วิธีเลือกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา...ให้คุ้มค่าเงิน



บทความเรื่อง The value of university : Where’s best? ลงพิมพ์ในนิตยสาร The Economist ฉบับวันที่ ๓๑ ตุลาคม - ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ซึ่งอ่านได้ ที่นี่ บอกเราว่ามหาวิทยาลัยแพงกว่า ไม่ใช่ว่าจะดีกว่าเสมอไป

อ่านบทความแล้วรู้สึกคุ้นๆ นะครับ เขาบอกว่าเวลานี้ใน สรอ. มีสถาบันอุดมศึกษา ๗,๘๐๐ แห่ง มีการผลิตบัณฑิตมากกว่าสมัยใดๆ แต่สมรรถนะของบัณฑิตไม่ค่อยตรงความต้องการของนายจ้าง

อ่านแล้วผมเกิดความรู้สึกว่า ประเทศผู้นำด้านทุนนิยมของโลก กำลังโดนพิษทุนนิยมกัดกร่อนคุณภาพ อุดมศึกษาของตน แต่ก็ยังดีที่เขามี evidence เตือน และบทความบอกว่ารัฐบาล ปธน. โอบามาหาทางเข้าไปจัดการมหาวิทยาลัยส่วนที่คุณภาพต่ำ

โปรดสังเกตว่า ปัญหาอยู่ตรงไหนเขาแก้ที่นั่น ไม่ใช่ใช้มาตรการเดียวกันทั่วทั้งระบบอุดมศึกษา อย่างที่บ้านเรามักทำกัน

นำไปสู่ระบบ “Ranking” ใหม่สำหรับมหาวิทยาลัยใน สรอ. คือจัดอันดับความคุ้มค่าเงิน หากเข้าไปเรียน เป็น ranking ที่ช่วยเป็น evidence ต่อการตัดสินใจเลือกมหาวิทยาลัยสำหรับเข้าเรียนระดับปริญญาตรี เป็นข้อมูลว่า เข้าเรียนมหาวิทยาลัยใด ให้ผลระยะยาวในทางรายได้ดี

ระบบใหม่นี้ ดำเนินการโดยกระทรวงศึกษาธิการของ สรอ. และเรียกชื่อว่า College Scorecardนิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ เอาข้อมูลจากเว็บไซต์นี้มาวิเคราะห์เพิ่มเติม เพื่อตอบคำถามที่มีประโยชน์ ต่อการลงทุน ชีวิตระยะยาวจากการเข้าเรียนมหาวิทยาลัย โดยที่การวิเคราะห์มีความซับซ้อนมาก ทำให้บทความนี้น่าอ่านมากสำหรับผู้บริหารอุดมศึกษา โดยต้องค่อยๆ อ่าน ลงรายละเอียด จึงจะได้สาระลึกๆ ในการตีความ “คุณค่า” ของชีวิตการเรียนมหาวิทยาลัย

ข้อสรุปในบทความของ ดิ อีโคโนมิสต์ คือ จะมีรายได้ดีหลังจบปริญญา ๑๐ ปี ขึ้นอยู่กับ

  • เลือกเรียนสาขาใด เขายกตัวอย่างเภสัชศาสตร์ ว่าเป็นสาขายอดนิยม อีกสาขาคือวิศวกรรมนาวี ที่คนไม่ค่อยรู้จัก แต่รายได้ดีมาก สาขานี้ต้องเรียนคณิตศาสตร์ ฝึกใช้เครื่องมือ และฝึกใช้ชีวิตแบบทหาร สาขาวิศวกรรมเป็นอีกสาขาหนึ่งที่รายได้ดี บริหารธุรกิจเป็นอีกสาขาที่บัณฑิตรายได้ดี อันดับสาม รองจาก MIT และ Harvard คือมหาวิทยาลัย Babson ที่กำหนดให้ นศ. ระดับปริญญาตรีตั้งบริษัทของตนเอง
  • สถาบันฮาร์เวิร์ด และ เอ็มไอที ก็ยังมาอันดับต้น แต่ก็มีชื่อสถาบันที่คนไม่คุ้น แต่ผลิตบัณฑิตบางสาขาที่มีคุณภาพสูงมาก
  • SAT Score ของนักศึกษาที่สถาบันนั้นรับเข้าเรียน คะแนนเฉลี่ยสูง บัณฑิตมีรายได้ดีกว่า แต่ก็มีบางมหาวิทยาลัยที่บอกว่า นศ. มี SAT Score ต่ำไม่เป็นไร เขาจัดการศึกษาให้เกิดผลการเรียนรู้และสมรรถนะที่ดีได้ และทำได้จริงๆ เขายกตัวอย่างสาขาวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Capitol Technology University ที่อยู่นอกกรุงวอชิงตัน ดีซี
  • ฐานะทางสังคม และเศรษฐฐานะของครอบครัว
  • สถาบันอุดมศึกษาด้าน ศิลปะวิทยาศาสตร์(Liberal Arts College) ซึ่งถือเป็นสถาบันของลูกคนมีฐานะดี บัณฑิตรายได้ไม่สูง เขาอธิบายว่าน่าจะมาจาก ผู้เข้าเรียนไม่เน้นเรื่องรายได้ตั้งแต่ตอนเลือกเข้าเรียนแล้ว
  • ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยในเมืองใหญ่ ที่มีธุรกิจเกี่ยวของกับสาขาที่เรียน และการที่มหาวิทยาลัยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับธุรกิจ ช่วยให้บัณฑิตหางานดีๆ ได้ และรายได้ดี
  • มหาวิทยาลัยคาทอลิก บัณฑิตรายได้ดีกว่ามหาวิทยาลัยโปรเตสแต๊นท์
  • มหาวิทยาลัยที่รับนักศึกษาจากหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ นักศึกษามีประสบการณ์ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับคนที่แตกต่าง บัณฑิตมีแนวโน้มรายได้สูงกว่า
  • เขายกตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมาก แต่รายได้ของบุณฑิตไม่สูงมากนัก และมหาวิทยาลัยที่ไม่มีชื่อเสียง หรือรับนักศึกษาจากสังคมด้อยโอกาส แต่บัณฑิตมีรายได้ดีพอสมควร มหาวิทยาลัยพวกนี้มักเอาใจใส่การฝึกงานในสถานประกอบการ และการพานักศึกษาไปสัมภาษณ์หางาน

มหาวิทยาลัยที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียง แต่บัณฑิตรายได้สูง มักจะจัดการศึกษาร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน หรือภาคปฏบัติงานจริง (real secters)

คนมักลือกันว่าเรียนสาขามนุษยศาสตร์มักรายได้ต่ำ แต่คนที่เรียนภาษา (อังกฤษ) และประวัติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยชั้นดี มีรายได้ดี

สาขาที่รายได้อยู่ในกลุ่มต่ำสุดคือ ศาสนาและศิลปะ

คำว่า “บัณฑิต” ของเขาหมายถึงคนที่เข้าเรียนในปีที่ทำการศึกษา เข้าเรียนแล้วจะเรียนจบหรือไม่ เขารวมหมด

อ่านทั้งในบรรทัด และระหว่างบรรทัด ผมคิดว่า การบริหารมหาวิทยาลัยให้เกิดภาคีความร่วมมือที่แน่นแฟ้นในภาคชีวิตจริง (Real Sectors) สำคัญยิ่ง ต่อการจัด Learning Space ให้แก่บัณฑิต เพื่อชีวิตที่ดีในระยะยาวของบัณฑิต

ผมคิดว่า สิ่งหนึ่งที่ให้คุณค่ามากตอนเรียนมหาวิทยาลัย คือการได้คลุกคลีสมาคมกับเพื่อนๆ (และอาจารย์) ในต่างสาขาวิชาหรือสาขาวิชาชีพ ทำให้ได้ “เรียนรู้” กว้างขวาง เป็นบัณฑิตที่มีทั้ง Depth และ Breadth ตรงนี้ท้าทายผู้บริหารมหาวิทยาลัย ว่าจะจัด Learning Space ในมหาวิทยาลัยจาก “ชีวิตในแคมปัส” อย่างไรบ้าง เป็นประเด็นที่น่าจะเอามาปรึกษาหารือกันในหมู่มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย เรื่องนี้ไม่มีเอ่ยถึงในบทความนี้

ทำความเข้าใจ College Scorecard ที่เน้นวัดรายได้ต่อปี หลังจบปริญญา ๑๐ ปี แล้วย้อนคิดเข้าหาตัวเอง ผมคงจะเป็นตัวฉุดต่อมหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพราะผมมีรายได้น้อยมากในตอนนั้น สะท้อนว่า ไม่มีผลการวิจัยใดสมบูรณ์


วิจารณ์ พานิช

๗ พ.ย. ๕๘

ห้อง ๘๑๔ โรงแรม The Concordia, กรุงวอชิงตัน ดีซี


หมายเลขบันทึก: 597954เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2015 17:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2015 17:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท