เก็บมาเล่า ​“เที่ยว 2 ช่อง ท่องอารยธรรมขอม”



วันนี้ขอนำประสบการณ์มาเล่าสู่กันนะคะ แม้เวลาผ่านไป แต่เรื่องราวยังไม่เก่าเลยค่ะ

ตอนนี้ใครๆก็พูดถึงการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ASEAN Economic Community – AEC หรือ เรียกแบบสั้นๆว่า เปิดเออีซี เวลานั้นใกล้เข้ามาเต็มที ทุกภาคธุรกิจของไทยและประเทศร่วมอาเซียนอีก 9 ประเทศต่างเตรียมตัวกันอย่างคึกคัก ด้วยการมองหาลู่ทางใหม่ๆและการจับคู่ธุรกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งมีความเข้มแข็ง เป็นที่ยอมรับว่าการท่องเที่ยวนั้นเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศของเรา

เมื่อต้นปี 2557 ผู้เขียนได้เป็นตัวแทนสื่อมวลชนให้ นิตยสารคู่สร้างคู่สม ร่วมการเดินทางทริปพิเศษไปกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดย ททท. สำนักงานสุรินทร์ ที่ใช้ชื่อว่า “เที่ยว 2 ช่อง ท่องอารยธรรมขอม” เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นศักยภาพของการท่องเที่ยวที่จะเกื้อกูล ไปมาหาสู่ ซึ่งกันและกันของสองดินแดนไทย-กัมพูชา อันมี เทือกเขาพนมดงรัก ทอดตัวบ่งบอกอาณาเขตอย่างเด่นชัด ทว่าเมื่อมองให้ชัดๆ มองอย่างเข้าใจ แม้เทือกเขาสูงจะทอดยาว หาได้เป็นสิ่งปิดกั้นผู้คนสองฟากฝั่งเขา

วันนี้ผู้เขียนจะขอชวนท่านผู้อ่านเดินทางไปด้วยกันยังแดนดินถิ่นอีสานใต้ 3 จังหวัด คือ บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ

ผ่าน 2 ช่องเขา สู่จุดหมายที่คนทั่วโลกหมายมั่นว่าต้องมาชมให้ได้ก่อนตาย คือ Angkor Wat หรือ นครวัด แห่งเมืองเสียมราฐ หรือ เสียมเรียบ ราชอาณาจักรกัมพูชา

See Angkor Wat and die

ได้ยลแล้วถึงค่อยตายอย่างเป็นสุข (ไม่เสียทีที่เกิดมา)ตามถ้อยคำแสดงความซาบซึ้งของ อาร์โนลด์ ทอยน์บี นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษเมื่อได้มาประจักษ์โฉมนครวัด กล่าวกันถึงอย่างนี้ก็น่าที่ทุกคนใฝ่ฝันจะไปชมกัน

คนทั่วโลกจะไปชมนครวัดส่วนมากมาที่ประเทศไทยกันก่อนแล้วบินตรงเข้า เสียมเรียบเลย สะดวกอย่างยิ่ง ทว่าก็จะพลาดการเที่ยวชมอีสานใต้

ชวนเที่ยวแบบ Slow Travel

การจะได้สัมผัสอารมณ์ อารยธรรมขอม สองฝั่งฟากของเทือกเขาพนมดงรักต้องใช้เส้นทางรถ โดยจะไปทางรถ กลับเครื่องบิน ไปเครื่องบินกลับทางรถ หรือหากมีเวลามากพอก็น่าไปทางรถกลับทางรถ กล่าวคือใช้เส้นทางรถอย่างน้อยขาหนึ่ง จะเป็นเที่ยวไปหรือกลับก็ได้จะได้ท่องเที่ยวอีสานใต้เห็นความเชื่อมโยงแห่งอารยธรรมขอมสองฝั่งเทือกเขา เก็บความประทับใจได้ลุ่มลึกยิ่งขึ้น...Slow travel…เที่ยวช้าๆอย่างละเมียด ท่านจะได้เห็นอะไรอีกมากมายที่เคยแค่ผ่านเลยไป เพื่อที่จะ รู้เรา ...เข้าใจทุนของตนเอง


คารวะเทือกเขาพนมดงรัก

การเดินทางครั้งนี้มิได้ตั้งใจจะชวนมาทำเรื่องเซ่นสรวงแต่อย่างใด แต่ชวนมาทำความรู้จัก การทำความรู้จักเป็นการให้คุณค่าให้ความสำคัญ เปรียบดังการแสดงความเคารพนั่นเอง

คนเขมรเรียกเทือกเขานี้ว่า พนมดงแร็ก ซึ่งมีความหมายว่า ภูเขา “ไม้คาน” คงจะเนื่องจากรูปพรรณสัณฐานของเทือกเขาเองที่มียอดตัดและทอดยาว คนไทยเรียกพนมดงรัก ไม่ได้มีความหมายว่าเป็นดงต้นรักแต่อย่างไร คงเป็นการเรียกอย่างต้องการความไพเราะเท่านั้น

พนมดงรัก เป็นเทือกเขาหินปูนอยู่ทางตอนใต้สุดของภาค เริ่มต้นจากบริเวณช่องตะโก อันเป็นรอยต่อกับเทือกเขาสันกำแพง ซึ่งเริ่มต้นมาจากจังหวัดนครนายก (อย่านึกว่ามาจากภาคเหนือ)พาดผ่านมาถึง จังหวัดสระแก้ว สุดเขตที่ ช่องตะโก

เทือกเขาพนมดงรักทอดตัวเป็นแนวยาวไปทางด้านตะวันออกของภาคอีสานหรือดูแผนที่ก็คือเป็นแนวจากซ้ายไปทางขวา เป็นเส้นกั้นพรมแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาอยู่ในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ที่เราเรียกว่าอีสานใต้ เพราะอยู่ใต้สุดของภาคนั่นเอง สุดปลายเทือกเขาที่วกขึ้นไปยัง จังหวัดอุบลราชธานี รวมความยาว 544 กิโลเมตร เทือกเขาพนมดงรักจึงเป็นเทือกเขาที่เป็นพรมแดนของสามประเทศ คือ ไทย กัมพูชา และ ลาว ที่บริเวณ ช่องบก อำเภอน้ำยืน อุบลราชธานี

ตลอดแนวเทือกเขาจะมีผาชันด้านประเทศกัมพูชา มองเห็นดินแดนกัมพูชาอยู่ต่ำลงไป เราจึงเรียกว่า เขมรต่ำ และดินแดนที่อยู่ฟากไทยเหนือผาขึ้นมาและเป็นที่ราบสูง บรรพกาลถูกเรียกว่า เขมรสูง

เทือกเขาพนมดงรักจะสูงๆต่ำๆ ไปตลอดแนว โดยจะสูงมากแถวๆ อุบลราชธานี-ศรีสะเกษ และ ลดระดับความสูงลง ในเขตสุรินทร์-บุรีรัมย์ บางแห่งเป็นเพียงเนินเขาเตี้ยๆ

ธรรมชาติได้เอื้อให้มีช่องทางสัญจรเชื่อมโยงกันในหลายด้าน ระดับชาวบ้านก็ทำการค้าขายระหว่างกัน ระดับการเมืองการปกครองก็ได้ใช้เป็นเส้นทางแผ่ขยายอำนาจ ผ่าน “ช่องเขา” ซึ่งมีอยู่มากมาย

“....ช่องเขาเหล่านี้ใช้เป็นทางติดต่อระหว่างไทยกับกัมพูชา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หลายแห่งมีความสำคัญในด้านคมนาคมและทางยุทธศาสตร์อย่างยิ่ง เช่น

ช่องจอม (ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสุรินทร์), ช่องบะระแนะ, ช่องตาเพ็ด, ช่องไซตะกู, ช่องจันกะฮอม, ช่องตาเหมือน, ช่องเสม็ด, ช่องเหว, ช่องประเดก, ช่องเสกเยีย, ช่องพริก, ช่องเกล, ช่องเปรียจำบ๊อก, ช่องพระพลัย, ช่องโนนอาว, ช่องเพิงพระพุทธ ฯลฯ......”

(หนังสือ สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 4. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542. หน้า 1265-1266.)


เที่ยว 2 ช่อง....

เส้นทางของเราเป็นการเดินทางทางรถจากกรุงเทพมุ่งสู่บุรีรัมย์ ชมสิ่งที่ควรค่าแห่งการชมและพักผ่อน ก่อนไปต่อยังจังหวัดสุรินทร์ เพื่อเข้าสู่กัมพูชาผ่าน ด่านช่องจอม อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์

เมื่อท่องเที่ยวซึมซับความขลังอลังการแห่งนครวัด-นครธมและปราสาทอีกมากมายเท่าที่จะมีแรงชม ก็กลับเข้าสู่แผ่นดินไทยอีกเส้นทางผ่านด่านช่องสะงำ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ


แผนที่เส้นทางจากททท.

ช่องจอม และ ช่องสะงำ เป็นประตูเชื่อมโยงไปสู่ราชอาณาจักรกัมพูชา ในเส้นทางท่องเที่ยวตามรอยอารยธรรมขอมของเราในครั้งนี้


ภาพส่วนบนคือ ช่องจอม มองจากฝั่งไทยเข้าไป

ภาพส่วนล่าง อาคารใหญ่นั้นคือคาสิโน อยู่ในเขตกัมพูชา

ปัจจุบันทั้งสองช่องเมื่อผ่านเข้าไปยังดินแดนกัมพูชามีอาคารคาสิโนทันสมัยใหญ่โต อลังการที่นักพนันไทยหลั่งไหลไปตามมนต์เรียกของผีพนัน นะจังงัง หยุดแค่ที่บ่อน...คณะของเราก็แวะเข้าไปทั้งสองแห่งแต่ไปอาศัยเข้าห้องน้ำสะอาด หรู และ ฟรีค่ะ


เส้นทางอีสานใต้

เส้นทางที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยแนะนำ-ส่งเสริม นี้นับว่าเป็นเส้นทางที่ถนนหนทางส่วนใหญ่ดี ปลอดภัย สะดวกในการเดินทางแวะเที่ยวชมสิ่งน่าสนใจรายทาง แวะพักผ่อน และได้แวะชิมอาหารท้องถิ่นที่น่าสนใจ มีที่พักดีได้มาตรฐานราคาเหมาะสม เป็นเส้นทางที่เหมาะกับการไปกันเป็นครอบครัวหรือชวนหมู่เพื่อนฝูงร่วมทางกันเป็นกลุ่มที่ไม่ใหญ่นัก นอกจากจะช่วยกระตุ้นให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวพื้นที่อีสานใต้เพิ่มมากขึ้น ยังแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของฝ่ายไทยในการเปิดประตูสู่ภูมิภาคสู่ตลาดอาเซียน (AEC) ที่ไม่ทิ้งโอกาสชวนผู้คนให้รวมการท่องเที่ยวอีสานใต้เข้าไว้ด้วยในเส้นทางสู่เสียมเรียบ

แม้ว่าในทางการเมืองกรณีเขาพระวิหาร ระหว่างไทยและกัมพูชาคงต้องมีการเจรจากันอีกยาวเพื่อให้เกิดประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายที่ต่างก็รับได้ แต่ในระดับประชาชน ชาวบ้านในพื้นที่สองฝั่งเทือกเขายังมีมิตรไมตรี ทำมาหากินกันไปทั้งการค้าขายและการท่องเที่ยวระหว่างกันดีอยู่ น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า

สามจังหวัดอีสานใต้ บุรีรัมย์....สุรินทร์....ศรีสะเกษ

  • บุรีรัมย์
  • สุรินทร์
  • ศรีสะเกษ


บุรีรัมย์

ออกจากกรุงเทพเช้า ด้วยระยะทางเพียงสี่ร้อยกิโลนิดๆ ราวเที่ยงก็ถึงบุรีรัมย์ เมืองแห่งความรื่นรมย์ มีคำขวัญประจำจังหวัดว่า

เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม

ปราสาทหิน หรือปราสาทขอม ที่บุรีรัมย์มีมากมาย กว่าหกสิบ แห่งเพราะ บุรีรัมย์เป็นเมืองที่มีความเจริญมาแต่ครั้งโบราณเป็นเส้นทางคมนาคมสู่เมืองพระนคร ปราสาทหินที่มีความสวยงามและมีชื่อเสียงที่สุดคือ ปราสาทหินพนมรุ้ง และปราสาทเมืองต่ำ อันโดดเด่นที่นาคล้อมบารายสถาปัตยกรรมที่แตกต่างจากปราสาทหินแห่งอื่น ๆ

ภาพปราสาทเมืองต่ำ จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

หน้าบันอันงดงามด้านในปราสาทเมืองต่ำ

บริเวณที่ตั้งเมืองบุรีรัมย์เคยเป็นดินแดนภูเขาไฟมาก่อน มีภูเขาไฟที่ดับแล้วถึง 6 ลูก มียอดภูเขาไฟที่ดับแล้วซึ่งเป็นที่ตั้งของปราสาทขอมโบราณ เช่น ภูเขาไฟพนมรุ้ง เป็นที่ตั้งของปราสาทเขาพนมรุ้ง ภูเขาไฟกระโดง เป็นที่ตั้งของปราสาทเขากระโดง จึงน่าสนใจทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์

บุรีรัมย์ไม่ได้มีแค่ ผ้าไหมนาโพธิ์ อันโด่งดัง แต่ยังมี ผ้าภูอัคนี ซึ่งเป็นชื่อจดทะเบียนลิขสิทธิ์ไว้แล้ว ของชุมชน บ้านเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ที่ผลิตผ้าฝ้ายย้อมดินภูเขาไฟ ได้ผ้าสีโทนส้ม-น้ำตาลที่แปลกตาและเนื้อผ้านุ่มสวมใส่สบาย หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่เชิงเขาภูพระอังคารซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับแล้วมีระบบนิเวศน์ที่น่าเรียนรู้สามารถพักค้างแบบโฮมสเตย์ได้


การย้อมผ้าดินภูเขาไฟ

บุรีรัมย์เป็นจังหวัดที่ผู้ประกอบการมีความตื่นตัวสูงมาก มีการลงทุนทั้งด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งโรงแรมที่พัก แหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ของจังหวัดคือ เพ ลา เพลิน อุทยานไม้ดอกไม้ประดับขนาดใหญ่ และด้านกีฬา ที่ดูเป็นหน้าเป็นตาให้ชาวบุรีรัมย์มากนั่นคือ สนามไอ – โมบาย สเตเดียม สนามฟุตบอลมาตรฐานฟีฟ่าระดับสากล สามารถจุผู้ชมได้มากถึง 32,000 คน และเป็นสนามฟุตบอลที่ใช้เวลาก่อสร้างน้อยที่สุดในโลกคือ 256 วัน


สุรินทร์

“สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท

ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม”

จังหวัดสุรินทร์ มีชื่อเสียงด้านการเลี้ยงช้าง การทอผ้าไหม มีผู้คนหลายเผ่าและภาษา เช่น ไทยอีสานเขมร ซึ่งพูดภาษาเขมรกันได้ และ ชาวส่วย หรือ กูย ซึ่งมีภาษาเฉพาะของตนเอง


- หมู่บ้านทอผ้าไหมยกทองโบราณบ้านท่าสว่าง อำเภอเมือง ที่บ้านจันทร์โสมา ของอาจารย์ วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ชมความวิจิตรแห่งการถักทอผืนผ้าไหมเทคนิคการทอและลวดลายแบบอย่างราชสำนัก ด้วยการทอ 1,416 ตะกอ ต้องใช้ผู้ทอถึง 4 คน สามคนช่วยกันอยู่ชั้นบน อีกคนช่วยอยู่ด้านล่าง พร้อมการย้อมผ้าสีจากธรรมชาติแบบภูมิปัญญาชาวสุรินทร์โบราณ


นี่เป็นภาพของพ่อครูหมอช้างชาวกูยรุ่นสุดท้าย ช่างน่าเศร้าจริงๆ

- หมู่บ้านช้างเลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดในโลก อำเภอท่าตูม ใกล้ชิดเรียนรู้วิถีชีวิตชาวกวยหรือกูย คนเลี้ยงช้าง ณ หมู่บ้านช้างเลี้ยงที่เลี้ยง ดูแลช้างอย่างดีด้วยความรักราวสมาชิกในครอบครัว แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าเมื่อการจับช้างป่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ก็ไม่มีประเพณีจับช้างป่าของพ่อครูหมอช้าง ไม่มีการสืบทอดวิชาอีกต่อไป

ศรีสะเกษ

คำขวัญ ประจำจังหวัดศรีสะเกษ คือ

หลวงพ่อโตคู่บ้าน ถิ่นฐานปราสาทขอม ข้าว หอม กระเทียมดี มีสวนสมเด็จ เขตดงลำดวน หลากล้วนวัฒนธรรม เลิศล้ำสามัคคี”

กล่าวได้ว่า ศรีสะเกษ เป็นเมืองเกษตร มีแหล่งน้ำท่าสมบูรณ์มาจากเทือกเขาพนมดงรัก อีสานนั้นเป็นแหล่งปลูกข้าวชั้นดี หน้าหนาวอากาศดีมาก หน้านามองไปเป็นทุ่งข้าวพริ้วสวยงามตามระยะการเติบโต ทั้งยังมีการปลูกหอม กระเทียมจำนวนมาก โดยเฉพาะหอมแดงจากบ้านลิ้นฟ้า ใครๆก็อยากได้ซื้อหากลับไปฝากคนที่บ้าน

ตะกร้าหอม กระเทียมอย่างสร้างสรรค์

ที่สวนสมเด็จฯ ชาวศรีสะเกษปลูกต้นลำดวน ไว้ถึงกว่าสามหมื่นต้น เพราะดอกลำดวนเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดนั่นเอง เมื่อดอกบานหอมอบอวลในหน้าแล้ง ก็ถึงฤดูกาลงานดอกลำดวนบาน เชิญชวนให้ทุกคนมาเยือน

ชื่อเดิมของศรีสะเกษ คือ เมืองขุขันธ์ เมื่อครั้งอารยธรรมขอมยังรุ่งเรืองที่นี่เป็นแหล่งที่ผู้คนไปมาหาสู่และตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชน มีปราสาทขอมหลายแห่งที่ควรไปชม เช่น ปราสาทสระกำแพงใหญ่ ปราสาทสระกำแพงน้อย มีชนเผ่าที่มาตั้งถิ่นฐานที่ศรีสะเกษกว่า 4 เผ่า ทั้งส่วย เขมร ลาว เญอ อันเป็นที่มาของความหลากหลายทางวัฒนธรรม


ผามออีแดง

มาเยือนศรีสะเกษ ต้องไป ผามออีแดง ซึ่งเป็นจุดชมทัศนียภาพชายแดนไทย-กัมพูชา และภาพสลักนูนต่ำ (Unseen Thailand) รูปเทพ 3 องค์ บนผาหินทราย ณ อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร อำเภอกันทรลักษณ์ ...สักวัน การเจรจาคงทำให้ผู้คนได้ชม ปราสาทเขาพระวิหาร อย่างที่เคยเป็นมา

อีสานใต้ หรือ อีสานตอนล่าง มีประวัติความเป็นมายาวนาน เคยเป็นชุมชนที่มีอารยธรรมรุ่งเรืองมานับพันปี ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวิถีวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แต่ยังรวมถึงแหล่งท่องเที่ยวสมัยใหม่ที่มนุษย์สร้างขึ้น ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาเยือน แต่คนไทยเราด้วยกันนี่แหละค่ะควรไปให้ประสบการณ์ตนเอง ให้โอกาสตนเองในการเรียนรู้ ปรับเปลี่ยนโลกทัศน์ที่อาจเคยมองว่าอีสานแห้งแล้ง ไม่มีอะไร และเปิดหัวใจว่าเราและเพื่อนบ้านของเรานั้นมีอู่อารยธรรมร่วมกันในดินแดนสุวรรณภูมินี้

เชิญติดตามตอนต่อไปนะคะ เข้าสู่แดนเพื่อนบ้าน รู้เขา ....เข้าใจมิตร

หมายเลขบันทึก: 597625เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2015 11:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2015 11:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

มาฝากดอกไม้ให้ อ.พี่นุข ก่อนนะครับ

ขอบคุณมากค่ะ นานๆมาเขียนที แฟนหายหมด^___^

ทั้งสองตอนล่าสุดนี้ ตัดทอนมาจากบทความที่เคยนำลงนิตยสารคู่สร้างคู่คมเมื่อปีที่แล้ว การบันทึกไว้ในโกทูโนว์ทำให้เก็บข้อมูลไว้ได้ดีและหาง่ายนะคะ เผื่อหลายท่านที่ยังไม่เคยทราบเรื่องราวจะได้อ่านด้วยค่ะ ช่วยกันสร้างเสริมเศรษฐกิจประชาคมอาเซียนกันค่ะ

มาส่งดอกไม้ก่อนเช่นกันค่ะพี่นุช

อ่านคร่าวๆก่อน ต้องใช้เวลา แต่เนื้อหาน่าอ่านเช่นเดิม

ขอบคุณค่ะ

ด้วยความระลึกเสมอค่ะ

ด้วยความระลึกถึงเสมอค่ะ (มาแก้คำผิด) ขอบคุณค่ะ

พี่นุชหายไปนาน

แฟนๆยังอยู่เคยไปผามออีแดงครับ

แต่เสียดายหมอช้างรุ่นสุดท้ายจริงๆด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท