สิ้นยุคการศึกษาวิชาปรัชญา แต่ก็ยังมีคนต้องการนักปรัชญา


เมื่อหลายวันก่อน เข้ามาอ่านเนื้อหาใน GTK มีบันทึกหนึ่งกล่าวในทำนองว่า การร่างหลักสูตรในปัจจุบัน ต้องทิ้งงานวิชาการทาง (๑) ประวัติศาสตร์ (๒) ปรัชญา (๓).... ซึ่งเป็นความจริงที่เราไม่อาจเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ได้ การศึกษาประวัติศาสตร์จะเป็นการศึกษาเพื่อรู้แต่อาจไม่ได้ใช้ เช่น เชื้อสายใดในอดีตที่เป็นเจ้าของประเทศเป็นต้น ขณะที่งานทางปรัชญาในบางงานนั้นยากที่จะเข้าใจจริงๆ ปรัชญาบางสำนักไม่ใช่ปรัชญาปฏิบัตินิยม และการศึกษาไทยในยุคใหม่เน้นเรื่องการปฏิบัติเป็นสำคัญ วิชาปรัชญาที่เป็นวิชาเพื่อการคิดอย่างมีเหตุผลหายไปจากสถาบันการศึกษาบางแห่งและมากแห่ง หากจะยังมีอยู่ก็จะเป็นสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่

สองวันก่อน เพื่อนมาปรึกษาเรื่องการศึกษาต่อ เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของสถาบันการศึกษาที่ต้องการตัวเลขผู้จบปริญญาเอกมากสักหน่อย เพื่อนจบปริญญาโท สาขาปรัชญามา คล้ายกับจะไปเรียนต่อตามสายอย่างที่สถาบันการศึกษาต้องการ (มาสายไหนก็เดินไปสายนั้น) แต่ได้ให้ข้อสังเกตว่า สาขาปรัชญาในระบบการศึกษาไทยน่าจะล้มหายตายจากไปแล้วมั้ง คำถามคือ เรียนจบแล้วเอาไปทำอะไร ซึ่งเป็นคำถามเดียวกับทุกๆคนที่ไม่ได้อยู่ในงานทางด้านปรัชญา หลักสูตรที่เปิดสอนเป็นสาขาวิชาอยู่ในเวลานี้ จะมีอยู่ไม่กี่แห่ง แหละแห่งเหล่านั้นมีนักศึกษาน้อยมาก (อาจไม่คุ้มกับการลงทุน) บางหลักสูตรถึงกับไม่รับนักศึกษามาหลายปี เหตุผลอย่างหนึ่งคือ ศักยภาพของนักศึกษาไม่ถึง เมื่อไม่มีนักศึกษา พลังทางสังคมจึงน้อยและไม่ได้รับการเหลียวมอง สุดท้ายสิ่งที่เพื่อนอาจต้องเลือกคือ รัฐประศาสนศาสตร์

วันนี้ได้อ่านเรื่องนี้ ทำให้คิดว่า งานทางประวัติศาสตร์และปรัชญานั้น ยังมีบางกลุ่มต้องการ โดยกลุ่มเหล่านั้นจะมีรูปแบบทาง "สังคมความรู้" อีกลักษณะหนึ่ง คนเหล่านี้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับใน "สังคมความรู้" ที่เขาใช้ชีวิตอยู่ จึงเห็นว่า วิชาการด้านปรัชญา น่าจะยังมีความจำเป็นในสังคมอีกระดับหนึ่ง แต่...เราจะสร้างนักคิดเหล่านี้ได้อย่างไร เมื่อเส้นใยความคิดขาดตอนลง นึกถึงสมัยที่พุทธศาสนาหายไปจากประเทศไทย เราต้องไปเชิญผู้รู้จากศรีลังกามา พุทธศาสนาในไทยจึงเป็นพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ (ซึ่งลังกาวงศ์ก็มาจากสยามวงศ์นั่นเอง) เป็นเรื่องแปลก งานทางประวัติศาสตร์ของไทย เรามักยอมรับคนต่างชาติ แม้แต่วิชาการด้านปรัชญาก็เช่นกัน เป็นไปได้หรือไม่ว่า การศึกษาปรัชญาในประเทศไทย เราไม่สามารถเรียนให้เข้าถึง "ความกลมกล่อมของเหตุผลในระบบปรัชญา" จึงทำให้ศาสตร์ทางปรัชญาหายไป คำว่า "ปรัชญา" ในความเข้าใจของหนุ่มสาวสมัยนี้จะหมายถึง "คำขวัญ" หรือ "เป้าหมาย" แตกต่างจากวิชาการด้านปรัชญาที่ข้อความแต่ละข้อความจะต้องมีเหตุผลรองรับ ถ้าวันหนึ่งสาขาปรัชญาจะเป็นที่ต้องการของระบบการศึกษาไทยอีกครั้ง เราคงต้องไปเชิญผู้รู้จากสิงคโป มาเลเซีย อเมริกา เยอรมัน หรือรัสเซียมาสอนแน่ๆ

อย่างไรก็ตาม คงไม่ใช่เฉพาะสาขาปรัชญาเท่านั้นที่หายไปจากการศึกษาไทย สาขาบางสาขาก็คงต้องหายไปด้วย อย่าง "ภาษาไทย" ที่จะต้องหายตามไป ภูมิศาสตร์ก็ต้องหายตามไป หลายสถาบันการศึกษามุ่งการเรียนสหสาขา สุดท้าย พื้นฐานความคิดบางศาสตร์ถูกแปรสภาพ เพื่อเสาหลักของศาสตร์หักลง บ้านทั้งหลังก็พังครืน เมื่อเราไปเรียนต่อในสถาบันการศึกษาที่เข้มข้มวิชาการจึงเหนื่อยแทบขาดใจ

หมายเลขบันทึก: 597619เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2015 10:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2015 10:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท