717. สมองผู้นำ (The Leadership's Brain)


เรียนรู้ศาสตร์ OD ผ่าน "สามก๊ก" (ตอนที่ 47)

ผมเป็นนักวิชาการที่พยายามมองหาความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆที่ปรากฏผ่านเข้ามาในชีวิต ซึ่งตอนนี้ผมได้พยายามมองเข้าไปในสามก๊ก เพื่อค้นหาแง่มุมดีๆ มาสอนตัวเอง และแบ่งปันคนรอบ วันนี้เราจะมองอะไร ผมขอเสนอเรื่องทศพิศราชธรรม ธรรมของพระราชา เมื่อผมเอาทศพิศราชธรรมไปมองประวัติศาสตร์ยุคสามก๊ก ผมรู้สึกตื่นต่าตื่นใจมากๆ ผมค้นพบความสัมพันธ์ที่น่าสนใจครับ ผมเห็นว่าความรุ่งเรืองและการล่มสลายของผู้นำยุคสามก๊ก ดูอธิบายได้ทศพิศราชธรรมครับ ก่อนอื่นมาดูว่าคืออะไร ผมคัดมาจากพจนานุกรรมพุทธศาสตร์

“ราชธรรม 10 หรือ ทศพิธราชธรรม (ธรรมของพระราชา, กิจวัตรที่พระเจ้าแผ่นดินควรประพฤติ, คุณธรรมของผู้ปกครองบ้านเมือง, ธรรมของนักปกครอง)

1. ทาน (การให้ คือ สละทรัพย์สิ่งของ บำรุงเลี้ยง ช่วยเหลือประชาราษฎร์ และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์)

2. ศีล (ความประพฤติดีงาม คือ สำรวมกายและวจีทวาร ประกอบแต่การสุจริต รักษากิตติคุณ ให้ควรเป็นตัวอย่าง และเป็นที่เคารพนับถือของประชาราษฎร์ มิให้มีข้อที่ใครจะดูแคลน)

3. ปริจจาคะ (การบริจาค คือ เสียสละความสุขสำราญ เป็นต้น ตลอดจนชีวิตของตน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง)

4. อาชชวะ (ความซื่อตรง คือ ซื่อตรงทรงสัตย์ไร้มารยา ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจ ไม่หลอกลวงประชาชน)

5. มัททวะ (ความอ่อนโยน คือ มีอัธยาศัย ไม่เย่อหยิ่งหยาบคายกระด้างถือองค์ มีความงามสง่าเกิดแต่ท่วงทีกิริยาสุภาพนุ่มนวล ละมุนละไม ให้ได้ความรักภักดี แต่มิขาดยำเกรง)

6. ตปะ (ความทรงเดช คือ แผดเผากิเลสตัณหา มิให้เข้ามาครอบงำย่ำยีจิต ระงับยับยั้งข่มใจได้ ไม่ยอมให้หลงใหลหมกมุ่นในความสุขสำราญและความปรนเปรอ มีความเป็นอยู่สม่ำเสมอ หรืออย่างสามัญ มุ่งมั่นแต่จะบำเพ็ญเพียร ทำกิจให้บริบูรณ์)

7. อักโกธะ (ความไม่โกรธ คือ ไม่กริ้วกราด ลุอำนาจความโกรธ จนเป็นเหตุให้วินิจฉัยความและกระทำกรรมต่างๆ ผิดพลาดเสียธรรม มีเมตตาประจำใจไว้ระงับความเคืองขุ่น วินิจฉัยความและกระทำการด้วยจิตอันราบเรียบเป็นตัวของตนเอง)

8. อวิหิงสา (ความไม่เบียดเบียน คือ ไม่บีบคั้นกดขี่ เช่น เก็บภาษีขูดรีด หรือ เกณฑ์แรงงานเกินขนาด ไม่หลงระเริงอำนาจ ขาดความกรุณา หาเหตุเบียดเบียนลงโทษอาชญาแก่ประชาราษฎร์ผู้ใด เพราะอาศัยความอาฆาตเกลียดชัง)

9. ขันติ (ความอดทน คือ อดทนต่องานที่ตรากตรำ ถึงจะลำบากกายน่าเหนื่อยหน่ายเพียงไร ก็ไม่ท้อถอย ถึงจะถูกยั่วถูกหยันด้วยคำเสียดสีถากถางอย่างใด ก็ไม่หมดกำลังใจ ไม่ยอมละทิ้งกรณีย์ที่บำเพ็ญโดยชอบธรรม)

10. อวิโรธนะ (ความไม่คลาดธรรม คือ วางองค์เป็นหลักหนักแน่นในธรรม คงที่ ไม่มีความเอนเอียงหวั่นไหวเพราะถ้อยคำที่ดีร้าย ลาภสักการะ หรืออิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ใดๆ สติมั่นในธรรม ทั้งส่วนยุติธรรม คือความเที่ยงธรรม นิติธรรม คือ ระเบียบแบบแผนหลักการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ก็ดี ไม่ประพฤติให้เคลื่อนคลาดวิบัติไป)”

มาที่เล่าปี่ ชัดมากๆ ดูเหมือนตอนก้าวขึ้นสู่อำนาจ เล่าปี่แทบไม่หลุดเลย แต่พอขึ้นเป็นฮ่องเต้เท่านั้น ก็เป๋ข้อ 7 เพราะประกาศล้างแค้นให้กวนอู เลยพาลไปเสียข้อ 8 อวิหิงสา เกณฑ์แรงงานคนไปตายมหาศาล 70 หมื่น ก็ 7 แสน ลองดูว่าคนขวัญเสียเท่าไหร่ เพราะไม่ได้กระทบกับคนแค่ 7 แสน สมมติว่าแต่ละคนมีคนที่รัก พ่อแม่ พี่น้อง (สมัยก่อนพ่อแม่มีลูกหลายคน) บางคนก็เมียลูกอีก ตีว่า 5 คนอย่างต่ำ นั่นหมายถึงกระทบคนอีก 3,500,000 คน ใจหาย ประสาทกินทั้งอาณาจักร ที่สุดเมื่อแพ้ ผมว่านี่ถึงกับหมดศรัทธากันทีเดียว ไม่แปลกตอนวุยก๊กบุก ถึงไม่ค่อยมีคนอยากสู้

อีกคนคือโจโฉ เห็นหลายอย่าง โจโฉก็ดูมีทศพิศราชธรรม เด่นๆ อยู่สี่ประการคือ ทาน ปริจาคะ อวิหิงสา และขันติ ยุคที่บ้านเมืองโกลาหล คนตกยาก การให้ การบริจาค ดูแลประชาชน ของโจโฉนี่เติมเต็มหัวใจราษฎรษ์ได้เลย แถมไม่เบียดเบียนราษฎรษ์อีก นี่คนก็ Happy อีกเรื่องที่ทำให้โจโฉก้าวกระโดด คือความอดทน อวิโรธนะ ก็เข้มแข็งในหลายส่วนโดยเฉพาะกับงานปกครอง ได้ใจราษฎรไปเต็มๆ เพราะบ้านเมืองสงบ

จริงๆ สิ่งที่โจโฉทำมาตลอดในเรื่องการดูแลราษฎร นี่แทบทำให้โจโฉเป็นมหาราชอยู่แล้ว แต่โจโฉกลับก้าวพลาด เช่นไปฆ่าคนที่ให้อุปการะทิ้งทั้งครอบครัว นี่ยากแล้วครับ คนดีๆ ก็รู้สึกไม่อยากเข้าไกล้ ไม่พอมีคราหนึ่งประหารฮองเฮา และราชบุตรของฮ่องเต้ที่ยังอยู่ในครรภ์ นี่ก็ยากแล้ว ขาดศีล ขาดความดีงาม ที่สำคัญตัวสร้างปัญหาจริงๆ ตัวหนึ่งคือเรื่องตปะ โจโฉมีปัญหา โดยเฉพาะเจอตัณหาครอบงำจิต ไปเป็นชู้กับเมียชาวบ้าน จนเขาไล่ฆ่าเอา ทำให้เสียลูกชายคนโตไป ส่วนอวิโรธนะ ที่ดูมีปัญหาคือดูมีความคลาดเคลื่อนในธรรมชัดเจน ครอบงำฮ่องเต้ ดูเหมือนความที่โจโฉขาดตกบกพร่องเรื่องทศพิศราชธรรมนี่เอง ที่ทำให้โจโฉทำงานยากมากขึ้นเรื่อยๆ ศัตรูถือเอามาเป็นข้ออ้างแยกก๊ก และต่อต้านมานาน ทำให้โจโฉต้องผลาญชีวิตคนในครอบครัว ผลาญตัวเอง ที่สุดก่อนตายก็มีปัญหาทางจิต ประสาทกินขึ้นเรื่อยๆ ขนาดระแวงหมอ จนไม่ให้หมอรักษาโรคสมอง ทั้งๆที่ตอนนั้นก็มีเพียงหมอคนเดียวในจักรวาลคือหมอฮูโต๋รักษาโรคสมองของโจโฉได้ ที่สุดหมอก็ตาย ตัวเองก็ตาย ตายแบบประสาทกิน พอๆกับเล่าปี่

ถ้ามีเวลาคุณลองพิจาณาดูก็ได้ ไม่ว่าจะใครในสามก๊ก ถ้าเอามาถอดรหัสก็จะเห็นคล้ายๆกันตั้งแต่พระเจ้าเหี้ยนเต้มาเลย

จะว่าไปทศพิศราชธรรมเป็นธรรมผู้ปกครองที่มหัศจรรย์มากๆ เรียกว่าสามารถทำให้สามัญชนชั้นล่างสุด ก้าวขึ้นสู่ฐานะจักรพรรดิในช่วงเวลาไม่นาน ทั้งเล่าปี่ และโจโฉ ก็ได้ทำในหลายส่วน แต่เมื่อขาดไปก็หมายถึงเราถอนรากแก้วเราทิ้ง ที่สุดต้นไม้นั้นจะคงอยู่ต่อไปไม่ได้ หรืออยู่ก็อยู่อย่างสั่นคลอน ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของตนเองและคนรอบตัว

แนวคิดเรื่องทศพิศราชธรรมนั้น ผมเชื่อว่ายังไปอะไรที่ล้ำสมัยอยู่ ปัจจุบนมีการพูดถึงในหลายวงการ ผู้บริหารสมัยใหม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารได้

มีการศึกษาที่น่าทึ่งโดยคุณโทนี่ โนะนากะ เศรษฐีที่ศึกษาเศรษฐีมากว่า 2,000 คน (ผมว่าคนระดับพวกนี้ ถ้าอยู่ในยุคสามก๊ก ก็มีสิทธิเป็นผู้นำก๊กได้เลย) แล้วนำข้อมูลมาเขียนหนังสือเรื่อง “ความลับเศรษฐี คนแบบนี้แหละที่ดึงดูดเงิน” ...ผู้แต่งมีโอกาสคบหาคนตั้งแต่บิลล์ เกท จนถึงไทเกอร์ วูด ได้มองเห็นเศรษฐีสองประเภท คือเศรษฐีที่มีความสุข กับเศรษฐีไร้ความสุข เศรษฐีที่มีความสุขในบั้นปลาย มีชีวิตที่มีความหมาย สุขภาพดี มีความสุข ดูๆไปเหมือนมีทศพิศราชธรรมเลยครับ เอาง่ายๆ พวกนี้ไม่นอกใจภรรยาด้วยซ้ำ ทั้งๆที่มีโอกาส เพราะถือว่าภรรยาเป็นผู้มีพระคุณ ที่ช่วยเขาก่อร่างสร้างตัวมา พวกนี้ถ่อมตัวมากๆ หลายคนเช่นวอเร็น บัฟเฟ็ต ที่บริจาคทรัพย์สิน 99% ให้โลก นิสัยก็ถ่อมตัวมากๆ แต่อีกพวกจะเป็นพวกเศรษฐีไร้สุข ไม่สร้างสมดุลย์ชีวิต มักเจ็บออดๆแอดๆ ไม่มีเพื่อนแท้ ไร้ความสุขที่แท้จริง พวกนี้มีปัญหาครับ หลายคนขาดความอ่อนโยน รวยมาแล้วเลืมตัว ที่สุดลูกน้องที่สร้างตัวร่วมกันมาก็หนีหน้า บริษัทมีปัญหา บางคนขันติมากเกินไปอดทน แต่ไม่ดูแลสร้างความสมดุลย์ขาดมุมมองด้านอวิโรธนะ ที่สุดครอบครัวแตก หลายคนมีปัญหาชู้สาว ที่สุดไปกันหมด ตกต่ำในชั่วคนเดียว

จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆ ว่าเราสามารถสร้างตัวด้วยทศพิศราชธรรม ดำรงชีวิต สร้างประโยชน์ให้ตนเองและโลกได้ด้วยทศพิศราชธรรม คนเราอยากรวยทุกคน แต่รวยแล้วมีความสุข ต้องคิด ต้องทำอีกขั้น แล้วไม่ทำไม่ได้ด้วยครับ มันสอดคล้องกันจริงๆ

ในทางบริหาร ตอนนี้เราเริ่มมีแนวคิดมาสักพักว่า การสร้างวิสัยทัศน์องค์กร เราเริ่มใช้คำถามว่า "What's the world calling for?" แปลว่า "โลกใบนี้กำลังเรียกร้องอะไรดีๆ จากท่าน" "โลกนี้ต้องการให้ท่านไปแก้ปัญหาอะไร" ...ไม่ใช่ว่า เราจะเป็นที่หนึ่งด้านไหน ..จริงๆ มันหมายถึงว่า ท่านควรจะส่งมอบอะไรดีๆให้โลกใบนี้มากกว่า... นี่ไงครับ วิธีการสร้างวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกับทศพิศราชธรรมหลายข้อ "เน้นให้ มากกว่ารับ"

ผมเชื่อว่าคนมีสติ มีความคิดเลิกพูดกันในเชิงยกย่องว่า "ลูกคนรวย" ... "คนรวย" แล้วครับ เรามองหาคนมี "ทศพิศราชธรรมมากกว่า"

คนมีสติ มีปัญญามองหาบริษัทที่มีร่องรอยของการบริหารแบบ ทศพิศราชธรรมมากกว่า เพราะไม่มียังไงไม่นานก็ล่มสลายครับ

วันนี้ผมพาพวกเรามาเจาะสมองผู้นำ เป็นไงครับ ชัดไหมครับ

น่าคิดครับ

วันนี้พอเท่านี้ เพียงเล่าให้ฟัง ลองเอาไปพิจารณาดูนะครับ

หมายเลขบันทึก: 598188เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2015 10:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ธันวาคม 2015 21:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท