​จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๔๗ : เรียนรู้ความตาย เข้าใจชีวิต


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๔๗ : เรียนรู้ความตาย เข้าใจชีวิต

เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ผมได้รับเกียรติถูกเชิญโดยชมรมพุทธิกาไปร่วมงานปาฐกถา "ศิลปของการอยู่และการตาย (The Art of Living and Dying)" ของท่านโซเกียล ตรุงปะ ริมโปเช ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ โดยไปร่วมเสวนาก่อนที่จะถึงปาฐกถาในหัวข้อ "เรียนรู้ความตาย เข้าใจชีวิต" มีปรากฏการณ์เรียนรู้หลายประการเกิดขึ้นในตนเอง และอยากจะนำมาแบ่งปัน

งานนี้จัดที่ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีเพราะถือเป็นถิ่นเก่า (ผมจบศิริราช และบ้านเคยอยู่หน้ากรมอู่ทหารเรือ ซื้อขนมเบื้องวังหลังกินตั้งแต่แม่จูงมาซื้อจนกระทั่งเดินมาซื้อเองจนจบแพทย์) งานเสวนานี้ยิ่งน่าสนใจเมื่อทราบว่าผมจะได้ร่วมสนทนากับคุณปรียานุช ปานประดับ เชฟหมี (อาจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง) และอาจารย์อนุสรณ์ ติปยานนท์ ซึ่งทั้งสามท่านผมพึ่งจะได้เจอะเจอเป็นครั้งแรกในวันนี้ แต่ประสบการณ์ของทุกๆท่านนั้นน่าสนใจมากสำหรับในประเด็นหัวข้อที่จะสนทนาในวันนี้ ทั้งประสบการณ์ชีวิตส่วนตัวของคุณปรียานุชและของครอบครัว (เรื่องของป้าจุ๊ และคุณนพพล) ความเป็นอาจารย์ปรัชญาของเชฟหมี (ความสนใจและความทุ่มเทของท่านเพิ่มมิติที่ลึกซึ้งและหลากหลาย ทั้งทางพุทธ พราหมณ์ และศาสนาเปรียบเทียบ) ส่วนอาจารย์อนุสรณ์ผู้แปลหนังสือคัมภีร์มรณศาสตร์ ของท่านเชอเกียม ตรุงปะ ริมโปเช มาตั้งแต่หลายสิบปีที่แล้ว มีผลงานอันปูพื้นฐานสำคัญในด้านนี้ในวงการศึกษาไทย และได้คุณประสาน อิงคนันท์ เป็นผู้ดำเนินรายการทำให้เกิดความสมบูรณ์ที่สุด

หลังจากนั้นก็มีดนตรีภาวนาของคุณเมธี จันทรา ที่ได้บรรเลงขลุ่ยเซ็นญี่ปุ่น "ซากุฮาชิ" ทำให้เชื่อมรอยต่อระหว่างการเสวนากับในส่วนปาฐกถาธรรมของท่านโซเกียลได้อย่างแนบเนียน ไร้รอยต่อ ก่อนที่ผู้เข้าฟังจะได้ใช้เวลาอีกสองชั่วโมงเดินทางเข้าเลียบชมมิติแห่งมรณะด้วยจิตที่โปร่งใส เบิกบาน (เบิกบานจริงๆ เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ และบรรยากาศอันเบาสบาย)

เข้าใจว่าทั้งหมดจะถูกอัดลงและเผยแพร่ใน YouTube ในไม่ช้า ดังนั้นในบทความนี้จะไม่ใช่การถ่ายทอดว่าพูดอะไรกัน แต่เป็นการสะท้อนและตกผลึกสิ่งที่ได้ เท่าที่พอจะพรรณนาได้เป็นตัวอักษร

การเผชิญความตาย ขึ้นกับปัจจัยทางภูมิธรรม

คุณปรียานุชได้ผ่านประสบการณ์ตรงของตนเอง และของคนใกล้ชิดในครอบครัวและนำมาแชร์ให้ฟัง ผ่านสำเนียงเสียงที่แจ่มใส ไพเราะ ด้วยเรื่องราวที่แม้จะเกี่ยวกับความพรากจาก ความเศร้าโศกเสียใจ แต่ก็แฝงด้วยความผ่อนคลาย มุมมองที่เปิดโลกทัศน์ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะความเรื้อรังของความทุกข์ ซึ่งในความยากลำบากของช่วงเวลายาวนานนั้น ก็ได้บ่มเพาะเกิดเป็นการทำความเข้าใจในสัจธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นเบื้องหน้าให้ชัดเจน และเมื่อชัดเจน เห็นทุกสิ่งทุกอย่าง "มันเป็นเช่นนั้น" ป่วยการที่จะไปขมึงตึงเครียด หรือไม่ยอมรับ หรือไปฝึกฝืนสู้ดิ้นรน จนในที่สุดเกิดเป็นความ "ผ่อนคลาย" และเมื่อผ่อนคลายลง จิตก็สำแดงออกมาเป็น "ความสุข ความสงบ อารมณ์ขัน" มองย้อนกลับไปก็ยิ้มได้ ทึ่งได้

อาจารย์คมกฤช เสริมด้วยเรื่องเล่าประสบการณ์ส่วนตัวของคุณปู่และครอบครัว ที่เคยทำกิจการค้าโลงศพ ความใกล้ชิดกับความตายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ได้ฝากร่องรอยและ "ทักษะ" ที่สำคัญไว้คือความเข้าใจถึงธรรมชาติจากสิ่งที่เห็นว่าเกิดขึ้นทุกวันๆ จิตก็สำแดงออกมาเหมือนที่คุณปรียานุชได้ทำ คือเป็น "ความสุข ความสงบ และอารมณ์ขัน" เล่าเรื่องความตายที่มีรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และเกิดความรู้สึกทึ่งในศักยภาพของมนุษย์ที่เผชิญกับเรื่องราวเหล่านี้

อาจารย์อนุสรณ์เล่าถึงประสบการณ์ที่เชื่อมโยงความจริงจากหนังสือที่ท่านแปล กับเรื่องราวมากมายหลายหลายหลังจากนั้น ความพลิกแพลงในการนำมาใช้จนเกิดมุมมองใหม่ มิติใหม่ การตัดสินใจเรื่องราวสำคัญในบางครั้งที่ใช้เวลาเพียงชั่ววินาที และผลกระทบยาวนานมาหลายปี เช่นการตัดสินใจว่าจะยื้อชีวิตคนป่วยหรือไม่ ที่สุดท้ายพอยื้อได้แต่ปรากฏว่าเราได้ร่างที่มีชีวิต แต่ปราศจากความรู้สึกรับรู้เหลืออยู่ ที่ยังคงต้องดูแลกันต่อมาอีกหลายปีและไม่มีวี่แววจะสิ้นสุดเมื่อไร

เรื่องเล่าของทุกๆท่านทำให้เกิด "คำถาม" สำคัญคือ "อะไรคือสาระสำคัญ"
สาระสำคัญของชีวิต และสาระสำคัญของความตาย หรือการ "ตายดี"?

ในการทำงานของผมเองก็เผชิญกับเรื่องราวเหล่านี้มา เมื่อเห็นมาเป็นจำนวนหนึ่ง เราก็อดมิได้ที่จะพยายามเชื่อมโยงเรื่องต่างๆเข้าหากัน ก็ปรากฏว่าจะตายดี หรือจะตายไม่ดีนั้น ไม่ได้อยู่ที่ protocol ของโรงพยาบาลสักเท่าไหร่ (แต่มีส่วนไม่น้อยในบางกรณี) แต่อยู่ที่คนที่กำลังจะตายนั้น "ใช้ชีวิตกันมาอย่างไร" เสียเยอะ

คนที่จะเผชิญหน้ากับความตายอย่าง "สุข สงบ และมีอารมณ์ขัน" อย่างของคุณปรียานุช หรืออาจารย์คมกฤชนั้น มี "ภูมิธรรม" คือมีเรื่องเล่าที่มาที่ make sense ว่าทำไมถึงได้ลงเอยและเกิดเป็นลักษณะแบบนี้ ผมเคยบอกกับน้องๆนักศึกษาแพทย์หลายๆคน หลายๆครั้งว่า ในการทำงานวิชาชีพของเรา ซึ่งนอกเหนือจากการใกล้ชิดกับความทุกข์ของผู้คนแล้ว เรายังใกล้ชิดกับ "ความจริง/สัจธรรม" อย่างเป็นที่สุดด้วย และในบริบทที่เต็มไปด้วยความจริงนี่เอง ที่จะเอื้อต่อการเรียนรู้มากที่สุด เพราะความจริงรวมทั้งการเผชิญหน้ากับความจริง บ่อยครั้งที่เราจะได้พบเจอพระโพธิสัตว์กำลังสำแดงธรรมให้เราฟัง ให้เราดูอยู่เบื้องหน้า สิ่งที่เราต้องทำก็คือ "รับรู้ให้ทัน" เท่านั้นเองว่าเรากำลังได้โอกาสจะเรียนรู้

และเมื่อเราได้เรียนรู้ สิ่งที่น่าจะเป็นกำลังใจอย่างยิ่งในการเรียนแพทย์ก็คือ ภูมิธรรมเหล่านั้นที่เป็นต้นทุนของคนหลายๆคน เราทำงานในที่ที่ "ใกล้" มากที่จะหยิบฉวยนำมาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าชีวิตของเราเอง

ต้องขออนุโมทนาพุทธิกา คุณปรียานุช อ.คมกฤช อ.อนุสรณ์ ที่ได้เมตตานำเรื่องราวอันมีค่ามาเติมชีวิตผมด้วยครับ

สาธุ

น.พ.สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์
วันอังคารที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๑ นาฬิกา ๑๓ นาที
วันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะแม

หมายเลขบันทึก: 598704เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2015 11:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ธันวาคม 2015 11:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านบันทึกนี้แล้ว สุขสงบเป็นพิเศษครับ พลอยให้คิดถึงกลอนงูๆ ปลาๆ ที่ตัวเองเคยเขียนไว้ร่วมสิบปี
ซึ่งเขียนตอนไปเป็นที่ปรึกษาค่ายของนิสิต -

มุ่งหวังสิ่งใดในโลกหล้า
เกิดมาก็แต่ตัวเปล่า
ชีวิตใช่นานยาว
ลับโลกเราทิ้งเรื่องราวใดไว้




พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท