ขับเคลื่อน PLC เทศบาลเมืองมหาสารคาม _๓๕ : PLC เทศบาลบ้านวิทย์น้อย ร.ร. เทศบาลบูรพาพิทยาคาร (๑)


วันที่ ๑๙ พ.ย. ๒๕๕๘ ทีม CADL ลงพื้นที่ไปเชียร์การจัดการเรียนการสอนตามโครงการอนุบาลบ้านวิทยาศาสตร์น้อย โรงเรียนเทศบาลบูรพาพิทยาคาร หลังจากปีการศึกษาที่ผ่านมา เราทำเวที PLC อบรมพัฒนาครูแล้ว ๒ ครั้ง (อ่านได้ที่นี่)

เราไปถึงโรงเรียนประมาณ ๘:๓๐ น. นักเรียนอนุบาลตั้งแถวรวมกันทำกิจกรรมหน้าอาคาร ๓ ชั้น ที่ทั้งสามชั้นของตึกนี้ ยกให้เป็นส่วนโรงเรียนอนุบาลทั้งหมด นักเรียนกว่าร้อยคน กำลังจะเดินเรียงแถวเข้าชั้นเรียนพอดีครับ... ผมคิดในใจว่า การไปเยี่ยมโรงเรียนต่อไป ต้องไปให้เช้ากว่านี้ จะได้เห็นวิธีที่โรงเรียนเตรียมความพร้อมของนักเรียนด้วย


ที่น่าสนใจคือ นักเรียนทุกคนใส่เสื้อกันเบื้อน ความจริงไม่ใช่เฉพาะโรงเรียนนี้ ทุกที่ก็ให้นักเรียนใส่ผ้ากันเบื้อนหมด ... ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ เราใส่เสื้อกันเบื้อนเพื่อไม่ให้ "กลัวเบื้อน" เพราะเด็กที่เรียนรู้ด้วยการลงมือทำด้วยตนเองนั้น ย่อมต้องเปื้อนอยู่แล้ว ดังนั้นการสอนที่ ผ้ากันเปื้อนไม่เคยเปื้อน อาจเป็นสัญญาณเตือนว่า เราสอนไปผิดทาง...


ด้านอาคารสถานที่วัสดุอุปกรณ์พร้อมมาก ครับ ต้องขอบคุณคณะครู ผู้อำนวยการและทางเทศบาลฯ ที่ให้ความสำคัญต่อโรงเรียน ข้อสังเกตที่จะเขียนต่อไปนี้ เป็นหลักฐานว่าเทศบาลดูแลดีจริงๆ


  • ให้มาทั้งตึก หน้าห้องทุกห้อง จัดเก็บสิ่งของเรียบร้อย สะอาด มีชั้นวางรองเท้าหลากสี รองเท้าทุกคู่ดูเหมือนถูกจับวางอย่างมีสติ มีป้ายความรู้ติดให้เห็นเด่นทั่วทุกจุด ... เหล่านี้เราเรียกว่า "ครูไม่พูด" ซึ่งจำเป็นในการปลูกฝังเด็กๆ มากๆ
  • ภายในห้อง หน้าห้อง หลังห้อง มีสื่อการสอนสีสวยประณีตติดเต็มฝาผนัง ข้างกระดานมีบอร์ดสื่อทั้งภาพ ตาราง วัน เดือน ปี สี ภาษาอังกฤษ กิจกรรรมวันสำคัญ และอื่นๆ ยากจะอธิบายได้ครบ ... ผมไม่ได้ถามว่าเป็นผลงานเด็กหรือเปล่า ... เพราะหลักสำคัญคือ ต้องแสดงผลงานเด็ก เพื่อให้เด็กได้เห็นผลงานตนเอง แม้บางอันจะไม่สวย แต่ในเมื่อครูช่วยแนะ นักเรียนก็จะมีพัฒนาตามลำดับ
  • หลังห้องหรือข้างห้อง มีโต๊ะครูประจำชั้น วางกั้นระหว่างที่เก็บของสำคัญ ที่ครูจะเป็นคนจัดหาไว้เตรียมสอน ... มีระเบียบเรียบร้อย เป็นหมวดหมู่มากครับ ... "ครูไม่พูด" นี่สำคัญมาก เช่น หากครูวางของไม่เป็นระเบียบบนโต๊ะทำงานของครู จะยากมากที่จะสอนให้เด็กวางของให้เป็นระเบียบได้
  • หลังห้องตรงมุมอีกส่วน เป็นมุมของเด็กไว้เก็บสิ่งของของตนเอง ตั้งแต่กระเป๋า ยาสีฟัน ฯลฯ จัดไว้เป็นสัดส่วนเรียบร้อย
  • มีทีวี วีดีโอ เทคโนลนีสารสนเทศ พร้อมไว้ให้อง
  • ที่สำคัญคือ จำนวนเด็กไม่มากเมื่อเทียบกับห้องขนาดใหญ่ ....ยังรับได้อีกเยอะ
  • สื่อการสอนในห้องเด็กเล่นเพียบ ... ดูรูปครับ

ครูคเณศ ออกแบบไว้ว่า เราจะเดินดูการทดลองหรือกิจกรรมทุกห้อง ห้องละประมาณ ๓๐ นาที แล้วไปทำ AAR หลังครบทุกห้อง ขอเล่าด้วยภาพนะครับ

ไฟฟ้าสถิตย์

กิจกรรมคือ เอาลูกโป่งถูกับกระดาษ แล้วเอามาใกล้เส้นผม ผมจะถูกดูดติดกับลูกโป่งขึ้นมา ปัญหาที่เด็กต้องช่วยกันหาคำตอบคือ ทำไมถึงเส้นผมจึงติดลูกโป่ง?

การทดลองง่ายๆ แต่เด็กก็ชอบและสนุกมาก ยิ่งถ้าครูแจกลูกโป่งให้นักเรียนทุกคนได้ลองทำ คงจะสนุกครบทุกคน


ประเด็นสำคัญของการทดลองนี้ อยู่ที่คำว่า "ไฟฟ้า" และ "ประจุไฟฟ้า" ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กอนุบาลที่จะเข้าใจทฤษฎี จึงไม่ต้องเน้นเนื้อหาทฤษฎี แต่ให้เน้นกระบวนการ และทิ้งคำถามหรือข้อสงสัยว่า "ทำไมลูกโป่งกับเส้นผมดูดกันได้" ไว้นานๆ อาจแจกให้เด็กๆ เอาลูกโป่งไปลองทำให้พ่อแม่ดูดที่บ้าน และให้ถามพ่อแม่ ก่อนจะมาสรุปกันวันหลัง

อย่างไรก็ดี ต่อไปนี้คือ สาระสำคัญสำหรับครูครับ ....

"วัตถุทุกสิ่งอย่างประกอบขึ้นด้วนอนุภาค อนุภาคหลายๆ อนุภาคประกอบกันก็เป็นอะตอม อะตอมหลายๆ อะตอมประกอบกันจะได้โมเลกุล หลายๆ โมเลกุลก็จะประกอบเป็นวัสดุสิ่งของต่างๆ "

"แต่ละอนุภาคจะมีคุณสมบัติประจำตัว ๓ อย่าง ได้แก่ มวล ประจุไฟฟ้า และ สปิน มวลจะอธิบายเรื่องน้ำหนัก ปริมาตร ประจุไฟฟ้ารวมของอนุภาคอะตอมหรือโมเลกุลนั่นเอง คือที่มาของไฟฟ้าสถิตย์ ส่วนสปินจะอธิบายเรื่องความเป็นแม่เหล็ก"

"ทุกสิ่งทุกอย่างประกอบด้วยอนุภาคเล็กๆ ที่มีประจุไฟฟ้า ประจุไฟฟ้ามีสองชนิดคือ ประจุบวก กับ ประจุลบ ถ้าจำนวนประจุบวกและประจุลบมีจำนวนเท่ากัน สิ่งนั้นก็จะเป็นกลางทางไฟฟ้า แต่ถ้าเอาลูกโป่งถูกับกระดาษ ประจุลบจะหลุดออกมา ทำให้จำนวนประจุบวกมากว่าประจุลบ ทำให้ลูกโป่งมีประจุรวมเป็นบวก เมื่อเอาไปไว้ใกล้เส้นผมบนหัวที่มักมีประจุลบ ก็จะดูดกัน"

แต่สำหรับเด็ก ขอให้เกิดความสงสัยในเรื่อง "ไฟฟ้า" ก็น่าจะโอเคนะครับ

การละลายของน้ำตาล

สาระสำคัญคือ ทำให้เด็กรู้จักคำว่า "ละลาย" รู้ว่าน้ำตาลละลายในน้ำ คำถามสำคัญคือ "น้ำตาลหายไปไหน?" และควรจะบูรณาการเรื่องงานศีลปะ เข้ามาด้วยครับ

ความลับของสีดำ


สาระสำคัญของเรื่องนี้คือ สีหลายๆ สีผสมกันจะได้สีดำ พูดกลับกันก็คือ สีดำเกิดจาการผสมกันของหลายๆ สี

สีเต้นระบำ (แรงตึงผิว)


สาระสำคัญอาจจะยากเกินไป ที่จะทำให้เด็กต้องเข้าใจทฤษฎี แค่เพียงให้คำว่า แรงตึงผิวผ่านหูผ่านตา และรู้ว่าเร้าซักเสื้อผ้าได้เขาสะอาดก็เพราะสารลดแรงตึงผิวนั่นเอง รวมทั้งซัลไลน์ก็เอาไว้ลดแรงตึงผิวของไขมัน นั่นเอง

ภูเขาไฟระเบิด

สาระสำคัญ คือ "ปฏิริริยาเคมี" ระหว่างผงฟูกับน้ำและซันไลน์ แต่ครูคเณศพบว่า ใช้ "อีโน" ดีกว่า ... ทฤษฎีเรื่องสารเคมีก็อาจจะยากไปสำหรับเด็กๆ .. แต่ยิ่งสงสัย เด็กอาจจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ เพื่อไขความสงสัยของตนก็ได้เมื่อโตไปกับทักษะ "วัฏจักร" นักวิทย์น้อย

.... ที่ ร.ร. บูรพาพิทยาคาร มี แนวปฏิบัติในการสอนที่น่าจะถอดบทเรียนออกมาเล่าต่อ ๒ ท่าน แต่ขอมาเล่าในบันทึกต่อไป ก็แล้วกันครับ ...


หมายเลขบันทึก: 598100เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2015 01:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ธันวาคม 2015 01:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การทำความเข้าใจของ สาระสำคัญ หรือ concept เป็นเรื่องสำคัญมาก ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท