แม่โพสพ


ข้าว ทำขวัญข้าว

แม่โพสพ

นายอานนท์ ภาคมาลี(คนหาปลา ข้าราชการบำนาญ)

แม่โพสพ หรือเพี้ยนเป็น พสพ หรือประสพ ก็มี เข้าใจว่าโพสพเป็นคำเพี้ยนมาจากไพสพ ซึ่งเป็นเทพพิทักษ์ขุมทรัพย์ในดิน หรือมาจากไพสพราช ชื่อตราตำแหน่งของเสนาบดี กระทรวงเกษตรรานิการของโบราณ

ตำนานหรือนิทานเกี่ยวกับแม่โพสพ หรือแม่โคสก (อีสาน) มีเล่าต่อกันมาทุกภาค แตกต่างกันไปบ้าง ตามแต่ละท้องถิ่น โดยแตกต่าง 2 แนวคือ นิทานภาคกลาง และภาคใต้ จะมีเรื่องตรงกันแนวหนึ่งอีกแนวหนึ่งเป็นนิทานภาคเหนือ และภาคอีสาน

ตำนานแม่โพสพของภาคกลางและภาคใต้ เล่าว่าแม่โพสพ เป็นเทพีแห่งข้าว มีพาหนะเป็นปลากลายทอง และปลาสำเภา วันหนึ่งที่เมืองไพสาลี กลางสโมสรสันนิบาต มนุษย์ปรึกษากันว่าระหว่างพระพุทธเจ้า และแม่โพสพ ใครมีคุณมากกว่ากัน ที่ประชุมเห็นกันว่า คุณของพระพุทธเจ้าใหญ่กว่าแม่โพสพ

แม่โพสพได้ฟังดังนั้น ก็ข้องใจว่ารักมนุษย์อยู่ มนุษย์ไม่เห็นความดี จึงทรงปลากลายหนีไปยังป่าหิมพานต์เขาราชกูฎ เมื่อแม่โพสพจากไป ก็เกิดความอดยากขึ้นในโลกมนุษย์ ทำไร่ไถนา ไม่มีข้าว มีแต่แกลบ มนุษย์จึงชวนกันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเข้าให้พระมาตุลี ไปเชิญนางกลับ พระมาตุลี ตามไปถึงเขาทบกัน ก็ไปไม่ได้ จึงใช้ให้ปลาสลาด ไปตามต่อจนพบ

ปลาสลาด อ้อนวอนขอให้ แม่โพสพกลับคืนโลก นางตอบว่า อยู่ที่นี่เราสบาย ถ้าจะไปใจแม่หายเขาไม่รู้บุญคุณ แม่จะให้เมล็ดข้าวไป ดูแลฝูงคน เมื่อเก็บ นึกถึงเรา เราจะไปปีละหน ตรวจดูผู้คนเก็บเกี่ยวแล้วให้ทำขวัญ จากนั้นนางได้มอง เมล็ดข้าว 7 เม็ด (บ้างก็ว่า 9 เม็ด) ไปทำพันธุ์ และให้แม่เหล็ก 1 อ้น สำหรับตั้งพร้า นางยังสั่งด้วยว่า มนุษย์ที่ไร่ไถนา เมื่อข้าวใกล้สุก (ข้าวใกล้แก่พร้อมเก็บเกี่ยว) ก็ให้จัดพิธีทำขวัญข้าว และด้วยที่ปลาสลาดเป็นผู้บอก ทางที่นางซ่อนแก่พระมาตุลี นางจึงสั่งให้นำปลาสลาดมาเป็นเครื่องเซ่นสังเวยด้วย ปลาสลาดก็ลากลับ มาเล่าให้พระมาตุลีฟัง ตามคำแม่โพสพ

พระมาตุลี รับเมล็ดข้าวแล้วเหาะกลับ ระหว่างหยุดพักอาบน้ำ นกกระจาบแอบลักเมล็ดข้าวสองเม็ดบินหนี ข้าวสองเม็ดตกลงมายังพื้นโลก กลายเป็นข้าวผี พระมาตุลีนำเมล็ดข้าวพันธุ์ข้าวถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงเรียกมนุษย์มาพร้อมกัน ทรงอธิบายให้มนุษย์ฟัง และแจกเมล็ดพันธุ์ข้าว ให้ดั้งแต่นั้นมา เมื่อข้าวใกล้สุก มนุษย์จะทำขวัญ เชิญแม่โพสพมาเป็นประจำทุกปี

นิทานหรือตำนานเกี่ยวกับเทวีแห่งข้าว คือแม่โพสพ จากหนังสือ ข่าวกับคนไทย ของสถาบันวิจัยข้าววิชาการเกษตร บันทึกเรื่องแม่โพสพ โดยเสถียร โกเศศ (ศาตราจารย์พระยาอนุมานราชธน นักปราชญ์และนักการศึกษาคนสำคัญของไทย) ไว้ว่า ตำนาน หรือนิทานเกี่ยวกับแม่โพสพ หรือแม่โคสก (อีสาน) มีเล่าต่อกันมาทุกภาค แตกต่างกันไปบ้างตามแต่ละท้องถิ่น โดยแตกต่างกัน 2 แนวทาง คือ นิทานภาคกลางและใต้ จะมีเรื่องตรงกันแนวหนึ่ง อีกแนวหนึ่งคือ ตำนานแม่โพสพภาคเหนือและอีสาน มีผู้จารึกระบุไว้ในใบลานด้วยอักษรธรรมที่วัดศรีภูมิ บ้านนาหอ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ว่า

นานมาแล้ว พญาวิรูปักขา เป็นผู้ให้กำเนิดข้าว ต่อมาสมัยพระพุทธเจ้า ผู้มีพระนามว่า กุกกูสันโท ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์แรก มีผู้นำเอาข้าวมาเลี้ยงคนและสัตว์ในชมพูทวีป ปรากฏว่าข้าวในสมัยนั้นเมล็ดใหญ่โตมาก มีกลิ่นหอมและรสอร่อย แต่เมื่อจะกินต้องใช้มีดพร้าผ่ามานึ่งกิน ต่อมาถึงพระพุทธเจ้าผู้มีพระนามว่าโกนาคมโน เมล็ดข้าวก็เล็กลงบ้าง แต่ยังมีกลิ่นหอมละรสอร่อยเหมือนเช่นเคย ในสมัยต่อมามีหญิงชราม่ายคนหนึ่ง เคยมีสามีถึง 7 คน สามีตายหมด ต้องอยู่คนเดียว ไม่มีลูกหลานจะพึ่งพาอาศัย คราวหนึ่งขณะนางกำลังทำยุ้งข้าวอยู่ เมล็ดข้าวก็พากันบินหลั่งไหลเข้ามารวมกัน ณ ใต้ถุงบ้านของนาง แม่ม่ายโกรธมากที่เมล็ดข้าวมามากมาย เพราะนางยังทำยุ้งไม่เสร็จ นางจึงเอาไม้ขนาดใหญ่ตีเมล็ดข้าวเหล่านั้นให้แตกกระจายเป็นซีกเล็กๆ ข้าวตกใจพากันหนีไปอยู่ตามเถื่อน (ป่า) ถ้ำและหนอง ชาวบ้านให้ชื่อข้าวว่านางโพสพ และข้าวไม่กลับมาหามนุษย์อีก ผู้คนพากันอดข้าวเป็นเวลานานถึงพันปี

กระทั่งมีลูกเศรษฐีคนหนึ่งไปเที่ยวป่าหลายวัน จึงเอาเหล็กแทงลงไปในน้ำเพื่อหาปลา เหล็กแทงไปถูกปลาไหลทองตัวหนึ่งจนท้องแตกกระจายไปทั่ววังน้ำ พญาปลากั้ง (คล้ายปลาช่อน) ตัวหนึ่งมาพบเข้าจึงอ้อนวอนของแลกปลาไหลทองด้วยนางโพสพ คือข้าว ลูกเศรษฐีตกลง พญาปลากั้งจึงเรียกนางโพสพ คือข้าว มาหาและมอบให้ลูกเศรษฐีไป แต่นางโพสพ ขัดขืนไม่อยากไปเมืองมนุษย์ เพราะกลัวถูกตีอีก

กระทั่งเทวดา 2 องค์ เนรมิตปลาและกวางทองมาช่วยพูดขอในนางโพสพไปอยู่เมืองมนุษย์เพื่อเลี้ยงคนและสืบพระศาสนา นางโพสพเห็นเป็นเทวดา ก็ไม่อาจขัดได้ จึงตกลงไปกับลูกเศรษฐี พอมาถึงพระพุทธเจ้า พระนามว่า กัสโป เมล็ดข้าวเล็กลงอีกมีกลิ่นหอมและรสอร่อยเช่นเดิม จนถึงพระพุทธเจ้าที่ทรงพระนามว่า โคตโม เมล็ดข้าวเล็กลงอีกมีกลิ่นหอมและรสอร่อยเช่นเคย

ต่อมามีพญาองค์หนึ่งเสวยราชเป็นกษัตริย์อธรรม เกิดฝนแล้งผู้คนอดยาก พญาองค์นั้นได้ทำยุ้งฉางหลวงข้าวไว้แจกจ่ายประชาชน จึงมาขอรับข้าวไปแลกของกินและสิ่งของต่างๆ และชายเอากินมาใช้ ข้าวโกรธจึงหนีไปอยู่ในหนองอีก

ใกล้กันนั้นพระฤาษีตนหนึ่งพำนักอยู่ ประชาชนอดยากอยู่สามร้อยปี ล้มตายกันทั้งเมือง ยังเหลือแต่ตายายผัวเมียที่เข้าป่าไปหาพระฤาษี เพื่อขออาหาร และเล่าถึงความอดยาก ให้พระฤาษีฟัง พระฤาษีจึงเรียกนางโพสพ หรือข้าว มาหาแล้วมอบให้สองเฒ่า ขั้นแรกนางโพสพไมยอมไปพระฤาษีจึงเสกคาถาให้สองเฒ่าเสกใส่นางโพสพ นางโพสพถูกคาถา จึงต้องไปเมืองมนุษย์อีก และพระฤาษียังเสกข้าวชนิดต่างๆ ให้สองเฒ่านำไปปลูก คราวแรกต้นเหี่ยวตาย สองเฒ่าจึงแต่งเครื่องขวัญเรียกวิญาญาณนางโพสพและเอาคาถาที่พระฤาษีบอกให้มาเสกใส่น้ำไปรดต้นข้าว ต้นข้าวงอกงามดี และเมล็ดข้าวเล็กมากมาย

สองเฒ่าจึงเอาเมล็ดข้าวแจกจ่ายไปยังบ้านเมืองต่างๆและนำวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับข้าวด้วย เช่นให้ทำบุญคูณลานข้าว เมื่อนวดข้าวกองไว้ที่ลาน และทำพิธีเรียกขวัญข้าว หรือเจ้าแม่โพสพด้วย สองเฒ่าอายุยีนถึงพันปีจึงถึงแก่กรรม ส่วนพันธุ์ข้าวก็แพร่หลายไปตามบ้านเมืองต่างๆ อย่างกว้างขวางตลอดมาจนตราบทุกวันนี้

หมายเลขบันทึก: 598254เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2015 12:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ธันวาคม 2015 19:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับ

-ขอบคุณสำหรับข้อมูลเรื่อง"แม่โพสพ"นะครับ..

-ขออนุญาตปริ้นเก็บเป็นข้อมูลไว้เผยแพร่ต่อนะครับ

ดีครับ เผยแพร่ได้เลย ประเพณีคูณลานจะหายไป และทำขวัญข้าวก็จะไม่มี อีกหน่อยข้าวจะหนีไป

ใช้รถเกี่ยวข้าว จะไม่่ได้เห็นกองฟางอีก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท