คิดนอกกรอบอย่างมีเกณฑ์ คิดอย่างไรให้สร้างสรรค์


คิดนอกกรอบอย่างมีเกณฑ์ คิดอย่างไรให้สร้างสรรค์

ผศ.ชูพงศ์ ปัญจมะวัต

ประเภทของความคิดในรูปแบบต่างๆ ที่เรามักจะได้ยินอยู่เสมอในปัจจุบัน ได้แก่ ความคิดแบบวิเคราะห์ ความคิดแบบสังเคราะห์ ความคิดแบบแก้ปัญหา ความคิดแบบมีวิจารณญาณ ความคิดแบบประยุกต์ ความคิดแบบประเมินคุณค่า หรือ ความคิดเชิงอนาคต แต่ความคิดที่มีอิทธิพลสำคัญที่ทำให้เกิดผลงานที่เกิดจากจินตนาการหรือผลงานที่แปลกใหม่ หรือเป็นนวัตกรรมที่สามารถเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของมนุษย์ได้ก็คือ ความคิดแบบสร้างสรรค์ หรือ Creative Thinking นั่นเอง เนื่องจากลักษณะของความคิดสร้างสรรค์นั้น เป็นการมองปัญหาในมุมใหม่ โดยใช้วิธีการคิดแก้ปัญหาในรูปแบบใหม่ หรือสลับขั้นตอนในการคิดแก้ปัญหาด้วยวิธีการใหม่ที่แตกต่างไปจากวิธีการเดิมๆ ที่เคยทำกันมา เพื่อให้เกิดคุณค่าหรือผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์

ในบางครั้งเราอาจจะได้ยินคนกล่าวถึงวิธีการคิดแบบสร้างสรรค์ว่า เป็นวิธีการคิดแนวข้าง หรือเป็นความคิดแนวขนานที่อาจจะไม่ได้พุ่งไปแก้ที่ตัวปัญหาโดยตรง แต่ความคิดสร้างสรรค์จะเป็นเรื่องของการเชื่อมโยงความคิดหลายๆทางเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาในรูปแบบใหม่ๆ ความคิดสร้างสรรค์จะมีลักษณะเฉพาะตัวคือ มีความคิดแบบยืดหยุ่น ความคิดคล่องตัวหรือความคิดที่เน้นที่ปริมาณความคิดเป็นหลัก มีความแปลกใหม่ มีความงามหรือความประณีตละเอียดลออ ซึ่งทุกคนสามารถพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมาได้โดยเฉพาะในช่วงวัยเด็กซึ่งเต็มไปด้วยจินตนาการ

มีหลายแนวคิดที่กล่าวเกี่ยวกับที่มาของคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ บางค่ายนักคิดกลุ่ม Traits approach เชื่อว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เป็นนักคิด คือ พันธุกรรม คนที่มีความคิดสร้างสรรค์เกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์ในการคิด หรือสายพันธ์ของนักคิดย่อมจะให้กำเนิดลูกหลานที่เป็นนักคิดด้วยเช่นกัน แต่อีกค่ายนักกลุ่มทฤษฎี Learn behavior approach จะคิดตรงกันข้ามกับทฤษฎีแรก ในกลุ่มนี้จะเน้นที่ประสบการณ์ว่ามีความสำคัญที่ช่วยทำให้คนเกิดความคิดสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้น ถ้าเรามีความพยายามที่จะแสวงหาความรู้และประสบการณ์ที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ย่อมจะทำให้เราพัฒนาความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ได้ ซึ่งผู้เขียนขออนุญาตสนับสนุนแนวคิดหลังนี้เพราะสามารถฝึกคนให้เป็นนักคิดสร้างสรรค์ได้


เทคนิคในการฝึกคิดสร้างสรรค์ ขอยกตัวอย่างนักจิตวิทยาท่านหนึ่งที่มีชื่อเสียงด้านการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดท่านหนึ่งคือ ท่านกิลฟอร์ด ท่านได้ให้แนวทางในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ไว้ในโมเดลทางด้านสติปัญญา ที่เรียกว่า โครงสร้างปัญญาสามมิติ ในที่นี้จะขอยกมาเล่าให้ฟังเฉพาะวิธีการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ทั้งนี้เพื่อวัตถุประสงค์ให้ท่านผู้ฟังจะได้นำไปใช้ในการสร้างผลงานหรือประเภทของงานต่างๆ ให้มีคุณค่าเพิ่มมากขึ้นได้อย่างมีหลักเกณฑ์และเป็นระบบ อุปมาเหมือนการทำความเข้าใจในเรื่องของการบวกเลข ถ้าเราสามารถเข้าใจมโนทัศน์ของการบวกเลขเบื้องต้นได้ ไม่ว่าโจทย์ที่ให้จะเป็นเลขอะไร เราย่อมจะสามารถบวกได้อย่างถูกต้องเช่นกัน

ลักษณะสำคัญในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ตามแนวคิดของท่านกิลฟอร์ดนั้น จะแบ่งออกเป็นสามมิติ คือ มิติด้านการคิด (ในเรื่องนี้จะขอเน้นเฉพาะเรื่องการคิดแบบอเนกนัย) มิติด้านเนื้อหา (Content) และมิติด้านผลของการคิด (Product)

วิธีการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ โดยเริ่มต้นด้วยการคิดแบบอเนกนัย หรือการคิดหลายทาง วิธีการนี้จัดว่าเป็นกระบวนการคิดแบบหลายมุม หลายทิศทาง โดยไม่จำกัดจำนวนคำตอบ แต่ละคำตอบจะมีลักษณะแปลกใหม่ เน้นที่ปริมาณของสิ่งที่คิดได้จำนวนมากเพื่อที่จะทำให้เราสามารถมองเห็นแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างรอบคอบและครอบคลุมในประเด็นต่างๆมากที่สุด การไม่หยุดที่จะคิดแม้ว่าเราจะสามารถแก้โจทย์ปัญหาเบื้องต้นได้แล้วนั้น จะทำให้เราได้เห็นคำตอบในสิ่งที่เราไม่เคยนึกถึงมาก่อนและความคิดต่างๆ เหล่านั้นจะตกผลึกกลายเป็นความคิดใหม่ที่สร้างสรรค์ได้ในเวลาต่อมา แต่ถ้าเราไม่ได้ฝึกการคิดแบบนี้เอาไว้ เมื่อเราพบโจทย์ปัญหาเราจะหาวิธีการที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา พอแก้ปัญหาได้ทุกอย่างก็จบ ความคิดสร้างสรรค์จึงไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นเพราะเราได้ตัดสินใจเลือกความคิดที่ดีที่สุดในสถานการณ์นั้นไปเสียแล้ว ดังนั้นก้าวแรกของการฝึกคิดให้สร้างสรรค์คือ ในการแก้ปัญหาใดๆ ก็ตาม ต้องไม่หยุดที่ความคิดเดียว ควรฝึกคิดบ่อยๆ คิดให้มากๆ คิดให้หลายๆ ทาง เพื่อให้เกิดความกระจ่างในสิ่งที่เป็นปัญหา แล้วรอให้ความคิดนั้นตกผลึกเพื่อที่จะได้เห็นแนวทางที่สร้างสรรค์ที่สุดในการแก้ปัญหา

วิธีการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ โดยใช้หลักการคิดของท่านกิลฟอร์ดด้วยการนำ มิติด้านเนื้อหา (Content) มาประยุกต์ใช้ สามารถเริ่มได้โดยการทำความเข้าใจมโนทัศน์ในด้านเนื้อหาของทฤษฎีนี้เสียก่อน คือ มิติด้านนี้จะมีส่วนประกอบสำคัญอยู่ทั้งหมด 4 ด้านคือ ด้านที่เป็นภาพ ด้านที่เป็นเครื่องหมายสัญลักษณ์ ด้านถ้อยคำ และด้านพฤติกรรม

สำหรับด้านที่เป็นภาพ (Figural) หมายถึง อะไรก็ได้ที่สามารถจับต้องได้ เป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรม สัมผัสและแลเห็นได้ การฝึกคิดสร้างสรรค์โดยการใช้เนื้อหาส่วนที่เป็นภาพนี้ไปใช้ในการฝึกคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ สามารถทำได้อย่างหลากหลาย เช่น เวลาที่เราเห็นเก้าอี้ตัวหนึ่งทำด้วยไม้สัก และเราเกิดแรงบันดาลใจอยากที่จะประดิษฐ์เก้าอี้อย่างเขาบ้างแต่ต้องการให้เก้าอี้ของเรามีความแปลกใหม่ เราสามารถใช้แนวคิดนี้ในการสร้างสรรค์ได้โดยใช้วัสดุอื่นๆ แทนไม้ แต่ยังคงโครงสร้างหลักของเก้าอี้ตัวนั้นไว้ได้ เช่น ใช้ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าใบ ผ้าพลาสติก เชือกถัก หนังสัตว์ เส้นเอ็น ขดลวด เหล็ก ขวดน้ำ หรือวัสดุอื่นใดก็ตามที่สามารถทำหน้าที่แทนไม้ในโครงสร้างของเก้าอี้ ที่เราชอบตัวนั้น เราก็จะได้เก้าอี้ในรูปแบบใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนได้ ดังตัวอย่างที่เราเห็นเก้าอี้สารพัดแบบในท้องตลาด เช่น เก้าอี้หนัง เก้าอี้นวม เก้าอี้สาน เก้าอี้พลาสติก เก้าอี้ผ้าใบ ล้วนแล้วแต่เกิดจากแนวคิดเหล่านี้ทั้งสิ้น

มิติเนื้อหาด้านต่อไป คือ ด้านที่เป็นเครื่องหมายสัญลักษณ์ หรือตัวอักษร ตัวเลข ตัวโน้ต หรือรหัสต่างๆ เช่น รหัสมอส รหัสคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ในเนื้อหาส่วนที่เป็นเครื่องหมายนี้ เราสามารถนำไปใช้ในการฝึกคิดให้สร้างสรรค์ได้โดยวิธีการจัดระบบ จัดเรียง จัดลำดับก่อนหลัง จัดกลุ่มหรือจัดหมวดหมู่ในรูปแบบต่างๆ หรือปรับรูปทรงทำให้ขนาดใหญ่เล็กได้ตามต้องการที่จะสื่อความหมาย ก็จะได้ผลลัพท์ที่สร้างสรรค์แปลกใหม่ตามที่ต้องการได้ ตัวอย่างเช่น การนำเอาตัวย่อ ตัวอักษรหรือสัญลักษณ์ขององค์กรมาแปลงรูปเป็นมาสคอต (Mascot) หรือตราแสดงเครื่องหมายโลโก้ต่างๆ ได้อย่างมากมาย ดังนั้นถ้าเราเริ่มต้นในการนำมิติด้านเนื้อหาของการคิดสร้างสรรค์มาใช้ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ โดยเริ่มฝึกคิดทีละเล็กละน้อย สักระยะหนึ่งจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในความคิดของเราได้เอง

มิติเนื้อหาข้อต่อไปที่เราสามารถนำมาใช้ในการฝึกคิดให้สร้างสรรค์ได้ก็คือ ด้านถ้อยคำ หรือการสื่อสารทางภาษา การนำภาษามาใช้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะภาษาสามารถนำไปใช้ให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไม่รู้จบ นอกจากนั้นภาษายังสามารถใช้ในการกระตุ้นให้เกิดความคิดในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างมากมายทั้งการคิดแบบแก้ปัญหาหรือความคิดสร้างสรรค์ วิธีการนำภาษามาใช้ในการฝึกความคิดสร้างสรรค์สามารถใช้วิธีการสร้างคำใหม่ที่มีเอกลักษณ์หรือมีความงดงาม โดยการนำคำต่างๆ มาแปลงรูปหรือปรับเป็นคำสมาสหรือคำสนธิ เช่น คำว่า “กตัญญูกตเวที” และคำว่า “เคารพ” นำมาแปลงรูปเป็นคำว่า “กตัญญุตาคารวะ” คำใหม่ก็จะมีความหมายและงดงามมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้นเราสามารถฝึกการคิดสร้างสรรค์โดยการนำตัวอักษรต่างๆ มาจัดเป็นคำ ที่เราเรียกว่าการเล่น Scrabble หรือ Word Games ก็จะช่วยให้เราสามารถพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้มากขึ้นได้ดีทีเดียว นอกจากนั้นยังสามารถพัฒนาความคิดสร้างสรรค์โดยฝึกด้วยการหาคำที่มีความหมายที่กำหนด โดย กำหนดคำโจทย์เป็นคำๆ หนึ่ง แล้วให้ผู้ฝึกหาคำที่มีความหมายเดียวกับคำที่เป็น คำโจทย์ เช่น คำโจทย์คือ ต้นไม้ ผู้เรียนจะต้องหาคำอะไรมาแทนคำว่าต้นไม้ให้ได้มากที่สุด จากคำโจทย์นี้เราก็จะได้คำต่างๆ เช่น พฤกษา พฤกษชาติ รุกขา รุกขชาติ พนา เฌอ ฯลฯ การคิดคำต่างๆ เหล่านี้บ่อยๆ จะทำให้เราเกิดความคิดคล่องตัวและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ถ้าเราจะต้องแต่งบทร้อยกรองตามฉันทลักษณ์ ต่างๆ เราก็จะสามารถนำหลักการนี้ไปใช้ได้อย่างสร้างสรรค์

นอกจากนั้นเรายังสามารถฝึกการใช้ภาษาในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ โดยการให้คิดคำที่สามารถอธิบายมโนทัศน์หรือให้คำจำกัดความเรื่องราวต่างๆ ได้ครอบคลุมและแปลกใหม่ โดยใช้วิธีการให้ดูภาพยนตร์สักหนึ่งเรื่อง จากนั้นจึงให้ผู้ฝึกตั้งชื่อภาพยนตร์นั้นโดยใช้คำหรือประโยคๆ เดียวแต่ให้มีความหมายครอบคลุมในเนื้อหาของทั้งเรื่อง การฝึกการคิดด้วยวิธีการนี้จะทำให้เรามีความคิดสร้างสรรค์ด้านภาษามากขึ้น สามารถนำไปประยุกต์ในการสร้างผลงานอย่างอื่นได้มากมาย เช่น ตั้งชื่ออาหารให้แปลกใหม่ ดึดดูดใจชวนให้คนมาซื้อทาน หรือการคิดคำอุปมาที่เฉียบคมเพื่อทำให้คนฟังคล้อยตามดังที่นักพูดสร้างแรงบันดาลใจชอบนำมาใช้ในการปลุกไฟหรือปลุกยักษ์ในตัวผู้ฟัง

มิติเนื้อหาด้านสุดท้ายที่เราสามารถนำมาใช้ในการฝึกคิดให้สร้างสรรค์ คือ มิติเนื้อหาด้านพฤติกรรม ในมิติด้านนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดรูปแบบของการกระทำต่างๆ การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การแสดงออก เพื่อให้เกิดความรู้สึกหรืออารมณ์ การรับรู้ การคิด ในลักษณะใหม่ๆ ดังจะเห็นได้จากการสร้างเรื่องราวต่างๆ เป็นพล๊อตเรื่องในการโฆษณาสินค้า ที่ทำให้เกิดความดึงดูดใจ ชวนติดตามและนำไปสู่การบริโภคสินค้านั้นๆ

วิธีการฝึกคิดโดยนำเรื่องเกี่ยวกับการกระทำมาปรับให้เกิดความสร้างสรรค์นั้นสามารถทำได้หลากหลายวิธีการ โดยอาจจะนำพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตมาปรับให้เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นงานนวัตกรรมที่มีคุณค่า เช่น การเลียนแบบการโฟกัสสายตาเพื่อมองสิ่งต่างๆ ของไก่ แม้ว่าเราจะจับลำตัวของไก่ให้เคลื่อนไหว แต่หัวและสายตาของไก่จะอยู่นิ่งเสมอ ทำให้ไก่มองเห็นภาพในจุดที่นิ่งตลอดเวลา แนวคิดเรื่องนี้นำไปสู่การพัฒนาเลนส์ของกล้องในโทรศัพท์มือถือที่เรียกว่าเทคโนโลยี Chicken eyes คือแม้มือจะสั่นอย่างไรแต่ภาพที่ได้จะชัดเจนเนื่องจากเลนส์ที่ใช้ถ่ายภาพจะนิ่งอยู่เสมอ

นอกจากนั้นในวงการนาฏยศิลป์ยังมีการออกแบบประดิษฐ์ท่าเต้น ท่ารำ โดยการสังเกตท่าทางของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคนที่ทำอาชีพต่างๆ พฤติกรรมของสัตว์ปีก สัตว์บก หรือสัตว์น้ำ แล้วนำท่าทางเหล่านั้นมาประดิษฐ์เป็นท่ารำที่มีความสวยงามมากยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากการฟ้อนรำของชนเผ่าชาติต่างๆ ดังนั้นวิธีการฝึกคิดให้สร้างสรรค์โดยการใช้การดัดแปลงด้านการกระทำเดิมๆ ให้กลายเป็นการกระทำใหม่ๆ ย่อมสามารถทำได้หากเรามีหลักเกณฑ์ในการคิด ตัวอย่างอื่นๆ ของการออกแบบด้านการกระทำที่เคยทำเป็นปกติให้เกิดเป็นการกระทำที่แปลกใหม่ ได้แก่ การเปลี่ยนการกระทำที่เคยทำแบบเร็วๆ ให้เปลี่ยนเป็นกระทำช้าๆ ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาสติ (การเดินจงกรม) การกระทำใดที่เคยทำแบบช้า เราก็ใส่ทำนองใหม่โดยปรับให้เร็วขึ้น (การเต้นรำแบบตะวันตกที่นำการร่ายรำของไทยไปดัดแปลงให้ดูสนุกขึ้น) หรือการเปลี่ยนหลักการคิดพล๊อตเรื่องสั้นจากเดิมที่เริ่มต้นจากจุดตั้งต้นของเรื่อง มาเป็นการคิดแบบย้อนกลับโดยคิดจากฉากสุดท้ายของเรื่อง การคิดในสิ่งที่เคยทำเป็นปกติ ก็ปรับให้คิดว่ามันไม่สามารถทำอย่างนั้นได้อีกแล้วจะทำให้เกิดอะไร การพัฒนาการคิดสร้างสรรค์โดยการใช้เทคนิคดังกล่าวนี้จะทำให้เราเห็นมุมมองของปัญหา หรือผลลัพธ์ในการคิดในมุมที่ไม่เคยคิดมาก่อนได้และส่งผลให้เกิดการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์แบบคิดนอกกรอบอย่างมีเกณฑ์ได้ไม่ยากนัก

หมายเลขบันทึก: 598001เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2015 13:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ธันวาคม 2015 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท