘ พระองค์ รวม ๕๑ พระองค์ ดังนี้ฯ

ก็แลพระราชบุตร พระราชบุตรี ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้ง ๕๑ พระองค์นี้ มีนามปรากฏว่าพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ มีพระโอรสและพระธิดา สืบๆลงไป นับว่าเป็นเจ้านายแผนกหนึ่ง ซึ่งเรียกโดยสามัญว่าเจ้านายพวกราชวงศ์ ด้วยประการฉะนี้ ก็แลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ถึงว่าไม่ได้มีพระราชโอรสและพระราชธิดาเป็นเจ้าฟ้า และไม่ได้สืบสันตติวงศ์เป็นพระเจ้าแผ่นดินก็ดี ก็ยังมีพระราชโอรสที่ได้ดำรงพระเกียรติยศใหญ่ เป็นสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยยกาเธอ และมีพระธิดาเป็นกรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร มีพระราชนัดดาเป็นสมเด็จพระบรมราชเทวีถึงสองพระองค์ เป็นพระอัครชายาสามพระองค์ และมีพระราชปนัดดาเป็นเจ้าฟ้า แล้วและจะเป็นต่อไปอีกถึง ๑๓ พระองค์ดังนี้ฯ

บัดนี้จะได้รับพระราชทานพรรณนาข้อความ ซึ่งควรเป็นที่ยินดีชื่นชมของพระบรมวงศานุวงศ์ บรรดาซึ่งปรากฏว่าเป็นพวกราชวรวงศ์และข้าราชการทั้งปวง อันมีความนิยมยินดีระลึกถึงพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามความที่เป็นจริงประการใดนั้น และเมื่อสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ดำรงตำแหน่งแผ่นดินสืบเนื่องต่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงพระดำริว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จดำรงราชสมบัติมาถึง ๒๗ ปี มีข้าราชการที่นิยมยินดีต่อพระองค์มาแต่เดิมก็มาก และข้าราชการในภายหลังก็เป็นคนเกิดในรัชกาลของพระองค์ทั้งสิ้น ย่อมจะเป็นที่นับถือติดมั่นในใจอยู่ทั่วหน้า บางทีจะมีความเดือดร้อนรำคาญ ว่าราชตระกูลของพระบามสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นเสื่อมสูญไปทุกที ก็จะเป็นที่ปั่นป่านรำค่ญใจไปต่างๆจึงทรงพระราชดำริจะรำงับข้อรำคาญนั้นให้เสื่อมหาย จึงได้ทรงรับสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัศวัฒนาวดีเป็นพระบรมราชเทวี ก็ได้มีพระราชโอรสสมดังพระราชประสงค์ แต่ไม่ดำรงพระชนม์อยู่ได้ทั้งพระโอรสและพระชนนี จึงได้ทรงรับกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ เป็นสมเด็จพระบรมราชเทวีต่อมา ก็ได้มีพระราชโอรสพระราชธิดาสมดังพระราชประสงค์ เพราะพระราชดำริดังนี้ จึงได้ดำรัสประกาศยกย่องสมเด็จพระบรมราชโอรสพระราชธิดาทั้ง ๔ พระองค์นี้ ว่าเป็นพวกราชวรวงศ์เนืองๆต่อมา ก็แลการซึ่งเป็นเช่นนี้ ก็นับว่าเป็นการอัศจรรย์ ด้วยพระบรมราชโอรสพระราชธิดาทั้ง ๔ พระองค์นั้น นับว่าเป็นพระราชวรวงศ์แห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ถึงสามสายสามทาง คือ ถ้าจะนับตามลำดับพระบรมราชวงศ์ ซึ่งตรงมาแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็นับว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสมเด็จพระบรมบิตุลาธิราช ท่านทั้ง ๔ พระองค์นี้ เป็นพระราชภาคิไนยทางหนึ่ง ถ้าจะนับฝ่ายสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ และกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็นับว่าเป็นสมเด็จพระบรมราชปัยกาธิบดี ทั้ง ๔ องค์นี้นับว่าเป็นพระราชปนัดดาทางหนึ่ง ถ้าจะนับข้างฝ่ายเจ้าจอมมารดาแห่งสมเด็จพระบรมราชมาดามหัยกาเธอ ซึ่งสืบเนื่องมาแต่น้องนางของพระชนนีในกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย ก็นับเนื่องอยู่ในประพันธ์ ไม่ห่างไกลกว่าทางที่สองนัก ควรนับว่าสนิทกว่าสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอเจ้าฟ้าชายโสมนัศ ด้วยประการฉะนี้ ซึ่งสมเด็จบรมบพิตรพระราชทานสมภาร ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบสันติวงศ์ดำรงราชตระกูลมานี้ นับว่าเป็นอันได้ดำรงพระวงศ์ทั้งสองฝ่ายให้เจริญยืนยาวสืบไป ราชตระกูลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้เสื่อมสูญมีแต่ทรุดไปเช่นคิดเห็นโดยง่ายๆ ด้วยพระบรมราชโอรสและพระราชนัดดา ซึ่งจะสืบไปภายหน้ามากน้อยเท่าใด ก็คงนับเนื่องประพันธ์ในพระราชวงศ์ ทั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดไปไม่มีทางที่จะหลีกละไปอย่างอื่นใด ควรที่พระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งนับว่าเป็นฝ่ายพระเจ้าราชวรวงศ์นี้ จะมีความชื่นชมนิยมต่อพระบารมี ให้เป็นที่ยินดีแห่งตน เมื่อสมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าทรงทราบพระราชประพันธ์อันสนิทเนืองในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวดังนี้ จึงได้มีพระราชหฤทัยระลึกถึงพระเดชพระคุณแห่งพระองค์ ซึ่งได้ดำรงเป็นบรรพบุรุษอันยิ่งใหญ่ จึงทรงบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระเดชพระคุณ ในอภิลักขิตกาลพิเศษครั้งนี้ อนึ่งเมื่อได้ทรงพิจารณาถึงพระราชสันตตติวงศ์ซึ่งเป็นบรรพบุรุษอันเสด็จล่วงไปแล้วนั้น ก็จะสังเวชพระราชหฤทัยในการที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา จะได้ทรงเจริญสัญญาทั้งสามมี อนิจจสัญญา เป็นต้น ให้บริบูรณ์เป็นภาวนามัยบุญกริยา อันเป็นที่ตั้งแห่งกุศลราศี ต้องตามพุทธภาษิต อันทรงแสดงลักษณะทั้งสามประการนั้นฯ

คัดลอกโดย ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๘



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท